“เพชรบุรี” เมืองสร้างสรรค์โลกด้านอาหาร ประจำปี 2564

-

เพชรบุรี นครประวัติศาสตร์

“เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ

เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะทะเลงาม”

(คำขวัญจังหวัดเพชรบุรี)

 

“พอแดดร่มลมชายสบายจิต                  เที่ยวชมทิศทุ่งทางกลางวิถี

ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี        เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล

ที่พวกทำน้ำโตนดประโยชน์ทรัพย์         มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร

พะโองยาวก้าวตีนปีนทะยาน                 กระบอกตาลแขวนก้นคนละพวง”

(นิราศเพชรบุรี – สุนทรภู่)

เป็นที่น่ายินดีที่ UNESCO ประกาศให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นหนึ่งในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก ประจำปี 64 (UNESCO Creative Cities Network) ประเภทเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร หรือ City of Gastronomy และเป็น 1 ใน 49 เมืองจากทั่วโลกที่ได้รับเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ประจำปีนี้ นับเป็นเมืองที่ 5 ของประเทศไทยที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณ ก่อนหน้านี้มีจังหวัดที่ได้รับการยกย่องเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แล้ว 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ สุโขทัย และกรุงเทพมหานคร

 

 

สำหรับจังหวัดเพชรบุรี ถือเป็นเมือง 3 รส เพราะเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศในการผลิตเกลือ การปลูกและผลิตน้ำตาลจากตาลโตนด และการปลูกมะนาวที่มีรสชาติดีเยี่ยม

จังหวัดเพชรบุรี เดิมสะกดว่า “เพ็ชร์บุรี” เป็นเมืองเก่าแก่ที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดีและเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของไทยในกลุ่มหัวเมืองฝ่ายตะวันตก มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ มีหลักฐานชื่อเรียกปรากฏในหนังสือของชาวต่างประเทศ เช่น ชาวฮอลันดาเรียกว่า “พิพรีย์” ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า “พิพพีล์” และ “ฟิฟรี” จึงสันนิษฐานกันว่า “เมืองพริบพรี” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมืองเพชรบุรี สอดคล้องกับชื่อวัดพริบพลี ที่เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของเมืองเพ็ชร์

อีกทั้งยังเป็นแหล่งวัตถุดิบการทำอาหารซึ่งเชื่อมโยงกับชุมชน-ธุรกิจการท่องเที่ยว มีภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการนำผลผลิตที่ขึ้นชื่อในท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นเมนูอาหารอันหลากหลายทั้งของคาว ของหวาน

จังหวัดเพชรบุรีที่เพิ่งได้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารล่าสุดนั้น นับเป็นเมืองลำดับ 2 ของไทยต่อจากภูเก็ตซึ่งได้รับการประกาศเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารเมื่อปี 2015

จังหวัดนี้มีพื้นที่ติดทะเลและภูเขา ตลอดจนที่ราบ จึงมีวัตถุดิบมากมาย รวมทั้งอาหารทะเล มีผู้ยกย่องให้แกงของเมืองเพชรบุรีเป็นอีกสกุลสำคัญของแกง เห็นได้จากมีร้านข้าวแกงใหญ่โตริมทางหลายเจ้าในอำเภอเขาย้อย มีสารพัดแกง ต้ม ผัดเรียงราย  เช่น แกงคั่วใบมะขามอ่อน เป็นเมนูอาหารท้องถิ่นของเมืองเพ็ชร์ ที่ได้รสเปรี้ยวจากใบมะขาม เติมความโดดเด่นด้วยไข่แมงดา คั่วแกงใบมะขามจะอร่อยมากเมื่อแกงคู่กับไข่แมงดา รสจัดถึงใจจนกลายเป็นอีกหนึ่งเมนูยอดนิยม แกงอื่นๆ ที่ทำจากวัตถุดิบท้องถิ่นยังมี แกงหัวตาล ยำหัวโตนด ต้มสีนวล (ต้มข่าไก่) แกงไก่บ้านหน่อไม้ดอง แกงคั่วใบมะขามหอยเสียบ ทอดมันขนมจีน แกงหลอก (แกงพื้นบ้านดั้งเดิม โดยปกติแกงทั่วไปมักเผ็ด แต่แกงหลอกรสชาติไม่เผ็ด คนเพ็ชร์จึงบอกว่าแกงที่ไม่เผ็ดนั้นไม่ใช่แกง เลยเรียกว่า “แกงหลอก”) แกงหน่อส้ม (อาหารพื้นบ้านของชาวไทยทรงดำ) ผัดไทยท่ายาง ข้าวแช่ตำรับพื้นเมือง แกงหน่อส้ม ก๋วยเตี๋ยวเมืองเพ็ชร์ (ที่มีอัตลักษณ์ไม่เหมือนจังหวัดอื่นๆ คือนิยมเติมพริกกะเหรี่ยงตำหรือซอสพริกศรีราชา) พริกกับเกลือ (คือ มะพร้าวคั่วเกลือและน้ำตาลคลุกข้าว โดยมากใช้เป็นเสบียงในการเดินทาง) หอยเสียบแห้งจุ่มน้ำจิ้มย่างรสหวาน ปลาอกกุแลเค็มเสียบไม้ (ย่างไฟจนก้างกรอบเคี้ยวได้ทั้งตัว กินแนมกับแกงหรือน้ำพริกกะปิ)

ต้มเครื่องในวัว ที่ไม่เหมือนจังหวัดอื่น เพราะล้างสะอาดหมดจดไม่มีกลิ่นคาว ใส่เครื่องในวัวต้มในกะละมังใบโตรองด้วยใบมะกรูดและข่าทุบจำนวนมาก แล้ววางต้นตะไคร้ทุบจนมิดด้านบน เคี่ยวหลายชั่วโมงจนบรรดาเครื่องในเปื่อยจึงแทงขึ้นผึ่งบนตะแกรงไผ่ที่พาดบนกะละมัง เริ่มขายประมาณ 6 โมงเช้า ลูกค้านั่งรอเต็มหน้าร้าน แม่ค้าหยิบเครื่องในบนตะแกรงหั่นมือเป็นระวิง ตักใส่ชาม เติมน้ำซุป มีถาดเครื่องปรุง ได้แก่ น้ำตาลเคี่ยว เกลือป่น (ห้ามใส่น้ำปลาเพราะทำให้สาบคาว) พริกบด ให้ปรุงเอง ปิดร้านประมาณ 9 โมงเช้า เพราะของหมด เคยถามว่าทำไมไม่ต้มเพิ่ม เห็นที่ศูนย์การค้ามีเครื่องในขายส่งมากมาย แกยืนยันว่าเครื่องในที่ผ่านการแช่เย็นมานั้นใช้ไม่ได้ ต้องเป็นของสดใหม่จากโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งขอปันมาขายเพียงวันละ 40 กิโลกรัมเท่านั้น

ภัตตาคารจีนในตัวเมืองมีทั้งจีนไหหลำ จีนกวางตุ้ง มากที่สุดคือจีนแต้จิ๋ว มีร้านแต้จิ๋วของคนจีนอพยพจากซัวเถา เป็นที่รู้จักกันในละแวกจังหวัดใกล้เคียงจนถึงกรุงเทพฯ ทำอาหารจีนได้อร่อยตามรสมือที่ฝึกปรือมาจากเมืองซัวเถา ทั้งลูกชิ้นปลา ฮื่อก้วย ผัดเปรี้ยวหวานและผัดทุกชนิด รวมทั้งแฮ่กึ๊นทำเองจากกุ้งสด ยังจำชื่อร้านได้ว่า “จุ้ยแปะ”  醉白 หมายถึง หลีไป๋ กวีเอกจีนโบราณผู้นิยมร่ำสุราจนเมามาย

เพชรบุรีนอกจากมีเอกลักษณ์ทางด้านอาหาร ขนมหวานก็ขึ้นชื่อโด่งดัง เห็นได้จากร้านใหญ่โตจำนวนมากเรียงรายข้างทางฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ ล้วนแต่เน้นขายขนมหวาน ของฝากนานาชนิด

ขนมไทยต่างๆ ตั้งแต่ หม้อแกง บ้าบิ่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง พุทราเชื่อม จนถึงขนมบ้านๆ อย่างขนมตาลเมืองเพชร เพราะเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลขนาดใหญ่ จึงมีการใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมในขนมหลากหลายอย่าง บางชนิดได้ถูกลืมเลือนไปบ้างแล้ว เช่น ข้าวเกรียบงา หอมใน(เปลือกส้มโอเชื่อม) ขนมโตนดสุก ข้าวเหนียวแดง ข้าวเม่าคลุก ข้าวฟ่างเปียก

ชาวเมืองนิยมกินลอดช่องสิงคโปร์ ที่ใส่น้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลทรายแดงในแก้วน้ำแข็งใส เพิ่มความหอมหวานที่เป็นเอกลักษณ์ ยังมี มันต้มน้ำตาล ข้าวเหนียวดำ เต้าส่วน บ๊ะจ่าง เต้าทึงร้อนและเย็นที่ใส่เครื่องนานาชนิด ลูกเดือย แปะก๊วย เม็ดบัว ถั่วทอง แห้ว พุทราจีนเชื่อม สาคู เมนูจะปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยก่อนเมื่อย่างเข้าหน้าหนาว ตามชุมชนมีสาวหน้าแฉล้มตั้งโต๊ะปั้นบัวลอย มีเตาน้ำเชื่อมต้มบัวลอยไข่หวาน ใส่ถ้วยหยอดหัวกะทิ ทุกหาบมีหนุ่มๆ คอยก้อร่อก้อติกไม่ยอมลุกไปไหน

นอกจากเรื่องอาหารการกินแล้ว คนเมืองเพ็ชร์แต่โบราณฝากฝีมือเชิงช่างชั้นเยี่ยม เช่น การปลูกสร้างเรือน แกะสลักจำลักลาย ปูนปั้น ภาพจิตรกรรม ลายลงรักปิดทอง ช่างแทงหยวก ศิลปินคนสำคัญ เช่น สุนทรภู่ก็สืบสายมาจากคนเมืองเพ็ชร์ รวมทั้งขรัวอินโข่งช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ด้านวรรณศิลป์ มนัส จรรยงค์ นั้นเรียกได้ว่าเป็นเฮมมิงเวย์ของไทยได้อย่างไม่ขัดเขิน เพชรบุรีจึงสมควรเป็นเมืองสร้างสรรค์โลกเพียงเฉพาะด้านอาหาร แต่ยังเป็นเมืองสร้างสรรค์ศิลปวิทยาหลายแขนงอีกด้วย

“หนุ่มทุ่งกระโจมทอง ฝากเพลงรักลอยล่องสู่ห้องใจฉัน เสียงเพลงที่ครวญ ชวนใจหวั่น ฝากรำพันถึงเพชรบุรี พบกันปีกลาย ก็เมืองเพชรนั้นใกล้ๆ แค่นี้ แล้วไยไม่มาหาเลยนี่ เกือบจะปีที่รอเช้า-เย็น”

ขอบคุณเนื้อหาจาก

 http://arit.pbru.ac.th/…/personel/artist-phetchaburi

https://thai.tourismthailand.org/

https://www.museumthailand.com/th/


คอลัมน์: กินแกล้มเล่า

เรื่องโดย: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!