หลายคนคงได้ยินคำว่า “ดอกเบี้ยนโยบาย”
ยิ่งถ้าใครติดตามข่าวสารด้านการเงินการลงทุนอยู่บ้าง น่าจะพอทราบว่านักการเงินหรือนักลงทุนมักตื่นเต้นกับดอกเบี้ยนโยบายเป็นพิเศษ บางทีแค่ขยับเพียง 0.25% ใครต่อใครก็ดูจะออกอาการกันเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะดอกเบี้ยนโยบายเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่อย่างมากต่อการสั่นสะเทือนตลาดการเงิน
ดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นอัตราซึ่งธนาคารกลางจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือเป็นอัตราซึ่งธนาคารกลางเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน แล้วอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยซึ่งธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือผู้ฝากเงินต่อไป
เราอาจทำความเข้าใจง่ายๆ ว่าดอกเบี้ยนโยบายคือดอกเบี้ยกลางซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำไปใช้ในการทำธุรกิจต่อ เช่น ปล่อยกู้ รับฝาก และการตั้งอัตราดอกเบี้ยนี้เองถือว่าเป็นกลไกการควบคุมปริมาณเงินอีกแบบหนึ่งที่สำคัญของประเทศ
การเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจัดเป็น “นโยบายทางการเงิน” ประเภทหนึ่ง รัฐบาลสามารถใช้กลไกนี้ในการควบคุมเงินเฟ้อหรือเงินฝืดในประเทศได้ แต่รัฐบาลยังมีอีกกลไกหนึ่งที่ใช้ร่วมกันคือ “นโยบายการคลัง” ซึ่งมีวิธีหลักๆ คือการจำหน่ายหรือซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล
หากเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยเงินฝากจะสูงขึ้น ประชาชนย่อมสนใจนำเงินมาฝากกันมากขึ้น เงินมาสะสมอยู่ในธนาคารพาณิชย์ คนนำเงินไปใช้น้อยลง เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลง ดอกเบี้ยเงินกู้จะสูงขึ้น คนกู้เงินไปใช้จ่าย ลงทุน หรือทำธุรกิจกันน้อยลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อจะลดลง
หากลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยเงินฝากจะต่ำลง ประชาชนย่อมสนใจนำเงินมาฝากกันน้อยลง เงินออกไปหมุนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น หรือนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นมากขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้จะต่ำลง คนกู้เงินไปใช้จ่าย ลงทุน ทำธุรกิจกันมากขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัว อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น
เพิ่มอัตราดอกเบี้ย คนลงทุนน้อยลง
ลดอัตราดอกเบี้ย คนลงทุนมากขึ้น
สมการความสัมพันธ์ตรงนี้เกี่ยวข้องกับตลาดการเงินโดยตรง เมื่อดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ต่ำลง ประชาชนจะสนใจนำเงินออกไปลงทุนอย่างอื่นมากขึ้น เพราะดอกเบี้ยที่ได้จากการฝากธนาคารน้อยเกินไปจนไม่จูงใจ ไม่พอนำไปใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่มีรายได้ทางอื่น นอกจากดอกเบี้ยกับเงินปันผล
ย้อนหลังไปยังยุคที่ดอกเบี้ยฝากประจำจ่ายกันสูงถึงปีละ 10% หากคุณมีเงิน 1,200,000 บาท คุณได้ดอกเบี้ยปีละ 120,000 บาท ตกเดือนละ 10,000 บาท อาจพออยู่ได้ แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยฝากประจำเหลือแค่ 1% คุณได้ดอกเบี้ยปีละ 12,000 บาท ตกเดือนละ 1,000 บาท คุณไม่น่าจะอยู่ได้แล้ว คุณอาจต้องมองหาสินทรัพย์อื่น
ยิ่งดอกเบี้ยต่ำ เงินยิ่งเทมาทางสินทรัพย์ซึ่งมีผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับและความเสี่ยงมากขึ้น เพราะนักลงทุนต้องการผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินในระดับไล่เลี่ยกับของเดิม เช่น คนเคยฝากเงินอาจเปลี่ยนมาซื้อตราสารหนี้ คนเคยซื้อตราสารหนี้อาจเปลี่ยนมาซื้อกองทุนรวม คนเคยซื้อกองทุนรวมอาจเปลี่ยนมาซื้อหุ้น
การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงทำให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น ตลาดตราสารหนี้มีแนวโน้มดีขึ้น ตลาดหุ้นมีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงราคาสินทรัพย์โดยทั่วไป เพราะเงินกำลังไหลจากที่ซึ่งผลตอบแทนต่ำไปหาที่ซึ่งผลตอบแทนสูงกว่า การลดอัตราดอกเบี้ยจึงเหมือนการกระตุ้นราคาสินทรัพย์
อีกทั้งจะมีนักลงทุนหรือนักเก็งกำไรกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่าต้นทุนของเงินอยู่ในระดับต่ำ จึงกู้เงินและนำมาลงทุนในตลาดสินทรัพย์ต่างๆ เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ ถึงแม้ว่าจะทำผลตอบแทนได้ในระดับเดิม แต่ส่วนต่างก็มากขึ้นเนื่องจากดอกเบี้ยลดต่ำลง
ช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกากดดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ ตลาดสินทรัพย์จึงเฟื่องฟูอย่างมาก ในโลกการเงิน ดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนต้องสนใจ
ในทางตรงกันข้าม เมื่อรัฐบาลประเทศต่างๆ พยายามขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือผลกระทบโดยตรงต่อตลาดการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีแนวโน้มลดลงเพราะเงินกำลังไหลออก
เมื่อต้นทุนของเงินแพงขึ้น และราคาสินทรัพย์ต่างๆ ก็สูงมากแล้ว สินทรัพย์เสี่ยงจะถูกเทขายเป็นลำดับแรกๆ เมื่อดอกเบี้ยเริ่มสูงขึ้น คนจะเริ่มนำเงินกลับไปฝากธนาคาร ซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น กลุ่มคนที่ยืมเงินมาลงทุนก็จะทยอยนำเงินกลับไปคืน
การเข้าใจวงจรของดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับบุคคลทั่วไปและนักลงทุน เพราะจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้เราเข้าใจสภาวะเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองว่ารัฐบาลกำลังรับมือเศรษฐกิจด้วยวิธีการใด ผ่อนคลาย หรือกดดัน
ครั้งหน้าหากได้ยินข่าวการเพิ่มหรือลดดอกเบี้ยก็ให้ตั้งใจฟังกันอีกหน่อย เพราะนั่นอาจหมายถึงการขยับปีกของผีเสื้อที่จะส่งผลต่อภาคการเงินและเศรษฐกิจอย่างมากมาย ยิ่งตอนผีเสื้อกลับตัว ลดมาตลอดแล้วเปลี่ยนเป็นเพิ่ม เพิ่มมาตลอดแล้วเปลี่ยนเป็นลด
นั่นอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อทุกอย่าง… รวมถึงเงินในกระเป๋าของคุณ
คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน
เรื่องโดย: ลงทุนศาสตร์