หลังจาก 2 ปีที่มวลมนุษยชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดทั่วโลกของโรคไข้หวัดลึกลับซึ่งพบครั้งแรกที่ประเทศจีน เมืองอู่ฮั่น เมื่อ ค.ศ. 2019 จนมีการตั้งชื่อของโรคนี้ว่า “COVID-19” ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปไม่ต่ำกว่า 5.45 ล้านคนแล้ว เชื้อโคโรน่าไวรัสนี้ได้กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่สายพันธุ์ที่น่ากังวลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า แกมม่า เดลต้า หรือล่าสุดคือ สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งกำลังแพร่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็วแบบไม่เคยมีมาก่อน
เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนถูกรายงานให้องค์การอนามัยโลกได้ทราบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 โดยนักวิทยาศาสตร์ของประเทศแอฟริกาใต้เป็นผู้ตรวจพบ เนื่องด้วยสังเกตเห็นความผิดปกติของผลการตรวจแบบพีซีอาร์ (PCR) ที่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนของแถบพันธุกรรมจากยีนเอส (S gene) ของไวรัสได้ ทั้งที่สามารถตรวจจับได้จากเชื้อสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดในประเทศช่วงเดือนตุลาคม ตามมาด้วยการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ติดเชื้อโควิดในเมืองกัวเตง (Gauteng) และผลการหาลำดับพันธุกรรมของเชื้อที่พบนี้แสดงให้เห็นว่า มันเป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครเจอ
ตัวอย่างแรกสุดที่หาได้ของเชื้อโอมิครอนนั้น เก็บจากผู้ติดเชื้อย้อนไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนในแอฟริกาใต้ และวันที่ 9 พฤศจิกายน ในประเทศบอตสวานา และหลังจากองค์อนามัยโลกได้รับคำเตือนแล้ว ก็มีข่าวรายงานถึงการพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ฮ่องกง ซึ่งมากับนักเดินทางจากแอฟริกาใต้ และได้แพร่เชื้อไปยังอีกคนหนึ่งระหว่างกักตัวที่โรงแรมด้วยกัน ตามมาด้วยประเทศอิสราเอล ซึ่งพบผู้ติดเชื้อเดินทางกลับมาจากประเทศมาลาวี (อยู่ในทวีปแอฟริกา) จากแอฟริกาใต้ และจากเกาะมาดากัสการ์ (อยู่ในทวีปแอฟริกาเช่นกัน) แต่น่าแปลกที่หลายคนเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสเรียบร้อยแล้ว
และเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 หลังจากได้รับคำเตือนเพียงไม่กี่วัน องค์การอนามัยโลกก็ประกาศให้เชื้อไวรัสโรคโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่นี้ เป็น “สายพันธุ์ที่น่ากังวล (variant of concern)” และตั้งชื่อให้มันว่า “โอมิครอน (Omicron)” ซึ่งเป็นตัวอักษรกรีกลำดับที่ 15 (ตามหลักการตั้งชื่อสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด) ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนนอกทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทวีปยุโรป ได้แก่ เบลเยียม สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ออสเตรีย ฯลฯ รวมถึงประเทศในทวีปอื่น อย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล ออสเตรเลีย ฯลฯ ผู้ติดเชื้อแทบทุกคนนั้นมีประวัติว่าเคยเดินทางไปหรือเคยใกล้ชิดกับคนที่เดินทางไปทวีปแอฟริกา
แม้ว่าขณะนั้นมีการระบาดอย่างรุนแรงในประเทศแอฟริกาใต้ แต่กลับไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเลย จนกระทั่ง 13 ธันวาคม 2564 จึงมีรายงานจากประเทศสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับผู้เสียชีวิตที่ตรวจพบเชื้อโอมิครอนอยู่ในร่างกายเป็นครั้งแรก ตามมาด้วยเคสผู้เสียชีวิตคนแรกในเยอรมนีเมื่อ 23 ธันวาคม และในออสเตรเลียเมื่อ 27 ธันวาคม
เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีชื่อเป็นรหัสวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นในพันธุกรรมของมันเป็นจำนวนมากถึง 60 จุดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งพบที่เมืองอู่ฮั่น และเป็นประเด็นที่สร้างความน่ากังวลให้แก่เหล่านักไวรัสวิทยา เพราะมีถึง 32 จุดที่เป็นการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งเป็นเป้าหมายสำหรับวัคซีนที่เราฉีดเข้าไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้เพื่อจับทำลายโปรตีนหนามนี้ และอาจจะสร้างปัญหาแก่วัคซีนที่มีอยู่ได้
มีการสันนิษฐานกันว่า ที่เชื้อไวรัสโควิดสามารถกลายพันธุ์ไปได้มากขนาดนี้นั้น น่าจะต้องฟักตัวมาเป็นระยะเวลานานเพียงพอในร่างกายของคนที่ติดเชื้อ โดยไม่ได้ทำให้คนคนนั้นเสียชีวิตและก็ไม่ได้ถูกกำจัดออกไปจากร่างกายเหมือนสายพันธุ์อื่นๆ จึงอาจเป็นไปได้ที่คนซึ่งเป็นแหล่งเพาะบ่มเชื้อนั้นจะเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ที่ได้รับการรักษาเพียงพอจะมีชีวิตยืนยาวได้ แต่นี่ก็ยังเป็นแค่สมมติฐานที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ยืนยัน
อาการของผู้ที่ติดเชื้อโควิดโอมิครอนนั้น ก็คล้ายคลึงกับโรคโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้เพียงแต่อาการที่พบคือ ไอ อ่อนล้า แน่นจมูก น้ำมูกไหล ปวดหัว เจ็บคอ รวมถึงมีอาการเฉพาะโรค อย่างเหงื่อออกระหว่างนอนหลับ มีรายงานว่า แม้จะมีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลมากขึ้นเมื่อเกิดการระบาดของโอมิครอน แต่น่าจะเป็นเพราะมันแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว จนมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก แทนที่จะเป็นเพราะความรุนแรงของโรค ในทางกลับกัน พบว่าผู้ป่วยที่ต้องเข้าห้องไอซียูและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิต มีจำนวนน้อยลงกว่าการระบาดระลอกก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่มันมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า
ถึงจะเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล และมีการระบาดไปทั่วโลก แต่แนวทางในการป้องกันโควิดสายพันธุ์โอมิครอนก็แตกต่างอะไรกับสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ให้ประชาชนยังคงใช้มาตรการเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำให้อากาศภายในห้องระบายถ่ายเทได้ดี พยายามหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน เว้นระยะห่างกัน ใส่หน้ากากอนามัยที่ปิดใบหน้าได้สนิท ล้างทำความสะอาดมือบ่อยๆ และต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
วัคซีนโควิดยี่ห้อและชนิดต่างๆ ซึ่งใช้ฉีดกันอยู่นั้น แม้ว่าจะมีประสิทธิผลที่ลดลงในการป้องกันโรค เนื่องจากการกลายพันธุ์ในส่วนโปรตีนหนามของเชื้อโอมิครอน ก็พบว่ายังช่วยให้ผู้ที่ติดเชื้อมีความปลอดภัยจากการป่วยหนักและเสียชีวิตได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนนับสิบเท่า ยิ่งถ้ามีการฉีดกระตุ้นเป็นบูสเตอร์โดสเข็มที่ 3 ก็จะยิ่งเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายให้รับมือกับโอมิครอนได้ดีขึ้น และวัคซีนเหล่านี้ยังกำลังได้รับปรับปรุงให้เป็นเวอร์ชั่นใหม่เพื่อกระตุ้นร่างกายให้เกิดภูมิคุ้มกันโอมิครอนโดยเฉพาะอีกด้วย
หวังว่าพวกเราทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤติการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนระลอกนี้ไปได้ด้วยดี มีความตระหนักรับรู้ในเรื่องของเชื้อโรค และเรียนรู้ที่จะป้องกันตนเอง ตลอดจนหาแนวทางที่จะอยู่ร่วมกันกับมันให้ได้ โดยไม่แตกตื่นวิตกกังวลกันจนเกินไป จนไม่สามารถประกอบกิจกรรมการงานในชีวิตประจำวันตามปรกติ
คอลัมน์: คิดอย่างวิทยาศาสตร์
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์