พญาไร้ใบ: เรื่องราวของมนุษย์ผู้ติดบ่วงแห่งกิเลส ตัณหา ราคะ

-

โลภ โกรธ หลง  หรือที่เรียกรวมๆ กันว่ากิเลส ร่วมกับกามตัณหาและราคะ คือความอยาก  ความติดข้องในเพศรสและความกำหนัด อันเป็นความหลงประเภทหนึ่ง  ล้วนทำลายชีวิตมนุษย์มานักต่อนัก  หากมนุษย์ผู้นั้นมีจิตใจเปราะบางขาดธรรมะไว้เป็นเกราะป้องกัน  เพราะแม้พระพุทธองค์ก็ทรงผจญมารตลอดคืนแห่งการตรัสรู้   และหลังจากตรัสรู้แล้วก็ทรงผจญกิเลสมาร คือ ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ซึ่งปรากฏเป็นรูปธรรมในร่างของธิดาพญามาร 3 คน คือ ตัณหา อรดี  และราคา  แต่นางมารทั้งสามไม่สามารถเย้ายวนให้พระพุทธองค์ทรงลุ่มหลงได้เพราะพระองค์ตัดแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง

เมื่อกิเลสผูกติดกับความเป็นมนุษย์  นวนิยายซึ่งเป็นบันทึกประสบการณ์ของมนุษย์จึงมักจะกล่าวถึงศัตรูตัวร้ายนี้เสมอ บางเรื่องเน้นความสำคัญจนกิเลสกลายเป็นตัวละครปฏิปักษ์ (antagonist) กับตัวละครเอก (protagonist) “กฤษณา อโศกสิน” เป็นนักเขียนนวนิยายไทยที่เขียนถึงกิเลสมนุษย์ได้ลุ่มลึกปวดหัวใจจนยากจะหาใครมีฝีมือทัดเทียม  พญาไร้ใบเป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งที่พิสูจน์ฝีมือล้ำเลิศ แม้จะเขียนมาตั้งแต่ พ.ศ.2541 แต่เมื่อกลับมาอ่านอีกครั้งก็ยังพบว่าเรื่องราวของตัวละครพิกุล พู่กลิ่น พิกัน และเหล่าบริวารในเรือนปั้นหยา 3 หลังของตระกูลสร้างสมก็ยังเขย่าใจให้เดือดดาล สมเพช สิ้นหวัง สมน้ำหน้า เหนื่อยหน่าย และเห็นอกเห็นใจไปทุกขณะจิต พร้อมกันนี้ก็ขอชื่นชมผู้เขียนที่ “ขยี้” ตัวละครจน “ดิ้นไหว” ได้อารมณ์แทบทุกตัว

 

 

ผู้วิจารณ์เห็นด้วยกับผู้เขียนที่กล่าวไว้ในคำนำว่า พญาไร้ใบ เป็นนวนิยายที่เขียนยากที่สุดเรื่องหนึ่ง  เพราะตัวละครหลักหลายตัวมีความขัดแย้งในตัวเอง  ผลที่ออกมาเป็น “พูดอย่าง ทำอีกอย่าง”  จึงไม่ใช่เพียงภาพตื้นเขินอย่างที่คนภายนอกมองเห็น  แต่ผู้เขียนเจาะลึกลงไปถึงความซับซ้อนในหุบเหวลึกภายในใจของตัวละคร  ซึ่งได้ข้อสรุปว่าเกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง  ที่กัดกร่อนกลืนกินความมีเหตุมีผล ความมีศีลธรรมจริยธรรม  และความมีมนุษยธรรมไปจนแทบหมดสิ้น

พิกุล พี่สาวคนโต ลุ่มหลงอำนาจ ถือตัวว่าต้องเป็นใหญ่กว่าใครในบ้าน ชอบกดขี่คนอื่น หูเบา ชอบคำป้อยอ นอกจากนี้ยังหลงชาติตระกูล ไม่ยอมรับเลือดต่างสี ไม้ต่างกอ ให้เข้ามามีสถานภาพเท่าเทียมตน  และสุดท้าย ความหลงที่ทำลายทรัพย์สินเงินทองและเกียรติยศ คือหลงในกามคุณ จึงถูกนาย ยมบุตร คนทรง ปอกลอกเอาจนไม่อาจถอนตัวได้

พิกัน น้องสาวคนสุดท้อง หลงในกามคุณเช่นกัน แม่ม่ายอย่างเธอจึงยอมทุ่มทรัพย์มรดกซื้อใจชายผู้เป็นสามีทั้งคนเก่าและคนใหม่โดยพยายามไม่ใส่ใจว่าถูกเอาเปรียบ และยังโลภในทรัพย์ที่ไม่ใช่ของตน เพราะมีอคติยึดมั่นเพียงว่าไม่ต้องการให้เด็กเก็บมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมของพี่สาวชุบมือเปิบ

พู่กลิ่น มีอุปนิสัยเป็นกลางๆ ระหว่างพี่กับน้อง เธอไม่หลงคารมให้ใครปอกลอกอย่างพี่สาวน้องสาว   และไม่โลภในทรัพย์มรดกที่พ่อและแม่แบ่งสรรอย่างยุติธรรม แต่เธอก็หลงรักเด็กถูกทิ้งที่เธอเก็บมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม จนถึงกับละเลยความยุติธรรม ก่อบาดแผลในใจแก่เด็กที่เคยเป็นหนึ่งในบ้าน ซึ่งได้รับการให้ท้ายจากคุณพิกุลจนลุกลามเป็นเรื่องบาดหมางไม่รู้จบสิ้น

บ้านเรือนไทยเก่าแก่ที่ดูอลังการด้วยทรัพย์สิน บริวาร และเกียรติยศของตระกูล จึงเป็นเพียงเปลือกนอกหรือภาพลวงตา แต่ลึกลงไปกลับมีความยุ่งเหยิงและจิตใจที่ป่วยไข้ของคนในบ้าน

หญิงวัยกลางคน 3 คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพิกุล ผู้อุปการะคนไร้ที่พึ่งจำนวนไม่น้อยไว้ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องของสามีหรือของเพื่อน ให้มีที่อยู่ที่กินมีงานทำมีเงินใช้ ดูเหมือนว่าเธอทำด้วยความเมตตาอย่างยิ่ง แต่เอาเข้าจริงเธอก็เอาเปรียบ และที่สำคัญคือในยามเผลอไผลก็มีคำพูดหรือการกระทำในลักษณะของการลำเลิกบุญคุณ แสดงอำนาจเหนือกว่า กดให้อีกฝ่ายต่ำต้อย หรือตอกย้ำปมด้อยของความเป็นผู้ไร้ญาติขาดมิตร ให้ระคายหูระคายใจผู้ฟังเหมือนหยดน้ำพิษลงในใจของคนเหล่านั้นทีละน้อย เหล่าบริวารในอุปการะทั้งหลายจึงไม่ได้ภักดีอย่างจริงใจ หากแต่เก็บกดอดกลั้นเพื่อความอยู่รอดและเพื่อประโยชน์ของตน หรือแม้กับน้องสาวแต่ละคน เธอมีคำสั่งสอนพู่กลิ่นไม่ให้หลงเด็กที่เก็บมาเลี้ยงจนเกินการ เธอมีคำแนะนำพิกันไม่ให้หลงสามีอย่างโง่งมจนถูกปอกลอกทรัพย์หมดตัว แต่ตัวเธอเองก็หลงเสน่ห์ของคนทรงจนแทบหมดตัวเช่นกัน ตัวละครแต่ละตัวจึงมีความซับซ้อนย้อนแย้ง ที่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นมิติต่างๆ ของมนุษย์ได้กระจ่างชัด

 

 

นอกจากสามสาวแห่งตระกูลสร้างสม ตัวเอกของนวนิยายเรื่องนี้คือ รัด เด็กที่ถูกทิ้งไว้หน้าบ้านพู่กลิ่นพร้อมจดหมายฝากฝังให้เลี้ยงดู พู่กลิ่นหลงใหลเด็กเก็บมาเลี้ยงอย่างหมดใจเพราะถือว่าเขา “เป็นสมบัติของเธอ”  เธอปิดบังเรื่องแม่ของรัดจนถึงวันที่เธอสิ้นชีวิต เขาจึงตกอยู่ในห้วงทุกข์ของการไม่รู้ว่าแม่ของตัวเองเป็นใคร  ดีชั่วอย่างไรมาเป็นเวลาเนิ่นนาน หลายครั้งเธอรู้ตัวว่าการพะเน้าพะนอเด็กเก็บมาเลี้ยงจนเกินหน้าเด็กคนอื่นในบ้านนั้นเป็นการสร้างศัตรูแก่รัด บางครั้งเธอนึกถึงคำสอนของมารดาที่ว่า “เวลาเราเลี้ยงลูกหรือเลี้ยงเด็ก เราต้องเลี้ยงให้คนอื่นรักได้ด้วย ไม่ใช่เรารักอยู่คนเดียว” (หน้า 122) แต่เธอก็มักจะอดใจไม่อยู่ เธอจึงใช้วาจาหมิ่นหยามคนในบ้าน หรือแม้แต่กับรัดเอง เธอก็เผลอใช้คำพูดตอกย้ำ “กำพืด” ของเขา เช่น “เราเกิดมาแบบนี้แล้วต้องเจียมตัว” (หน้า 356)  หรือทวงบุญคุณ  เช่น “แม่ลำบากเพราะลูกมามาก เพราะงั้นต้องนึกถึงแม่ให้มากๆ” (หน้า 356) อันเป็นการทำร้ายจิตใจเปราะบางของเด็กกำพร้าผู้นี้มากขึ้น และทั้งที่มีเงินมากมายและรักลูกบุญธรรมอย่างยิ่ง เธอกลับส่งเงินค่าใช้จ่ายให้รัดน้อยนิดเมื่อเขาไปอยู่โรงเรียนประจำ และมักคร่ำครวญถึงหนี้สินกับค่าเล่าเรียนและเงินใช้สอยของรัด เหมือนตอกย้ำว่าเขาเป็น “ภาระ” ของเธอ จนสร้างความลำเค็ญทางใจที่รัดต้องใช้ความอดทนอย่างสูง ดังนั้น มิใช่เพียงความเกลียดชังของคนในบ้านที่ทำร้ายรัด แต่ความรักของแม่บุญธรรมก็บั่นทอนให้รัดเคว้งคว้างไร้หลักที่มั่นคงไว้ยึดเหนี่ยว

รัดจึงเติบโตขึ้น “ท่ามกลางความรักและความชังกับความรู้สึกว่าตนเป็นเลือดเนื้อของคนต่ำ” (หน้า 143)  เขากลายเป็นคนเก็บตัว  อ้างว้าง หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจผู้ใด ไม่สุงสิงคบหา คำว่า “เด็กเก็บตก เด็กในถาด เด็กถูกทิ้ง เด็กไม่มีหัวนอนปลายตีน” ที่ถูกคนในบ้านกรอกหูอยู่เสมอ ทำให้รัดไม่นับญาติกับใคร ปมด้อยของการถูกแม่ทิ้ง เป็นแผลเรื้อรังที่ทำให้รัดเจ็บปวดทุกครั้งเมื่อเห็นภาพการแสดงความรักของครอบครัวคนอื่น เมื่อคุณพู่กลิ่นสิ้นชีวิต รัดซึ่งเรียนจบปริญญาโทจากต่างประเทศ ได้รับมรดกจากแม่บุญธรรม รัดกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องแบกภาระของการดูแลบริวาร “กาฝาก” ทั้งหลาย แต่ด้วย “สันดานดี” ที่เป็นบุญเก่า เขาจึงแปรความเจ็บปวดน้อยเนื้อต่ำใจเป็นความอดทน เขาเจ็บ เขาโกรธ เขาแค้น แต่ไม่พยาบาทคนที่ทำร้ายเขา เขารักแต่ไม่หลงและยินดีเสียสละ เขาไม่โลภในทรัพย์มรดกที่ได้มา หากแต่ตั้งใจใช้ทรัพย์นั้นเพื่อรักษาตอบแทนผู้ให้และเกื้อกูลประคับประคองเด็กด้อยโอกาสอื่นๆ ให้มีพลังชีวิตที่จะต่อสู้บนโลกที่โหดร้ายจนกว่าแต่ละคนจะพบถนนสายงามของตนเอง

รัด จึงเป็นตัวละครที่มีความกดดันสูง มีจิตใจซับซ้อนย้อนแย้ง ต้องต่อสู้ระหว่างความอดทนอดกลั้นกับการระเบิดอารมณ์ตามใจปรารถนาอยู่เสมอ แต่เขาก็สามารถแปรพิษร้ายกาจจากอคติของคนรอบข้างให้เป็นพลังบวกที่สามารถขับเคลื่อนชีวิตของเขาอย่างมีทิศทางมั่นคง และมีจุดยืนเข้มแข็งที่จะสร้างชีวิตใหม่แก่เด็กถูกทิ้งคนอื่นๆ รัดจึงเป็น “พญาไร้ใบ” ที่หยั่งรากลงดินอย่างมั่นคงและพร้อมจะผลิแตกใบสะพรั่งให้ร่มเงาแก่ผู้คนซึ่งไร้ที่พึ่ง ดังที่หลวงพ่อเคยบอกแก่เขาในวัยเด็กว่า “ต้นไม้ไม่มีใบไม่เป็นไร ขอให้มีรากเหนียวแน่นแข็งแรงก็พอแล้ว…เพราะใบนี้มันแตกได้ จากไม่มีใบเลย ผลิออกเป็นแสนเป็นล้านใบ  แต่ถ้าไม่มีรากนี่สิ  ปุ๋ยดีขนาดไหน…ก็ต้องตาย…ไม่มีวันยืนต้นอยู่ได้” (หน้า 210)

นวนิยายเรื่องพญาไร้ใบ ของ “กฤษณา อโศกสิน” ยังเข้มข้นด้วยเรื่องราวของเปรย ตัวละครคู่ปฏิปักษ์ของรัด สุมทอง สาวน้อยที่หลงรักภักดีต่อพี่ชายต่างสายเลือดไม่เสื่อมคลาย แม้รัดจะไม่มีใจให้เพราะเธอเป็นน้องสาวของเปรย มะเดหวี สาวน้อยที่รัดฝังใจรักแต่เด็ก กับปูน คู่รักที่พอใจการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งและการแต่งงานที่ไม่จดทะเบียน  พิกุลและล่าเตียง สาวแก่ต่างชนชั้นแต่ทั้งสองก็ตกเป็นเหยื่อพลังจิตและกามรสของคนทรงเหมือนกัน นอกจากนี้ “กฤษณา อโศกสิน” ยังเสนอประเด็นของเด็กเร่ร่อนไร้บ้าน นักข่าวที่ควรต้องทำการบ้านให้ดีก่อนพบแหล่งข่าว จิตวิทยาของการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่สร้างแผลในใจจนบานปลายเป็นแผลเรื้อรัง  การพบกันครึ่งทางของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่  พญาไร้ใบจึงเป็นนวนิยายที่อัดแน่นด้วยเรื่องราวต่างๆ จนคิดว่าตัวละครหลายตัวและเรื่องราวอีกหลายประเด็นน่าจะนำไปเขียนขยายเป็นพญาไร้ใบ ตอนที่ 2 ได้สบายๆ


คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์

เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!