ภาษาทูตในบ้าน

-

ปัญหาในชีวิตคู่บางครั้งก็เป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง และความสัมพันธ์ของคู่ครองหลายคู่ล้มเหลวเพราะเรื่องเล็กๆ บางเรื่องเกิดจากการใช้คำพูดที่อีกฝ่ายรู้สึกว่า ‘ไม่เข้าหู’ ยกตัวอย่าง เช่น ภรรยาถามสามีว่า “ฉันอ้วนไหม?” ภรรยาอาจสำทับว่า “บอกมาตามตรง ฉันรับความจริงได้”

ถ้าสามีบอกความจริงว่า “ใช่ เธออ้วน” ก็แสดงว่าขาดปฏิภาณในการใช้ชีวิตคู่

และถ้าสามีฉลาดน้อยลงไปอีก เติมคำว่า “มาก” หรือ “จริง” เข้าไป ภรรยาก็อาจงอน ไม่พูดด้วยอีกสามวัน เรื่องเล็กน้อยก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่

เพราะบางครั้งคนเอ่ย “ฉันอ้วนไหม?” ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นประโยคคำถาม

ดังนั้นบางครั้งคนอยู่ด้วยกันก็ต้องอ่านระหว่างบรรทัด

การอยู่ด้วยกันคือการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ผ่อนหนักผ่อนเบา จะใช้เกียร์เดียวตลอดทางมิได้ ต้องใช้ไหวพริบและปฏิภาณเช่นกัน และอย่าทึกทักเอาเองว่า “ก็สนิทกัน ไม่เป็นไรหรอก”

ในโลกของความจริง ไม่มีใครอยากฟังคำไม่ไพเราะ แม้รู้ว่าเป็นความจริง ดังนั้นจึงควรมีจิตวิทยาในการพูดบ้าง โดยไม่ต้องโกหก แค่ใช้คำให้ถูกเท่านั้น เพราะพูดถูกแต่ใช้คำผิด ก็เพิ่มความระคายเคืองหรือขัดแย้งโดยไม่จำเป็น

ในกรณีนี้ หากสามีใช้จิตวิทยาในการตอบ ก็อาจบอกว่า “ผมไม่คิดว่าคุณอ้วนนะ”

นี่เป็นคำกลางๆ ไม่ได้บอกว่าอ้วนหรือไม่อ้วน

นี่เป็นภาษาแบบการทูต

หรือเปลี่ยนไปสู่โหมด ‘เอาใจใส่’ ก็ได้ เช่น “ค่า BMI เท่าไหร่ล่ะ?”

“23”

“อ๋อ! สูงกว่าเกณฑ์แค่นิดเดียว เดี๋ยวออกกำลังกายหน่อยก็แก้ได้แล้ว”

จากคำถาม “ฉันอ้วนไหม?” ก็กลายเป็นการเอาใจใส่อีกฝ่าย ดีกว่าตอบว่า “ใช่ เธออ้วนมาก” หลายร้อยเท่า

 

…………………………..

 

ภรรยากับสามีไปเดินช็อปปิ้ง ภรรยาไม่แน่ใจว่าสีลิบสติกอันไหนเหมาะกับตน ถามสามีว่า “สีนี้ดีมั้ยคะ?”

สามีที่ฉลาดน้อยตอบว่า “ซื้อๆ ไปเถอะ อย่าเรื่องมาก” แต่สามีที่มีสติปัญญาอาจตอบด้วยภาษาทูตว่า “ไม่เลวครับ”

หรือตอบด้วยภาษาใจว่า “คุณใช้สีอะไรก็สวยจ้ะ”

ภรรยาบอกสามี “ช่วยเปลี่ยนหลอดไฟหน้าบ้านหน่อย” สามีตอบว่า “เมื่อไหร่เธอจะหัดทำเองบ้างนะ”

ภรรยาบอกสามี “ช่วยหยิบหนังสือพิมพ์ให้หน่อยซี” สามีตอบว่า “เธอก็มีมือ ทำไมไม่หยิบเอง?”

ยกให้เป็นสามียอดโง่แห่งปี

 

…………………………..

 

คนเราบางทีก็แปลก มีวิธีพูดที่สร้างสรรค์ ก็คันปากพูดให้ไม่สร้างสรรค์ บางครั้งโดยไม่เจตนา บางครั้งไม่ทันคิด และบางครั้งคิดไม่ถึง

ในเรื่องเดียวกัน โลกจะสว่างหรือมืดอาจขึ้นกับคำหรือประโยคที่ใช้เท่านั้น

สามีจะออกจากบ้าน ภรรยาถาม “นี่คุณจะไปไหน?”

วลี ‘นี่คุณ’ ต่อให้พูดเสียงอ่อนหวาน มันก็มีรังสีอำมหิต (ภาษากำลังภายใน) เพียงปรับเล็กน้อย ก็ได้ความและนัยที่ดีขึ้นทันที เช่น “คุณจะไปไหนคะ?” ใช้พลังงานห้าพยางค์เท่ากัน

หรือ “รูปหล่อจะไปไหนจ๊ะ?”

มีคำว่า ‘คะ’ และ ‘จ๊ะ’ ช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย

 

…………………………..

 

เจ้านายบอกลูกน้อง “ทำให้เสร็จวันนี้นะ ไม่เสร็จไม่ต้องกลับบ้าน”

เปลี่ยนเป็น “ช่วยทำให้เสร็จวันนี้นะ ขอโทษด้วยที่เร่ง”

บางครั้งแค่เติมคำลงท้ายด้วย ครับ ค่ะ จ้ะ จ๊ะ ก็ช่วยได้มาก

 

…………………………..

 

แม่บอกลูกสาวว่า “ขากลับช่วยซื้อทองหยิบทองหยอดให้หน่อย”

ลูกสาวมีทางเลือกตอบว่า

(1) “กินของหวานๆ แบบนี้ แม่อยากเป็นเบาหวานใช่มั้ย?”

(2) “ลดของหวานนิดนะจ๊ะ จะได้มีชีวิตอยู่กับลูกไปนานๆ”

ทั้งข้อ 1 และ 2 พูดด้วยความเป็นห่วงเหมือนกัน แต่พูดใหม่แบบที่ 2 จะน่ารักขึ้น

…………………………..

ลูกบอกแม่ว่า “ผมไปเล่นกับเปี๊ยกนะครับ”

แม่มีทางเลือกตอบว่า

(1) “ทำการบ้านก่อน ไม่งั้นไม่ต้องไปเด็ดขาด”

(2) “ไปเล่นได้ แต่สัญญาว่ากลับมาทำการบ้านนะ”

ทั้งข้อ 1 และ 2 ก็จบวันโดยเด็กได้เล่นและทำการบ้านเหมือนกัน แต่อารมณ์ความรู้สึกอาจไม่เหมือน

 

…………………………..

 

“ไปนั่งรถเล่นมั้ย?”

(1) “ไม่มีอารมณ์”

(2) “ไม่ละ ขอยกไปวันอื่นนะ”

 

…………………………..

 

“ไปดูหนังมั้ย?”

(1) “ดูไปทำไม? หนังก็น้ำเน่า ไร้สาระ ดูแล้วโง่”

(2) “ติดไว้ก่อนนะ ตอนนี้ติดงาน”

 

…………………………..

 

“กินไอติมมั้ย?”

(1) “ยังอ้วนไม่พออีกเหรอ?”

(2) “ได้ แต่นิดหน่อยนะ เธอก็อย่ากินมากล่ะ เป็นห่วง”

 

…………………………..

 

“ฝากซื้อแชมพูให้ด้วย”

“ยี่ห้ออะไร?”

(1) “ทำไมแค่นี้จำไม่ได้ อยู่กับฉันนี่ไม่เคยสังเกตเลยใช่มั้ยว่าฉันเป็นยังไง…”

(2) “ยี่ห้อ xxx ค่ะ”

เท่านี้ก็จบ

ตอบยิ่งยาวก็ยิ่ที่ถูกความหมาย ถูกเวลา ช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น

เพราะเราเป็นคนน่ารักในหัวใจ เราจึงพูดสุภาพ

คำพูดสุภาพเป็นของฟรี ใช้เท่าไรก็ไม่หมด ใช้ไปเถอะ

และภาษาทูตไม่ได้ใช้เฉพาะในวงการการต่างประเทศเท่านั้น มันใช้ในบ้านได้ด้วย

 

 

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/


 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!