‘จา’ สิงห์ชัย – ‘ไผ่’ พงศธร เลือดใหม่ลูกทุ่งไทย

-

 เป็นความอิ่มเอมใจทุกครั้งเมื่อได้เห็นเด็กรุ่นใหม่หลงใหลเพลงลูกทุ่งไทย และยังพัฒนาเพลงให้ทันยุคทันสมัย โดยไม่ลืมที่คงเอกลักษณ์ความเป็นลูกทุ่งไว้ ออลฯ ฉบับนี้พบกับ ‘ไผ่’ พงศธร นักร้องขวัญใจมหาชน เจ้าของเพลงอันโด่งดังคนบ้านเดียวกัน, สาวกันตรึม วันนี้เขาพร้อมที่จะผลักดันคนรุ่นใหม่ให้มีโอกาสก้าวขึ้นมาขับเคลื่อนวงการเพลงต่อไป และผู้ที่รับไม้ต่อก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล คือหลานชายของเขาเอง ‘จา’ สิงห์ชัย หนุ่มหน้าหล่อหน่วยก้านนักกีฬา ผู้คลั้งไคล้ในเสียงเพลง แม้จะล้มลุกคลุกคลานบนเส้นทางดนตรีสักกี่ครั้ง แต่หนุ่มจาไม่ยอมแพ้หรือสิ้นหวัง ยังคงตามฝันจนในที่สุดได้เป็นศิลปินสังกัด Thaidol Music (ไทดอล มิวสิค) ในเครือ Grammy Gold (แกรมมี่ โกลด์) มาทำความรู้จักน้า-หลานคู่นี้ ความผูกพันที่มีต่อกัน และการเดินทางบนถนนดนตรีของคนสองเจน

‘ไผ่’ พงศธร

ระยะเวลาเกือบ 20 ปีในวงการลูกทุ่งพิสูจน์แล้วว่า ‘ไผ่’ พงศธร คือศิลปินตัวจริง ผู้ซึ่งมหาชนโปรดปราน น้าชายผู้เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจแก่ ‘จา’ สิงห์ชัย 

ความชื่นชอบในเสียงเพลง

‘ไผ่’ พงศธร ในวัยเด็กนิยมฟังเพลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงหมอลำ เพราะซึมซับมาจากพ่อและแม่ “ที่บ้านมักเปิดวิทยุให้ฟังตลอด สมัยก่อนมีละครวิทยุคณะเกศทิพย์ชอบฟัง เราชอบการร้องเพลงตั้งแต่เด็ก แต่เป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยแสดงออก ร้องเฉพาะตอนอยู่คนเดียว” และแล้ววันหนึ่งเขาก็จับพลัดจับผลูได้ออกไปร้องต่อหน้าคนอื่น “คนแถวบ้านอยู่วงหมอลำแล้วเกษียณกลับมาอยู่บ้าน เขาตั้งคณะชื่อซับพิณทอง เราก็ไปนั่งดูเขาซ้อมในวัด พอดีวันนั้นคนที่ต้องแสดงไม่มา มีคนที่เคยได้ยินเราร้องเพลงในโรงเรียน ร้องหน้าชั้นเรียนนิดๆ หน่อยๆ ก็บอกว่าไอ้นี่ร้องได้นะ ให้ขึ้นแสดงแทน รับบทเป็นลูก ถ้าวันไหนตัวหลักเขาไม่ว่าง เราก็ไปเล่นเป็นพระเอกแทน 

“นอกจากนี้ยังมีรำขอข้าว เวลาว่างจากงานวงหลักจะไปแสดงที่ลานกลางหมู่บ้าน ชาวบ้านมักเอาข้าวเปลือก ข้าวสาร หรืออาหารแห้งมาให้ ส่วนใหญ่เป็นข้าวเปลือก เราก็รวบรวมข้าวที่ได้ไปขายแล้วเอาเงินมาแบ่งกัน สมาชิกก็เป็นนักเรียนด้วยกันเนี่ยแหละ ตอนนั้นผมอยู่สองวงหลักๆ คือซับพิณทอง กับวงหมอลำซิ่งชื่อลาวน้อยดาวจรัสแสง เราร้องเพลงเป็นหลัก”

สู่อ้อมกอดแกรมมี่

ชะตาชีวิตที่เหมือนลิขิตให้ไผ่ต้องเกิดมาเป็นนักร้อง ก็เปิดทางให้เขาเข้ามาอยู่ในสังกัด Grammy Gold (แกรมมี่ โกลด์) “เรื่องนี้คือจังหวะชีวิตจริงๆ เรื่องทั้งหมดเกิดในค่ำคืนหนึ่งที่ผมไปสังสรรค์กับเพื่อน นั่งดูเขาร้องเพลง แล้วก็มีคนถามว่าเราร้องเพลงเป็นไหม ร้องได้ครับ งั้นมาร้องสิ ก็อัดเสียงทำเดโม่ จากนั้นก็มาลองร้องที่แกรมมี่ จำได้ว่าร้องไม่ได้เรื่องเลย โคตรสั่น โคตรตื่นเต้น ประหม่ามาก ร้องเสร็จก็ไปทำประวัติไว้ แล้วรอการติดต่อกลับ 

“ถามว่านานไหมกว่าเขาจะติดต่อ ก็พักใหญ่ แต่เราไม่ได้คาดหวัง ตั้งแต่แรกเพื่อนชวนไปเที่ยวก็ไป ให้ร้องเพลงก็ร้อง เราไม่เคยปฏิเสธ ไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าจะได้มาอยู่แกรมมี่ สำหรับเด็กบ้านนอกนี่แทบไม่มีโอกาสเลย จากนั้นเขาก็เรียกให้มาเซ็นสัญญา ฝ่ายกฎหมายยื่นกระดาษหนาๆ มา บอกให้อ่าน เราก็อ่านแต่ไม่รู้เรื่องหรอก ให้เซ็นก็เซ็น แต่ความประทับใจคือเราได้เจอครูสลา (สลา คุณวุฒิ) ครูเดินมาพูด ‘เซ็นสัญญาเป็นนักร้องแล้วเด้อ แต่รักษาคำว่านักร้องเอาไว้ เฮ็ดจังได๋’ แล้วแกก็เดินกลับไป ผมจดจำประโยคนั้นจนถึงปัจจุบัน มันทรงคุณค่านะ ประโยคนี้คอยเตือนสติเสมอว่าจะต้องรักษาคำว่านักร้องเอาไว้”

แล้วคุณได้คำตอบรึยังว่า ทำอย่างไรจึงจะคงสถานะนักร้องไว้ให้ยืนยง “ธาตุแท้ ตัวตนของเราเป็นอย่างไร อย่าไปฝืน ไม่ใช่แค่ ‘ไผ่’ พงศธร นาย ก นาย ข ก็เหมือนกัน เมื่อไหร่ที่ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวตนของคุณ คุณทำได้ไม่ดีหรอก และคนดูเขารู้ เขาดูออก เหมือน ‘ไผ่’ พงศธร วันแรกเป็นยังไง วันนี้เพลงก็ยังเป็นเหมือนเดิม ถามว่าอยากลองแนวใหม่ไหม อยากทำ แต่ไม่ใช่เรา กลุ่มที่เขาเป็นแฟนเพลงเราก็มี ถ้าเราขายกล้วยหอม จะเปลี่ยนเป็นกล้วยน้ำว้าได้ไหม ก็ไม่ได้ อีกอย่างคือครูเพลงเขาดูออก เขามีทีมวิเคราะห์ว่าศิลปินแต่ละคนตัวตนเป็นแบบไหน แล้วเขียนเพลงที่เข้ากับบุคลิกแบบนั้น”

จุดเปลี่ยนชีวิต

หากกล่าวถึงช่วงเวลาที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของ ‘ไผ่’ พงศธร เขาเลือกการสูญเสียคุณพ่อไปอย่างกะทันหัน ซึ่งได้ให้บทเรียนครั้งสำคัญแก่เขา “ความรู้สึกแรกเมื่อรับรู้ว่าพ่อเสียคือเบลอ ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวหลังจากนั้นคือความเสียดาย เสียดายที่เราไม่เคยแสดงความรักกับเขา แล้วพ่อพูดไว้ว่า เราเป็นลูกชายคนเดียวต้องดูแลครอบครัวให้ดีนะ แต่ตอนนั้นเรายังเด็ก เอาแต่ขอ ขอตังค์พ่อหน่อย ขอตังค์พี่หน่อย พอเราทำงานหาเงินได้ก็ยิ่งเสียดาย ถ้าพ่อยังอยู่คงซื้อรถซื้อบ้านให้ได้ ได้กิน ได้เที่ยว ได้ใส่ชุดที่เราซื้อให้ คิดถึงคำในนิยายกำลังภายใน ‘ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา’ เป็นอย่างนั้นจริงๆ เฮ้ย ยังไม่ได้บอกรักเขาเลย ยังหาเงินให้ไม่ได้ ยังไม่ทันทำอะไรให้เขาภูมิใจเลย

“เวลาเห็นข่าวทิ้งพ่อทิ้งแม่ โอ้โห กระทบความรู้สึกนะ เพราะผมเชื่อเรื่องความกตัญญู มันมีปาฏิหาริย์ ถ้าปฏิบัติดีกับพ่อแม่ ความดีนั้นจะย้อนกลับมาหาเรา ถึงจะมีไม่มาก แต่ไม่อดอยากแน่นอน” การจากไปของบุพการี มีผลให้ไผ่ใส่ใจเรื่องครอบครัวเป็นอันดับหนึ่ง เงินทองที่หาได้เขานำมาดูแลแม่ พี่สาว และญาติพี่น้องอย่างทั่วถึง

เรียนรู้จากชีวิตการเป็นนักร้อง

ตลอดระยะเวลาที่ไผ่เป็นศิลปิน ประสบการณ์ต่างๆ ที่พบมาได้สอนบทเรียนให้แก่เขา “ทำงานตรงนี้เจออะไรเยอะ เราไม่ใช่แค่ร้องเพลงอย่างเดียว เรายังเจอคน ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน คิดไม่เหมือนกัน มีทั้งชมทั้งด่า ทั้งชอบและไม่ชอบ เป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ทำให้เราท้อนะ มีแค่เหนื่อยกับการเดินทางบ้าง” ทว่าอิทธิพลของโซเชียลมีเดียก็ทำให้เขาต้องเรียนรู้และปรับตัว “เราก็พยายามตามให้ทัน ไม่ถึงกับทั้งหมดหรอก แต่ต้องอยู่กับมันให้ได้ เรียนรู้ที่จะปล่อยผ่านไป ตามมากไปก็ปวดหัว บางวันอ่านคอมเมนต์เป็นทุกข์นานนับเดือน ทำไมต้องด่ากูว้า กูทำอะไรผิดว้า ตื่นขึ้นมาทำไมทุกข์ใจอย่างนี้ โอเคถ้าอย่างนั้นไม่ดูดีกว่า ถ้ารู้แล้วไม่สบายใจก็ไม่รู้เลยดีกว่า แค่รู้ตัวเองว่าเราทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ได้ทำผิดอะไรก็พอแล้ว”

บทบาทนักแสดง

นอกจากผลงานเพลงที่ออกมาหลายอัลบั้ม หลายซิงเกิล หลายเพลงฮิต ยังมีงานแสดงทั้งละครและภาพยนตร์ที่ ‘ไผ่’ พงศธร ฝากผลงานไว้หลายเรื่อง “ไม่ชินๆ ผมเป็นคนไม่กล้าแสดงออก ไม่ตั้งใจจะมาทางนี้เลย แต่จุดเริ่มต้นมาจากการแสดงเอ็มวี เขาให้เราไปแบกกระสอบเดินผ่านกล้อง เออเอาคนนี้แหละ หลังจากนั้นเราก็เล่นเอ็มวีเพลงตัวเอง ถ่ายทอดความเป็นเรา และพัฒนาเป็นละคร ถามว่าจากวันนั้นถึงวันนี้ชินไหม ยังกลัวเหมือนเดิม ขาดความมั่นใจ รู้สึกเรายังเข้าไม่ถึงอินเนอร์ในบางจุด แต่เขาบอกไม่เป็นไร เอาแบบที่เราเป็นก็พอ”

หลักยึดในชีวิต

คติประจำใจที่ศิลปินลูกทุ่งคนนี้ยึดถือไว้ในการทำงาน “มีคำคำหนึ่งซึ่งเราเห็นตามป้ายในโรงเรียนเขียนว่า ‘ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน’ ผมไม่ได้ตั้งใจจำนะ แต่คำนี้มันฝังใจตลอด ยิ่งโตก็ยิ่งรู้สึกว่าประโยคนี้ทรงคุณค่า คนเราถ้าไม่ลงมือทำจะได้ในสิ่งที่หวังยังไง ถ้ามีคนบอกว่าดวงคุณจะจน แต่ไอ้คนนี้ขยันทำงานเป็นบ้าเป็นหลังไม่หยุดหย่อน กับอีกคนที่บอกว่าคุณจะรวย แล้วนอนอยู่เฉยๆ ใครล่ะที่จะประสบความสำเร็จ ต่อให้ใครพูดยังไงก็เรื่องของเขา อยู่ที่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำ จะสู้หรือไม่สู้ ถ้าไม่กล้าก้าวแล้วจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ยังไง”

คำแนะนำจากรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง

“ผมคงพูดคำเดียวกับที่ครูสลาพูดไว้ คือ ‘การเป็นนักร้องเนี่ยคุณเป็นอยู่แล้วแหละ แต่จะรักษาคำว่านักร้องไว้ยังไง’ คุณจะดูแลต้นกล้าที่คุณปลูกไว้ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพอย่างไร อยู่ที่ตัวคุณ ถ้าให้แนะนำก็ตามที่บอกคือ เป็นตัวเอง จะใช้การแสดงหรือใช้หัวใจในการร้องเพลงล่ะ” ส่วนคำแนะนำสำหรับหลานชายที่กำลังเดินตามรอยผู้เป็นน้านั้น ไผ่ฝากไว้ว่า “สิ่งที่ดีก็นำไปใช้ สิ่งไม่ดีก็อย่าทำตาม น้าทำให้ได้แค่นี้ ต่อจากนี้อยู่ที่หนูจะดูแลรักษาไว้อย่างไร”

น้าชายคนนี้ยังห่วงใยหลานในเรื่องสุขภาพ และความใจร้อน “ทุกวันนี้เรื่องวุ่นวายเกิดขึ้นเยอะมาก เรื่องเล็กสามารถเป็นเรื่องใหญ่ได้ ต้องมีสติอยู่กับตัว และรู้เท่าทัน ยิ่งสมัยนี้โซเชียลมีเดียสามารถสร้างกระแสและทำลายได้ อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเรา ไม่มีใครทำเราดับได้นอกจากตัวเอง”

สุดท้ายนี้ศิลปินตัวจริงขวัญใจมหาชนยังฝากบทเรียนที่ย้ำเตือนแนวคิดของเขาอีกครั้ง “ข้อแรกคือธรรมชาติ ข้อสองคือเราต้องเป็นธรรมชาติ และข้อสามคือเราจะไม่เปลี่ยนแปลงธรรมชาติ เพราะธรรมชาติก็คือธรรมะ”

‘จา’ สิงห์ชัย 

หนุ่มจานิยามตัวตนว่าเป็นคน ‘ขี้เล่น’ และเริ่มเล่าเรื่องของเขาด้วยความเป็นกันเอง “ผมเกิดที่กรุงเทพฯ เรียนที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.2 จากนั้นย้ายไปเรียนที่จังหวัดยโสธรจนจบชั้น ม.6 ตอนเด็กๆ ก็ไม่ใช่คนชอบเรียน แรงจูงใจในการไปโรงเรียนคือไปเจอสาวครับ ตั้งแต่ ป.1 นั่นแหละ (หัวเราะ) ตอนเด็กผมชอบเล่นกีฬา แต่ไม่มีโอกาสได้เล่นเท่าไหร่ เพราะเลิกเรียนต้องกลับมาเรียนพิเศษ จากนั้นก็ช่วยงานที่ร้านอาหารของแม่ต่อ แม่เปิดร้านอาหารอีสานครับ 

“จนย้ายไปเรียนที่ยโสธร บ้านกับสนามฟุตบอลโรงเรียนแทบจะติดกันเลย ใกล้มาก ครูพละที่โรงเรียนมาเป่านกหวีดปลุกผมถึงบ้านตั้งแต่ตีห้าให้ลุกมาซ้อมบอลทุกวัน ถือเป็นความโชคดีครับ ผมได้เล่นกีฬาตามที่ใจชอบ อยู่ต่างจังหวัดมีโอกาสติดยาเสพติดได้ง่าย ถ้าไม่มุ่งด้านกีฬา อาจถลำตัวไปทางที่ผิด ตอนนั้นผมค่อนข้างจริงจังกับฟุตบอลนะ ได้ไปเตะถึงระดับจังหวัด ระดับประเทศ และมีความฝันอยากเป็นครูพละเหมือนครูของผม”

ฝ่าฟันบนเส้นทางดนตรี

ทว่าจุดพลิกผันแรกก็เกิดขึ้นเมื่อวันหนึ่งน้าไผ่ของหนุ่มจา ถามเขาว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร และคำตอบที่เขาให้กลับไม่ใช่อาชีพสายกีฬา “ผมหันไปตอบด้วยความมั่นใจว่าอยากเป็นนักร้องครับ แล้วก็คิดในใจ เฮ้ย พูดอะไรออกไปวะ น้าก็โอเค ถ้าอยากเป็นนักร้อง จบม.6 ก็ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แล้วไปอยู่กับอาจารย์วสุ ห้าวหาญ ที่แต่งเพลงคนบ้านเดียวกันให้น้าไผ่ แต่ไม่รอเรียนจบ ตั้งแต่ ม.6 ผมก็นั่งรถตู้ไป-กลับ ยโสธร-กรุงเทพฯ เพื่อคอยช่วยงานอาจารย์วสุ ตามรอยแบบที่น้าเคยทำเลย”

แม้วัยเด็กของจาจะเน้นด้านกีฬามากกว่าดนตรี แต่เขาก็เคยผ่านเวทีประกวดร้องเพลงมาบ้าง ด้วยการที่เพื่อนส่งชื่อของเขาเข้าประกวด และผ่านเข้าไปแข่งถึงระดับเขต จังหวัด และประเทศ

หลังเรียนจบ ม.6 จาได้เข้าสังกัดสหภาพดนตรี จึงมีโอกาสขึ้นเวทีร้องเปิดให้แก่ศิลปิน พร้อมกับการไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ทว่าเส้นทางดนตรีของจากลับไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เมื่อสังกัดเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน จาจึงตัดสินใจลาออกและกลับไปเรียนต่ออย่างจริงจัง จายอมรับว่าเวลานั้นเขาแทบจะถอดใจจากการเป็นนักร้องแล้ว ทว่าชีวิตก็พลิกผันอีกครั้ง เมื่อ ‘ปิงปอง พงษ์อนันต์’ นักแต่งเพลง โทร.เรียกจาให้ช่วยมาอัดเสียงหน่อย เพลงนั้นก็คือบักฮูขี่ เมื่อน้าไผ่ได้ฟังก็เสนอให้จากลับมาร้องเพลงอีกสักตั้ง ด้วยการอัดคลิปเผยแพร่ลงช่องยูทูบของ ‘ไผ่’ พงศธรเอง ทว่ากระแสตอบรับไม่เป็นดังหวัง จนเขาคิดจะกลับไปเรียนเป็นครูพละตามความฝันสมัยเด็ก แต่ก็เป็นอีกครั้งที่เกิดเรื่องเหนือความคาดหมาย รั้งจาไม่ให้ออกจากเส้นทางดนตรีนี้ เมื่อเพลงบักฮูขี่ ถูกนำไปร้อง cover และเป็นไวรัล ส่งผลให้นักร้องต้นฉบับอย่างจาพลอยมีงานจ้างด้วย ชีวิตกำลังไปได้ดีก็เกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด งานจ้างทั้งหมดต้องหยุดชะงักไป

“ชีวิตผมมีจุดพลิกผันหลายครั้ง ช่วงนั้นเหมือนเราอยู่บนเรือที่ไม่มีไม้พาย เราใช้มือตัวเองพาย แล้วคลื่นก็ซัดตลอด พอมีความหวัง คาดหวัง ก็ผิดหวัง ไปเรียนมหาลัย เพื่อนเรียน 4 ปีจบ ผมใช้เวลาไป 6 ปี เราอยู่กับเพื่อน แต่เตะบอล อกหัก เรียนไม่จบ คิดมาก จนน้าชวนให้ไปบวชที่อินเดียพร้อมกับเขา ผมก็รับปากไป ปรากฏว่าน้าติดละครจึงตัดผมไม่ได้ เลยมีแต่ผมที่บวช ส่วนน้าก็ห่มขาว ผมทำพิธีบวชที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เราร้องไห้ดีใจที่ได้บวช และเสียใจที่พ่อกับแม่ไม่ได้เห็น แต่ที่ร้องไห้หนักสุดคือตอนบิณฑบาต น้ามาใส่บาตรแล้วก้มกราบที่เท้าผม ก่อนบวชผมไม่เคยอินกับศาสนาเลย พอบวชเสร็จเหมือนความคิดเราเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เราจะอยู่ไปวันๆ แบบนี้ไม่ได้ ต้องเรียนให้จบ จากนั้นชีวิตก็เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีจริงๆ” จาได้แสดงละครทางช่อง One31 

เข้าสังกัดไทดอล มิวสิค

แม้จาจะเป็นหลานของ ไผ่ พงศธร แต่ใช่ว่าเขาจะเข้าสังกัดแกรมมี่ โกลด์ได้ง่ายกว่าคนอื่น “ผมมาที่นี่ตั้งแต่อายุ 17 ครับ มาประกวดโครงการน้องใหม่ไต่ดาวแต่ไม่ผ่าน ทำประวัติไว้ตั้งแต่ 17-23 ปี ไม่หวังว่าจะได้เข้าสังกัดแล้ว ดีใจที่วันนี้ได้อยู่บ้านหลังนี้ ทุกอย่างเกินฝันด้วยซ้ำ

“ไทดอล มิวสิค อยู่ในเครือแกรมมี่ โกลด์ ไทดอล มาจากไทบ้านและไอดอล สไตล์ดนตรีคือลูกทุ่งอินดี้ เป็นการรวมตัวของเด็กรุ่นใหม่ที่มีเพลงโด่งดังในโซเชียลมีเดีย แต่ละคนมีไอเดีย มีสไตล์ของตัวเอง แม้เข้าสังกัดใหญ่แต่แนวเพลงของผมไม่ได้ปรับเปลี่ยนมาก น้าไผ่เป็นโปรดิวเซอร์ให้ด้วย คงความเป็นตัวตนของผมอยู่คือวัยรุ่นกวนๆ”

เพลงที่สะท้อนความเป็นตัวตนของ จา สิงห์ชัย’ และอยากแนะนำให้แฟนๆ ได้ฟัง “เริ่มที่ถ่าจักคราว เป็นเรื่องราวชีวิตครอบครัวของผม ไม่ว่าจะเป็นแม่ หรือน้าไผ่ ที่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อแสวงหาโอกาส หางานทำ แล้วส่งเงินเลี้ยงดูบ้านที่ต่างจังหวัด ตัวผมอาจไม่เจอความลำบากขนาดนั้น แต่เรารับรู้เรื่องราวความลำบากตั้งแต่เด็ก 

“ส่วนอัลบั้มดิจิทัลแรกในชีวิต ชื่อความฮักของบักดิน ผมเปรียบตัวเองเป็นดิน ดินธรรมดาแต่เป็นวัตถุสำคัญ สร้างบ้าน สร้างตึก เปรียบเสมือนความรักที่คอยอุ้มชูคุณ ผู้ชายธรรมดาๆ อบอุ่นที่พร้อมอกหักตลอดเวลา (หัวเราะ) ซิงเกิลที่อยากแนะนำคืออ้อมกอดที่ปลอดภัย แค่ฟังชื่อก็รู้ว่าอกหักแล้ว บักดินอย่างผมไม่ค่อยสมหวังในความรัก เพราะให้เขากินแต่ข้าวเหนียว ไม่มีตังค์พาไปกินพิซซ่า”

เรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น

การติดตามผู้เป็นน้าทำให้จาได้เรียนรู้วิถีชีวิตศิลปินโดยไม่ต้องพร่ำบอก “ผมโชคดีที่ได้ติดตามแก ได้เรียนรู้ทุกอย่าง ช่วงน้าไผ่เปลี่ยนชุด ผมก็ขึ้นไปร้องเพลง แฟนเพลงเห็นเราเป็นหลานก็เอ็นดูให้ทิป พอทำหน้าที่สตาฟเต็มตัวก็หยุดร้อง คอยเก็บดอกไม้ ทำงานจิปาถะ หลังเซ็นสัญญาเป็นศิลปินก็ได้ร้องเปิด เราได้เห็นการทำงานของน้าทุกขั้นตอนแล้วนำมาปรับใช้ เขาโพสต์ท่าเวลาถ่ายรูปยังไง อยู่บนเวทีทำแบบไหน หลังเวทียังไง การใช้ชีวิต น้าเนี่ยเปรียบเสมือนพ่อของผมอีกคน ผมรักและเทิดทูนมาก มีคนถามทำไมไม่ถ่ายวิดีโอกับน้าบ้าง ผมเกรงใจ เวลาลงจากเวทีแกก็เหนื่อย ไม่อยากรบกวนเวลาพักผ่อน”

ในมุมมองของเขา หากต้องมุ่งหวังอยู่ในวงการเพลงได้ยืนนานดังเช่นน้าชาย ศิลปินต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย “การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวัน สมัยก่อนเป็นยุคแอนะล็อค แต่ตอนนี้เป็นยุคดิจิทัล จากแผ่นซีดีก็เป็นคลิปยูทูบ เราต้องรู้เท่าทันและปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา โลกหมุนไว เราต้องก้าวให้ทัน”

เมื่อถามถึงภาพอนาคตที่วาดฝันไว้ หนุ่มจาเปิดอกว่าเขาไม่คาดหวังอีกแล้ว เพราะผิดหวังมาเยอะ เลยยึดตามคำสอนของน้า ทำวันนี้ให้ดีที่สุดก็พอ หากวันนี้ทำเต็มที่แล้ว ผลลัพธ์ที่ดีจะตามมาเอง

จาผ่านประสบการณ์ทั้งสมหวังและผิดหวังมาไม่น้อย และในวันที่ชีวิตเริ่มต้นเดินหน้าอย่างมั่นคง มีความในใจที่เขาอยากบอกต่อผู้ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดัน “ขอบคุณพ่อกับแม่ที่เลี้ยงดูผม ขอบคุณน้าไผ่ที่ให้โอกาสผมเสมอมา ให้คำปรึกษา เปรียบเสมือนพ่ออีกคนของผมก็ว่าได้ และสุดท้ายอยากขอบคุณตัวเองที่วันนี้ยังลืมตาตื่นและมีลมหายใจ”

“ท้อได้แต่อย่าถอย” คือคติประจำใจที่นักร้องหนุ่มเก็บไว้เตือนสติเมื่อเผชิญปัญหา “น้าสอนผมคำนี้มาตลอด ตอนนี้เราเดินอยู่ เราไม่รู้หรอกมันอาจใกล้ถึงเส้นชัยแล้วก็ได้ แต่ถ้าอยู่ๆ เราหันหลังกลับ เรายอมแพ้ กลายเป็นว่าเส้นชัยข้างหน้าที่อาจอยู่แค่เอื้อมมือก็คว้าไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องสู้ต่อไปครับ”

เรื่องราวของเขาย้ำเตือนเราว่าหากใจไม่ยอมแพ้ สักวันหนึ่งความสำเร็จต้องมาถึงแน่

09


ขอบคุณสถานที่

โรงแรม Oakwood Suites Bangkok

ที่อยู่ : 20 ซอยสุขุมวิท 24 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110

เบอร์โทรศัพท์ : 02-059 2888

Email : reservations.suites-bangkok@oakwood.com

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!