เราคงจะคุ้นเคยกับมะกอกป่าพื้นบ้านที่พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบ ยอดอ่อนและใบใช้กินเป็นผักแนมเปรี้ยวที่เจือรสฝาดมานิดหน่อย ผลสุกใช้ปรุงรสเปรี้ยวในส้มตำ น้ำพริก หรือทำมะกอกทรงเครื่อง ทั้งนี้มีผู้นำกล้าต้นมะกอกหลายสายพันธุ์มาทดลองปลูกทุกภาคในประเทศไทย โดยเน้นมะกอกโอลีฟสำหรับสกัดเป็นน้ำมัน (ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข่าวความสำเร็จ)
จากการสืบค้นทางโบราณคดี มนุษย์ได้ปลูกต้นมะกอกบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนตั้งแต่ 8,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ปัจจุบันสเปนเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันมะกอกมากที่สุด รองลงมาคือกรีซ แต่กรีซมีการบริโภคต่อคนมากที่สุด ตามมาด้วยสเปน อิตาลี และโมร็อกโก ส่วนการบริโภคในเอเชียใต้ อเมริกาเหนือ และยุโรปเหนือยังน้อยกว่ามาก
น้ำมันมะกอกสกัดจากการบดมะกอกทั้งลูกเพื่อบีบเป็นน้ำมัน โดยมากใช้ทำอาหาร ทั้งผัด ทอด หรือทำน้ำสลัด นอกจากนั้นยังใช้ทำเครื่องสำอาง ยา สบู่ น้ำมันตะเกียง และเพื่อกิจกรรมทางศาสนาในบางครั้ง นับเป็นพืชหลักอีกชนิดหนึ่งของอาหารเมดิเตอร์เรเนียน เป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารกรีกและโรมันแต่โบราณ ชาวเอเธนส์เชื่อว่าน้ำมันมะกอกเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นของขวัญจากเทพธิดาอะธีนายิ่งกว่าของขวัญจากเทพเจ้าโพไซดอน
คนสปาร์ตาและคนกรีกใช้น้ำมันมะกอกนวดตัวเมื่อออกกำลังกายในยิมเนเซียม เริ่มตั้งแต่ 7 ทศวรรษก่อนคริสต์ศักราช การใช้น้ำมันเป็นเครื่องสำอางได้แพร่หลายไปยังนครรัฐต่างๆ ของชาวกรีก ทั้งยังใช้นวดเฟ้นร่างกายภายหลังการเล่นกีฬามาเนิ่นนานเกือบพันปี แม้จะมีราคาสูง น้ำมันมะกอกยังนิยมใช้เป็นยาคุมกำเนิดอีกด้วย หนังสือประวัติอริสโตเติลได้แนะนำให้ใช้น้ำมันมะกอกผสมกับน้ำมันซีดาร์ น้ำมันตะกั่ว หรือน้ำมันกำยาน โดยทาที่ปากมดลูกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
ประเภทของน้ำมันมะกอก
- ชนิดบริสุทธิ์พิเศษ (extra virgin olive oil) มีคุณภาพเยี่ยมยอด ปริมาณความเป็นกรดต่ำกว่า 1% น้ำมันที่บีบออกมาจึงบริสุทธิ์อย่างแท้จริง รสและกลิ่นแรง มีสีอมเขียวบ้าง อมทองบ้าง แต่คุณภาพไม่ได้ขึ้นกับสี ผู้บริโภคบางคนมักเข้าใจเอาว่าหากอมสีเขียวน่าจะมีคุณค่ากว่าสีเหลืองหรือสีทองซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ความจริงแล้วคุณค่าไม่ต่างกันสักเท่าไหร่
- ชนิดบริสุทธิ์ดีมาก (virgin olive oil) มีความเป็นกรดไม่เกิน 1.5% และคุณภาพรองลงมา เนื่องจากคุณประโยชน์หลายชนิดถูกทำลายด้วยความร้อน กลิ่นและรสก็ด้อยกว่าด้วย
- ชนิดบริสุทธิ์ดี (fine olive oil) มีความเป็นกรดระหว่าง 1.5 ถึง 3% สกัดจากเนื้อมะกอกด้วยกระบวนการอุตสาหกรรมโดยผ่านความร้อนและสารเคมี มีการฟอกสีและเติมกลิ่น ราคาจึงถูกกว่า virgin and extra virgin olive oil
- ชนิดบริสุทธิ์ (pure olive oil) มีความเป็นกรดไม่เกิน 4% หากเกินก็กินไม่ได้ แต่ใช้เป็นน้ำมันจุดตะเกียง
ประโยชน์ของน้ำมันมะกอก
การหมุนเวียนของโลหิต น้ำมันมะกอกช่วยป้องกันภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (arteriosclerosis) รวมทั้งภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว หัวใจวาย ไตวาย และเส้นเลือดในสมองแตก
ระบบย่อย น้ำมันมะกอกช่วยบรรเทาอาการกระเพาะอักเสบ แผลในกระเพาะ และยังเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น ซึ่งเกิดจากวิตามินอี สารต้านอนุมูลอิสระในน้ำมันมะกอก นอกจากนี้ยังใช้ได้ผลดีในการป้องกันโรคผิวหนังและลดริ้วรอยเหี่ยวย่น
ระบบต่อมไร้ท่อ น้ำมันมะกอกช่วยให้ระบบการเผาผลาญอาหาร (metabolic function) ภายในร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่เพื่อป้องกันและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ระบบกระดูก ช่วยเสริมสร้างกระดูก และช่วยให้ร่างกายของคนเราดูดซึมแร่ธาตุและแคลเซียมอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันโรคกระดูกพรุน
โรคมะเร็ง น้ำมันมะกอกช่วยป้องกันเนื้องอกที่เกิดกับอวัยวะบางส่วน ทั้งนี้เพราะกรดไขมันที่มีอยู่ในน้ำมันมะกอกนั้นช่วยยับยั้งอนุมูลอิสระ และช่วยต่อต้านการก่อตัวของติ่งเนื้อในอวัยวะต่างๆ
สารกัมมันตภาพรังสี มีการค้นพบว่าน้ำมันมะกอกช่วยให้ร่างกายสามารถต้านทานสารกัมมันตภาพรังสีได้ น้ำมันมะกอกจึงได้รับการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของอาหารสำหรับนักบินอวกาศ
อาหารเด็กอ่อน ด้วยสารประกอบในน้ำมันมะกอกและคุณสมบัติในการช่วยย่อยอาหาร จึงนับได้ว่าน้ำมันมะกอกเป็นไขมันธรรมชาติที่มีคุณสมบัติคล้ายกับน้ำนมมารดามากที่สุด
ความชราภาพ การที่เรารู้จักหาวิธีต่อต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในร่างกายเพื่อป้องกันภาวะเสื่อมถอยของสุขภาพอันเนื่องด้วยอายุที่เพิ่มขึ้นนั้นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งจากการค้นคว้าวิจัย น้ำมันมะกอกมีคุณสมบัติในการต่อต้านภาวะความเสื่อมถอยของสมองและยังช่วยยืดอายุของเราให้ยืนยาวขึ้นอีกด้วย
ภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจ ผลการค้นคว้าวิจัยพบว่า น้ำมันมะกอกสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดระดับแต่อย่างใด
อ้างอิง
FR Riley, “การผลิตน้ำมันมะกอกในครีตยุคสำริด: คุณสมบัติทางโภชนาการ, วิธีการแปรรูปและอายุการเก็บรักษาของน้ำมันมะกอก Minoan”, Oxford Journal of Archaeology 21 : 1: 63–75 (2002)
“น้ำมันมะกอก: น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ” www.accc.gov.au (2018)
Essid, Mohammed Yassine (2012) บทที่ 2. ประวัติอาหารเมดิเตอร์เรเนียน . Mediterra: อาหารเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อการพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืน Presses de Sciences Po. หน้า 51–69
นิดดา หงษ์วิวัฒน์ และทวีทอง หงษ์วิวัฒน์. “มะกอกป่า” ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กรุงเทพมหานคร: แสงแดด, 2007, หน้า 134.
คอลัมน์ : กินแกล้มเล่า
เรื่องและภาพโดย : สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี