เมื่อพูดถึงความตาย ดูเป็นสิ่งน่ากลัวทั้งตัวผู้ใกล้ตายและญาติเพื่อนฝูงผู้ใกล้ชิด แต่ไม่มีใครหนีความจริงที่ว่า “ทุกคนต้องตาย” ได้ การที่เราใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายก่อนตายอย่างมีคุณภาพ และมีใจเป็นสุข รวมทั้งมีเวลาเตรียมตัวก่อนตาย นับว่าเป็นโชคดีอย่างยิ่ง เพราะในยามที่เราละร่างกายนี้ไป ควรมีความสุข สงบ หมดอาลัยไร้อาวรณ์ และก่อนตายเราสามารถแสดงเจตจำนงการตายที่ไม่ต้องทรมานกายใจด้วยความหวังดีของคนในครอบครัว หรือด้วยการรักษาตามหลักวิชาการแพทย์ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่พ้นความตายอยู่ดี นอกจากนี้ยังทำให้เราได้มีโอกาสสลายสิ่งที่ค้างคาใจจนไม่อาจจากไปอย่างสงบสุข เช่น การอยากพบหน้าใครบางคน การขออโหสิกรรม การจัดการภารกิจค้างคา การจัดการชีวิตของทายาทและแบ่งสันทรัพย์สิน ฯลฯ ดังนั้น การมีคุณภาพชีวิตในระยะท้าย การเตรียมตัวก่อนตาย และการตายอย่างมีสติ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตให้ครบถ้วนสมบูรณ์
มรณเวชกรรม เป็นหนังสือที่เขียนโดยคณะบุคลากรในภาควิชามรณเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช มีนายแพทย์ภิญโญ ศรีวีระชัย เป็นบรรณาธิการ หนังสือประกอบด้วยส่วนที่เป็นนวนิยายและส่วนที่เป็นข้อมูลสั้นๆ เชิงวิชาการที่อยู่ตอนท้ายของแต่ละบท หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเล่าที่ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักการทำงานของหน่วยงานในโรงพยาบาลที่มีชื่อว่าภาควิชามรณเวชศาสตร์ ซึ่งอาจจะไม่ได้มีอยู่ในโรงพยาบาลทุกแห่ง และคงมีผู้ที่เรียนจบแพทย์แล้วศึกษาต่อเฉพาะทางไม่กี่คนที่สนใจจะเรียนในภาควิชานี้ เนื่องจากต้องอยู่กับผู้ป่วยที่รักษาไม่หาย ผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานนี้จะต้องสิ้นชีวิตทุกคน ไม่ช้าก็เร็ว สร้างความรันทดใจแก่ผู้ดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า หากผู้ป่วยไม่ถึงวาระสุดท้ายของชีวิต จะไม่ถูกส่งมาอยู่ที่แผนกนี้
สิ่งที่เป็นภารกิจของหน่วยงานนี้ไม่ใช่รักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคหรือให้พ้นความตาย แต่คือการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยในช่วงระยะเวลาอันสั้นที่ยังมีลมหายใจอยู่ เพื่อให้ทรมานน้อยที่สุดจากโรคร้าย เป็นการดูแลแบบองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวผู้ใกล้ชิดด้วย หลายกรณีที่ผู้ป่วยต้องการจะลาจากไปอย่างสงบ แต่ครอบครัวกลับต้องการให้แพทย์ยื้อชีวิตไว้ด้วยความรัก ทำให้มีการรักษาทางการแพทย์เกินกว่าความจำเป็น เช่น การสอดท่อ การปั๊มหัวใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจ ฯลฯ ซึ่งล้วนสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วย และในที่สุดก็ไม่อาจช่วยชีวิตไว้ได้ หรือหากยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องทรมานจากอาการของโรคร้ายต่อไปอีก หรือบางกรณีครอบครัวไม่ยอมวางแผนการดูแลรักษาล่วงหน้า (advance care plan) หากผู้ป่วยมีอาการทรุดลงจนไม่อาจตัดสินใจได้เองหรือขาดสติสัมปชัญญะ เพราะครอบครัวยอมรับไม่ได้หรือเกรงว่าจะเป็นการแช่งให้ตาย
นวนิยายเรื่องนี้ใช้คำว่าการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ไม่ใช่สุดท้าย เพราะอาจจะมีระยะเวลาพอสมควร ซึ่งต้องใช้การดูแลแบบประคับประคองไปจนกว่าจะถึงระยะสุดท้ายจริงๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการหนักถึงระยะท้ายของชีวิต แพทย์ด้านมรณเวชกรรมจะถามความประสงค์ของผู้ป่วย และยินยอมให้ผู้ป่วยกลับไปอยู่บ้านซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้ป่วยทุกคนรู้สึกอบอุ่น เป็นสุข มากกว่านอนโรงพยาบาล จากนั้นพยาบาลจะติดตามถามข่าวหรือไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ
เรื่องราวการทำงานของคณะแพทย์และพยาบาลสาขามรณเวชศาสตร์ซึ่งคนทั่วไปไม่ทราบเหล่านี้ถูกถ่ายทอดเป็นนวนิยายที่ร้อยเรียงเรื่องราวของผู้ป่วยกรณีต่างๆ มีทั้งกรณีที่ผู้ป่วยไม่ยอมรับภาวะป่วยไข้ใกล้ตายของตนเอง จึงไม่เตรียมตัวจัดการกับภาระต่างๆ ในช่วงเวลาที่ยังพอจะทำได้ กรณีที่ผู้ป่วยต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีก่อนตาย และ “ตายตามธรรมชาติ” จึงปฏิเสธการรักษาแต่ครอบครัวไม่ยินยอม กรณีที่ผู้ป่วยมีเรื่องค้างคาใจ ไม่ยอม “จากไป” จนกว่าจะได้รับอโหสิกรรมจากใครบางคน ฯลฯ แม้จะเป็นเรื่องของการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย แต่นวนิยายไม่ได้แสดงอารมณ์หดหู่ทั้งเรื่อง ผู้เขียนเติม “รสชาติ” ของความเป็นนวนิยายให้ผู้อ่านเพลิดเพลินด้วยมุกขำขัน บรรยากาศสยองขวัญแบบเรื่องผี ความมีชีวิตชีวาของคณะแพทย์พยาบาลที่พูดจาต่อปากต่อคำเชือดเฉือนกันอย่างถึงพริกถึงขิง เรื่อง “ดราม่า” เว่อร์ๆ แบบละครทีวี อีกทั้งผู้อ่านยังสะเทือนอารมณ์กับเรื่องราวแสนเศร้าของตัวละครบางตัว และซาบซึ้งกับความรักของแม่ที่ยอมเสียชีวิตเพื่อรักษาชีวิตของลูกในครรภ์ เนื่องจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นความจริงของชีวิต ที่ให้ทั้งความสุขและความทุกข์แก่มนุษย์ ไม่เว้นผู้ใดเลย ดังนั้นนวนิยายจึงไม่เพียงนำเสนอความทุกข์ของผู้ป่วย แม้แต่แพทย์ก็ต้องเผชิญกับความทุกข์และความสูญเสียเช่นเดียวกัน เพราะสิ่งนี้คือสัจธรรมของชีวิต นอกจากนวนิยายเรื่องนี้จะดำเนินเรื่องได้ชวนติดตาม คละเศร้าด้วยเรื่องราวและรสอารมณ์แบบต่างๆ แล้ว รสแห่งความสนุกในฐานะนวนิยายยังปรากฏในตอนจบเรื่องที่เซอร์ไพรส์ผู้อ่านอย่างแยบยล
มรณเวชกรรมไม่เพียงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกการวิพากษ์สังคมซึ่งปล่อยให้มีมุมมืดที่สร้างตราบาปให้แก่ผู้ซึ่งมีชีวิตไร้ทางออก จนตรอกจนต้องยอมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น ทำแท้ง หรือเป็นนายโชว์ในคลับเฉพาะ อีกทั้งนวนิยายยังวิพากษ์มุมมืดในใจคน เช่น การไม่ยอมรับคนข้ามเพศ การจองล้างจองผลาญฝ่ายตรงข้าม การประจานอดีตของผู้ที่ตนเกลียดชังให้อับอาย ดังนั้นกล่าวได้ว่า มีคนจำนวนมากป่วยทางกาย แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ป่วยทางใจ
ข้อน่าตำหนิของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การตั้งชื่อบทแต่ละบท ซึ่งใช้ภาษาทางธรรม ที่ไม่สื่อความหมายทันทีแก่ผู้อ่าน ต้องไปเปิดพจนานุกรมศัพท์ศาสนาก่อนจึงจะเข้าใจ ดังนั้น เมื่อเปิดอ่านหน้าสารบัญ คนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นหนังสือธรรมะจนไม่อยากเปิดอ่านเนื้อใน การตั้งชื่อบทด้วยภาษาธรรมแบบนี้จึงไม่สัมฤทธิ์ผลในการสื่อสาร และไม่เหมาะสมกับเนื้อหาของนวนิยาย ที่ต้องการนำเสนอให้ผู้อ่านเข้าใจการทำงานของคณะแพทย์พยาบาลในสาขามรณเวชศาสตร์อย่างง่ายๆ อ่านสบายๆ ด้วยสาระและการปรุงรสให้อ่านเพลิน
นวนิยายเรื่อง มรณเวชกรรม จัดพิมพ์จำหน่ายเพื่อหารายได้สำหรับใช้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของศูนย์บริรักษ์ ศิริราช ดังนั้นผู้ที่ซื้อหนังสือเล่มนี้ไปอ่าน นอกจากได้อ่านนวนิยายที่อ่านอย่างชิลล์ๆ สบายๆ ไม่หนักสมองเรื่องหนึ่งแล้ว ยังได้ทำกุศลอีกด้วย ใครจะรู้เล่าว่าในอนาคตเราอาจไปเป็นผู้ป่วยในศูนย์แห่งนี้!
คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์
เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์
All magazine สิงหาคม 2563