ฟิลิปปินส์ใน พ.ศ. นี้

-

ฟิลิปปินส์ใน พ.ศ. นี้

ก่อนโควิด-19 ระบาดผู้เขียนเดินทางไปฟิลิปปินส์อยู่เนืองๆ  เมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้ไปมาและเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้

(1) ฟิลิปปินส์ปัจจุบันมีประชากร 115 ล้านคน อาศัยอยู่บนเกาะประมาณ 7,000 เกาะ รายได้ต่อหัว 4,130$ (ไทย 7,812$; เวียดนาม 4,623$) ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ๆ เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกใต้มาก การศึกษามีคุณภาพสูง คุณภาพชีวิตของผู้คนอยู่ในระดับดี ในปัจจุบันหากเทียบรายได้ต่อหัวในภูมิภาคนี้ เวียดนามเเซงหน้าฟิลิปปินส์อย่างน่าตื่นเต้น ทั้งสองประเทศต่างก็มีประชากรเกินร้อยล้านคน

(2) เนื่องด้วยการเมืองและสถานการณ์ทางสังคมที่เลวร้ายลงในรอบ 40 ปี ฟิลิปปินส์เลยมีปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำมาก เมื่อก่อนนักท่องเที่ยวสามารถเดินตามถนนทั่วไปในมะนิลาได้อย่างค่อนข้างปลอดภัย แต่ปัจจุบันต้องระแวดระวังเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่กลางวันแสกๆ ในตลาดสดหรือสถานที่มีผู้คนหนาตา การล้วงกระเป๋า จี้ปล้น โก่งราคา ต้มตุ๋น (รถแท็กซี่ไม่เปิดมิเตอร์ หรือเปิดและแอบปิดมิเตอร์ พาวิ่งอ้อมโก่งราคา) มีให้เห็นเสมอ ตอนกลางคืนนั้นไม่ต้องพูดถึง มีอันตรายอยู่รอบด้านถ้ารู้ว่าเป็นนักท่องเที่ยว

(3)  อาชญากรรมในมะนิลามีส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไปเยือนประเทศที่มีชายหาดอันงดงามและผู้คนเป็นมิตรน้อยกว่าที่ควร (นักท่องเที่ยว 5.5 ล้านคน ในปี 2023) การขาดโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในจังหวัดอื่น ๆ นอกมะนิลา และโรงแรมที่พักอาศัยที่มีคุณภาพ ตลอดจนภัยจากความยากจนซ้ำเติมให้ภาคการท่องเที่ยวไม่สามารถนำเงินเข้าประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ต้องพึ่งเงินจากคนฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานต่างประเทศ

(4)  รัฐบาลจัดสรรเขตพิเศษหลายแห่งในมะนิลาไว้สำหรับคนมีเงิน นักธุรกิจต่างชาติ  นักท่องเที่ยว ผู้บริหารธุรกิจ ฯลฯ เพื่อความปลอดภัยและความสะดวก โดยปราศจากคนยากจนเข้าไปอยู่หรือพักอาศัย มะนิลาในส่วนนี้จึงงดงาม มีต้นไม้เขียวชะอุ่มร่มรื่นน่าอยู่ ปลอดภัยสำหรับการเดินเล่น หรือเดินทาง เเต่พื้นที่นอกเขตดังกล่าวนั้นบ้านเรือนราวกับอยู่คนละโลก

(5)  ในเขตพิเศษนี้ ค่าครองชีพสูงลิบ สูงกว่ากรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ผักผลไม้สด ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ มีราคาแพง และขายกันในซูเปอร์มาร์เก็ตของศูนย์การค้าเท่านั้น (ตลาดสดใกล้เขตนี้มีราคาถูกกว่า แต่คนต่างชาติไม่กล้าไปซื้อเพราะกลัวอาชญากรรม)
(6)  อาชีพหนึ่งที่มีคนทำมากที่สุดในเขตพิเศษนี้ก็คือ รปภ. เราจะเห็น รปภ. อยู่ทุกแห่งหนเป็นระยะๆ (มีบางคนพกปืนด้วย) เพื่อดูแลผู้คนและอำนวยความสะดวกในเขตนี้ซึ่งเป็นหัวใจเศรษฐกิจสมัยใหม่ของประเทศ รปภ. เหล่านี้ตกเย็นเลิกเวรก็ออกไปพักอาศัยนอกเขตเพราะสู้ค่าเช่าไม่ไหว อาหารก็ต้องนำมาจากบ้านเพราะในเขตพิเศษมีราคาแพง

(7)  การจราจรในมะนิลาติดขัดมากกว่ากรุงเทพฯ อย่างเกินบรรยาย ไม่ว่าในเขตพิเศษ หรือพื้นที่ปกติในมะนิลา ทางด่วนนั้นมีจำกัดเช่นเดียวกับรถไฟฟ้ามวลชน

บทเรียนจากฟิลิปปินส์ที่บ้านเราต้องระวังก็คือมาตรการป้องกันนักท่องเที่ยวให้ปลอดจากภัยอาชญากรรม การมีนโยบายให้นักท่องเที่ยวได้ฟรีวีซ่าจากนานาประเทศของเราต้องไม่เป็นเหตุให้เกิดแก๊งอาชญากรรมเข้ามาทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวดังที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ในขณะนี้

ผมได้เข้าไปดูร้าน 7-11 ในมะนิลา ซึ่งมีจำนวนอยู่ไม่น้อย ก็พบว่าสู้ 7-11 ของบ้านเราไม่ได้เลย ร้านเล็กมีของนิดหน่อย การจัดชั้นวางของก็ดูไม่น่าซื้อ บริการก็ไม่ประทับใจนัก ผมคิดว่า 7-11 ในมาเลเซียก็ดูเลวร้ายไม่ต่างกันนะครับ


คอลัมน์: สารบำรุงสมอง / เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!