Patagonia คนขายผ้าผู้รักษ์โลก

-

Patagonia คือแบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาเอาท์ดอร์อย่างการปีนเขา สกี และวินด์เซิร์ฟ

แต่พาทาโกเนียบอกว่าพันธกิจของพวกเขาไม่ใช่การขายเสื้อผ้ากีฬาที่มีคุณภาพดี แต่เป็นการรักษาโลกของเราเอาไว้ให้คนรุ่นหลัง

พาทาโกเนียก่อตั้งเมื่อปี 2516 และในปี 2528 ก็เริ่มจัดสรรทุนร้อยละ 1 จากยอดขาย เพื่อกิจกรรมด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม พอในปี 2545 ก็ตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ 1% for the Planet ขึ้น

ถ้าสังเกตดีๆ กีฬาที่พาทาโกเนียเข้าไปเกี่ยวข้องล้วนแต่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและทำร้ายธรรมชาติน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นปีนเขา สกี หรือวินด์เซิร์ฟ กีฬาเหล่านี้ไม่มีการใช้เครื่องยนต์ ไม่สร้างมลพิษ ไม่มีการทำลายหรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่มีอยู่เดิม ไม่มีคนดูมากมาย

พาทาโกเนียผลิตเสื้อผ้าโดยคำนึงถึงการใช้งาน ความสะดวกในการซ่อม และที่สำคัญที่สุดคือความคงทนของเสื้อผ้า

โทรศัพท์มือถือใช้ได้ 3 ปีก็ต้องเปลี่ยน แล็ปท็อปใช้ได้ 5 ปีก็ต้องซื้อใหม่ เสื้อผ้าทั่วไปใช้ได้ 10 ปีก็คงใส่ต่อไม่ไหว แต่เสื้อผ้าและอุปกรณ์ของพาทาโกเนียมุ่งผลิตให้อยู่ได้นานกว่านั้น นานพอที่จะส่งต่อให้รุ่นลูกใช้ได้ด้วยซ้ำไป

พาทาโกเนียยังตระหนักด้วยว่ากระบวนการผลิตเสื้อผ้าของบริษัทส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเสาะหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อให้การผลิตสร้างมลพิษน้อยที่สุด พาทาโกเนียเป็นหนึ่งในไม่กี่ร้อยบริษัทในโลกซึ่งใช้เทคโนโลยี bluesign® จากสวิตเซอร์แลนด์ และรับรองว่ากระบวนการผลิตทั้งหมดนั้นมีการจัดการวัตถุดิบอย่างถูกวิธีและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม คนงาน หรือลูกค้า

พาทาโกเนียไม่ต้องการให้ลูกค้ากลับมาซื้อบ่อยๆ เพราะยิ่งซื้อเยอะ ยิ่งต้องผลิตเยอะ ยิ่งมีขยะจากเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งเยอะ  ซึ่งขัดกับจุดประสงค์ของบริษัทที่ต้องการดูแลโลกไม่ให้บอบช้ำกว่านี้

ที่อเมริกานั้นมีเทศกาล Black Friday ซึ่งจัดในคืนวันศุกร์ที่สี่ของเดือนพฤศจิกายน นี่คือเทศกาลแห่งการช็อปปิ้งอย่างแท้จริง แต่ละปีมีคนอเมริกันราว 170 ล้านคนออกมาจับจ่ายในเทศกาลนี้ถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ร้านค้าและแบรนด์ชั้นนำทั่วประเทศต่างลดแลกแจกแถมเพื่อตักตวงยอดขายให้ได้มากที่สุด

แต่พาทาโกเนียกลับออกแคมเปญที่สวนกระแส ด้วยการลงโฆษณาเป็นรูปเสื้อแจ็คเกต R2 ของบริษัทพร้อมคำโปรย “Don’t buy this jacket”

พาทาโกเนียอธิบายว่า “การผลิตเสื้อแจ็คเกต R2 แต่ละตัวต้องใช้น้ำถึง 135 ลิตร ส่วนโพลีเอสเตอร์ที่ใช้ในการผลิตต้องถูกขนส่งจากแหล่งกำเนิดไปยังโรงงานผลิต และการขนส่งนี้ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ 20 ปอนด์ ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าเสื้อตัวนี้ถึง 24 เท่า”

“นี่คือเสื้อที่ผลิตจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล 60% ซึ่งได้รับการเย็บและทอด้วยมาตรฐานสูงสุดเพื่อความคงทนในการใช้งาน คุณจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนมันบ่อยๆ และเมื่อมันหมดอายุการใช้งาน เราก็จะนำกลับไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ แต่ไม่ว่าเราจะผลิตอะไรหรือคุณจะซื้ออะไรก็ตาม ต้นทุนของมันที่มีต่อธรรมชาตินั้นสูงกว่าราคาที่คุณเห็นบนป้ายเสมอ อย่าซื้อของที่ไม่จำเป็น คิดให้ดีก่อนที่คุณจะควักกระเป๋า”

ด้วยปณิธานในการทำธุรกิจโดยไม่ทำร้ายโลก ทุกสิ่งที่พาทาโกเนียทำจึงสอดคล้องกับอุดมการณ์และความเชื่อ รวมถึงกลุ่มลูกค้าผู้รักธรรมชาติ

และนั่นคือเหตุผลที่ Patagonia เป็นหนึ่งในแบรนด์ซึ่งครองใจผู้รักกีฬาเอาท์ดอร์มาได้กึ่งศตวรรษแล้ว

เกี่ยวกับผู้เขียน: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ เจ้าของบล็อก Anontawong’s Musings และ Head of People ที่ Wongnai


เรื่อง: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!