สำนักพิมพ์พะโล้ : ผู้บุกเบิกไลท์โนเวลสัญชาติไทย หนังสืออะไรทำไมถึงขายดีขนาดนั้นกันนะ

-

ปรากฏการณ์ในงานหนังสือที่กระตุ้นความสนใจของเราจนนำไปสู่การสนทนากับคนทำหนังสือในฉบับนี้คือ การที่เด็กวัยรุ่นเข้าคิวกันเนืองแน่นเพื่อซื้อหนังสือที่หน้าปกมีรูปตัวการ์ตูนสาวน้อยน่ารัก ทว่าเมื่อพลิกหน้ากระดาษดูข้างในกลับไม่ใช่หนังสือการ์ตูนอย่างที่คาดคิด แต่บรรจุด้วยตัวอักษรมากมายดังเช่นนิยายเล่มหนึ่ง หนังสือประเภทนี้มีชื่อเฉพาะที่เรียกว่า “ไลท์โนเวล” (light novel) ไลท์โนเวลคืออะไร ทำไมเด็กวัยรุ่นจึงนิยมชมชอบอ่านกัน เพื่อหาคำตอบของคำถามนี้เราจึงต้องขอพูดคุยกับ หฤษฎ์ มหาทน ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์พะโล้ ผู้บุกเบิกไลท์โนเวลซึ่งเขียนโดยคนไทย

 

ไลท์โนเวลเป็นหนังสือแบบไหน

ต้องเท้าความถึงอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นของญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่สองญี่ปุ่นเรียนรู้วิธีทำแอนิเมชั่น มังงะ (หนังสือการ์ตูน) และเกมแนว RPG จากอเมริกาและประเทศตะวันตก แล้วพัฒนาเป็นสไตล์ของตนเอง หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็ส่งออกอุตสาหกรรมมังงะแอนิเมชั่นและเกมไปทั่วโลก จึงมีทั้งเด็กญี่ปุ่นและเด็กต่างชาติที่เสพงานเหล่านี้ และชื่นชอบจนอยากเขียนงานที่มีสไตล์แบบเดียวกับการ์ตูน

ที่ถามว่าไลท์โนเวลต่างจากนิยายทั่วไปยังไงนั้น ไลท์โนเวลมีกลิ่นอายความเป็นการ์ตูน เวลาอ่านเราจะไม่รู้สึกถึงตัวละครที่มีความเป็นคนจริงๆ แต่อ่านแล้วจะจินตนาการเป็นภาพตัวการ์ตูนมากกว่า จึงต่างจากนิยายประเภทแฟนตาซี ยกตัวอย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์ เวลาเราอ่านจะยังนึกภาพตัวละครเป็นคนจริงๆ ได้ หรือลอร์ดออฟเดอะริง ที่เราจินตนาการหน้าตาของแกนดัลฟ์หรือเลโกลัสเหมือนกับในภาพยนตร์ แต่ไลท์โนเวลพอเราอ่านปุ๊บจะมีภาพเป็นตัวการ์ตูนในหัว  ตัวละครมีแอ๊คชั่นและวิธีคิดอยู่ในโลกการ์ตูน แล้วภาพประกอบของไลท์โนเวลก็มีสไตล์แบบแอนิเมชั่นของญี่ปุ่น ในขณะที่แฟนตาซีของฝรั่งอาจมีบรรยากาศแบบยุคกลางของตะวันตก

นอกจากนั้น มีคนนิยามว่าไลท์โนเวลคือหนังสือที่อ่านง่าย จริงๆ ก็ถูกต้อง แต่ในแง่มุมของไลท์โนเวลภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น เนื่องจากภาษาญี่ปุ่นมีระดับของภาษา มีตัวคันจิที่เริ่มตั้งแต่ระดับง่ายของเด็กมัธยม-มหา’ลัย ไลท์โนเวลนั้นเขาตั้งกลุ่มเป้าหมายคือเด็กม.ต้น-ม.ปลาย ดังนั้นระดับของตัวคันจิจึงง่ายกว่าหนังสือนิยายสำหรับผู้ใหญ่ ทว่าเมื่อแปลเป็นภาษาไทย เราไม่มีความต่างของภาษาขนาดนั้น เมื่อคุณอ่านงานแปลจากวรรณกรรมญี่ปุ่นร่วมสมัย เช่นงานของ โอตสึ อิจิ หรืองานสืบสวนสอบสวนของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ แล้วมาอ่านงานแปลไลท์โนเวล คุณจะรู้สึกว่าภาษาไม่ต่างกันมาก ทั้งที่ในฉบับภาษาญี่ปุ่นนั้นมีความต่างอย่างเห็นได้ชัด ความต่างที่เห็นชัดสุดคงเป็นไลท์โนเวลมีบทสนทนาเยอะกว่า เพราะฉะนั้นถ้าให้ผมนิยามว่าไลท์โนเวลคืออะไร คำอธิบายที่ชัดที่สุดคือนิยายซึ่งอ่านแล้วได้บรรยากาศของการ์ตูนแอนิเมชั่นญี่ปุ่นมากกว่าจะเห็นเป็นตัวบุคคลจริงๆ

 

 

ทำไมหนังสือไลท์โนเวลส่วนมากที่เราเห็นในท้องตลาดถึงมีขนาดเล็กกว่าพ็อคเก็ตบุ๊คทั่วไป

ที่ญี่ปุ่นมีนิยายทั้งเล่มเล็กและเล่มใหญ่ แต่ส่วนมากคนญี่ปุ่นนิยมนิยายเล่มเล็กเพราะพกไปอ่านในรถไฟได้สะดวก แต่ไม่ได้หมายความว่าไลท์โนเวลต้องเล่มเล็กเท่านั้น สำหรับประเทศไทย สำนักพิมพ์แรกที่นำไลท์โนเวลเข้ามาทำตลาดคือสำนักพิมพ์ Bliss ตอนนั้นเขานิยามให้ไลท์โนเวลคือนิยายเล่มเล็ก ราคาถูก สำหรับขายเด็ก เขาจึงลดขนาดกระดาษ ตัดภาพประกอบ เพื่อให้มีราคาถูกที่สุด คนไทยบางส่วนจึงติดภาพว่าไลท์โนเวลต้องเป็นเล่มเล็ก

แล้วมาเป็นสำนักพิมพ์พะโล้ได้อย่างไร

มีเหตุการณ์สำคัญของวงการไลท์โนเวลไทย เมื่อ SAO (Sword Art Online) เล่มหนึ่งถูกแปลออกมาปี 51-52 สำนักพิมพ์เพิ่มความพิเศษด้วยการแจกลายเซ็นผู้เขียนและโปสเตอร์ ในยุคนั้นการที่คนไทยจะได้ของพรีเมี่ยมต้องบินไปญี่ปุ่นหรือให้เพื่อนญี่ปุ่นหิ้วมาฝาก นี่จึงเป็นครั้งแรกที่มีการแจกของพรีเมี่ยมในไทย คนต่อคิวยาวจนล้นออกมานอกงานหนังสือ คนในวงการหนังสือต่างให้ความสนใจเพราะเวลานั้นเชื่อกันว่าเด็กเลิกอ่านหนังสือแล้ว เนื่องจากการเข้ามาของอินเตอร์เน็ต คนเล็งเห็นโอกาสทางการตลาดจึงหันมาทำไลท์โนเวลกัน แต่หลายสำนักพิมพ์ยังไม่มีความเข้าใจมากพอ จึงทำออกมาเป็นแฟนตาซีตามที่เขาถนัด แต่พิมพ์ให้เล่มเล็ก แล้วมีภาพการ์ตูนประกอบ

ผมในตอนนั้นเป็นนักเขียนอยู่แล้ว ในตอนนั้นสนพ.รักพิมพ์พยายามออกไลท์โนเวลเขียนโดยคนไทย แล้วผมก็เป็นคนที่เข้ารอบและจะได้ทำไลท์โนเวล แต่พอเขาลองตลาดแล้วปรากฏว่าไม่เวิร์คอย่างที่คิด ในยุคนั้นไลท์โนเวลไทยมีปัญหาว่าจะวางขายที่ไหน ร้านหนังสือหรือร้านการ์ตูน กอปรกับงานของไทยยังเทียบเท่างานของญี่ปุ่นไม่ได้ ยังติดสไตล์แฟนตาซีอยู่ เมื่ออยากเขียนผมจึงพยายามคุยกับสำนักพิมพ์อื่นๆ ลองส่งอีเมลไปเสนอ สนใจงานของคนไทยไหม เมื่อไม่มีใครสน เพื่อนผม จักรพงษ์ เอี่ยมสอาด ก็ตัดสินใจพิมพ์ขายเองเลย เริ่มต้นในลักษณะเซอร์เคิล หรือวัฒนธรรมหนังสือทำมือของญี่ปุ่น แล้วพัฒนาจนได้มาตรฐานมากขึ้น และมีผลงานที่ประสบความสำเร็จ คนก็เริ่มเชื่อมั่นที่จะอ่านไลท์โนเวลไทย

 

 

แนวทางหนังสือของสำนักพิมพ์พะโล้เป็นแบบไหน

เรามุ่งทำไลท์โนเวลฝีมือคนไทย ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีสำนักพิมพ์ไหนที่มุ่งทำไลท์โนเวลไทยเหมือนกับเรา และเราไม่ได้มองว่างานญี่ปุ่นเป็นคู่แข่ง การซื้อหนังสือนั้นไม่จำเป็นต้องซื้อเพียงหนึ่งเล่ม แต่ละคนมีงบประมาณในกระเป๋าที่เขาสามารถจ่ายได้ อาจจะเพียงพอสำหรับสิบเล่ม ดังนั้นไม่จำเป็นที่เราต้องไปทำให้คุณเลิกอ่านงานไลท์โนเวลของญี่ปุ่น แต่ที่เราต้องการคือทำยังไงให้เราเข้าไปอยู่ในลิสต์ 1-10 เล่มที่คุณจะเลือก เราไม่ต้องการเป็นงานที่ better หรือ best  เราต้องการให้งานเราเป็น good เพราะ good ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร เราจึงพยายามผลิตงานที่ดีพอโดยไม่เปรียบเทียบกับประเทศไหนๆ และนอกจากสนับสนุนนักเขียนไทย เรายังสนับสนุนนักวาดไทยด้วย เราเชื่อว่าฝีมือของนักวาดไทยทัดเทียมกับต่างชาติได้

ไลท์โนเวลแท้จริงคือการเอาเรื่องยากๆ มาเขียนให้อ่านง่ายขึ้น?

อาจเป็นไปได้ พอเป็นไลท์โนเวลแล้วโจทย์คืออ่านง่าย อ่านสนุก แต่ไม่ได้บอกว่าคุณต้องไม่มีสาระ แล้วไลท์โนเวลหลายๆ เรื่องก็มีสาระที่ลึกซึ้ง สะท้อนแนวคิดตามยุคสมัย เช่น ไลท์โนเวลญี่ปุ่นกับไลท์โนเวลไทยก็มีประเด็นคำถามที่ไม่เหมือนกัน ของญี่ปุ่นมักถามว่าทำไมชีวิตฉันต้องดำรงอยู่ในยุคอุตสาหกรรมนี้ ทำอย่างไรกับความฝันของฉันที่เคยถูกปฏิเสธในโลกของความจริง ถ้าฉันได้เกิดใหม่เพื่อทำบางอย่างให้ดีขึ้นจะเป็นอย่างไรนะ เรื่องที่ฮิตอยู่ตอนนี้ก็เป็นแนวนั้น มีการข้ามมิติหรือหลุดไปต่างโลกเพื่อเรียนรู้อะไรบางอย่าง ส่วนของประเทศไทย ตอนนี้เราอยู่ในยุคสมัยของการติดอยู่ภายในแนวคิดของคนที่เป็นใหญ่ ก็สะท้อนออกมาทางงานเขียน แม้จะออกมาในแนวมุกตลก แต่ก็เป็นเรื่องเชิงสังคมที่นำเสนอ

สำหรับงานเขียนนั้นต้องมีทั้งพล็อตกับธีม งานเขียนสายประกวดอาจให้น้ำหนักแก่ธีมที่เน้นสาระลึกๆ ในเนื้อเรื่อง มากกว่าพล็อตที่ต้องสนุกตื่นเต้น แต่ไลท์โนเวลอาจให้น้ำหนักแก่พล็อตมากกว่าธีม เน้นคนอ่านสนุก รองลงมาคือธีมที่แฝงสาระบางอย่างซึ่งผู้เขียนใส่เข้าไปเพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้

 

 

ทำไมไลท์โนเวลถึงต้องตั้งชื่อเรื่องยาวมากๆ

เป็นเทรนด์การตั้งชื่อของญี่ปุ่นในตอนนี้ ตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจทำไมต้องเป็นแบบนั้น เพราะเราชินกับการใช้คำหรูๆ สวยๆ เช่น เรือนการะเกด ดั่งดวงหฤทัย ซึ่งชื่ออาจไม่สะท้อนถึงเนื้อเรื่องเลย แต่การตั้งชื่อเรื่องยาวๆ แบบญี่ปุ่นคือการเล่าเรื่องย่อไปในตัว คุณไม่จำเป็นต้องอ่านหลังปกว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร เพราะอ่านชื่อเรื่องก็บอกได้ทันที และความที่มันยิ่งยาวคนยิ่งสนใจ มันจะยาวไปถึงไหนนะ นอกจากนั้นยังมีชื่อย่อให้เรียกกันสั้นๆ ด้วย เช่น เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้รึเปล่านะ ย่อเป็น แทร็ปสร้างชาติ

กลุ่มนักอ่านของสำนักพิมพ์พะโล้คือกลุ่มใด

70% เป็นวัยรุ่นช่วงมัธยม-มหา’ลัย 30% คือวัยทำงาน แต่ 30% กำลังซื้อเยอะกว่า และเราจับกลุ่มผู้ชายเป็นหลัก เพราะผู้หญิงเองก็มีหนังสือนิยายวายอยู่แล้ว ลูกค้าของเรา 90% จึงเป็นผู้ชาย

ตลาดไลท์โนเวลไทยมีโอกาสขยายตัวมากน้อยเพียงไร

ต้องยอมรับว่าไลท์โนเวลเป็นนีชมาร์เก็ตหรือตลาดคนอ่านเฉพาะกลุ่ม แต่ตลาดนี้กำลังขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่ปัจจุบันคนดูแอนิเมชั่นทางเน็ตฟลิกซ์ หรือสตรีมมิ่งทางยูทูบ เช่น เกิดชาตินี้พี่ต้องเทพ ซึ่งเป็นแอนิเมชั่นที่สร้างจากไลท์โนเวล และมียอดวิวหลักล้าน หมายความว่าปัจจุบันคนเข้าถึงง่ายขึ้น มากขึ้น ตลาดไลท์โนเวลจึงมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก

 

 

พะโล้มีวิธีทำการตลาดแบบไหน

การตลาดของเราผูกโยงกับนักวาด เราเอานักวาดดังๆ ที่มีชื่อเสียงในวงการมาช่วยดันยอดขาย ผมมองว่าไลท์โนเวลไม่ใช่งานของนักเขียนคนเดียว แต่เป็นงานที่นักเขียนและนักวาดต้องประสานกัน ร่วมมือกันทำงาน ยิ่งนักวาดกับนักเขียนเข้าขากันก็ยิ่งดันให้งานดังขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คุณเอ็กซ์เตอร์ (XTER) เป็นนักวาดแนวเซ็กซี่ ติดเรทหน่อยๆ ซึ่งดังที่สุดของเมืองไทย พอเขามาวาดภาพประกอบให้ไลท์โนเวลเรื่องความลับของมิโกะแห่งพงไพร คนจำชื่อคนเขียนไม่ได้ แต่จำได้ว่าเป็นงานที่คุณเอ็กซ์เตอร์วาด ผลงานชิ้นนี้ได้รับการตอบรับดีจนพัฒนาต่อสู่การทำวิชวลโนเวล (visual novel) ที่เรากำลังผลักดันอยู่ตอนนี้

วิชวลโนเวลคืออะไร

เป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง เราคุ้นเคยกับไลท์โนเวลที่เป็นนิยาย มังงะที่เป็นการ์ตูนเล่ม และแอนิเมชั่นที่เป็นภาพยนตร์ วิชวลโนเวลคือสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างแอนิเมชั่นกับนิยาย มันเป็นเกมที่เราจะต้องคลิก เพื่ออ่านเนื้อเรื่องโดยมีภาพและเสียงพูดของตัวละครให้เราได้ยินเพื่อเพิ่มอรรถรส ตอนนี้เรากำลังทำอยู่ แล้วจะขยายสู่สากลด้วยการแปลเกมนี้เป็นภาษาอังกฤษ

เป้าหมายต่อไปคือการก้าวสู่สากล?

ใช่ครับ ที่เราวางแผนขยายสู่สากลเพราะเราเล็งเห็นว่า ตลาดในประเทศไทยมีคนอ่านเต็มที่ล้านคน แต่ถ้าเราขยายตลาดจากกลุ่มผู้ใช้ภาษาไทยสู่ผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ก็จะมีคนอีกมากมายที่เป็นลูกค้าเราได้ เรามีการพูดคุยกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศ แต่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาหลายๆ อย่าง นอกจากนั้นเรายังคิดไปถึงว่า จะทำยังไงให้เราก้าวเข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายดาย แพลตฟอร์มนิยายนั้นยากมาก เพราะต้องแปลเนื้อหาทั้งเล่ม แต่ถ้าแปลจากมังงะหรือรูปแบบหนังสือการ์ตูนจะง่ายกว่า เพราะคำน้อยกว่านิยาย เราจึงได้ร่วมมือกับ KP Comic ทำเกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้รึเปล่านะ ฉบับหนังสือการ์ตูนขึ้นมา

 

 

ไลท์โนเวลไทยมีจุดเด่นตรงไหนที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ผมว่าความเป็นไทยก็เป็นจุดขายในตัวโดยที่ไม่ต้องพยายามนะ เรามีเซ้นส์บางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ยกตัวอย่าง ผมทำงานกับคนญี่ปุ่น เขากล่าวว่าคนไทยสามารถทำเรื่องซีเรียสให้ตลกได้ เช่น ผมเคยเขียนคอนเทนต์แซวบริษัทที่ผมทำงานซึ่งมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสำนักพิมพ์ เพราะชื่อเหมือนกัน แต่จริงๆ เราเป็นอคาเดมี่ ผมโพสต์บนเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าคนแชร์ถล่มทลายจนเพื่อนร่วมงานญี่ปุ่นตกใจ ด้วยนิสัยคนไทยเรายิ้มสู้ ซีเรียสไม่ซีเรียสไม่รู้เรายิ้มสู้ไว้ก่อน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นประเด็นซีเรียสหรือแหลมคมทางการเมืองยังไง คนไทยสามารถพูดให้ตลก เสียดสีในสิ่งที่ไม่น่ามีอารมณ์ขันให้เกิดอารมณ์ขัน คนไทยจึงผลิตงานศิลปะได้ดี

ความยากของการทำหนังสือไลท์โนเวลมีอะไรบ้าง

สำนักพิมพ์ของเราเน้นพิมพ์งานที่เขียนโดยคนไทย ซึ่งต่างจากสำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานแปลและเขาพอจะรู้ว่าเล่มไหนดัง เขามียอดขายจากญี่ปุ่นเป็นเครื่องการันตีว่าถ้านำมาแปลไทยแล้วจะเวิร์คหรือไม่เวิร์ค แต่ของเราคือการเสี่ยงดวง เราไม่รู้เลยว่าเรื่องนี้ออกไปผู้อ่านจะตอบรับยังไงบ้าง ได้แต่คาดเดา

และเราพิมพ์ด้วยการพิมพ์ดิจิตอลมาตั้งแต่ต้น เพราะพิมพ์จำนวนน้อย ซึ่งทำให้ต้นทุนสูง หนังสือของเราราคาประมาณ 280-320 บาท ในขณะที่ไลท์โนเวลเจ้าอื่นราคาประมาณ 150 บาท คนซื้อก็รู้สึกว่าทำไมฉันต้องซื้อของแพง เหตุผลเดียวในการซื้อคือช่วยอุดหนุนงานของคนไทย แต่ปัจจุบันราคาหนังสือในท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้น กลายเป็นว่าเราสามารถแข่งขันในท้องตลาด สู้กับสำนักพิมพ์อื่นได้มากขึ้น ตอนนี้คนรู้สึกว่าราคาของเราไม่ต่างจากเจ้าอื่นนัก และยอมรับไลท์โนเวลไทยยิ่งขึ้น

 


 

3 เล่มที่สำนักพิมพ์พะโล้อยากแนะน

  • วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ

เขียนโดย “ร.เรือในมหาสมุทร”

เป็นผลงานของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท เล่มนี้คนที่ไม่ใช่สายไลท์โนเวลก็สามารถอ่านสนุก ประเด็นคือจะเกิดอะไรขึ้นถ้าในอนาคตคอมพิวเตอร์สามารถทำงานศิลป์ได้อย่างมนุษย์  และถ้าคอมพิวเตอร์มีจิตใจขึ้นมาล่ะ

 

ยังมีอีกเล่มที่อยากแนะนำคือ Aesthetica สาวใช้กับปริศนาคดีศิลป์ เขียนโดย ภาณุ ตรัยเวช ซึ่งเป็นนักเขียนสารคดีและเรื่องสั้น แกอยากเขียนไลท์โนเวลอยู่แล้ว และเขียนโดยได้รับอิทธิพลจากงานสารคดีแนวสืบสวนสอบสวนที่ย้อนให้เห็นบรรยากาศของสังคมชาวดัตช์โบราณ

 

 

 

 

 

  • เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้รึเปล่านะ

เขียนโดย “StarlessNight”

เหมาะกับผู้อ่านรุ่นมหา’ลัย พระเอกเป็นนักการเมืองไทย ที่เจ้านายคอร์รัปชั่นแล้วตัวเขาก็ถูกฆ่าเพราะรู้เห็นมากเกินไป ได้ไปเกิดใหม่ในอีกมิติแล้วถูกเชิญให้เป็นกษัตริย์ พระเอกจะทำยังไงกับโลกที่ไปอยู่ใหม่ จะเข้าไปช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น หรือจะหนีไป ประเด็นของเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง

  • ด้วยความเคารพต่อกฎบัตรของสหประชาชาติถึงตัวละครในนิยายลามกของผมจะดูโลลิแค่ไหนก็อายุเกิน 18+ ทั้งนั้นแหละ

เขียนโดย  “Inch-ton”

พาดหัวแรงแต่เนื้อหาไม่เกี่ยวกับ 18+ เท่าไหร่ พระเอกเป็นนักเขียนนิยาย 18+ จริงๆ อยากเป็นนักเขียนสายประกวด แต่ไม่รุ่ง กลับมารุ่งกับแนว 18+ แทน บังเอิญมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเข้าใจผิด ขอให้พระเอกช่วยสอนเขียนนิยาย เรื่องนี้เป็นแนวเลิฟคอเมดี้ แต่ผู้อ่านทั่วไปอาจงงนิดหนึ่งเพราะมีศัพท์เทคนิคในวงการแอนิเมชั่นเยอะ

 

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!