‘ความตาย’ นั้นน่าแปลก บางครั้งเราอาจคิดว่าช่างเป็นเรื่องที่ไกลตัว ยังไม่ถึงเวลาจะได้ประสบพบเจอ แต่ในขณะเดียวกันกลับเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด พระไพศาล วิสาโลเคยกล่าวไว้ว่าความตายคือเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้นกับเราไม่ช้าก็เร็ว เป็นหน้าที่ของทุกชีวิต ไม่มีใครสามารถหลีกหนีหน้าที่ดังกล่าวไปได้ และเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิตขึ้นมาจริง เราพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความตายด้วยใจที่สงบหรือไม่? “ยุทธจักร ฅ.ฅน” ฉบับนี้ ขอนำเสนอศาสตร์หนึ่งที่คนไทยอาจจะยังรู้จักกันเป็นส่วนน้อย นั่นคือเรื่อง พาลิเอทีฟแคร์ (Palliative Care) ซึ่งเป็น “การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย” เพื่อให้มีคุณภาพชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณที่ดี ก่อนถึงช่วงเวลาสุดท้าย โดยมีนายแพทย์ภิญโญ ศรีวีระชัย แพทย์ชำนาญการพิเศษประจำศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช (Siriraj Palliative Care Center) มาเป็นผู้เล่าให้ฟังในวันนี้
พาลิเอทีฟแคร์คืออะไร
พาลิเอทีฟแคร์ (Palliative Care) คือ “การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง” “การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย” หรือที่ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวใช้คำว่า “การบริบาลผู้ป่วยแบบประคับประคอง” เป็นการดูแลเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวที่กำลังเผชิญกับโรคอันคุกคามต่อชีวิต หรือไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งมีแนวทางการดูแลแบบองค์รวมคือ ให้ความสำคัญกับทั้งมิติด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ การจะดูแลเช่นนี้ต้องอาศัยความชำนาญจากสหสาขาวิชาชีพต่างๆ อันประกอบไปด้วย แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักดนตรีบำบัด ฯลฯ มาทำงานร่วมกัน เพื่อการดูแลที่มีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวให้มากที่สุด
การดูแลในแนวทางนี้ ส่งเสริมให้ผู้ป่วยวางแผนและตัดสินใจการดูแลรักษาล่วงหน้าด้วยตนเอง (advance care plan) เพราะให้ความสำคัญกับคุณค่าและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของทุกบุคคล และในปัจจุบันมักพบว่าหากไม่ได้มีการวางแผนไว้ เมื่อเวลาที่ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาและผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถให้คำตอบเองได้ เช่น หมดสติ หรืออยู่ในอาการเพ้อ สถานการณ์เช่นนี้มักนำไปสู่การรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ เป็นไปเพียงการยื้อชีวิต ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน อาทิเช่น การสอดท่อช่วยหายใจ หรือการกดหน้าอกเพื่อกระตุ้นหัวใจ การวางแผนล่วงหน้าจึงเป็นส่วนช่วยให้ครอบครัวได้รับทราบความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย บรรเทาความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ให้วาระสุดท้ายของชีวิตเป็นการจากไปตามครรลองหรือจบลงอย่างที่ต้องการให้เป็น
ประวัติความเป็นมาของแพทย์ผู้ให้สัมภาษณ์
นายแพทย์ภิญโญ ศรีวีระชัยจบการศึกษาระดับแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เมื่อปี 2544 ก่อนเข้าเรียนต่อเฉพาะทางด้านวิสัญญีวิทยา และทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลอ่างทอง ช่วงของการเป็นวิสัญญีแพทย์ ได้เข้าไปทำงานในคลีนิคบรรเทาอาการปวด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ตอนนั้นนายแพทย์ภิญโญเคยคิดว่า ถ้าบรรเทาอาการเจ็บปวดลงได้ ผู้ป่วยน่าจะมีความสุขมากขึ้น แต่ผลปรากฏว่าไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหมาย จากจุดนั้นเองจึงเป็นโจทย์ที่ทำให้นายแพทย์ภิญโญเกิดความสงสัยว่า เมื่อไม่ได้มีอาการเจ็บปวดทางด้านร่างกายแล้ว ทำไมผู้ป่วยจึงยังไม่มีความสุข
คุณหมอจึงค่อยๆ ค้นหาว่ามันเกิดจากอะไร และเริ่มตั้งคำถามถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ ‘ชีวิต’ ซึ่งเป็นจุดที่ศาสนาเริ่มเข้ามาในความคิดตั้งแต่บัดนั้นว่า ทั้งๆ ที่ชาวไทยส่วนใหญ่เป็นคนพุทธอยู่แล้ว แต่ยังไม่เข้าใจในพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ ดังนั้นจึงใช้โอกาสนี้เข้าไปเรียนอย่างจริงจังว่าพุทธศาสนาสอนเรื่องชีวิตว่าอย่างไร ในระดับปริญญาโท สาขาวิชาพุทธศาสตร์และศิลปะแห่งชีวิต ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) การเรียนพุทธศาสตร์และศิลปะแห่งชีวิต ทำให้นายแพทย์ภิญโญได้เข้าใจมากขึ้นว่าชีวิตมีหลายมิติที่มากกว่าทางด้านรูปธรรม แต่ประกอบด้วย ร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ เชื่อมโยงกัน เขาจึงพยายามนำสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วย ก่อนมารู้จักกับศาสตร์ที่เรียกว่า “พาลิเอทีฟแคร์”
ในคอร์สเตรียมพร้อมรับมือกับความตาย นายแพทย์ภิญโญได้มีโอกาสพบกับอาจารย์กวิวัณณ์ วีรกุล ประธานศูนย์บริรักษ์ในสมัยนั้น อาจารย์กวิวัณณ์จึงชักชวนให้หมอภิญโญมาทำงานร่วมกันที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยและสอนนักศึกษาแพทย์รุ่นต่อไปให้ได้รู้จักพาลิเอทีฟแคร์มากขึ้น แต่ด้วยความที่นายแพทย์ภิญโญไม่ได้เรียนจบด้านพาลิเอทีฟแคร์มาโดยตรง เขาจึงต้องการเรียนรู้อย่างถ่องแท้จึงเดินทางไปเรียนต่อในระดับแพทย์ประจำบ้านต่อยอด (Fellowship in palliative medicine) ที่มหาวิทยาลัยโกเบ ประเทศญี่ปุ่น และนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาการดูแลผู้ป่วยและหลักสูตรการศึกษาต่อไป
การไปศึกษาต่อด้านพาลิเอทีฟแคร์ที่ประเทศญี่ปุ่น
นายแพทย์ภิญโญเล่าให้เราฟังถึงการไปเรียนต่อในระดับแพทย์ประจำบ้านต่อยอดที่ประเทศญี่ปุ่นว่าใช้เวลาทั้งหมดสองปี ในปีแรกเขาได้เรียนความรู้พื้นฐานทั้งหมดเกี่ยวกับผู้ป่วยระยะท้ายว่าเป็นอย่างไร แพทย์มีวิธีการเข้าถึงชีวิตของผู้ป่วย หรือต้องดูแลทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณอย่างไร ส่วนปีที่สอง จะเริ่มเรียนลงลึกไปในด้านการระงับความปวด การเดินทางไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และการดูแลในหอผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยตรง
เมื่อกลับมาที่โรงพยาบาลศิริราชแล้ว เราตั้งคำถามว่ามีเรื่องใดที่ควรนำมาประยุกต์ใช้กับศูนย์บริรักษ์บ้าง คุณหมอตอบว่า “นำมาประยุกต์เพิ่มในหลายๆ อย่างเลยครับ เพราะศูนย์บริรักษ์ถึงแม้จะมีหอผู้ป่วยระยะท้ายอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ผมพยายามนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากญี่ปุ่นมาใช้ในการทำงาน หรือเรื่องการเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านซึ่งยังติดขัดในหลายๆ ประเด็น เช่น บุคลากรในศูนย์ฯ มีจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภารกิจการออกไปเยี่ยมถึงบ้าน เราก็ค่อยๆ คิดวิธีพัฒนาว่าจะทำยังไงให้บริการได้ดีขึ้น”
ชีวิตที่เชื่อมโยงกันด้วยร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ
นอกจากช่วยเยียวยาบรรเทาทุกข์ทางด้านร่างกายแล้ว นายแพทย์ภิญโญเล่าว่า “พาลิเอทีฟแคร์เป็นศาสตร์ที่ไม่ได้มองชีวิตของมนุษย์เป็นเพียงการทำงานของอวัยวะในร่างกาย ปอด สมอง หัวใจ แต่ชีวิตประกอบไปด้วยร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงกัน ยิ่งได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิต ยิ่งทำให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าในช่วงเวลาสุดท้ายนั้น ร่างกายจะค่อยๆ ทำงานน้อยลงเรื่อยๆ ทรุดลงเรื่อยๆ แต่มิติทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณกลับจะเด่นชัดขึ้นมาแทน
ตัวอย่างเช่น จิตใจที่ยังไม่อยากจากไปหรือจิตวิญญาณที่ยังยึดติดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความห่วงกังวล ความรู้สึกผิดที่เกาะกุมใจ การอยากสั่งลาใครสักคน หรือปัญหาค้างคาใจที่ยังไม่ได้รับการสะสาง สิ่งเหล่านี้สามารถดึงรั้งไม่ให้จากไปได้ทั้งสิ้น แต่เมื่อความต้องการได้รับการเติมเต็มหรือปลดเปลื้อง ผู้ป่วยก็จะสามารถจากไปได้อย่างสงบ ซึ่งในปัจจุบันทางวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถอธิบายได้เหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเขา”
ความตายคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น แต่ยากที่จะยอมรับ
เราถามขึ้นอย่างสงสัยว่ามันก็น่าแปลกนะ ทั้งๆ ที่เราทุกคนก็รู้กันอยู่แล้วว่าวันใดวันหนึ่งจะต้องพบเจอกับความตาย แล้วทำไมถึงไม่ยอมรับมัน คุณหมอจึงกล่าวว่า “ความรู้สึกมันต่างกันนะครับ เวลาเราไปเรียนในคอร์สเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความตาย เราก็รู้นะว่าความตายมันเกิดขึ้นกับเราได้ทุกขณะ นั่นคือเราแค่ ‘เตรียม’ ครับ แต่ไม่ได้รู้สึกจริงๆ ว่าเรากำลังจะตาย มีคนเคยเปรียบเทียบเอาไว้ว่า การรับรู้และเตรียมพร้อมรับมือกับมัน เหมือนเราไปฝึกว่ายน้ำในสระ พอเข้าไปใกล้จนถึงจุดที่เราเป็นผู้ป่วย ‘ระยะท้าย’ เทียบเหมือนเราเริ่มไปว่ายน้ำในทะเล ซึ่งมันก็จะเริ่มมีคลื่นลมหนักมากขึ้น แต่พอ ‘ระยะสุดท้าย’ คือใกล้จะเสียชีวิตจริงๆ เขาเทียบว่ามันเหมือนเป็นสึนามิเลย
“ความตายมันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อครับ จู่ๆ เราอาจเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันและเสียชีวิตไปอย่างไม่ทันตั้งตัว ความตายเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อจริงๆ และมีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่เราสามารถจัดการหรือพอที่จะทำได้คือ ‘การเตรียมพร้อม’ ว่าถ้าเหตุการณ์นี้มาถึง ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ เราก็ต้องพร้อมที่จะเผชิญกับความตาย”
‘พาลิเอทีฟแคร์’ ศาสตร์ที่ยังถูกละเลย
แท้จริงแล้ว พาลิเอทีฟแคร์ไม่ใช่ศาสตร์ที่เพิ่งก่อกำเนิดขึ้น แต่ดำเนินมาอย่างเนิ่นนาน ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีสถานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่มีมาตรฐาน เช่น ประเทศในทวีปยุโรป ไต้หวัน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น แต่ที่ผ่านมา สาเหตุอันทำให้พาลิเอทีฟแคร์เป็นศาสตร์ที่ถูกละเลยในประเทศไทยอาจมาจากค่านิยม ทั้งมุมมองจากแพทย์และมุมมองจากผู้ป่วยกับครอบครัว
ในเรื่องมุมมองจากแพทย์ทั่วไป นายแพทย์ภิญโญกล่าวว่า “ปกติแล้ว แพทย์จะได้รับการเรียนว่าต้องทำอย่างไรให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดและมีชีวิตที่ยืนยาว ทั้งที่มันขัดกับความจริงในธรรมชาติ หากวันใดวันหนึ่งแพทย์ต้องเจอกับโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายหรือยื้อชีวิตต่อไม่ได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคชรา แพทย์จึงมักสับสนว่าจะจัดการกับชีวิตของผู้ป่วยต่อไปอย่างไร ทุกวันนี้พาลิเอทีฟแคร์เป็นส่วนที่แพทย์ยังได้เรียนค่อนข้างน้อย ทั้งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นเหมือนการเติมเต็มของการดูแลตลอดช่วงชีวิตของผู้ป่วยคนหนึ่ง ให้เขามีภาพสุดท้ายของชีวิตที่สวยงาม”
ส่วนมุมมองจากผู้ป่วยและครอบครัว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการพูดถึงความตายในสังคมไทยยังเป็นเรื่องที่พูดถึงค่อนข้างยาก คุณหมออธิบายว่า “การที่แพทย์จะแจ้งผู้ป่วยหรือครอบครัวว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย ใกล้จะเสียชีวิตแล้ว บางครอบครัวยังห้ามพูดถึงเรื่องนี้อยู่เลย เพราะฉะนั้นการที่เขาจะเดินเข้ามาในหน่วยที่จะรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย เขาก็ปฏิเสธที่จะมา”
การเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์
เมื่อปี 2019 เริ่มมีการเรียนการสอนพาลิเอทีฟแคร์ในระดับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครั้งแรกที่โรงพยาบาลศิริราช พร้อมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปี 2020 มีโรงพยาบาลจุฬาฯ เพิ่มเติมขึ้นมา เมื่อถามว่าประเทศไทยเริ่มหันมาเห็นความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายกันแล้วหรือ? คุณหมอตอบว่า “จริงๆ เราเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มานานแล้วครับ เพียงแต่อย่างที่บอกไปว่ายังไม่สามารถเอาเข้าไปในหลักสูตรได้มาก เพราะในหลักสูตรทางการแพทย์จริงๆ ค่อนข้างเน้นว่าจะทำยังไงให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอด หลายคนยังไม่เข้าใจมากพอว่าศูนย์พาลิเอทีฟแคร์เขาทำอะไรกัน บางคนคิดว่าชวนให้ผู้ป่วยสวดมนต์เพื่อให้เสียชีวิตอย่างสงบเฉยๆ หรือเปล่า แต่ไม่ใช่เลยครับ ที่นี่เรามีรายละเอียดลึกซึ้งมากกว่านั้น แต่เพราะเขายังไม่เข้าใจจริงๆ ก็เลยไม่ได้ให้ความสนใจ บางคนอาจรู้สึกว่าการมาอยู่กับคนที่จะเสียชีวิตอยู่ตลอด มันน่าเศร้าและน่าหดหู่ ชีวิตเขามาเป็นหมอทั้งทีก็อยากจะรักษาผู้ป่วยให้หาย ไม่ได้อยากรักษาผู้ป่วยแล้วเสียชีวิต ศาสตร์นี้จึงถูกมองข้ามไปในระยะแรก ทว่าในระยะหลังๆ โรงเรียนแพทย์หลายๆ ที่พยายามที่จะผลักดันให้นักศึกษาแพทย์ได้รู้จัก โดยอนุญาตให้เลือกพาลิเอทีฟแคร์เป็นวิชาเลือก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี เพราะมีนักศึกษาแพทย์จำนวนไม่น้อยที่ต้องการรู้ว่าเมื่อเขาเจอผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้จริงๆ เขาควรจะทำยังไง”
ศูนย์พาลิเอทีฟแคร์ในโรงพยาบาล
นอกจากศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราชแล้ว ยังมีศูนย์พาลิเอทีฟแคร์ที่อื่นอีกหรือไม่ คำตอบคือยังมีศูนย์พาลิเอทีฟแคร์อีกหลายแห่ง แต่ใช้ชื่อเรียกแตกต่างกันไป ส่วนมากจะมีในโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ใช้ชื่อว่า “ศูนย์ชีวาภิบาล” โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งขึ้นอยู่กับภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ใช้ชื่อว่า “ศูนย์รามาธิบดีอภิบาล” หรือที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้ชื่อว่า “ศูนย์การุณรักษ์”
สื่อเผยแพร่ความรู้
เมื่อบุคคลทั่วไปยังไม่รู้จักและเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอยู่มาก นายแพทย์ภิญโญและศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช จึงจัดทำสื่อเผยแพร่ความรู้ด้านพาลิเอทีฟแคร์ขึ้น โดยคณะผู้จัดทำเล็งเห็นผลจากการเรียนการสอนในห้องเรียนจริงว่านักศึกษาสามารถจดจำเรื่องเล่าประกอบการสอนได้มากกว่าเนื้อหาทางวิชาการ
“การสอนวิชานี้ ถ้าสอนแค่วิชาการเฉยๆ จะค่อนข้างเข้าใจยาก ต้องมีการยกตัวอย่างผู้ป่วยประกอบว่าแพทย์ต้องพูดอย่างไร ผู้ป่วยจะรู้สึกอย่างไร พอจบคลาสเรียนเราจะฟีดแบคกับนักเรียนว่าสามารถจดจำหรือได้อะไรจากสิ่งที่ได้เรียนกันในวันนี้บ้าง ก็พบว่าสิ่งที่นักเรียนมักจะจำได้คือเรื่องที่เราเล่าให้ฟัง แต่เนื้อหาวิชาการจริงๆ จำไม่ได้ (หัวเราะ) เลยมาตั้งต้นว่าการเรียนเราไม่จำเป็นจะต้องเรียนจากตัววิชาการก็ได้ แต่ใช้ ‘เรื่องเล่า’ มาเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความสนใจแทน” นายแพทย์ภิญโญกล่าว
นั่นจึงเป็นที่มาของ มรณเวชกรรม นวนิยายกึ่งวิชาการ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นจริง พร้อมสอดแทรกความรู้อธิบายตอนท้ายของแต่ละบท โดยหวังว่าจะช่วยทำให้บุคคลทั่วไปได้เข้าใจเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและเห็นความสำคัญของการวางแผนเตรียมรับมือกับความตายที่เราต้องเผชิญมากขึ้น
บทบาทของ ‘นายแพทย์’ และ ‘นักเขียน’
นวนิยายเรื่องมรณเวชกรรมเขียนและเรียบเรียงโดยนายแพทย์ภิญโญเป็นส่วนใหญ่ และพยายามชักชวนให้บุคลากรท่านอื่นๆ ในศูนย์บริรักษ์มาช่วยเขียนบทแทรกทางวิชาการ เพื่อให้ทุกคนในศูนย์ฯ ได้มีส่วนร่วมในการเป็นผู้จัดทำผลงานชิ้นนี้ร่วมกัน
เราถามคุณหมอว่าสนใจด้านงานเขียนอยู่แล้วหรือเปล่า คุณหมอตอบว่า “ผมชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กแล้วครับ ตอนนั้นก็เคยพยายามหัดเขียนนิทานอะไรอยู่บ้าง แต่เริ่มมาเขียนอย่างจริงจังหลังจากเรียนจบแพทย์แล้ว ตอนแรกก็จะเขียนเรื่องสั้นเป็นส่วนใหญ่ จริงๆ ก็เคยได้ไปประกวดหลายงาน ผ่านเข้ารอบบ้าง ได้รางวัลบ้าง เมื่อผ่านเข้ารอบก็จะมีคลาสสอนการเขียน ผมก็ได้เข้าไปเรียนในนั้นด้วย พอเริ่มมาทำงาน พบเจอเรื่องราวของผู้ป่วย ผมคิดว่าเป็นเรื่องราวที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่นได้ เลยลองหยิบเรื่องราวเหล่านี้มาเขียนดูบ้าง”
‘การการุณยฆาต’
หากเกิดความสมัครใจ การร้องขอความตายนั้นสามารถทำได้หรือไม่…
ถ้าผู้ป่วยระยะสุดท้ายเกิดเจ็บปวดจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป และต้องการยุติความทรมานนั้นลง เขาสามารถขอ “การุณยฆาต” ได้หรือไม่ นายแพทย์ภิญโญให้คำตอบว่า “ไม่ได้ครับ เพราะกฎหมายในประเทศไทยยังกำหนดว่าแพทย์ยังมีหน้าที่ควรจะช่วยเหลือ ไม่สามารถทำร้ายชีวิต เราจะไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วขึ้น แต่สามารถไม่ยืดเวลาหรือยื้อชีวิตโดยไม่จำเป็นซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องเจ็บปวดทรมานได้ (ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเจตนาของผู้ป่วย)”
ปัจจุบันการขอ “การุณยฆาต” ในสังคมไทยยังคงเป็นประเด็นถกเถียงทั้งในแง่กฎหมายและศีลธรรม มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อการการุณยฆาตแตกต่างกันออกไปหลายทาง และหลายมุมมองทั้งแพทย์ สังคม และตัวผู้ป่วย จุดนี้ทำให้นายแพทย์ภิญโญมีความตั้งใจที่จะนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ออกมาในหนังสือเรื่อง “การุณยฆาต” เป็นเล่มต่อไป “ตอนเขียนตั้งใจอยากให้ทุกคน ทั้งหมอและประชาชนรู้ว่าการการุณยฆาตมันคืออะไรกันแน่ ในเล่มจะพูดถึงผู้ป่วยระยะสุดท้ายว่าเขามีสิทธิ์อะไรบ้างในการจัดการชีวิต เช่น สามารถเลือกที่จะไม่ยื้อชีวิตได้ แต่ไม่สามารถที่จะเร่งการตายได้ แพทย์สามารถทำอะไรให้ผู้ป่วยได้บ้าง เช่น เราอาจช่วยให้ยามอร์ฟีนระงับอาการปวดได้ แต่ไม่สามารถใช้ยาเร่งให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เช่น ฉีดยาพิษได้”
นายแพทย์ภิญโญแสดงทัศนะส่วนตัวต่อการการุณยฆาตว่า “ผมเคยเห็นผู้ป่วยระยะท้ายหลายๆ คน ถึงแม้จะรู้ว่าช่วงเวลาในชีวิตเหลือไม่มาก แต่เขากลับได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะมากมาย บางคนพูดแม้กระทั่งว่าเป็นเพราะเขาเป็นมะเร็งและมาถึงในระยะสุดท้ายนี่แหละ ถึงได้เข้าใจชีวิตมากกว่าชีวิตทั้งหมดที่เขาเคยใช้มาซะอีก ซึ่งผมก็รู้สึกเช่นนั้นเหมือนกันว่าในทุกวันทุกเวลาที่เรายังมีชีวิตอยู่ เรามีโอกาสที่จะได้เรียนรู้บางอย่างในชีวิตได้เสมอ ดังนั้นตัวผมเองจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการจบชีวิตไป เพราะมันคือการตัดโอกาสในการเรียนรู้ชีวิตของเราเอง”
สุดท้ายนี้ เราไม่ต้องรอให้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างแท้จริงจึงค่อยตระหนักรู้ถึงความตาย มันสามารถเกิดขึ้นกับเราได้เมื่อไหร่ไม่อาจทราบ ดังนั้นอย่าประมาทและจงมีสติรับรู้กับการใช้ชีวิตอยู่ทุกขณะจิต
สั่งหนังสือ “มรณเวชกรรม” หรือติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/Siriraj-Palliative-Care-Center
คอลัมน์ : ยุทธจักร ฅ.ฅน
เรื่อง: กัตติกา ภาพ: อนุชา ศรีกรการ
All magazine พฤศจิกายน 2563