กุหลาบเปอร์เชียในแดนสยาม สารคดีชนะเลิศ เซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2566

-

อารยธรรมเก่าแก่ของเปอร์เชียได้แผ่ขยายไปยังนานาประเทศ สยามเองก็เป็นหนึ่งในดินแดนที่รับอิทธิพล เช่น คำไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวันนี้ หลายคำเป็นคำยืมจากภาษาเปอร์เชีย ได้แก่ กุหลาบ ครุย ผ้าขาวม้า หรือแม้แต่คำว่าภาษี ทว่าเรากลับมีความรู้ด้านความสัมพันธ์เปอร์เชีย-ไทยไม่มากนัก อีกทั้งหลักฐานของไทยที่บันทึกไว้ให้ศึกษายังมีค่อนข้างน้อย ดังนั้น ศาสตราจารย์เกียติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี ซึ่งมีความสนใจในความสัมพันธ์ระหว่างสยามและเปอร์เชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาษาและวรรณกรรม จึงได้ลงมือสืบค้นหลักฐานทั้งไทยและเทศด้วยความวิริยอุตสาหะแล้วร้อยเรียงเรื่องราวกุหลาบเปอร์เชียในแดนสยาม จนสำเร็จ หนังสือเล่มนี้เล่าถึงอิทธิพลด้านวัฒนธรรมของเปอร์เชียที่แฝงอยู่ในภาษา วรรณคดี เสื้อผ้าอาภรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ ฯลฯ ของไทย แม้เป็นผลงานวิชาการแต่ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดด้วยท่วงทำนองอันเปี่ยมด้วยรรณศิลป์ หนังสือเล่มนี้จึงควรค่าได้รับเลือกให้เป็นหนังสือชนะเลิศประเภทสารคดี รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2566

 

อาจารย์เริ่มสนใจวัฒนธรรมเปอร์เชียได้อย่างไร 

เริ่มสนใจตั้งแต่ตอนทำปริญญาโทอักษรศาสตร์ที่จุฬาฯ เลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่องรุไบยาต
ของโอมาร์ คัยยาม กวีนิพนธ์เปอร์เชีย ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงแปลจากภาษาอังกฤษ  ครั้งนั้นทำวิจัยเรื่องนี้ในฐานะวรรณกรรมไทย เมื่อค้นคว้าไปก็ชอบใจในปรัชญาคำสอนของโอมาร์ คัยยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความให้ต่างจากฉบับภาษาอังกฤษของ Edward Fitzgerald ซึ่งรู้จักกันทั่วไป เมื่อได้ตีความบทกวีนิพนธ์ของโอมาร์ คัยยามในมุมมองใหม่แล้ว ทำให้เข้าใจสัญลักษณ์ต่างๆ ที่กวีใช้และอยากจะศึกษากวีนิพนธ์เปอร์เชียเรื่องอื่นๆ อีก  

จนกระทั่งได้ไปศึกษาต่อทางภาษาและวรรณคดีสันสกฤตที่แคนาดา ได้เปรียบเทียบภาษาสันสกฤตกับภาษาเปอร์เชีย ซึ่งมีตระกูลภาษาร่วมกันคือ Indo-Iranian (สาขาย่อยของ Indo-European) ทำให้เข้าใจคำศัพท์ที่สองภาษาใช้ร่วมกัน และหลายคำปรากฏในภาษาไทย จึงสนใจวัฒนธรรมเปอร์เชีย เพื่อจะศึกษาค้นคว้าความสัมพันธ์ทางภาษาและวรรณกรรมเปอร์เชียกับไทย

อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมเปอร์เชีย และอิทธิพลที่มีต่อวัฒนธรรมไทยค่ะ

เปอร์เชียหรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในนามอิหร่าน เป็นชนชาติในตะวันออกกลางที่มีศิลปวัฒนธรรมรุ่งเรืองมาแต่โบราณ  จากการที่พ่อค้า นักการทูต นักแสวงโชคชาวเปอร์เชียเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ ทั้งทางตะวันตกและตะวันออก ทำให้ศิลปวัฒนธรรมเปอร์เชียตกทอดอยู่ในดินแดนเหล่านั้น  กล่าวเฉพาะความสัมพันธ์ทางการค้า การทูต และการศาสนาระหว่างเปอร์เชียกับสยาม ไม่ปรากฏหลักฐานสักเท่าใดในพงศาวดารไทย มีอยู่บ้างในเอกสารของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสยามสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่เป็นร่องรอยอยู่ในวัฒนธรรมไทย ได้แก่ ศิลปะการก่อสร้าง ศิลปะการทอผ้าทอพรม ศิลปะการปรุงรสปรุงสุคนธ์ ดังปรากฏในคำเรียกสิ่งต่างๆ ในภาษาไทยที่รับมาจากเปอร์เชีย ทั้งคำเรียกเสื้อผ้าอาภรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ และอาหารการกิน รวมทั้งวรรณคดีนิทานไทยที่รับมาจากเปอร์เชีย ตลอดจนความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างชาวไทยกับชาวเปอร์เชีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสายสกุลสำคัญในประเทศไทย

 

 

แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดหนังสือกุหลาบเปอร์เชียในแดนสยาม

เริ่มจากการอยากรู้จักเปอร์เชียทั้งด้านภาษาซึ่งเป็นที่มาของคำหลายคำในภาษาไทย และด้านวรรณกรรมซึ่งเป็นที่มาของนิทานราชธรรมของไทยในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีความสนใจตั้งแต่สมัยจบการศึกษาปริญญาเอกเมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว และต้องสอนวิชาวรรณกรรมเอกของตะวันออกซึ่งรวมวรรณกรรมเปอร์เชียด้วย จึงตั้งใจว่าหากมีเวลาและมีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูล จะสืบค้นแหล่งที่มาของเรื่องเหล่านี้

วิธีการสืบค้นข้อมูลเพื่อนำมาเขียน

ตั้งแต่นั้นมาก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับเปอร์เชียที่รวบรวมไว้ อ่านไปตั้งคำถามไป และพยายามหาคำตอบทีละเล็กทีละน้อย วิธีสืบหาข้อมูลได้แบบอย่างจากท่านอาจารย์เจ้าคุณอนุมานราชธน ท่านเล่าไว้ในหนังสือชุดฟื้นความหลัง ว่าท่านสืบหาข้อมูลแบบ ‘ไต่หาความรู้’ เหมือนไต่ไปตามใยแมงมุมจากเส้นหนึ่งไปอีกเส้นหนึ่ง การศึกษาวิธีนี้ต้องใจเย็นๆ ไม่รีบหาคำตอบ ไม่ด่วนสรุปเพราะยังมีสิ่งที่เราไม่รู้ไม่เห็นอีกมากซึ่งอาจเป็นตัวแปรให้คำตอบที่ได้นั้นเปลี่ยนไป

เรื่องสำคัญที่พยายามหาคำตอบมาตลอดคือ ที่มาของนิทานสิบสองเหลี่ยมของไทย เป็นเรื่องที่ท้าทายมากเพราะศึกษาประวัติวรรณคดีเปอร์เชียหลายเล่ม ก็ยังไม่พบเรื่องใดที่น่าจะใช่ จนกระทั่งเมื่อ 4 ปีที่แล้วได้คำตอบว่า วรรณกรรมเปอร์เชียเรื่องใดบ้างที่เป็นที่มาของนิทานราชธรรมไทยเรื่องสำคัญในสมัยอยุธยาตอนปลาย คำตอบอยู่ในหนังสือ กุหลาบเปอร์เชียในแดนสยาม

ข้อมูลส่วนไหนที่หาได้ยากเย็น

ข้อมูลส่วนที่หายากคือหลักฐานจากเอกสารของไทยที่เกี่ยวกับเปอร์เชีย เพราะมีกล่าวถึงไว้น้อยมาก ต้องอาศัยเอกสารบันทึกของชาวเปอร์เชียในคณะราชทูตที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และอาศัยการ ‘ไต่’ หาข้อมูลจากคำเรียกสิ่งต่างๆ ที่ไทยได้รับมาจากเปอร์เชีย

 

 

เหตุการณ์ประทับใจระหว่างจัดทำหนังสือ

สิ่งที่ประทับใจคือที่มาของชื่อหนังสือเรื่องนี้  เมื่อได้ข้อมูลต่างๆ เป็นที่พอใจแล้ว ถึงเวลาคิดชื่อหนังสือ คิดอยู่นานว่าจะใช้สัญลักษณ์ใดแทนวัฒนธรรมเปอร์เชีย ส่วนตัวชอบดอกกุหลาบมอญของไทยอยู่แล้ว เมื่อค้นเรื่องดอกกุหลาบของเปอร์เชียก็พบว่าคล้ายกุหลาบมอญมาก กุหลาบของเปอร์เชียที่ใช้ทำน้ำกุหลาบซึ่งเป็นน้ำสุคนธ์ชั้นดีนั้น เปอร์เชียเรียกว่าดอกกุหลาบมุฮัมมัด ตามชื่อท่านศาสดาในศาสนาอิสลาม เป็นกุหลาบพันธุ์ damask คล้ายกุหลาบมอญ หรือยี่สุ่นของไทย ที่ชอบอีกก็คือคำว่า ‘กุหลาบ’ เป็นคำที่ไทยรับมาจากภาษาเปอร์เชีย (gul = ดอกกุหลาบ, gulāb = น้ำกุหลาบ)  ในที่สุดจึงเลือกคำ ‘กุหลาบ’ เป็นสัญลักษณ์แทนวัฒนธรรมเปอร์เชีย

สิ่งที่ยากลำบากในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ 

คิดว่ายากตอนวางโครงเรื่อง และตอนเขียนเพื่อถ่ายทอดความคิดออกมาให้คนอ่านเข้าใจได้ตรงกับที่เราต้องการสื่อ  ที่ยากมากคือการถอดชื่อเปอร์เชียและอาหรับเป็นภาษาไทย  เนื่องจากมีการออกเสียงคำต่างกัน บางเสียงไม่สามารถใช้อักษรไทยแทนได้ เช่น สระ /i/ ซึ่งค่อนไปทาง /e/ และ /u/ ซึ่งค่อนไปทาง /o/ จึงไม่ใช้วิธีถ่ายเสียง (transcription) แต่ใช้วิธีถอดอักษร (transliteration) เพื่อให้ผู้อ่านเทียบกลับไปหารูปคำเดิมได้ ทั้งนี้ได้ทำตารางเทียบไว้ในภาคผนวกด้วย

สารที่อยากสื่อผ่านหนังสือเล่มนี้

คนไทยเลือกรับศิลปวัฒนธรรมเปอร์เชียมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของไทยได้อย่างกลมกลืนและงดงาม ‘กุหลาบเปอร์เชีย’ ที่งอกงามในแผ่นดินไทยตั้งแต่อดีตยังคงส่งกลิ่นจรุงมาจนทุกวันนี้

ในหนังสือพูดถึงคำไทยที่ได้อิทธิพลจากเปอร์เซีย อยากให้อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างสักหน่อย

“มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง” (กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน)

คำว่า ‘ยี่หร่า’ ในภาษาไทยเรารับมาจากภาษาเปอร์เชียว่า ‘zhīra’

“มัศกอดกอดอย่างไร น่าสงสัยใคร่ขอถาม” (กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน)

ขนมหวานนี้มีชื่อมาจาก ‘masqatī’ ของเปอร์เชีย 

“สุหร่าย” เครื่องโปรยน้ำในพระราชพิธีของไทย เป็นคำที่รับมาจากภาษาเปอร์เชียว่า ‘surāhī

“ตราชู” ที่เราเรียกตาชั่ง มาจากคำเปอร์เชียว่า ‘tarāzū

ความรู้สึกเมื่อได้รางวัลชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด

ดีใจมาก เพราะรางวัลวรรณกรรมส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่หนังสือสารคดี รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดที่ได้รับนี้ จึงนับเป็นผลสำเร็จของความตั้งใจและความเหนื่อยยากอันยาวนานที่ผ่านมา  ขอขอบคุณบริษัทซี.พี.ออลล์ เป็นอย่างยิ่ง

ในมุมมองของอาจารย์ คุณูปการของการศึกษาวัฒนธรรมเปอร์เซียคืออะไร

เกิดความเข้าใจตัวเราเองมากขึ้น การศึกษาเพื่อให้รู้เขารู้เรา เป็นการเปิดมุมมอง เปิดโลกทัศน์ของเรา ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ไร้พรมแดน ไม่จำกัดภูมิหลังทางชาติพันธุ์หรือความเชื่อทางศาสนา

หนังสือในดวงใจของอาจารย์กุสุมา รักษมณี

  • หนังสือชุดฟื้นความหลัง 

โดย ‘เสฐียรโกเศศ’

อ่านแล้วเหมือนฟังผู้อาวุโสเล่าเรื่องในอดีตของตนและของสังคม เป็นคำบอกเล่าง่ายๆ อ่านเพลิน ได้สาระ

  • Memoirs of a Geisha 

โดย Arthur Golden 

เป็นนวนิยายบันทึกความทรงจำ เล่าเรื่องชีวิตของเกอิชาในญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปกติชอบอ่านหนังสือประเภทอัตชีวประวัติ เมื่อได้อ่านเรื่องนี้ก็ชอบวิธีเล่าเรื่องจากมุมมองของตัวละครเอก เหมือนอ่านประวัติของบุคคลหนึ่งที่ถูกแต่งเติมสีสันให้มีรสอารมณ์อย่างนิยาย


คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม

ภาพ: เซเว่นบุ๊คอวอร์ด

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!