เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา การเมืองลาวถึงคราวผลัดใบ มีการเปลี่ยนผู้นำประเทศและคณะรัฐมนตรีเกือบทั้งชุดในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับสหรัฐอเมริกา แต่สื่อมวลชนไทยให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย และมีคนไทยน้อยคนที่รู้จักชื่อและนโยบายของผู้นำแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทั้งๆ ที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดสนิทสนมกับไทยมากที่สุด ข่าวการเมืองลาวมีชุดคำที่คล้ายกับภาษาไทย แต่ให้ความหมายแตกต่างกัน ถ้าเราศึกษาเรียนรู้ก็จะมีประโยชน์เพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้
ກອງປະຊຸມ กองปะซุม หมายถึง การประชุมหรือสัมมนาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับด้านการเมือง ใช้เป็นคำแปลได้ทั้ง meeting และ conference ในภาษาอังกฤษ ประเทศลาวจะมี ກອງປະຊຸມໃຫຍ່ ของผู้แทนทั่วประเทศเพื่อเลือกคณะกรมการเมืองและกรรมการบริหารพรรคประชาชนปฏิวัติลาวทุก 5 ปี และจัดตั้งเปลี่ยนแปลงผู้นำการบริหารประเทศตามความเหมาะสม
ຂົງເຂດ ขงเขด หมายถึง ขอบเขต ด้านต่างๆ คำว่า ขง ในที่นี้เป็นภาษาลาวดั้งเดิม หมายถึง ดินแดน พื้นที่ เมื่อรวมกับคำว่า เขต ซึ่งเป็นภาษาบาลี หรือ เกษตร ในภาษาสันสฤต หมายถึงดินแดนเช่นกัน จึงเป็นคำซ้อน หมายถึงขอบเขตในการทำงาน หรือขอบเขตของหน้าที่นั้นๆ
ຫ້ອງການ ห้องกาน หมายถึง หน่วยงานองค์กรหรือสำนัก ตามแต่บริบทของเนื้อหา คำนี้อาจแปลเทียบกับภาษาอังกฤษว่า office ใน ກະຊວງ กะซวง แต่ละกระทรวงจะมี ຫ້ອງການ แตกต่างกันไปเพื่อปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย
ພະນັກງານ พะนักงาน ในที่นี้หมายถึง เจ้าหน้าที่รัฐ จึงมีความหมายแตกต่างจาก “พนักงาน” ในภาษาไทยซึ่งหมายถึงผู้ทำงานในองค์กรทั่วไป เจ้าหน้าที่รัฐในภาษาลาวจะแบ่งออกเป็น ທະຫານ ทะหาน สังกัดกระทรวงป้องกันชาติ และ ພະນັກງານ สังกัดหน่วยงานกระทรวงอื่นๆ
ຊາວໜຸ່ມ ซาวหนุ่ม หมายถึง เยาวชน ในประเทศลาวกำหนดว่า ຊາວໜຸ່ມ คือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15 แต่ไม่เกิน 35 ปี แต่คำว่า ເຍົາວະຊົນ เยาวะซน ในภาษาลาว กลับหมายถึง เด็กอายุ 9-14 ปี ถ้าอายุน้อยลงเป็น 6-8 ปีจะเรียกว่า ອະນຸຊົນ อะนุซน และถ้าอายุต่ำกว่า 6 ปี จึงเรียกว่าเด็กตามกฎหมาย พวก ຊາວໜຸ່ມ นี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรมหาชน คือ ຄະນະຊາວຫນຸ່ມປະຊາຊົນປະຕິວັດລາວ เพื่อฝึกอบรมและจัดอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ และมีตัวแทนเข้าร่วมในสภาระดับชาติด้วย
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง
เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข