กิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ

-

“การออกกำลังกาย” ให้ภาพในใจของการแต่งกายแบบนักกีฬา ใส่รองเท้าเพื่อออกกำลังกายอย่าง “เป็นทางการ” เพื่อให้มีร่างกายแข็งแรง อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่าการทำงานในสวน ในไร่ ในบ้าน ในโรงงาน ฯลฯ อย่างแข็งขันก็สามารถทำให้มีสุขภาพที่ดีได้เช่นกัน ดังนั้นองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปัจจุบันจึงไม่ใช้คำว่า “การออกกำลังกาย” (physical exercise) อีกต่อไป แต่ใช้คำว่า “กิจกรรมทางกาย” (physical activity) แทน เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดว่าการออกกำลังกายแบบ “เป็นทางการ” เท่านั้นที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง

WHO บอกว่ากิจกรรมทางกายจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคทางจิต ฯลฯ ได้เป็นอย่างดี ในประเทศไทยร้อยละ 76 ของคนที่ตายประมาณปีละ 400,000 คน เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว (ร้อยละ 50 ของจำนวนนี้ตายก่อนวัยอันควร)

ล่าสุด WHO ได้ให้คำแนะนำเรื่องกิจกรรมทางกายดังต่อไปนี้

 

 

  1. กิจกรรมทางกายให้ผลดีต่อหัวใจร่างกายโดยรวม และจิตใจ การมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอช่วยป้องกันบางโรค และรักษาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล
  2. การมีกิจกรรมทางกายบ้างย่อมดีกว่าไม่มีเลยข้อแนะนำคือควรมีกิจกรรมทางกายไม่ต่ำกว่า 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ (ประมาณ 20-40 นาทีต่อวัน) สำหรับกิจกรรมทางกายชนิดที่แข็งขัน เช่น  วิ่ง เดินเร็ว ขี่จักรยาน ฯลฯ หรือกิจกรรมทางกายที่แข็งขันเช่นกัน เช่น การทำงานบ้าน การทำงาน ฯลฯ
  3. ทุกลักษณะของกิจกรรมทางกายย่อมใช้ได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะมาจากสิ่งใดที่ทำให้เกิดกิจกรรมทางกายเช่น ทำงาน เดินเล่น เดินพักผ่อน  ทำงานบ้าน ทำนา ทำไร่ ทำสวน  ฯลฯ
  4. การทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเป็นประโยชน์แก่สุขภาพ  สำหรับผู้ที่มีอายุ  65 ปี ขึ้นไป ควรมีกิจกรรมทางกายที่เกี่ยวกับการรักษาสมดุลของการทรงตัว และการประสานร่วมกันทำงานระหว่างเท้า ขา กับมันสมอง เพื่อป้องกันการหกล้มซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้สูงวัย เพราะอาจทำให้กระดูกแตกหัก จนนำไปสู่การเป็นอัมพาตและต้องนอนติดเตียง
  5. การมีพฤติกรรมเนือยนิ่งหรือนั่งๆ นอนๆ มากเกินไป เป็นหนทางสู่การมีปัญหาสุขภาพ เนื่องจากทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการเป็นโรคหัวใจ  มะเร็ง และเบาหวาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเนือยนิ่งสู่การมีชีวิตที่เคลื่อนไหวกระฉับกระเฉงให้ผลดีต่อหัวใจซึ่งเป็นกล้ามเนื้อชนิดหนึ่ง
  6. ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มกิจกรรมทางกายและการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นหญิงมีครรภ์ หญิงหลังคลอด ผู้มีอาการป่วยเรื้อรัง หรือผู้มีความพิการ

มนุษย์ทุกคนย่อมเผชิญความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต คนที่พกพาระเบิดมือติดตัวตลอดเวลาย่อมมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียของร่างกายมากกว่าคนที่ไม่ได้พกพา คนอ้วนเกินไปมีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาเข่ามากกว่าคนผอมเพราะต้องแบกน้ำหนักมากไม่ว่าจะเดินไปไหนก็ตาม (ลองจินตนาการว่าเราต้องแบกขวดน้ำปริมาณ 5 ลิตร 2 ใบ รวมหนัก 10 กิโลกรัมอยู่ตลอดเวลาดูสิ)

การลดความเสี่ยงด้วยการมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอไม่ต่ำกว่า 20 ถึง 40 นาที (แล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคล) ต่อวันจะช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่ทำให้เสียชีวิตหรือป่วยจนเป็นภาระของครอบครัวและสังคมได้อย่างมาก


คอลัมน์: สารบำรุงสมอง

เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!