แนวเรื่องการเดินทางข้ามเวลา (time travel) นับเป็นแนวเรื่องยอดนิยมแนวหนึ่งในวงวรรณกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางย้อนเวลากลับไปในอดีต หรือการก้าวข้ามเวลาไปสู่โลกอนาคต แม้ว่านิยายแนวนี้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ผู้คนก็พูดถึงและอ่านกันอย่างกว้างขวาง
น่าสังเกตว่านิยายที่มีแนวเรื่องการเดินทางข้ามเวลามักมีผู้ผลิตเป็นละครโทรทัศน์ และได้รับความนิยมเกือบทุกเรื่อง อาทิ อตีตา ทวิภพ บุพเพสันนิวาส แต่ละเรื่องมีการผลิตซ้ำอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องบุพเพสันนิวาสที่ปลุกกระแสความนิยมแนวเรื่องนี้ให้กลับมาอีก ดังจะเห็นว่านิยายเรื่องล่าสุดที่มีผู้ผลิตเป็นละครโทรทัศน์ก็คือเรื่อง เภตรานฤมิต ของ “ศิริวิมล”
จะว่าไปแล้ว เรื่องของ “เวลา” (time) และ “สถานที่” (space) เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย กาลเวลาและสถานที่ล้วนมีส่วนในการกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ให้แสดงออกแตกต่างกันไป ในคติไทยเรียกว่า “กาลเทศะ” กาลเทศะเป็นตัวกำหนดว่าคนเราต้องมีพฤติกรรมที่เหมาะสมอย่างไร กาลเทศะยังถูกนำมาใช้วัด “คุณค่ามนุษย์” ในสังคม บุคคลผู้ทำการใดให้ถูกกาลเทศะก็จะไม่ได้รับการตำหนิ แต่หากใครทำอะไรที่ผิดกาลเทศะ ก็จะถูกสังคมใตำหนิและลงโทษ
กาลเทศะคือการมีสำนึกเกี่ยวกับเวลาในชีวิตประจำวัน แต่ยังมีเวลาในจินตนาการที่มีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์อีกด้วย เช่น สำนึกในเรื่องกรรมเก่า ทำให้เราไม่กล้าแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสมในปัจจุบัน ความใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดี ทำให้แต่ละคนกำหนดเป้าหมายชีวิตแตกต่างกัน การผิดหวังกับเรื่องในอดีต และอยากย้อนไปแก้ไข หรือเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เหตุการณ์นั้นๆ กลับกลายเป็นความเจ็บปวดสืบไปถึงอนาคต
มนุษย์ทั่วโลกจึงมี “ยานเวลา” ทั้งในจินตนาการและในทางวิทยาศาสตร์ ดังจะเห็นว่าในนิยายแนววิทยาศาสตร์หลายเรื่องมียานเวลาให้มนุษย์โดยสารไปสู่โลกอนาคตหรือย้อนสู่โลกของอดีต ส่วนในบางสังคมก็มียานเวลาแบบแฟนตาซี เช่น การใช้มนตราย้อนดูอดีต หรือย้อนสู่อดีต การดึงบุคคลในอดีตที่ตายไปแล้วให้หวนคืนมาสู่โลกปัจจุบัน
นักเขียนที่เขียนนิยายแนวนี้จึงสามารถใช้วิธีการต่างๆ มาสร้างสรรค์นิยายแนวการเดินทางข้ามเวลาตามความถนัด ทวิภพเดินทางข้ามเวลาผ่านกระจกเงาบานใหญ่ที่ตัวละครถูกใจในร้านขายของเก่า กระจกกลายเป็นสัญญะซึ่งส่องสะท้อนตัวตนของความเป็นไทย และเป็นสื่อให้ตัวละครกลับไปดูเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต เรื่องแดนดาวของ “แก้วเก้า” ตัวละครเดินทางสู่โลกอดีต แต่เป็นอดีตที่ผิดแผกไปจากประวัติศาสตร์ที่เคยรับรู้ “แก้วเก้า” ทำให้นิยายเรื่องแดนดาว เป็นนิยายวิทยาศาสตร์แบบอ่อนๆ ไม่ต้องพูดถึงทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ แต่ชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์การโคจรของดาวในระบบสุริยะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกมนุษย์ เรื่องอตีตา ตัวละครผ่านมิติไปสู่โลกอดีต เพื่อช่วยแก้ปัญหาในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และเรื่องที่ฮือฮาก็คือบุพเพสันนิวาส เมื่อตัวละครเอกร่ำเรียนทางโบราณคดี ถูกปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบันดาลให้ไปอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และพบรักกับคนในประวัติศาสตร์ ได้มีส่วนร่วมในการอธิบายแก้ไขและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ผ่านจินตนาการของนักเขียน
ในแง่สัจธรรมแล้ว เราไม่สามารถแก้ไขเหตุการณ์ในอดีตได้ ต่อให้ย้อนไปแล้วก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ในความทรงจำได้ แต่เราสามารถให้นิยายเป็นสื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ในแง่มุมที่นักเขียนต้องการ
ความหฤหรรษ์จากการอ่านนิยายแนวเดินทางข้ามเวลาก็คือ การได้เห็นตัวละครในประวัติศาสตร์มาโลดแล่นในโลกจินตนาการผ่านตัวอักษร หยิบยกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาเล่าใหม่ ทำให้กลายเป็น “นิยายอิงประวัติศาสตร์” สร้างการเรียนรู้และจดจำได้ แต่มีเสน่ห์กว่าการนำประวัติศาสตร์มาเขียนใหม่ เพราะการเดินทางข้ามเวลาจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบ โลกปัจจุบันกับอดีต (หรืออนาคต) ผ่านตัวละครเอกที่ข้ามเวลาไป
ความหฤหรรษ์อีกประการหนึ่งก็คือ ความรักของตัวละครสองยุคซึ่งต่างก็เข้าใจกัน ซาบซึ้งตรึงใจกัน และใช้ปัญญาในการแสวงหาความปรารถนาร่วมกัน เกิดความโรแมนติกแบบแปลกแยกในสองวัฒนธรรมเก่ากับใหม่ที่มาปะทะกัน
เภตรานฤมิตที่กำลังกล่าวถึงนี้ ตัวละครเดินทางข้ามเวลาผ่านแฟนตาซี คือเรือจำลอง ที่นำเอาความฝันของตัวละครเอกในโลกปัจจุบัน ไปสู่ตัวละครในอดีตที่ยังเฝ้ารอคอย “ศิริวิมล” เลือกใช้เรือและใช้เหตุการณ์ในยุครัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นยุคแห่ง “การค้าสำเภา” นิยายเรื่องนี้จึงเกิดความสอดคล้องระหว่าง “ฉาก” กับ “ยานเวลา” ที่เลือกใช้
ในแง่ของฉาก “ศิริวิมล” นำผู้อ่านไปสู่เมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นจุดเริ่มของ “ความทันสมัย” ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน การค้าสำเภาได้นำเอาวิทยาการสมัยใหม่เข้ามา แต่ก็ไม่ลืมใส่เรื่องราวของตัวละครในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งผู้อ่านรู้จักกันดีเข้ามาไว้ในนิยายเพื่อให้เกิดความสมจริง เช่น คุณพุ่ม (บุษษาท่าเรือจ้าง) หรือการสอดแทรกบทสักวาให้เห็นว่าในยุคดังกล่าว สักวาเป็นสื่อและเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งในยุคนั้น
แม้เนื้อเรื่องจะเน้นเกี่ยวกับความรัก ความหึงหวง และความทรงจำ แต่ก็ถูกใจผู้อ่านไทย เภตรานฤมิต มนตราที่ชักนำตัวละครให้มาพบกัน เพื่อรักกัน จึงเป็นแนวเรื่องที่ถูกจริตคนไทยอีกแนวหนึ่ง ซึ่งเชื่อแน่ว่าจะเป็นแนวเรื่องที่ได้รับความนิยมไปอีกนาน
ความท้าทายที่มีต่อนักเขียนไทยก็คือ สร้างเนื้อหาให้ตัวละครใช้ “ยานเวลา” ย้อนไปสู่โลกอดีตในมิติที่แตกต่างจากเดิม จะน่าสนใจไม่น้อย
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง / เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ ภาพ:https://www.facebook.com/Ch7HDDramaSociety