ประเทศไทยและประเทศลาวเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีพรมแดนติดกันยาวถึง 1,810 กิโลเมตร คนไทยและคนลาวไปมาหาสู่กันเป็นเรื่องธรรมดามาตั้งแต่ครั้งยังไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนในแผนที่ เมื่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามแม่น้ำโขง คนไทยและคนลาวก็ติดต่อเดินทางหากันได้สะดวกยิ่งกว่าเดิม คำศัพท์เกี่ยวกับการเดินทางจึงได้พบและใช้งานบ่อยครั้ง
ລົດ ลด คือ รถ พาหนะที่ใช้เดินทางได้ โดยทั่วไปหมายถึงรถยนต์สี่ล้อสำหรับโดยสารหรือบรรทุกสิ่งของ คำว่า ลด นี้ยังใช้ประสมเป็นคำอธิบายถึงยานพาหนะชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น ລົດເມ ลดเม ใช้เรียกรถโดยสารประจำทางทุกชนิด ລົດຕ່າງ คือรถบรรทุกสินค้า เป็นต้น
ລົດໄຟ ลดไฟ คือ รถไฟ ใช้คำเดียวกันกับภาษาไทย ไม่ใช่ “ห้องแถวไหล” ที่เป็นมุกล้อเลียนตามคำของตลกคาเฟ่แต่อย่างใด ที่ผ่านมาประเทศลาวมีรถไฟเพียงสายสั้นๆ เชื่อมกับไทยที่สถานีท่านาแล้ง แต่กำลังจะมีรถไฟเชื่อมไปถึงประเทศจีนแล้วในสิ้นปีนี้
ລົດຈັກ ลดจัก คือ จักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ จัก ในที่นี้ ย่อให้สั้นมาจาก “จักรยานยนต์” ของภาษาไทย แตกต่างจากภาษาไทยถิ่นอีสานหรือเหนือ ที่เรียกจักรยานยนต์ว่า รถเครื่อง
ລົດຖີບ ลดถีบ คือ จักรยาน เป็นคำเดียวกับภาษาไทยอีสานและเหนือ เมื่อก่อนในเวียงจันทน์มีจักรยานใช้กันหนาตา แต่ปัจจุบันคนใช้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์มากขึ้น ถนนใหญ่ขึ้นเป็นอันตราย จักรยานก็ลดน้อยลงไป
ຍົນ ยน คือ เครื่องบิน ไม่ใช่ “กำปั่นเหาะ” ตามที่คนไทยเข้าใจผิดจากมุกตลก แต่คำว่า ยน นี้ยังอาจเปลี่ยนตามบริบท แปลว่าเครื่องยนต์ หรือกลไกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีคำว่า ເຮືອບິນ เฮือบิน ที่เป็นคำเก่าก็หมายถึงเครื่องบินเช่นกัน
ເດິ່ນຍົນ/ສະໜາມບິນ เดิ่นยน/สะหนามบิน คือ สนามบิน คำว่า ເດິ່ນຍົນ เป็นภาษาปาก ใช้มาแต่ดั้งเดิม ເດິ່ນ เดิ่น แปลว่า ลาน ส่วน ຍົນ คือเครื่องบิน รวมความเป็นลานที่ให้เครื่องบินลง ใช้ในยุคราชอาณาจักรลาว ต่อมาจึงได้เปลี่ยนไปใช้คำว่า ສະໜາມບິນ เป็นคำเดียวกับภาษาไทย
ທ່າລົດ ท่าลด คือ สถานีขนส่ง ซึ่งเป็นที่รวมของรถโดยสารประจำทางต่างๆ คล้ายกับคำว่าท่าเรือ ภาษาไทยอีสานก็เรียกสถานีขนส่งหรือ บขส. ว่า ท่ารถ เช่นเดียวกับภาษาลาว
ຂັວ ขัว คือ สะพาน เป็นคำลาวดั้งเดิมที่พบในวรรณคดีและพงศาวดารมายาวนาน เนื่องจากเมืองลาวมีแม่น้ำลำห้วยมาก การสร้างสะพานข้ามสายน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญของผู้ปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ຂັວມິດຕະພາບລາວ-ໄທ ขัวมิดตะพาบลาว–ไทย ซึ่งฝั่งไทยจะเรียกว่า สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ทำให้การค้าการเดินทางระหว่างเมืองใหญ่ริมแม่น้ำโขงของลาวกับไทยเป็นไปได้โดยสะดวกและเจริญก้าวหน้าขึ้น
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง
เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข
ภาพ: www.pexels.com