คำลาวโพ้นทะเล

-

 หลังจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของราชอาณาจักรลาวเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวใน พ.ศ.2518 ชาวลาวและชาวม้งลาวจำนวนมากได้อพยพย้ายถิ่นฐานออกจากแผ่นดินลาวไปยังประเทศต่างๆ บ้างก็เพื่อลี้ภัยการเมือง บ้างก็เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ในยุคนี้ชาวลาวและชาวม้งลาวมีความสำคัญมากขึ้น ร้านอาหารลาวกำลังได้รับความนิยมในอเมริกา และนักกีฬาเชื้อสายลาวคว้าเหรียญทองโอลิมปิก คำลาวที่เกี่ยวข้องกับการอพยพ ย้ายถิ่น ลี้ภัย จึงน่าศึกษาไว้เป็นตัวอย่าง

ຍົກຍ້າຍຖິ່ນຖານ ยกย้ายถิ่นถาน คือ การอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน คำนี้มีที่มาคล้ายคลึงกันกับภาษาไทย คำว่ายกย้าย หมายถึงการยกข้าวของออกจากที่อยู่เดิมแล้วหอบหิ้วเป็นสัมภาระไปด้วย ใช้ในภาษาไทยโบราณสมัยสุโขทัยและอยุธยา แต่ในภายหลังเสียงได้เพี้ยนยาวขึ้นเป็นโยกย้าย

ບໍ່ມີບ່ອນຢູ່ອາໄສ บ่มีบ่อนอยู่อาไส คือ การไร้ที่อยู่อาศัย คำว่า บ่อน ในที่นี้ คือสถานที่ ไม่ได้หมายความถึงบ่อนการพนัน ภาวะไร้ที่อยู่อาศัยของผู้อพยพลี้ภัยสงคราม มักตามมาด้วยการเข้าไปอยู่ในค่ายผู้อพยพในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนจะโยกย้ายไปยังประเทศที่สาม

ມະນຸດສະທຳ มะนุดสะทำ คือ มนุษยธรรม การดูแลรักษาเพื่อนมนุษย์ที่ประสบภัยต่างๆ จนต้องลี้ภัย หรืออพยพย้ายถิ่นฐาน ถือเป็นหนึ่งในคุณธรรมที่ประชาคมโลกนับถือยกย่อง คำนี้ในภาษาลาว แปลงมาจากภาษาบาลีว่า มนุสฺสธมฺม จึงออกเสียงสะกดเป็น มะนุดสะทำ ต่างจากภาษาไทยที่ใช้การสะกดแบบสันสกฤต

ໂຣກຊຳເຮື້ອ โฮกซำเฮื้อ คือ โรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นอันตรายแก่การอพยพย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากมีอาการต่อเนื่องยืดเยื้อ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ในการอพยพย้ายถิ่นฐาน ประเทศปลายทางส่วนมากมักมีข้อกำหนดให้ตรวจสุขภาพเพื่อหาโรคติดต่อและโรคเรื้อรังก่อนจะอนุมัติวีซ่า หรืออนุญาตให้ลงหลักปักฐานในประเทศนั้นๆ

ພັດທີ່ນາຄາທີ່ຍູ່ พัดที่นาคาที่ยู่ คือ การพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่บ้านเรือนของตน เป็นสำนวนเหมือนกับ พลัดที่นาคาที่อยู่ ของไทย ถือเป็นสำนวนร่วมกันของลาว-ไทยที่ใช้มาเนิ่นนาน


คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง

เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!