หลายปีที่ผ่านมา กระแสความนิยมการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น จนเกิดผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ยิ่งเมื่อเกิดโรคระบาด Covid-19 ไปทั่วโลก ยิ่งกระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัวและใส่ใจดูแลสุขภาพ เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง สร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงอันก่อให้เกิดโรคต่างๆปัจจุบันการดูแลสุขภาพนั้นมีวิธีและเทคโนโลยีที่หลากหลาย ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทุกเพศทุกวัย
อุตสาหกรรมอาหารเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันกันสูง ต้องปรับเปลี่ยน วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ทันต่อเทรนด์ของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเทรนด์สุขภาพกำลังมาแรงในปัจจุบัน จึงต้องค้นคว้าผลิตภัณฑ์แปลกใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทางเลือกหนึ่งสำหรับคนรักสุขภาพก็คือ plant-based ผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชเป็นหลักประมาณร้อยละ 95 โดยผลิตในรูปแบบเเละรสชาติที่คล้ายเนื้อสัตว์จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นหมู ไก่ เนื้อ กุ้ง เเละเนื้อสัตว์ต่างๆ เสมือนว่าได้รับประทานเนื้อสัตว์แท้ นับเป็นความแปลกใหม่ของวงการอาหารเลยทีเดียว ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพจึงเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ รวมถึงผู้ที่ควบคุมน้ำหนักและรูปร่าง เพราะ plant-based มีไขมันต่ำ แต่โปรตีนสูง
plant-based มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น plant-based จากพืช ผัก ถั่ว ธัญพืช นมวัว นมอาลมอนด์ นมถั่วเหลือง ไข่ เนย ชีส ฯลฯ ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องไปเบียดเบียนผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ plant-based โดยภาพรวมจึงไม่ใช่เจ มังสวิรัติ หรือวีแกนเสียทีเดียว ดังนั้น เวลาซื้อวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ plant-based ที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างสรรพสินค้า หรือสั่งเมนูอาหารที่ระบุว่า plant based จึงแนะนำให้ผู้ที่เคร่งครัดในการไม่รับประทานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ ควรอ่านฉลากโภชนาการหรือถามพนักงานให้ชัดเจนเสียก่อน
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มใช้เทคโนโลยีทางอาหารเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืช จนมีรสชาติและรูปแบบคล้ายผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์เป็นอาจิณยังเดาไม่ออกว่านี่คือเนื้อปลอม plant-based food ในตลาดโลกมีมูลค่าราว 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12% ซึ่งเป็นปัจจัยบวกจากโควิด-19 เพราะผู้บริโภคกังวลเรื่องการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์
ในประเทศไทยมีร้านอาหารและผลิตภัณฑ์จาก plant-based มาหลายปี แต่เพิ่งได้รับความนิยมสูงขึ้นในช่วงโควิดเช่นกัน เนื่องจากที่ผู้บริโภคเป็นห่วงเรื่องสุขภาพมากขึ้น ใน พ.ศ. 2562 มีมูลค่าตลาดราว 28,000 ล้านบาท เติบโตกว่า 20% ผลิตภัณฑ์หลักที่ออกสู่ตลาดยังคงมีพื้นฐานมาจากอาหารเจ มังสวิรัติ ส่วนอาหารจากพืชที่ได้จากการนำเข้าและการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศยังมีไม่มากนัก คนไทยที่รับประทาน plant-based แบ่งเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพ และกลุ่มผู้ควบคุมน้ำหนัก
จากงาน plant-based festival 2022 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ยิ่งตอกย้ำว่ากระแสการบริโภค plant-based ได้รับความนิยมอย่างมาก ภายในงานมีผู้ประกอบการ SMEs ร่วมจัดบูธแสดงสินค้า มาแนะนำและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งอาหาร ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม เช่น นมข้าวโอ๊ตที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง อาหารจากพืช เช่น เบอร์เกอร์เนื้อวัว/เนื้อไก่/เนื้อแกะ ฯลฯ
ใครที่สนใจหรือติดใจอาหารจาก plant-based ก็หาซื้อได้ไม่ยากตามซูเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์สโตร์ หรือร้านค้าออนไลน์ ซึ่งมีทั้งอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งที่เราเพียงนำมาอุ่นหรืออบแล้วรับประทานได้เลย เช่น ลาบทอด เบอร์เกอร์ แฮม ไส้กรอก นักเก็ตไก่ หมูกรอบ ขนมจีบ ซาลาเปาไส้ต่างๆ สปาเก็ตตี้ ข้าวกะเพรา สเต๊กต่างๆ ทอดมัน น้ำสลัด น้ำจิ้ม น้ำพริก ฯลฯ เรียกได้ว่ามีเมนูหลากหลายให้เลือกรับประทานไม่จำเจ แถมยังมีกลิ่นและรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ อีกด้วย หากไม่บอกก็แทบไม่รู้เลยว่านี่ไม่ใช่เนื้อสัตว์แท้ๆ
นอกจากอาหารสำเร็จรูปแล้ว ยังมีเนื้อบดจากพืชที่สามารถนำมาพลิกแพลงได้ตามใจชอบ เช่น plant-based ลวกจิ้ม ข้าวผัด plant-based เบอร์เกอร์ plant-based ฯลฯ ตามแต่พ่อครัวแม่ครัวประจำบ้านจะสรรค์สร้างเมนูให้อร่อย ไม่น่าเบื่อ และดีต่อสุขภาพของทุกคนในครอบครัว
Meat Zero เป็นอีกแบรนด์ที่สรรค์สร้างผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบ plant-based เหมาะทั้งสำหรับผู้ที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และผู้ที่ดูแลสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ของ Meat Zero มีความหลากหลาย อร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการอันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งโปรตีนจากพืชที่มีเส้นใยอาหารสูง ไม่มีคอเลสเตอรอล และดีต่อระดับไขมันในเลือด
การเลือกรับประทาน plant based และพืชผักผลไม้ไม่เพียงป้องกันโรค NCDs เท่านั้น แต่ยังเป็นเทคโนโลยีอาหารที่ช่วยในการชะลอวัยและลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลงได้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยมาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ที่พบว่า อาหารแบบ plant-based จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เพราะการทำปศุสัตว์นับเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกและทำให้โลกร้อนมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ในทางกลับกัน การทำเกษตรกรรมจากพืชนั้นจะเป็นประโยชน์แก่โลกมากกว่า การรับประทาน เพื่อเป็นการช่วยกันลดมลพิษและภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้น
คอลัมน์: กินแกล้มเล่า
เรื่องและภาพ: แพรไพลิน ศุกลรัตนเมธี (แทน)