ปีที่ผ่านมา กีเยร์โม เดล โตโร สร้างชิ้นโบแดงงานสองชิ้นแต่ออกคนละแนว งานชิ้นแรกเขาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างให้แก่ Cabinet of Curiosities รวม 8 เรื่องราวสยองขวัญผสมไซไฟ และงานชิ้นล่าสุดซึ่งเขาร่วมกำกับและเขียนบทเองคือแอนิเมชัน ปิน็อกกีโอ นำเสนอภาพสต็อปโมชันสุดวิเศษ สื่ออารมณ์อันละเอียดอ่อน
นี่คือ ปิน็อกกีโอ เวอร์ชันที่ไม่ใช่เป็นแค่นิทานสำหรับเด็ก แต่เรื่องราวยังเหมาะกับผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน ตุ๊กตาไม้จมูกยาวเมื่อโกหกกลายเป็นตัวละครที่สะท้อนความโหดเหี้ยมของสงคราม คุณค่าของการมีชีวิต ผลกระทบของการที่เด็กถูกผู้ใหญ่ชักใยหรือเลี้ยงดูมาด้วยทัศนคติที่แตกต่างกัน โดยผ่านการบอกเล่าความสัมพันธ์ของพ่อลูก 3 คู่
เจ็ปเป็ตโต (พ่อ) กับ การ์โล (ลูก)
เจ็ปเป็ตโตเป็นช่างแกะสลัก อาศัยในเมืองชนบทของอิตาลี เขาเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวผู้เลี้ยงดูลูกชายคนเดียวชื่อ การ์โล ชาวบ้านในละแวกนั้นล้วนชื่นชมความเป็นพ่อที่รักลูกและคนจิตใจดีของเขา
การ์โลโตมาในช่วงเดียวกันกับที่มุสโสลินีเป็นใหญ่ เมืองของเขาไม่ใช่เมืองชายแดนที่ถูกกะเกณฑ์ให้ทำสงคราม แต่ก็มีเครื่องบินรบบินผ่านเรื่อยๆ
การ์โลเติบโตด้วยการติดสอยห้อยตามเจ็ปเป็ตโตไปทำงานและเรียนรู้อะไรหลายอย่างรวมทั้งศิลปะจากเขา จนวันหนึ่งเมื่อเจ็ปเป็ตโตไปติดตั้งผลงานของเขาที่โบสถ์ประจำเมือง การ์โลก็ตามไปด้วย
แล้ววันนั้นเองที่เครื่องบินรบทิ้งระเบิดลงมายังโบสถ์
เจ็ปเป็ตโตไม่เคยฝักใฝ่เรื่องสงคราม เขาแกะสลักไม้ เขาทำนุบำรุงโบสถ์โดยแกะสลักพระเยซู ดูน่าจะเป็นคนใฝ่ศาสนา ส่วนการ์โลก็เป็นเด็กน่ารักที่พยายามเรียนรู้จากพ่อ เขาไม่เคยอยากเป็นทหาร และไม่ได้ออกไปรบด้วยซ้ำ ทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ดีๆ ในชนบท แต่แล้วเจ็ปเป็ตโตก็ต้องสูญเสียลูกเพราะสงคราม
ในภาพยนตร์ เราจะเห็นความสัมพันธ์ฉันพ่อ-ลูกคู่นี้ดำเนินไปอย่างดีงาม พ่อมีเวลาคุณภาพ (quality time) มีความรักห่วงใย เลี้ยงลูกให้มีความสุขพร้อมโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคง แต่ “การเลี้ยงดู” ไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวในการสร้างคน ปัจจัยตัวบุคคล (พ่อแม่) ก็ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดที่กำหนดอนาคตของลูก แต่ขึ้นกับ “ปัจจัยสังคม” ด้วย
ต่อให้เราไม่ใฝ่ความรุนแรง ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง เคร่งศาสนา ตั้งหน้าทำเรื่องดีๆ หวังว่าใช้ชีวิตตัวเองให้ดีก็พอแล้วเหมือนอย่างคุณพ่อเจ็ปเป็ตโต แต่ “สังคม” ที่เราเพิกเฉย ไม่แสดงจุดยืนหรือมีส่วนร่วมทางการเมือง (เช่น เรื่องความรุนแรง, นโยบายรัฐบาล, ยาเสพติด) ก็อาจทำร้ายอนาคตของเด็กคนหนึ่งได้ระหว่างเส้นทางการเติบโต ไม่ทางตรงก็อาจเป็นลูกหลง (collateral damage) แบบที่การ์โลกับเจ็ปเป็ตโตพบเจอ
โปเดสตา (พ่อ) กับ แคนเดิลวิก (ลูก)
(หมายเหตุ: โปเดสตาคือตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจสูงสุดประจำเมืองในอิตาลียุคสงครามและฟาสซิสต์ ในหนังใช้คำนี้เป็นชื่อเรียกตัวละครด้วย)
ก่อนหน้านี้ โปเดสตาก็เป็นพ่อเหมือนชาวบ้านทั่วไปในชุมชนเดียวกับเจ็ปเป็ตโต เขารักลูกชายและเลี้ยงดูด้วยตัวเอง
นิสัยใจคอของเขาเป็นคนรักชาติแบบสุดๆ เมื่อประเทศเข้าสู่สงครามแล้วเขาต้องไปทำหน้าที่รับใช้รัฐ ยิ่งไม่ต้องสงสัยในความทุ่มเทของโปเดสตา เขาคอยคัดเลือกเยาวชนไปฝึกเพื่อเตรียมพร้อมออกรบและเป็นทหาร นั่นรวมถึงแคนเดิลวิก ลูกชายของเขาด้วยที่กลายมาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาเวลาฝึกในค่าย
แต่เมื่อ โปเดสตา เอา “คุณค่าทางทหาร” เป็นบรรทัดฐาน แล้วนำมาใช้ในฐานะพ่อที่เลี้ยงลูกด้วย “ทัศนคติทหาร” ผลลัพธ์กลับไม่ดีเหมือนตอนอยู่ในค่าย เพราะความเป็นเผด็จการสมบูรณ์แบบเหมาะสำหรับ “ค่ายทหาร” โปเดสตาจึงกลายเป็นพ่อที่ทำร้ายจิตใจลูกและไม่อาจเข้าถึงลูกชาย คอนเซ็ปต์ของคนเป็นพ่อมองว่า “ลูกที่ดี = ทหารที่ดี” นำไปสู่การเลี้ยงในรูปแบบที่
ลูกต้องเชื่อฟังโดยไม่ตั้งข้อสงสัย และไม่ควรมีจิตใฝ่อิสระเสรี
กล้าหาญโดยไม่หวั่นไหวต่อสงคราม
พร้อมทำลายเพื่อนได้เพียงเพราะยืนคนละฝั่ง หรือเพื่อชัยชนะของกองกำลัง
ฆ่าคนได้เพื่อพิสูจน์ความกล้าในนามของความรักและศรัทธา
ฯลฯ
นั่นทำให้แคนเดิลวิกรู้สึกว่าเขา “ไม่เคยดีพอสำหรับพ่อ” เพราะนอกจากสถานภาพลูกชายแล้ว เขาก็เป็นคนคนหนึ่งที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีศรัทธาในความดีงาม, มีน้ำใจ มีมิตรภาพ มีความกลัวและความกล้าที่ไม่เหมือนพ่อแม่
ถ้าเพียงแต่โปเดสตา จะถอดความเป็นทหาร ถอดความเชื่อในระบบฟาสซิสต์หรือเผด็จการทิ้งไว้ที่ค่ายทหาร แล้วกลับเข้าบ้านอยู่กับลูกชายในฐานะพ่อผู้ซึ่ง
รักที่จะเห็นลูกเติบโต ดูแลและประคองลูกให้มีความสุขอย่างที่เขาอยากจะเป็น
ชื่นชมการเป็นคนมีน้ำใจ ชื่นชมความเป็นคนรักเพื่อนพ้อง
ปลอบประโลมเมื่อหวาดกลัว โอบกอดเมื่อต้องเข้าสู่สมรภูมิ
นั่นคงจะทำให้อะไรๆ ดีกว่านี้
ในชีวิตจริงมีลูกหลายคนที่ทนทุกข์กับการทำตัวตามความคาดหวังของพ่อแม่ และในขณะที่ให้พ่อแม่ภูมิใจก็ทำลายความฝันของตัวเอง ทำลายระบบคุณค่าที่ตัวเองเชื่อเพื่อให้สอดคล้องกับพ่อแม่
การทำตัวให้พ่อแม่ภูมิใจเพียงเพื่อรู้สึกว่าได้รับความรัก แต่เมื่อขัดแย้งกับความเป็นตัวเองก็จะเกิดอาการแข็งขืน แถมถ้าพยายามเท่าไหร่พ่อแม่ก็ไม่เคยพอใจ ยิ่งทำตัวตามใจพ่อแม่ ยิ่งเจ็บปวดเพราะต้องแบกทั้ง “ความผิดหวังต่อพ่อแม่” และ “ความผิดหวังต่อ (ฝันของ) ตัวเอง”
สาเหตุที่พ่อแม่หลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังทำร้ายลูก ก็เพราะ “ความเป็นพ่อแม่” ถูกหล่อหลอมจากสภาพสังคมแบบที่โปเดสตาเผชิญ รวมถึงความปรารถนาที่อยากให้ลูกเป็นโดยละเลยตัวตนที่แท้ของเขา
เจ็ปเป็ตโต (พ่อ) กับ ปิน็อกกีโอ (ลูก)
หลังจากสูญเสียการ์โลไปหลายปี วันหนึ่งหุ่นไม้แกะสลักของเจ็ปเป็ตโตมีชีวิตขึ้นมา ชื่อว่าปิน็อกกีโอ แล้วเรียกเขาว่าพ่อ
แต่ในสายสัมพันธ์ใหม่นี้ เจ็ปเป็ตโตไม่ได้เป็นพ่อแบบเดิม เพราะเขายังไม่คุ้นเคยกับลูกชายคนใหม่ อีกทั้งยังถูกความเศร้าครอบงำ (grief) ภายหลังการสูญเสีย
ภาวะที่ต้องเสียลูกคือความทุกข์แสนสาหัสอันดับต้นๆ ของทุกชีวิต การ์โลคือจุดหมายเดียวที่ทำให้เจ็ปเป็ตโตมีชีวิตอยู่ หลังการ์โลตาย เจ็ปเป็ตโตก็สูญเสียเป้าประสงค์ (purpose) ในการดำรงชีวิต หมดเรี่ยวแรงมีชีวิตแบบเดิม หมดใจจะทำงานที่เคยรักต่อ หมดไฟใช้ชีวิต แถมพึ่งเหล้าและยาเสพติดหนักขึ้นเพื่อบำบัดตัวเองที่ตกในสภาพคล้ายซึมเศร้า
เมื่อการทำใจไม่อาจช่วยให้ move on จากความเจ็บปวดได้มากพอ เจ้าตัวจึงไม่เพียงแค่เจ็บแต่ยังทำลายความสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย เช่นการเปรียบเทียบลูกชายคนใหม่ (ปิน็อกกีโอ) กับลูกชายคนเดิม (การ์โล) นอกจากนี้จิตใจที่อัดแน่นด้วยอารมณ์เชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเศร้า เจ็บปวด โกรธแค้น (โชคชะตา) ที่เพียงสะกิดก็ระเบิดใส่คนใกล้ตัว และบางครั้งระเบิดนั้นก็เป็นเพียงคำพูด คำพูดซึ่งทำร้ายคนที่ตนรัก ดั่งเช่นครั้งหนึ่งที่เขาหลุดปากเรียก ปิน็อกกีโอ ว่าภาระ และอีกฝ่ายสงสัยจนตัดพ้ออย่างเศร้าๆ ว่า “ตอนพ่อบอกผมว่าเป็นภาระ จมูกของพ่อไม่เห็นงอกออกมาเลย”
ความเจ็บปวดของเด็กเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อผู้ใหญ่ที่เขารักพูดจา toxic หรือใช้คำพูดทิ่มแทง ทำร้ายจิตใจ เด็กไม่รู้หรอกว่าบางครั้งผู้ใหญ่เองก็กำลังลำบาก จึงพูดจาแย่ๆ แม้ที่จริงไม่ได้คิดแบบนั้นตลอดเวลา อาจเพราะถูกครอบงำด้วยอารมณ์ชั่ววูบที่ไม่อาจจัดการได้ ด้วยโรคซึมเศร้า ด้วยความเมาจากสารเสพติด หรือเมื่อได้สติก็รู้ตัวว่าไม่ได้คิดแบบนั้นจริงๆ
“สุขภาพจิตของพ่อแม่” จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในกระบวนการเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีความสุข
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”