การเดินทางไปเยือนสถานที่ต่างๆ ทำให้เราได้รับประสบการณ์แปลกใหม่จากที่นั้นๆ แตกต่างกันไป บ้างก็บอกว่าจุดหมายของการเดินทางคือการค้นหาตัวตน สำหรับผู้เขียนแล้ว ชีวิตที่ผ่านจุดเปลี่ยนมากมายก็เปรียบได้กับการเดินทางนั่นเอง “ยุทธจักร ฅ.ฅน” ฉบับนี้ ขอพาไปรู้จักกับ เต้-พันชนะ วัฒนเสถียร ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เคยผ่านงานอาชีพต่างๆ ทั้งทนายความ ผู้จัดการฟาร์มผัก ผู้จัดการมูลนิธิอมตะ เจ้าของร้านอาหารเพื่อสังคม และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทุกคนต่างได้รับผลกระทบ เธอยังทำหน้าที่เจ้าของโครงการ Food for Fighters ข้าวเพื่อหมอ โครงการดีๆ ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กซึ่งได้รับความเดือดร้อนและร่วมส่งแรงใจเพื่อบุคลากรในโรงพยาบาล
จากประวัติการทำงานของเธอ เราฉุกใจสงสัยว่ามีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้เธอได้ผ่านงานอาชีพหลากหลายอย่างนี้
คุณเคยผ่านอาชีพอะไรมาบ้าง
พอเรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เต้ก็ทำงานเป็นทนายความอยู่ประมาณ 4-5 ปี ระหว่างนั้นเต้ได้เป็นที่ปรึกษากฎหมายเรื่องการจดทะเบียนให้แก่บริษัทต่างประเทศแห่งหนึ่งซึ่งเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และได้รับการชักชวนให้ทำงานร่วมกันในตำแหน่ง MD (กรรมการผู้จัดการ: managing director) ฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เขายื่นข้อเสนอว่าจะให้เงินเดือนเท่ากับการเป็นทนาย เต้เห็นว่าน่าสนใจและผลตอบแทนคุ้มค่าจึงตอบตกลง สมัยนั้นผักไฮโดรโปนิกส์ยังเป็นเรื่องใหม่มาก คนยังไม่รู้จักผักสลัดกันเลย ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากศูนย์ เต้เข้าไปช่วยตั้งแต่การสร้างโรงเรือน การจัดซื้ออุปกรณ์ จนฟาร์มแห่งนี้กลายเป็นต้นแบบของฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ด้วยความที่เต้เป็นคนเบื่อง่าย ชอบทำอะไรท้าทายใหม่ๆ หลังจากทำฟาร์มอยู่ 5 ปีก็ลาออก และได้มาพบกับคุณวิกรม (วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด [มหาชน] และประธานมูลนิธิอมตะ) ที่จังหวัดภูเก็ต
นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำงานในมูลนิธิอมตะหรือ
การได้พบกันครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่เต้ได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการกองศิลปวัฒนธรรมและสื่อสิ่งพิมพ์ มูลนิธิอมตะ เพื่อจัดทำหนังสือชีวประวัติของคุณวิกรม คือหนังสือ “ผมจะเป็นคนดี: ไฟฝันวันเยาว์” หลังจากทำงานได้ 4 ปี เต้ก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้จัดการมูลนิธิ
ในปี 2011-2013 เต้รับผิดชอบเป็นผู้จัดการคาราวาน “คาราวานท่องลุ่มน้ำโขง” เดินทางด้วยรถบ้าน (motor home) ปีแรกเดินทางไปยัง GMS (GMS – The Greater Mekong Subregion อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พื้นที่เศรษฐกิจทางธรรมชาติ ซึ่งมีแม่น้ำโขงเป็นจุดร่วมพรมแดน) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยประเทศลาว-เวียดนาม และจีนตอนใต้ เป็นระยะเวลา 77 วัน ปีที่สองเดินทางไปยังประเทศกัมพูชา-เวียดนาม-จีน-มองโกเลีย เป็นระยะเวลา 6 เดือน 13 วัน และปีที่สามเดินทางไปยังประเทศลาว-จีน-รัสเซีย-คาซัคสถาน-พม่า เป็นระยะเวลา 7 เดือน หลังจากนั้นเต้ก็ลาออกจากมูลนิธิอมตะ และมีช่วงสั้นๆ ที่ไปเป็น MD ให้แก่บริษัทสารคดี Documania ก่อนจะกลับมาทำร้านอาหารของตัวเองอย่างเต็มตัว
แต่ละอาชีพที่ผ่านมา ดูเหมือนคุณจะทำงานอยู่ที่มูลนิธิอมตะนานที่สุด
เต้ทำงานที่มูลนิธิอมตะนานถึง 17 ปี เต้ชอบและคิดว่าถูกจริตกับเรามาก เพราะตอนทำงานมูลนิธิ เราไม่ต้องหวังอะไรจากใครเลย และใครก็จะมาหวังอะไรจากเราไม่ได้ด้วย เพราะชื่อมูลนิธิก็บอกอยู่แล้วว่ามีแต่ให้ ไม่ต้องรับอะไรกลับคืน
แต่เต้คิดว่าผลพลอยได้นั้นไม่ใช่เรื่องของสิ่งของหรือเงินทองหรอก สิ่งที่เต้ได้คือ “เพื่อน” จากหลากหลายวงการ เต้เลยมีเพื่อนพี่น้องเยอะแยะ และโชคดีที่เรายังเป็นเพื่อนกันมาจนถึงทุกวันนี้
อะไรที่ทำให้คนที่เรียนจบนิติฯ มาอย่างคุณ ทำงานด้านมูลนิธิได้นานขนาดนี้
แนวคิดการทำงานของเต้ได้รับอิทธิพลจากการทำงานช่วยคุณพ่อมาตั้งแต่เด็กๆ ในครอบครัวคุณพ่อมีบทบาทเป็นพี่ชายคนโตต้องคอยดูแลน้องๆ ส่วนงานนอกบ้านคุณพ่อก็เป็นทั้งอาจารย์ ผู้พิพากษา และนักกฎหมาย ต้องดูแลลูกศิษย์ลูกหาหรือให้คำปรึกษาผู้อื่น เต้ไม่เห็นคุณพ่อรับเงินทองนอกเหนือจากเงินในตำแหน่งหน้าที่เลย เพราะฉะนั้นเต้จึงคุ้นเคยกับการช่วยเหลือคนอื่น เพราะมีคุณพ่อทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ด้วยความที่เต้เติบโตมากับบรรยากาศแบบนี้ เต้จึงอยากเรียนสังคมสงเคราะห์ แต่คุณพ่อขอให้เรียนกฎหมาย เราก็โอเค เต้รู้สึกว่าการเรียนกฎหมายนี่ดีนะ มันทำให้เราเป็นคนมีตรรกะในการคิดมากๆ ซึ่งนี่คือพื้นฐานสำคัญที่ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร คุณต้องเป็นคนมีเหตุผล การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลนี้เป็นผลพวงจากสิ่งที่เราเรียนและสิ่งที่เราได้รับการปลูกฝังมา
เหตุใดจึงลาออกจากมูลนิธิมาเพื่อทำร้านอาหาร
พอเต้ลาออกจากฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ได้ 5 ปี ฟาร์มก็ปิดกิจการ ลูกน้องที่เคยทำงานร่วมกันก็มาหา เต้จึงฉุกคิดว่าเราควรจะทำธุรกิจอะไรที่ช่วยเหลือคนได้ ตอนนั้นเต้ต้องไปทำงานกับคุณวิกรมที่เขาใหญ่ เต้เลยชอบบรรยากาศของที่นั่น บวกกับการที่เต้ชอบกินส้มตำ เวลาเขียนหนังสือหรือทำอะไรเพลินๆ ตอนบ่ายๆ จะต้องกินส้มตำ แล้วเต้เป็นคนไม่ทานผงชูรส จึงวานแม่บ้านตำให้ ปรากฏว่าตำอร่อย จากกินปลาร้าไม่เป็นก็กินเป็น เต้จึงคิดว่าควรจะทำร้านดีกว่า ปลายปี 2008 เต้จึงก่อตั้งร้านอาหารอีสานชื่อว่า “ร้านเป็นลาว (PenLaos)” ขึ้น เมื่อลาออกจากมูลนิธิอมตะ ช่วง 2014 เต้ก็กลับมาทำร้านเป็นลาวอย่างเต็มตัว แรกเริ่มที่ก่อตั้งเต้ไม่คิดเลยว่าสุดท้ายมันจะสามารถสร้างงานให้คนเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
ร้านเป็นลาวคืออะไร
ร้านเป็นลาวคือร้านอาหารแนวธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) เป็นชุมชนของเขาใหญ่ที่อยู่แถบตำบลหมูสี แถวนั้นก็เป็นญาติพี่น้องกันหมด คนจากฟาร์มผักเก่าส่วนหนึ่งเป็นคนอีสาน และมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่แทน จนตอนนี้ก็กลายเป็นคนเขาใหญ่กันหมดแล้ว
คอนเซ็ปต์ของร้านคือการทำงานกับคน 3 วัย ประกอบด้วย “วัยชรา” “วัยทำงาน” และ “พาร์ทไทม์” ปัจจุบันมีลูกจ้างอยู่เกือบ 70 คน จริงๆ แล้วธุรกิจการท่องเที่ยวของเขาใหญ่คือ 4 เดือน เป็น high season และอีก 8 เดือนเป็น low season เต้จึงคิดระบบ “อาสาสมัคร” ด้วยความที่เต้เคยทำงานมูลนิธิ จึงได้แนวคิดเปิดรับอาสาสมัครหรือจิตอาสา อาสาสมัครที่เข้ามาก็คือน้องๆ ของเต้นี่แหละ มาหาที่เขาใหญ่เพื่อขอคำปรึกษาต่างๆ เต้ก็บอกว่ากลางวันไม่มีเวลาคุยนะเพราะต้องทำงาน ไม่อย่างนั้นก็ลองมาช่วยทำงานที่ร้านสิ แล้วพอตกเย็นเดี๋ยวเต้เลี้ยงข้าวและนั่งคุยด้วยกัน ก็เลยพัฒนาเป็นระบบนี้
ส่วนคนในชุมชนนอกจากเราจะช่วยเรื่องอาชีพแล้ว เราก็ส่งเสริมเกษตรกรด้วย อะไรที่ซื้อแถวนั้นได้ เราก็ซื้อนะคะ ช่วยอุดหนุนเขา มะละกอ กล้วย อ้อย มะนาว ใบตอง เห็ด ฯลฯ ทุกอย่างที่ใช้ในร้าน สามารถส่งเสริมได้ทั้งหมดเลย เพราะเราทำงานร่วมกัน จนตอนนี้ก็ทำมา 11-12 ปีแล้ว
ระบบจัดการของร้านเป็นอย่างไร
แต่เดิมก็ไม่ค่อยเป็นระบบหรอกค่ะ ร้านขนาดเล็กๆ ทุกอย่างเขียนด้วยมือ แต่มันใหญ่ขึ้นจึงต้องมีการจัดระบบ ซึ่งเริ่มทำเมื่อสี่ปีที่ผ่านมานี้เองตอนที่เต้ตัดสินใจตั้งบริษัท ออน เดอะ พลาโต จำกัด เลยเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น มีเรื่องระบบบัญชี ภาษี การจัดการเรื่องคน เต้โชคดีที่ได้น้องซึ่งเคยอยู่มูลนิธิอมตะเหมือนกันมาช่วยดูแลการจัดการร้าน พอได้น้องมาช่วยทุกอย่างก็เป็นระบบขึ้น พนักงานก็จะได้รับสวัสดิการที่พัก อาหาร เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตก็ทำพิธีเผาศพให้
จุดประสงค์ของการทำธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไร และคุณได้อะไรจากการทำงานตรงนี้
เป็นลาวคือร้านอาหารที่เป็น social enterprise ต้องบอกก่อนว่าในตัวธุรกิจอาหาร ก็มีกำไรของมันอยู่ แต่เต้เชื่อเรื่องของการให้ระหว่างทางด้วยมากกว่า จุดประสงค์ของร้านเป็นลาว เราก็คงเคยได้ยินคำพูดบ่อยๆ ว่า “เราไม่ควรให้ปลาเขา แต่ควรสอนให้เขาจับปลา” เพราะฉะนั้นเต้จึงคิดว่าสิ่งที่ดีและยั่งยืนที่สุดคือ “การสร้างอาชีพ” เต้คิดว่ามนุษย์มีคุณค่าจากการทำงาน การที่เราได้เงินมาเปล่าๆ มันก็เท่านั้น แต่ถ้าเราทำงานแล้วเราก็จะเกิดความภาคภูมิใจ ได้เลี้ยงดูคน เลี้ยงดูครอบครัว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องเชื่อมโยงกันหมด
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อร้านอย่างไร
เต้เห็นสภาพเศรษฐกิจที่ดิ่งลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว จนช่วงที่กรุงเทพฯ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน งดออกนอกเคหสถาน สั่งปิดห้างสรรพสินค้า และไม่ให้นั่งทานอาหารในร้าน มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ร้านเป็นลาวเองก็เช่นกัน เต้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นว่าร้านอาหารเล็กๆ ต่างได้รับความเดือดร้อน จึงเป็นจุดกำเนิดของโครงการ “Food for Fighters ข้าวเพื่อหมอ” ขึ้น เราเป็นตัวกลางรวบรวมเงินบริจาคเพื่อนำไปซื้อข้าวกล่องจากร้านอาหารที่ประสบปัญหาเหล่านั้นในราคากล่องละ 50 บาท แล้วส่งมอบให้ทีมแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ โดยแบ่งเป็นเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากโครงการข้าวเพื่อหมอแล้ว เต้ยังมองถึงอนาคตที่เราต้องปรับตัวเข้ากับ new normal ต้องการขยายความช่วยเหลือไปยังจังหวัดต่างๆ มากขึ้น โดยใช้แนวคิดของร้านเป็นลาวเข้าไปสร้างอาชีพแก่คนตกงาน พร้อมทั้งทำงานร่วมกับร้านอาหารและเกษตรกรของพื้นที่นั้นๆ
อุปสรรคในการทำงานนี้มีอะไรบ้าง
ด้วยความที่เราเป็นคนตัวเล็กๆ และไม่ได้มีทรัพย์สมบัติอะไร เวลาเราทำอะไรแล้วเอาเงินเป็นตัวตั้ง เราจะรู้สึกท้อถอยมาก เพราะถ้ามองในฐานะที่เราเป็นบริษัท SME การเข้าถึงเงินกู้ก็ยากในเมื่อเราไม่มีหลักทรัพย์ไปค้ำประกัน แต่สิ่งที่เรามีคือทรัพย์สินทางปัญญา และเพื่อนที่เป็นสินทรัพย์ที่ดีที่สุด การทำงานมูลนิธิทำให้เรามีเพื่อนพี่น้องเยอะแยะ เมื่อเต้นำเสนอโครงการก็ได้รับแรงสนับสนุนจากพันธมิตรต่างๆ มากมาย วิกฤติครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหา นับจากเดือนมีนาคมไปอีก 2 เดือน เราก็จะไม่มีเงินแล้วถ้าไม่ได้เปิดธุรกิจอะไรขึ้น เต้มีวิธีคิดว่าอย่างน้อยเราก็ยังมีอาหารให้พนักงานกิน หรือตัวเราเองก็ยังจ่ายค่าเช่าบ้านได้อยู่ เต้ว่าสิ่งนี้ไม่ได้เรียกว่าอุปสรรคหรอก แต่เป็นวิธีการปรับตัวในแบบของเรา เต้เชื่อว่าเวลาเกิดอะไรขึ้น คนตัวใหญ่ก็จะมีวิธีจัดการในแบบของคนตัวใหญ่ คนตัวเล็กๆ อย่างเราก็มีวิธีการในแบบของตัวเอง เหมือนการตัดเสื้อพอดีใส่ เราผ่านอุปสรรคในชีวิตมามากมาย แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นที่สุดนะ มันอาจจะที่สุด ณ ขณะหนึ่ง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ทุกอย่างก็พลอยเปลี่ยนไปด้วย
เส้นทางอาชีพอันหลากหลายของพันชนะดูแตกต่างและไม่น่ามาเกี่ยวพันกันเลย แต่จากการที่เราได้สนทนากับเธอจึงพบว่าแต่ละอาชีพต่างมีเส้นด้ายที่โยงใยไว้ด้วยสิ่งเดียวกัน นั่นคือการช่วยเหลือและแบ่งปันนั่นเอง เราจึงเกิดความสนใจใคร่รู้ไม่น้อยว่าเส้นทางสายนี้ของเธอจะเป็นเช่นไรในอนาคต
ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ โครงการ “Food for fighters ข้าวเพื่อหมอ”
เพิ่มเติมได้ที่ https://www.allmagazineonline.com/food-for-fighters/