พรรณพืชจาก “โลกใหม่”

-

ลองจินตนาการว่าถ้าอาหารที่เรากินทุกมื้อไม่มีพริก มะเขือเทศ ข้าวโพด ถั่วประเภทไม้เลื้อย สับปะรด ฝรั่ง มะละกอ ฯลฯ ชีวิตของเราจะน่าอับเฉาเพียงใด ต้องนึกขอบคุณผู้คนที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราจนมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อวัฒนธรรมในด้านการดำรงชีวิต การทำมาหากิน ความเชื่อ ประเพณี ฯลฯ และส่งผลให้หลายวัฒนธรรมผูกพันโยงใยกัน จนหากมีการตระหนักถึงอาจทำให้ผู้คนต่างชาติต่างภาษาเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้นและรบราฆ่าฟันกันน้อยลงบ้างกระมัง

ในระหว่าง ค.ศ.1492-1504  คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus ) นักเดินเรือและผู้บุกเบิกดินแดนชาวอิตาลีเดินทางไป “โลกใหม่” 4 ครั้ง ในการเดินทางครั้งแรกเขาตั้งใจหาเส้นทางเดินเรือที่สะดวกที่สุดไปทวีปเอเชียทางทิศตะวันตก ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก แต่บังเอิญไปพบ “โลกใหม่” หรือทวีปอเมริกาที่คั่นอยู่อย่างไม่คาดฝัน

การค้นพบ “โลกใหม่” เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนได้พลิกผันโลกอย่างสำคัญ  มีการนำพืชพรรณจำนวนมากที่ “โลกเก่า” คือเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ไม่เคยรู้จักมาแพร่หลายจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญและเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของชาวโลก

สามพี่น้องสาว (Three Sisters) ที่สำคัญยิ่งของพืชที่มาจาก “โลกใหม่” คือ ข้าวโพด พืชประเภทฟักทอง และถั่ว ส่วนพืชอัศจรรย์ 8 ชนิด (The Magic Eight) ได้แก่ ข้าวโพด มะเขือเทศ มันฝรั่ง พริก พืชประเภทฟักทองถั่ว โกโก้ และต้นวานิลลา

ถั่วที่ว่านั้นหมายถึงถั่วประเภทไม้เลื้อยบนดิน เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วพู ฯลฯ และถั่วมีฝักในดิน เช่น ถั่วลิสง  พืชอื่นที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ยาสูบ มันเทศ มันสำปะหลัง ฝ้าย มะม่วงหิมพานต์ ฝรั่ง มะละกอ เสาวรส สับปะรด สตรอว์เบอรี่  บลูเบอรี่ อะโวคาโด ฯลฯ

 

 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลกซึ่งเริ่มขึ้นที่ประเทศอังกฤษเมื่อประมาณ 250 ปีก่อนอาจเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าปราศจากแหล่งอาหารสำคัญของแรงงานในขณะนั้น มันฝรั่งมีบทบาทสำคัญยิ่งเพราะให้ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และวิตามินอีกหลายอย่าง มันฝรั่งกลายเป็นอาหารหลักของคนยุโรปในช่วงเวลากว่า 400 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีใน 100 ปีแรกของการนำไปเผยแพร่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากคนไม่คุ้นเคย ซึ่งคล้ายกับการได้รับความนิยมของมะเขือเทศและข้าวโพด

พริกเป็นพืชที่มีบทบาทอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์ทั่วโลก เครื่องเทศซึ่งเป็นสิ่งชูรสอาหารเป็นของมีค่าหายากก่อนที่โคลัมบัสจะพบ “โลกใหม่” แต่เมื่อมีการเผยแพร่พริกก็เกิดการปรุงรสประเภทเครื่องแกงอันผสมปนเปเครื่องเทศกับพริกของวัฒนธรรมอินเดีย

สันนิษฐานว่าพริกเข้าสู่วัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทยเมื่อประมาณ 400 ปีก่อน นั่นหมายความว่าคนไทยก่อนกรุงแตกครั้งแรก คือ พ.ศ.2112 ไม่มีอาหารที่มีรสเผ็ดจากพริก  ยิ่งส้มตำแล้วยิ่งไม่มีโอกาสเลย เพราะมะละกอซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญเข้าสู่สังคมไทยเมื่อประมาณกว่า 200 ปีนี้เอง โดยมาจากเมืองมะละกาซึ่งเป็นเมืองท่าในแหลมมลายู  ดังนั้นจึงมีแต่คนในยุครัตนโกสินทร์เท่านั้นที่รู้จักส้มตำ คนกรุงเทพฯ และคนภาคอื่นๆ รู้จักส้มตำภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อมีการแพร่หลายจากคนอีสานที่เข้ามาทำงานในพระนคร

ถ้าเราลองพิจารณาอาหารที่เราบริโภคกันเป็นประจำก็จะเห็นวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ปนเปอยู่อย่างน่าแปลกใจ แกงขี้เหล็ก ข้าวแช่ ขนมจีน และปลาร้า เป็นอาหารของมอญ เจ้าของอารยธรรมเก่าแก่ในอุษาคเนย์ตลอดระยะเวลา 2,000 ปีที่ผ่านมา เครื่องแกงเป็นอิทธิพลจากอินเดีย วัฒนธรรมน้ำปลาและน้ำพริกกะปิน่าจะเป็นวิวัฒนาการของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ใกล้ทะเล ส่วนอาหารประเภทผัดทอดและต้มนึ่งนั้นมาจากวัฒนธรรมจีน  คนไทยมีความสามารถในการเลือกสิ่งที่เด่นของแต่ละวัฒนธรรมและเอามาผสมปนเปกับภูมิปัญญาของตนเองจนเป็นอาหารไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

แต่ละวัฒนธรรมต่างมีของดีของเด่นของตน ไม่มีใครเหนือใคร ไม่มีวัฒนธรรมใดที่ไม่พึ่งพิงวัฒนธรรมอื่น ดังนั้นคนทุกชาติทุกภาษาจึงควรเคารพซึ่งกันและกัน ความรู้สึกเช่นนี้จะไม่ทำให้เกิดการ  “คลั่งชาติ   คลั่งวัฒนธรรม”  อันนำไปสู่ความวุ่นวายและความทุกข์อันไม่จำเป็น


คอลัมน์: สารบำรุงสมอง

เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!