สำนักพิมพ์ On Art :สถานีกวีนิพนธ์

-

 

  • สำนักพิมพ์ On Art (ออน อาร์ต) สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่มีปณิธานแรงกล้าในการเป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงานบทกวีสู่สายตานักอ่าน พร้อมเป็นกำลังเล็กๆ สืบสานให้ถ้อยคำและรสของบทกวีคงอยู่คู่วงการหนังสือไทยต่อไป

ปัจจุบันตลาดหนังสือกวีนิพนธ์มีกลุ่มคนอ่านในวงแคบ และมีหนังสือวางจำหน่ายบนแผงปีละไม่กี่เล่ม จนเกิดการตั้งคำถามที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่า กวีนิพนธ์จะตายไหม? กวีนิพนธ์จะสูญหายไปจากวงการหนังสือหรือไม่? ถึงแม้ว่าหนังสือกวีนิพนธ์จะไม่ได้มีให้เห็นมากเทียบเท่าเรื่องสั้นหรือนวนิยาย แต่แฟนคลับผู้ชื่นชอบในบทกวีก็ยังคงเหนียวแน่นและพร้อมที่จะสนับสนุนงานเขียนชนิดนี้ เช่นเดียวกับสำนักพิมพ์ On Art (ออน อาร์ต) สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่มีปณิธานแรงกล้า บรรณาธิการบริหาร ชื่นกมล ศรีสมโภชน์ กล่าวว่า On Art จะเป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงานบทกวีสู่สายตานักอ่าน พร้อมเป็นกำลังเล็กๆ สืบสานให้ถ้อยคำและรสของบทกวีคงอยู่คู่วงการหนังสือไทยต่อไป

 

 

ก้าวที่หนึ่งของสำนักพิมพ์ On Art                                                           

เริ่มต้นเราเป็นกลุ่มคนเล็กๆ ซึ่งทำงานเพื่อสังคมแนวศิลปวัฒนธรรม ชื่นทำอาร์ตแกลเลอรี่ที่มูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ซึ่งปัจจุบันคือครัวบรรเลง ในสมัยนั้นเรามีจัดเสวนาศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี ที่เรือนบรรเลง และที่ตรงนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นการทำหนังสือทำมือ นรกของเรา เขียนโดย “นายทิวา” ส่งประกวดเวทีเซเว่นบุ๊คอวอร์ด แม้เราไม่ได้รางวัลชนะเลิศหรือรองชนะเลิศเลยในปีนั้น แต่หนังสือเล่มนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสือแนะนำของเซเว่นบุ๊คอวอร์ด และพี่ทิวา (เอกรัตน์ จิตมั่นเพียร) ได้กลายเป็นทั้งนักเขียนและบก.ของสำนักพิมพ์เรา

หลังจากเริ่มต้นด้วยหนังสือทำมือ เราพัฒนาสู่หนังสือที่พิมพ์จากโรงพิมพ์จริงๆ รักในรอยศิลป์ นับเป็นหนังสือเล่มแรกอย่างเป็นทางการของสำนักพิมพ์ เล่มนี้ผู้เขียนเป็นชาวออสเตรเลียที่มาสอนหนังสืออยู่เมืองไทย ต้นฉบับจึงเป็นภาษาอังกฤษ แล้วเราค่อยนำมาแปลเป็นภาษาไทย หลายคนบอกว่า On Art เริ่มต้นแปลก แม้หนังสือจะไม่ตรงกับแนวทางสำนักพิมพ์ซะทีเดียว แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกันตรงที่พูดถึงศิลปะ

พอเราทำ รักในรอยศิลป์ สำเร็จก็มานั่งทบทวนว่าทิศทางหนังสือของเราที่แท้จริงควรเป็นแบบไหน ส่วนตัวชื่นชอบอ่านบทกวี เล่มถัดมาจึงกลับมาพิมพ์หนังสือบทกวี และรวมบทกวีก็กลายเป็นหนังสือส่วนใหญ่ที่เราทำ เป็นภาพจำของสำนักพิมพ์ไป

แนวทางหนังสือ ตัวตนของสำนักพิมพ์

หลักๆ คือหนังสือรวมบทกวี ซึ่งมากกว่าร้อยละ 80 เป็นผลงานของ “นายทิวา” นอกจากนั้นมีผลงานของนักเขียนผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ เช่น  สกุล บุณยทัต, วิมล ไทรนิ่มนวล, สุปาณี พัดทอง และมีหนังสือสารคดีท่องเที่ยวของ สว่าง ทองดี ผู้เป็นนักปั่นจักรยานระดับโลก หนังสือท่องเที่ยวของเราเป็นเชิงประสบการณ์มากกว่านำเที่ยวเพียงอย่างเดียว

 

 

รับจ้างผลิตหนังสือ เส้นเลือดอีกสายที่หล่อเลี้ยงสำนักพิมพ์

ธุรกิจของเราไม่ได้มีแค่ผลิตหนังสือในชื่อสำนักพิมพ์ On Art เรายังรับจ้างทำคอนเทนต์ เช่น เป็น ghost writer ให้ ดังนั้นผลงานหลายเล่มที่อยู่ในตลาดอาจเป็นผลงานจากเรา แต่ไม่มีใครทราบ บางเล่มเรารับผลิตแบบครบวงจร นักเขียนจัดการเนื้อหามาแล้วให้เราเป็นบรรณาธิการ จัดรูปเล่ม จ้างพิมพ์ ไปจนถึงประสานงานเพื่อจัดจำหน่าย เมื่อนักเขียนกับผู้จัดจำหน่ายทำสัญญากัน นั่นคือจบงานของเรา

เอกลักษณ์ของสำนักพิมพ์ On Art อันแตกต่างจากเจ้าอื่น

สิ่งที่โดดเด่นคงเป็นเรื่องที่เราเป็นสำนักพิมพ์ซึ่งยืนยันว่าจะยังพิมพ์รวมบทกวีต่อไป อย่างผลงานของ “รินศรัทธา กาญจนวตี” ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ อาจารย์ชมัยภร (“ชมัยภร แสงกระจ่าง”) เป็นผู้มอบต้นฉบับเล่มนี้ให้เราดูแล จริงๆ ท่านเอาต้นฉบับนี้ไปให้สำนักพิมพ์อื่นก็ได้ แต่ท่านให้เราเป็นคนทำโดยให้เหตุผลว่า เพราะ On Art ทำหนังสือบทกวี เรารู้สึกว่าอาจารย์เชื่อมั่นในทางของเรา

 

“อีกสิ่งที่เราให้ความสำคัญคือการพิมพ์งานกวีที่เป็นรูปแบบฉันทลักษณ์ เราให้ความสำคัญแก่การตรวจแก้คำให้ถูกต้อง เพื่อสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้”

 

อีกสิ่งที่เราให้ความสำคัญคือการพิมพ์งานกวีที่เป็นรูปแบบฉันทลักษณ์ เราให้ความสำคัญแก่การตรวจแก้คำให้ถูกต้อง เพื่อสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ งานของ “รินศรัทธา กาญจนวตี” ก็เป็นกวีฉันทลักษณ์ รวมถึงงานของอาจารย์สุปาณี งานของคุณอาวิมล หรืองานของนายทิวา เราคิดอย่างง่ายๆ ว่า การที่เราจะเขียนหนังสือได้ เราควรเขียน ก-ฮ ให้ครบก่อน หมายความว่าพื้นฐานเราต้องแน่นก่อนที่จะเติบโตเป็นอย่างอื่นต่อไป ดังนั้นแม้ว่างานของอาจารย์สกุลจะเป็นกลอนเปล่า แต่เรามั่นใจและรู้ถึงฝีมือของท่าน

กลุ่มคนอ่านกวีที่ยังไม่หายไปไหน

ถึงเราจะเห็นหนังสือรวมบทกวีในร้านหนังสือมีจำนวนไม่มาก แต่ชื่นว่าคนอ่านกวีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันนะ อย่างหนังสือของสำนักพิมพ์เรา มีนักอ่านบางคนซื้อทุกเล่มเลย และที่วางขายในร้าย B2S หรือศูนย์หนังสือจุฬาฯ ก็ขายได้ตามปกติ อาจไม่ได้ขายเร็วขายไวแต่ก็ขายได้เรื่อยๆ เราว่ารูปแบบการอ่านเปลี่ยนไปมากกว่า เมื่อก่อนนี้เราเจอกันด้วยหนังสือปีละครั้ง แต่ปัจจุบันคนอ่านจากอีบุ๊กแทน แค่แพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไป แต่คนสร้างสรรค์งานยังอยู่ คนอ่านก็ยังอยู่

 

 

กวีรุ่นใหม่กับมุมมองที่กว้างไกลกว่าเดิม

เราว่าคนเขียนกลอนมีจำนวนเพิ่มขึ้นนะ ดูจากกลุ่มเขียนกลอนต่างๆ ที่เราเป็นสมาชิกอยู่ มีจำนวนคนที่เข้าร่วมไม่น้อยเลย แล้วเขามีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันทุกวัน ถึงแม้เวทีประกวดจะน้อยลง แต่เวทีแสดงออกเพิ่มขึ้น เช่น โซเชียลมีเดียที่ทำให้ทุกคนสามารถเขียนบทกวีลงเฟซบุ๊กได้ตลอด

แม้ว่ากวีรุ่นใหม่อาจเลือกใช้ศัพท์ทันสมัย แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเขาไม่ลุ่มลึก ไม่ได้ใส่วิธีคิดลงไป ข้อดีของการใช้วิธีการประพันธ์กับศัพท์ร่วมสมัยคือเราสามารถสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเรายึดติดกับการต้องใช้คำเก่าๆ สวยๆ เหมือนกับใส่รองเท้าแตะแล้วสวมมงกุฎ ดูขัดๆ ไม่กลมกล่อม ตัวชื่นนั้นไม่ยึดติดว่ากวีต้องใช้คำสวย เราสนใจการทำให้คนเข้าถึงความหมายของบทกวีนั้นมากกว่า และฉันทลักษณ์ก็มีส่วนช่วยให้เกิดความไพเราะด้วยแบบแผนของคำประพันธ์อยู่แล้ว แค่ใส่ศัพท์ธรรมดาลงไปในฉันทลักษณ์ก็ทำให้บทกวีไพเราะน่าฟังได้

อีกทั้งปัจจุบันกวีมีการถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นสากลมากขึ้น ในอดีตกวีมักเล่าเรื่องราวภายในชุมชน ภายในประเทศของตนว่าเกิดอะไร อย่างเช่น ยุคที่ระบอบการปกครองปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ กวีก็จะเล่าเรื่องราวของสายลมแสงแดดที่ซ่อนเนื้อหาบางอย่างเอาไว้ แต่เมื่อโลกปัจจุบันเชื่อมถึงกัน กวีก็มีมุมมองที่กว้างขึ้น พูดถึงมุมมนุษยธรรมมากขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนเชิงบทกวีกันระหว่างประเทศด้วย พี่ทิวาเคยรับเชิญไปอ่านบทกวีที่ประเทศเนปาลและบังคลาเทศ

 

 

การตลาดและช่องทางออนไลน์ความหวังใหม่ของธุรกิจหนังสือ

การตลาดของสำนักพิมพ์เรานั้นใช้วิธีไปออกบูธงานหนังสือทุกปี แต่เราเลือกโซนเอเทรียม เป็นบูธเล็กๆ เหมาะสมกับจำนวนหนังสือที่มี และหนังสือของเราก็มีวางขายที่ร้าน B2S ศูนย์หนังสือจุฬาฯ หรือช่องทางออนไลน์ คือ เฟซบุ๊ก On Art, Shopee, Lnw Shop ช่วงหลังๆ ช่องทางออนไลน์ขายได้เร็วกว่า อาจเป็นเพราะการระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วย อย่างงานสัปดาห์หนังสือออนไลน์ก็ขายได้ หรือการขายบน Shopee ก็กลายเป็นช่องทางออนไลน์ที่ได้รับความนิยม เพราะความสะดวกในการชำระเงินที่มีให้เลือกทั้งการโอนเงินหรือจ่ายผ่านบัตรเครดิต ส่วนเฟซบุ๊กก็มีส่วนช่วยกระจายข่าวสาร ต้องยอมรับว่าเครือข่ายวรรณกรรมบ้านเราเข้มแข็งนะ ถ้าสำนักพิมพ์ไหนออกหนังสือใหม่ คนทำหนังสือด้วยกันจะช่วยโปรโมทให้นักอ่านได้ทราบ

กว่าจะมาเป็นหนังสือกวีนิพนธ์

ตอบยากมากว่าปีหนึ่งเราออกหนังสือได้กี่เล่ม แต่ก็ตั้งไว้อย่างน้อย 1-2 เล่ม เพราะหนังสือรวมบทกวีไม่อาจออกมาได้เยอะเหมือนเรื่องสั้นหรือนิยาย ในการคัดเลือกบทกวีมาตีพิมพ์ ส่วนมากนักเขียนจะส่งมาทีเป็นปึกเลย สมมติมีงานมาร้อยกว่าชิ้น เราจะเอาหรือไม่เอาชิ้นไหน ก็ต้องมาคัดเลือกกัน และเมื่อคัดได้แล้วก็ส่งกลับไปแก้ไข พูดคุยกันระหว่างบก.กับนักเขียน ต่อมาเราต้องทำให้งานแต่ละชิ้นที่เขียนขึ้นต่างวาระมารวมกันแล้วอ่านไหลลื่น ก็เป็นเรื่องของการจัดวางว่าบทไหนก่อนหลัง พี่ทิวาซึ่งเป็นบรรณาธิการเป็นคนทำงานละเอียด เราเชื่อว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาจารย์ชมัยภรไว้ใจ On Art และให้ต้นฉบับของ “รินศรัทธา กาญจนวตี” แก่เรา

 

 

สำนักพิมพ์เล็กกับภาวะเศรษฐกิจอันผันผวน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควิด-19 หรือเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ก่อนหน้านี้ ส่งผลต่อยอดขายและต้นทุนทำหนังสืออย่างมาก แต่โชคดีของ On Art คือเรารับจ้างทำคอนเทนต์ด้วย ไม่ว่าสถานการณ์ไหนงานคอนเทนต์ก็ยังจำเป็นอยู่ จริงๆ แล้วการที่ฝ่ายรับจ้างผลิตคอนเทนต์ของเราไปได้ดีก็ต้องยกประโยชน์ให้ฝ่ายสำนักพิมพ์ เพราะหนังสือของสำนักพิมพ์เราได้รับการยอมรับในเวทีประกวด ส่งผลให้ลูกค้าที่มาจ้างเราทำคอนเทนต์เชื่อมั่นในฝีมือและคุณภาพงานของเรา แล้วพอเรามีรายได้จากด้านนี้มาจุนเจือสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์ก็ไปต่อได้ เราไม่รู้ว่าสำนักพิมพ์เล็กๆ เจ้าอื่นเขามีอาชีพอื่นด้วยไหม แต่เรามี เพื่อที่เราจะได้ทำหนังสือได้ต่อไป

วงการหนังสือกวีนิพนธ์ในอนาคต

ชื่นมองว่าวงการกวีนิพนธ์ก็เรื่อยๆ อย่างนี้ ไม่ถึงกับเฟื่องฟู หนังสือกวีนิพนธ์อาจไม่ได้รับการตีพิมพ์และวางจำหน่ายให้เห็นมากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีออกมาเลย เพราะส่วนมากหนังสือประเภทนี้มักพิมพ์จำนวนน้อย ในวงจำกัด นี่มาจากประสบการณ์ที่เรารับจ้างพิมพ์หนังสือกวีนิพนธ์ด้วย เราเห็นว่ายังมีการจ้างพิมพ์หนังสือบทกวีออกมา แต่แค่ไม่ได้แปะชื่อสำนักพิมพ์ และพิมพ์แจกในวาระพิเศษเป็นที่ระลึก

 


3 เล่มที่สำนักพิมพ์ On Art อยากแนะนำ

  • ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ โดย “รินศรัทธา กาญจนวตี”

เป็นเล่มขายดีที่สุดในขณะนี้ ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2562 ประเภทกวีนิพนธ์ และติด short list ซีไรต์ 2563 คนที่ทุกข์ท้ออ่านหนังสือเล่มนี้จะมีกำลังใจขึ้น ตัวหนังสือทุกตัวสวยงาม อ่านแล้วมองเห็นภาพตาม

  • รวมบทกวี เจิมใจเมือง โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

หนังสือที่ทำขึ้นเนื่องในวาระครบ 80 ปีของอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ และเป็นหนังสือลายมือทั้งเล่ม เป็นบทกวีที่เขียนถึงจังหวัดทั้งหมดในประเทศไทย ทุกบทล้วนประทับใจ อยากให้ทุกคนมีโอกาสได้อ่าน

  • รวมบทกวี ในนามเราทั้งผอง? โดย “นายทิวา”

มุมมองของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่กวีมองรอบตัวเอง แต่เป็นการมองโลกทั้งใบที่มนุษย์อยู่ร่วมกัน ผู้เขียนได้แรงบันดาลจากเรื่องราวที่เจอในต่างแดน เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจกันทั้งหมด แต่เราควรเห็นใจกัน และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!