หลายปีที่ผ่านมา ละครโทรทัศน์ช่วง 19.00 น.–20.00 น. หรือที่เรียกว่า “ละครก่อนข่าว” อาจจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะถือว่าไม่ใช่ละครในช่วงไพรม์ไทม์ ละครโทรทัศน์ที่นำเสนอในช่วงเวลานี้ จึงมักไม่ใช่ละครพรีเมี่ยม แต่เป็นละครที่เรียกกันในภาษาวงการสื่อว่า “ละครตีหัวเข้าบ้าน” อันหมายถึงละครที่สร้างอย่างง่ายๆ นำเสนอชัดเจน เข้าถึงผู้ชมได้อย่างทั่วถึง
สถานีโทรทัศน์ที่เป็นผู้นำเรตติ้งในช่วงเวลาดังกล่าวมาอย่างยาวนานก็คือ ละครโทรทัศน์ของสถานีกองทัพบก ช่อง 7 หรือ ช่อง 35 ในปัจจุบัน ดังจะเห็นว่ามีละครโทรทัศน์จำนวนหลายเรื่องที่โด่งดังอยู่ในความทรงจำของผู้ชม อาทิ อกธรณี ผักบุ้งกับกุ้งนาง เมียจำเป็น สาวน้อยอ้อยควั่น สุดรักสุดดวงใจ เกิดเป็นกา ฯลฯ แม้ในระยะหลัง ช่อง 3 เริ่มให้ความสนใจทำละครช่วงก่อนข่าวแข่งกับช่อง 7 แต่ก็ยังไม่สามารถแย่งชิงการเป็นผู้นำจากช่อง 7 ได้
ทว่าในช่วง พ.ศ.2562–2563 ช่องวันได้ให้ความสำคัญแก่ละครก่อนข่าว และก็สามารถเขย่าบัลลังก์แชมป์ของช่อง 7 อย่างพลิกความคาดหมาย มีเรตติ้งสูสีหรือไม่ก็แซงหน้าช่อง 7 ไปได้อย่างน่าสนใจ นับเป็นปรากฏการณ์ของวงการทีวีเลยทีเดียว ความสำเร็จของช่องวันมิได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เกิดจากการวิเคราะห์ผู้รับสารและวิเคราะห์บริบทของสังคมไทยได้อย่างเฉียบขาด รวมถึงการย้อนรอยความสำเร็จของแชมป์เก่าอย่างช่อง 7 อีกด้วย
ละครเย็นก่อนข่าวเป็นช่วงละครที่มีฐานคนดูในวงกว้าง ต้องดูได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทุกเพศทุกวัย และทุกกลุ่มชนชั้นและทุกภูมิภาค การดึงดูดผู้คนที่หลากหลายให้มาสนใจละครร่วมกันมิใช่เรื่องง่าย เพราะต้องทำให้คนจำนวนมากเกิดความพอใจ นำเสนอเรื่องราวถึงศีลธรรมขั้นพื้นฐานอย่างง่ายๆ และต้องหน่วงเรื่องให้คนดูอยากติดตามในวันรุ่งขึ้นได้
ช่องวันเริ่มจับทางละครเย็นก่อนข่าวได้ในปี 2562 นับตั้งแต่ละครเรื่อง สาวน้อยร้อยล้านวิว เสียงเอื้อนสะเทือนดาว ไลลาธิดายักษ์ 4 เทพผู้พิทักษ์ และมาในปี 2563 ก็ได้ตอกย้ำความสำเร็จจากเรื่องมงกุฎดอกหญ้า รักสิบล้อรอสิบโมง นางฟ้าลำแคน และเรื่องสูตรรักแซ่บอีหลี
หากพิจารณาความสำเร็จของละครก่อนข่าวช่องวันแล้ว ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่ามีความน่าสนใจหลายประการ ช่องวันได้ถอดสูตรย้อนรอยความสำเร็จของช่อง 7 และสร้างสรรค์แนวทางนำเสนอละครก่อนข่าวได้อย่างน่าสนใจ
ประการแรก ช่องวันให้ความสำคัญแก่การสร้างฐานคนดูในวงกว้าง ละครอย่างไลลาธิดายักษ์ กลายเป็นละครแนวฮีโร่ที่ถูกตีความใหม่ ให้เข้าถึงหัวใจเด็กๆ ได้ทั่วประเทศ การทำละครแฟนตาซีที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี โดยสื่อศีลธรรมและวิถีปฏิบัติใหม่ๆ อย่างถูกต้องในสังคม รวมถึงละครเรื่อง 4 เทพผู้พิทักษ์ ซึ่งนำคติเรื่องธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ มาสร้างเป็นตัวละครและเป็นการสร้างฮีโร่แบบไทยๆ เมื่อเด็กเฝ้าหน้าจอและติดการนำเสนอละครก่อนข่าวแล้ว ก็จะดูช่องวันเรื่อยมา ที่สำคัญคือ “ดูร่วมกับผู้ใหญ่” กินข้าวไป ดูละครไป พูดคุยกันไป แม้ละครที่สร้างขึ้นเพื่อผู้ใหญ่ อย่างเสียงเอื้อนสะเทือนดาว สาวน้อยร้อยล้านวิว นางฟ้าลำแคน เรื่องเหล่านี้ เป็นการปูพื้นฐานคนดูให้ “ติด” ละครช่องวันได้ไม่ยาก โดยการใช้ศิลปินนักร้องชื่อดังมาแสดงในละครโทรทัศน์ ดึงฐานแฟนคลับนักร้องมาเป็นแฟนคลับละคร ศิลปินเหล่านี้มิได้มาในฐานะแขกรับเชิญ แต่มีบทบาทในการเดินเรื่องอีกด้วย
ประการที่สอง ช่องวันได้นำเสนอความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท โดยชี้ให้เห็นว่าวิถีชีวิตที่คนชนบทกำลังเผชิญนั้น เป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมไทยและสังคมโลก แต่ไม่ว่าจะมีปัญหาอย่างไร ตัวละครที่เป็นตัวแทนของชนบทก็สู้ พร้อมเผชิญปัญหา เพื่อก้าวไปสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ ตามความใฝ่ฝันของตน ดังจะเห็นได้จากเรื่องสาวน้อยร้อยล้านวิว นำเสนอให้เห็นว่ายอดวิวในยูทูบสร้างความฝันให้เด็กสาวต้องการเป็นนักร้องดัง และในที่สุดเธอก็สามารถฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จได้ เรื่องเสียงเอื้อนสะเทือนดาว ความใฝ่ฝันของหญิงสาวที่จะเป็นนักร้องดัง แต่ถูกแม่เลี้ยงกีดกัน นำเธอไปขายเป็นโสเภณี ทว่าเธอก็ต่อสู้จนก้าวผ่านปัญหานั้นและประสบความสำเร็จในที่สุด ในเรื่องมงกุฎดอกหญ้า ก็ใช้สูตรของเรื่องแบบเดียวกัน หญิงสาวทวงคืนความยุติธรรมและฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการเป็นนักร้องเล็กๆ แล้วประสบความสำเร็จในที่สุด จะเห็นว่าสูตร “การสู้ชีวิต” ของคนชนบทที่พบแต่ปัญหามากมาย แต่ด้วยความไม่ระย่อต่อปัญหา ทำให้ประสบความสำเร็จในที่สุด ตัวเอกคือตัวแทนของคนจน คนชนบท ซึ่งก็คือตัวแทนของคนดูฐานกว้างทั่วประเทศ ส่วนคู่ขัดแย้งคือนายทุน คนร่ำรวย คนที่มีโอกาสในชีวิตทีเหนือกว่า
ประการที่สาม คือ การใส่ใจในปัญหาร่วมสมัยของฐานผู้ชมวงกว้าง และสอดแทรกไว้ในเรื่องได้อย่างกลมกลืน เช่น เรื่องนางฟ้าลำแคน สอดแทรกเรื่องการปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ เรื่องรักสิบล้อรอสิบโมง ชี้ให้เห็นถึงการละทิ้งความฝันเพื่อทำให้ธุรกิจรถสิบล้อของครอบครัวดำเนินต่อไปได้ แม้เมื่อประสบภาวะขาดทุน ตัวละครก็นำเสื้อผ้ามาไลฟ์สดขายอย่างไม่อาย เรื่องสูตรรักแซ่บอีหลี ผูกเรื่องให้เห็นถึงการนำภูมิปัญญาด้านอาหารอีสานคือน้ำปลาร้ามาพัฒนาเป็นสินค้าระดับโลก ประเด็นเหล่านี้ทำให้ผู้ชมซึ่งกำลังประสบปัญหาต่างๆ อยู่ ได้ข้อคิดและเกิดความรู้สึกผูกพันกับละคร ในฐานะที่ละครเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา และไม่ได้นำเสนอประเด็นที่ห่างไกลจากชีวิตประจำวันที่พวกเขาดำเนินอยู่
ประการที่สี่ การสร้างละครให้มีตัวละครแวดล้อมเป็นชาวบ้าน เป็นชนชั้นเดียวกับฐานผู้ชม พูดจาภาษาอีสาน มีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับผู้ชม สร้างความสะเทือนใจโดยนำเสนอเรื่องชีวิต ครอบครัว ชาติกำเนิด ความใฝ่ฝัน การต่อสู้ปัญหาต่างๆ เมื่อตัวเอกมีปัญหา ก็มีตัวละครอื่นให้กำลังใจและอยู่เคียงข้าง พร้อมฝ่าฟันและฝันไปด้วยกันกับตัวละครเอก ตัวละครเอกจึงเป็นเสมือนตัวแทนของผู้ชมวงกว้างนั่นเอง
ความสำเร็จของละครก่อนข่าวช่องวันมิได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เกิดจากการวิเคราะห์ผู้รับสารได้อย่างแม่นยำ และสร้างละครให้น้อมไปหาผู้ชม มีเนื้อหาไม่ห่างไกลจากชีวิตของผู้ชม ทำให้ละครโทรทัศน์ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้ชม จึงเป็นสูตรสำเร็จที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ
ภาพ: อินเตอร์เน็ต