24 ชั่วโมง ของ แพรพลอย วนัช แน่วแน่บนเส้นทางอักษร

-

  • เธอเป็นอดีตแอร์โฮสเตส และเคยเป็นเลขาฯ เจ้านายต่างชาติ มีหน้าที่การงานอันมั่นคงสดใส แต่เธอเลือกหันหลังให้เส้นทางชีวิตเหล่านั้น แล้วเลือกเดินบนถนนนักเขียนด้วยใจแน่วแน่มั่นคง

 

  • ในปีนี้ผลงานของเธอ รวมเรื่องสั้น 24 ชั่วโมง ก็ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ประจำปี 2563 ประเภทรวมเรื่องสั้น จากสำนักการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และยังเข้ารอบสุดท้าย (short list) ของการประกวดหนังสือดีเด่น เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ปี 2563

 

“แพรพลอย วนัช” คือนักเขียนที่เราอยากแนะนำในคอลัมน์ถนนวรรณกรรมครั้งนี้ เธอเป็นอดีตแอร์โฮสเตส และเคยเป็นเลขาฯ เจ้านายต่างชาติ มีหน้าที่การงานอันมั่นคงสดใส แต่เธอเลือกหันหลังให้เส้นทางชีวิตเหล่านั้น แล้วเลือกเดินบนถนนนักเขียนด้วยใจแน่วแน่มั่นคง จนตัวอักษรและเรื่องเล่าของเธอได้พิสูจน์ให้ผู้อ่านประจักษ์ถึงฝีมือจากรางวัลมากมายที่ได้รับ และในปีนี้ผลงานของเธอ รวมเรื่องสั้น 24 ชั่วโมง ก็ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ประจำปี 2563 ประเภทรวมเรื่องสั้น จากสำนักการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และยังเข้ารอบสุดท้าย (short list) ของการประกวดหนังสือดีเด่น เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ปี 2563

 

“สำหรับก้อยการเขียนหนังสือคือชีวิต อาจจะฟังดูไม่เข้าท่า แต่บางทีเราอาจจะรักมันมากกว่ารักชีวิตด้วยซ้ำ”

เส้นทางการอ่านหนังสือของคุณเริ่มต้นอย่างไร และมีหนังสือที่ประทับใจเป็นพิเศษไหม

ก้อยชอบภาษาไทยและอ่านหนังสือค่อนข้างคล่องมาตั้งแต่อยู่ชั้นประถม ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัดจึงไม่มีที่ให้เที่ยวเล่นเถลไถลมากนัก วันหยุดชอบไปขลุกอยู่กับห้องสมุดประชาชน จำได้ว่านวนิยายที่อ่านเล่มแรกคือ พ่อครัวหัวป่าก์ ของ “กนกเรขา” ตอนนั้นอายุประมาณ 10-11 ขวบ อ่านแล้วก็สนุกสนานไปตามประสาเด็กวัยนั้น พอขึ้นมัธยมฯ เริ่มอ่านหนังสือที่ได้รางวัลซีไรต์อย่าง ตลิ่งสูงซุงหนัก อัญมณีแห่งชีวิต ฯลฯ ขณะเดียวกันก็อ่านนวนิยายอย่าง ปุลากง ด้วย จนกระทั่งเรียนมหาวิทยาลัยปีสาม เรียนวิชาเรื่องสั้นสมัยใหม่ (Modern Short Stories) อาจารย์ชาวอเมริกันได้รวบรวมเรื่องสั้นของนักเขียนชั้นนำจากต่างประเทศมาให้นิสิตอ่านหลากหลายเรื่อง พอได้อ่าน “A Mother in Mannville” ของ มาร์จอรี คินแนน รอว์ลิงส์ (Marjorie Kinnan Rawlings) ก็ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนอาชีพตั้งแต่นั้น

 

คุณเคยทำงานประจำก่อนผันตัวเป็นนักเขียน ทำอะไรมาก่อนบ้าง

ก้อยได้งานกับสายการบินช่วงปีสี่เทอมสุดท้าย พอเรียนจบมีเวลาเก็บกระเป๋าหนึ่งเดือนก็บินไปอบรมและอยู่ต่างประเทศเลย (ออฟฟิศประจำอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์) หลังจากเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้ระยะหนึ่ง พบว่าไม่ใช่งานที่เราอยากทำจริงๆ จึงตัดสินใจลาออกและบินกลับมา จากนั้นก็ทำงานตำแหน่งเลขาฯ ของผู้บริหารชาวอังกฤษและออสเตรเลียเรื่อยมา เปลี่ยนงานสามครั้ง รวมสายการบินด้วยเป็นทั้งหมดสี่บริษัทค่ะ ส่วนงานเขียนเป็นสิ่งที่เราใฝ่ฝันมานานแล้ว แต่พอเรียนจบก็ต้องเก็บความฝันไว้ก่อน จนกระทั่งวันหนึ่งอิ่มตัวกับงานประจำ ความรู้สึกอยากเป็นนักเขียนก็กลับมาเร่งเร้า (ที่จริงก็เร่งเร้ามาตลอด) ว่าถ้าไม่เริ่มวันนี้จะเริ่มวันไหน ในที่สุดจึงตัดสินใจว่าลองดูสักตั้ง

 

ตัดสินใจยากไหมในการเปลี่ยนจากอาชีพมั่นคงสู่อาชีพนักเขียนที่รายได้ไม่แน่นอน

ตัดสินใจไม่ยาก แต่ใช้เวลาคิดนานพอสมควรค่ะ จนมั่นใจว่าเราอยากทำงานเขียนจริง ๆ ตอนนั้นมีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่ง คิดว่าน่าจะพออยู่ได้ โชคดีเป็นคนที่ถ้าตัดสินใจจะทำอะไรแล้วไม่ลังเลและไม่หันกลับไปเสียดาย เมื่อตั้งใจว่าจะทำอะไรแล้วไม่เคยทำเล่นๆ เป็นคนประเภทลุยไปข้างหน้าอย่างเดียว

 

วาดภาพไว้บ้างไหมว่าจะเป็นนักเขียนแนวไหน

ช่วงแรกยอมรับว่ายังหาตัวเองไม่เจอ ทั้งที่รู้ว่าเราน่าจะเหมาะกับอะไร เราอ่านงานประเภทไหนมากที่สุด ช่วงปีแรกๆ จึงเป็นการเขียนเพื่อค้นหาตัวเอง เขียนเสร็จถึงจะรู้ว่าเราเหมาะกับแนวนั้นๆ หรือไม่

มีนักเขียนในดวงใจท่านไหนบ้าง

สมัยเด็กชอบคุณ “โสภาค สุวรรณ” พอมาทำงานเขียนเต็มตัวแล้วชอบงานพี่กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ส่วนนักเขียนต่างประเทศชอบ มาร์จอรี คินแนน รอว์ลิงส์ และ เพิร์ล เอส. บัค (Pearl S. Buck) อีกคนที่ชอบคือ Jeffrey Archer ถ้าเป็นนักเขียนตะวันออกชอบงานของหยูหัวและเหยียนเกอหลิง

นามปากกา “แพรพลอย วนัช” มาจากไหน

ตอนนั้นอยากได้ชื่อที่เพราะและจำง่าย อยู่ๆ ก็นึกถึงนักแสดงนำที่เคยชื่นชอบจากละครเรื่องจุดนัดฝัน (แพรพลอย ทัยคุปต์) ส่วน “วนัช” มาจากชื่อจริง เดิมทีตั้งใจจะใช้ แพรพลอย วรรณวนัช (วัน-วะ-นัด) แต่เนื่องจากชื่อก้อยไม่ค่อยมีใครอ่านได้ถูกต้อง ก็เลยตัดวรรณออก เหลือแค่ วนัช ค่ะ

 

งานที่ได้รางวัลชิ้นแรกคือ รองเท้ากลางสายฝน อยากให้เล่าหน่อยว่าตอนนั้นตัดสินใจส่งประกวดได้อย่างไร

ช่วงแรกที่เริ่มเขียนหนังสือก้อยใช้วิธีส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา แต่พบว่าใช้เวลาค่อนข้างนาน เป็นการรอแบบไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน จึงเริ่มมองหาเวทีประกวด พอดีช่วงนั้นทราบข่าวว่าทางโครงการนานมีบุ๊คส์อะวอร์ดมีประกวดงานเขียนจึงเขียนเพื่อส่งประกวด และก็ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ประเภทรวมเรื่องสั้นสร้างแรงบันดาลใจ รองเท้ากลางสายฝน เป็นหนังสือตีพิมพ์เล่มแรกและเป็นเวทีแรกที่ส่งประกวด แต่ไม่ใช่เรื่องแรกที่เขียน

 

จากนั้นก็ตามมาด้วยผลงานที่ได้รางวัลต่างๆ มากมาย ดูเหมือนจะมุ่งไปทางการประกวดรึเปล่า

ไม่เชิงว่ามุ่งไปทางการประกวด แต่ต้องเข้าใจว่าเมื่อเราเป็นนักเขียนหน้าใหม่ ก็มีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะมีผลงานตีพิมพ์จากการส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา โดยเฉพาะเมื่อชื่อ (นามปากกา) ยังไม่เป็นที่รู้จัก ฉะนั้นเราจึงต้องมองหาลู่ทางให้ตัวเอง การประกวดก็เป็นอีกทางหนึ่งแต่ไม่ใช่ทางลัด และไม่ว่าทางไหนเราก็ต้องทำงานหนักเหมือนกันหมดค่ะ ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการประกวดคือ มีกรอบเวลาในการรอคอยที่ค่อนข้างชัดเจน แต่ขณะเดียวกันนักเขียนใหม่ก็ต้องตระหนักว่าการหลงระเริงกับรางวัลเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

 

ผลงานมีหลากหลายทั้งเรื่องสั้น นิยายสำหรับผู้ใหญ่ นิยายสำหรับเยาวชน ถ้าให้อธิบายงานเขียนของ “แพรพลอย วนัช” เป็นแบบไหนกัน

ปกติก้อยเขียนในสิ่งที่อยากเขียนในช่วงเวลานั้นๆ ช่วงแรกๆ สนใจนวนิยายสำหรับเยาวชน ขณะเดียวกันก็มุ่งไปทางนวนิยายสำหรับผู้ใหญ่ บางคราวสนใจเรื่องสั้น ถ้ามองจากผลงานที่ผ่านมาเป็นงานสำหรับผู้ใหญ่ 9 เล่มจากทั้งหมด 11 เล่ม โดยส่วนตัวคิดว่าตัวเองเหมาะกับงานสำหรับผู้ใหญ และชอบเขียนแนวเรียลลิสติกมากกว่า

 

ถนัดเรื่องสั้นหรือนวนิยายมากกว่ากัน

ที่ผ่านมาก้อยมีรวมเรื่องสั้นเพียงสองเล่ม ส่วนเก้าเล่มที่เหลือคือนวนิยาย แต่หนทางยังอีกยาวไกลที่จะบอกได้ว่าเราถนัดอะไรมากกว่ากัน เพราะสนใจงานทั้งสองประเภทพอๆ กันค่ะ

 

 

ระหว่างเรื่องสั้นกับนิยายมีความยากง่ายการในทำงานแตกต่างกันอย่างไร

ยากคนละแบบค่ะ สำหรับเรื่องสั้นแม้ว่าแต่ละเรื่องเราใช้เวลาไม่นานเท่าเรื่องยาว แต่ในเวลาไม่นานและพื้นที่ในการเล่าน้อยกว่านี่แหละที่ยาก ไหนจะต้องใช้คำในการเล่าเรื่องให้กระชับแม่นยำและเหมาะสม พูดง่ายๆ คำทุกคำต้องมีความหมาย ส่วนนิยายมีข้อได้เปรียบตรงที่เรามีเวลาค่อยๆ ศึกษานิสัยใจคอของตัวละคร แต่ยากตรงพื้นที่เยอะ จะคุมเรื่องยังไง จะเล่ายังไงให้ได้จังหวะเหมาะสมไปตลอดเรื่อง

 

อยากให้เล่าแนวคิดเบื้องหลังของ รวมเรื่องสั้น 24 ชั่วโมง หน่อย

เล่มนี้ก้อยวางคอนเซ็ปท์ไว้ว่าอยากพูดเรื่องคนตัวเล็กๆ เรื่องพื้นๆ ทั่วไปที่เกิดขึ้นในสังคม สามารถจับต้องได้ ทีนี้แล้วเรื่องอะไรล่ะที่จับใจคน คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ก้อยไม่ต้องการเล่าเรื่องราวใหญ่โต และมองว่าเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมกับประเด็นพื้นๆ นี่แหละที่น่าสนใจ

 

ทำไมถึงชื่อ 24 ชั่วโมง

สิ่งเดียวที่คนเรามีเท่ากันคือเวลา 24 ชั่วโมง ใน 24 ชั่วโมงมีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ความสัมพันธ์หลากหลายก็เกิดขึ้นในเวลาอันจำกัดนี้ วงจรชีวิตคน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนเกิดขึ้นในเวลา 24 ชั่วโมง

 

“พิซซ่า” คือหนึ่งในเรื่องสั้นจาก รวมเรื่องสั้น 24 ชั่วโมง ซึ่งได้รองชนะเลิศ ของ “รางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์”  อยากทราบถึงแรงบันดาลใจของเรื่องนี้หน่อยค่ะ

ต้นปี 2559 ก้อยอยากจะเขียนเรื่องสั้นเพื่อรวมเล่ม ปีสองปีก่อนหน้านั้นเขียนเรื่อง “สเต๊ก” เก็บไว้ก่อน ทีนี้เลยนึกสนุกขึ้นมาว่ามีสเต๊กแล้วก็ต้องมีพิซซ่าสิ แล้วเราจะหยิบมุมไหนมาเล่าดีนะ เอ…ทำไมเวลากินพิซซ่าที่ร้านมันอร่อยจัง แต่พอห่อกลับบ้าน พิซซ่าค้างคืนอุ่นยังไงก็ไม่อร่อย คิดพล็อตไปคิดมาจนกระทั่งเกิดเป็นเรื่องสั้นเรื่องนี้ เป็นการคิดชื่อเรื่องขึ้นมาก่อน ส่วนรายละเอียดตามมาทีหลังค่ะ

 

 

มีเรื่องไหนใน 24 ชั่วโมง ที่รู้สึกว่าเขียนยากหรือประทับใจที่สุด หรือมีการทดลองเทคนิคการเขียนใหม่ที่แตกต่างจากเดิมบ้าง

น่าจะเป็นเรื่อง “ตุ๊กแก” เดิมทีก้อยต้องการเขียนเป็นเรื่องยาว แต่ทีนี้สารที่ต้องการสื่อค่อนข้างหนัก จึงคิดว่าถ้าขลุกกับเรื่องนี้นานๆ เราเองจะเครียด เรื่องนี้ก้อยวางโครงไว้ละเอียดจึงใช้เวลาไม่นาน โดยใช้เทคนิคการเล่าเป็นวันที่หนึ่งถึงวันที่เจ็ด เปิดฉากมาเหมือนกันทั้งเจ็ดวัน ในส่วนของการเดินเรื่องเป็นฉากทำกับข้าวของตัวละครหลัก สลับกับข้อความสั้นๆ จากจดหมายตัวละครอีกตัวซึ่งเป็นพี่สาว กับข้าวที่ตัวละครหลักทำทุกวันทำไมต้องเป็นข้าวไข่ข้น ทุกอย่างมีที่มาที่ไปและมีการซ่อนสัญญะบางอย่างที่เราวางแผนงานไว้หมดแล้ว ที่ยากเพราะต้องการเล่าน้อยแต่ให้เกิดความรู้สึกมาก จึงต้องหาสัดส่วนให้พอดี

 

มีสารอะไรที่อยากสื่อถึงคนอ่านผ่านผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ไหม

อยากสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนในสังคมค่ะ ประเด็นที่หยิบมาเล่าบางเรื่องเป็นปัจเจก บางเรื่องอยากสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมที่หากมองเผินๆ คือสิ่งที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน จนเราคุ้นชินกับมันและมองว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่มันไม่ปกติและสมควรได้รับการแก้ไข บางเรื่องต้องการตั้งคำถามถึงวิถีชีวิตคนยุคปัจจุบันที่ขับเคลื่อนไปโดยที่เราไม่รู้ว่ามันดำเนินไปถูกทางหรือไม่

 

บรรยากาศการทำงานของรวมเรื่องสั้น 24 ชั่วโมง แตกต่างจากผลงานที่ผ่านมาไหม

ปี 2559 เป็นปีที่ค่อนข้างยากลำบากในแง่เศรษฐกิจ เพราะสองปีก่อนหน้านั้นก้อยไม่มีงานตีพิมพ์ออกมา อีกทั้งเป็นปีที่นิตยสารทยอยปิดตัว ถึงจะไม่กระทบโดยตรงเพราะเราไม่ได้ส่งเรื่องลงนิตยสาร แต่มันกระทบไปทั้งระบบ สภาพจิตใจก็เริ่มคลอนแคลนบ้าง แต่โชคดีที่เราแยกสมาธิได้ เมื่อลงมือเขียนเราก็เขียนด้วยความอิสระ ไม่กดดันตัวเอง เขียนไปเรื่อยๆ ส่งไปชุดแรกเรื่องยังไม่ผ่านก็เขียนไปอีกชุดที่สอง จนกระทั่งบรรณาธิการพอใจและได้ตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม 2562

 

 

เสน่ห์หรือคุณค่าของเรื่องสั้นในมุมมองของคุณคืออะไร

ก้อยมองว่าเรื่องสั้นเหมือนห้องแบบสตูดิโอ ขณะที่เรื่องยาวหรือนวนิยายคือบ้านทั้งหลัง ทีนี้เนื่องจากห้องแบบสตูดิโอมีพื้นที่จำกัด เราจะทำยังไงให้มีทั้งห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องรับแขก บางทีเราอยากได้เคาน์เตอร์ครัวครบชุด แต่ท้ายสุดต้องตัดออก อาจจะเหลือแค่โต๊ะตัวเล็กๆ วางหม้อหุงข้าว ทีวี 40 นิ้วใหญ่เกินไปไหมเมื่อเทียบกับโซฟารับแขก จะทำยังไงให้ออกมาลงตัวที่สุด นี่แหละคือเสน่ห์และความท้าทายของเรื่องสั้น

 

คุณได้เข้าชิงและรับรางวัลหลายเวทีจากรวมเรื่องสั้น 24 ชั่วโมง ถือเป็นปีทองของคุณรึเปล่า แล้วสมดังความตั้งใจในเส้นทางนักเขียนแล้วรึยัง

สาธุ ขอให้เป็นปีทองจริงนะคะ จริงๆ สิ่งที่ก้อยเตือนตัวเองเสมอคือเมื่อผู้อ่านชอบหนังสือเล่มนี้ของ เรา ไม่มีอะไรรับประกันหรอกว่าเล่มต่อไปเขาจะยังชอบอยู่หรือไม่ งานเขียนคือการนับหนึ่งใหม่เสมอ ฉะนั้นยากมากที่จะบอกว่านี่คือปีทอง (แม้จะอยากให้เป็นอย่างนั้นก็ตาม) สิ่งที่นักเขียนควรคำนึงมากที่สุดคือใส่ใจการทำงานของตัวเอง เมื่อเขียนหนังสือสิ่งที่เรามีคือเรื่องที่จะเล่า เมื่อเล่าจะเล่าอย่างไรให้ออกมา ‘สมบูรณ์’  ซึ่งมันไม่มีทางที่จะสมบูรณ์แบบ แค่เราทำออกมาให้เต็มที่ก็พอ การที่เรามองว่างานของเรายังไม่สมบูรณ์แบบคือการเปิดโอกาสให้ตัวเองพัฒนาต่อไปค่ะ

 

“ความรู้สึกท้อหรือเหนื่อยนั้นมีอยู่แล้วแหละ แต่ท้ายสุดก้อยคิดว่ามีที่ว่างสำหรับคนที่มีใจมุ่งมั่นเสมอ”

 

ตั้งแต่ก้าวเข้าสู่เส้นทางนักเขียนเต็มตัว เคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกลังเลว่าจะก้าวเดินต่อไปหรือไม่ แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้เรายึดอาชีพนักเขียนอย่างแน่วแน่ 

แน่นอนค่ะว่ามีวันท้อมีวันฮึดสู้สลับกันไป ยอดขายไม่ดี ส่งต้นฉบับไม่ผ่านการพิจารณา เศรษฐกิจไม่ดี สำนึกพิมพ์ลดกำลังการผลิต ชื่อเสียงเรายังไม่โด่งดังพอที่เขาจะตีพิมพ์ให้ ฯลฯ มันบั่นทอนอยู่แล้ว แต่เคยถามตัวเองว่าถ้าวันหนึ่งไม่ได้เขียนหนังสือเราจะเป็นยังไง คำตอบคือเราคงตาย ฉะนั้นจึงไม่มีหนทางใดที่จะทำให้เราล้มเลิก วันไหนเหนื่อยก็พัก ล้มลงมีบาดแผลก็รักษา แผลแห้งแล้วก็ต้องลุก ผลักดันตัวเองให้ก้าวต่อไป

 

สำหรับ “แพรพลอย วนัช” แล้วงานเขียนสำคัญต่อคุณอย่างไร

สำหรับก้อยการเขียนหนังสือคือชีวิต อาจจะฟังดูไม่เข้าท่า แต่บางทีเราอาจจะรักมันมากกว่ารักชีวิตด้วยซ้ำ ความรู้สึกท้อหรือเหนื่อยนั้นมีอยู่แล้วแหละ แต่ท้ายสุดก้อยคิดว่ามีที่ว่างสำหรับคนที่มีใจมุ่งมั่นเสมอ

 


 

3 เรื่องสั้นในดวงใจของ แพรพลอย วนัช

  • “A Mother in Mannville” ของ มาร์จอรี คินแนน รอว์ลิงส์
  • “สะพานขาด” ของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
  • “สาวน้อยเสี่ยวหยูว” ของ เหยียนเกอหลิง

เรื่องสั้นทั้งสามเรื่องเรียบง่ายแต่ลุ่มลึกกินใจ ตราตรึง และงดงาม

 

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!