เมื่อย่างเข้าวัยชรา คนเราจะผ่านจากการเป็นผู้สูงอายุกลุ่มไม่ต้องการพึ่งพา (independent living) ซึ่งเดินเหินไปไหนมาไหนและช่วยตัวเองได้ 100% ไปสู่การเป็นผู้สูงอายุกลุ่มกึ่งพึ่งพา (assisted living) ซึ่งต้องพึ่งคนอื่นบางเรื่องบางครั้ง แล้วก็เดินหน้าต่อไปเป็นผู้สูงอายุติดเตียงหรือกลุ่มพึ่งพา (dependent living) ซึ่งต้องพึ่งคนอื่นตลอดเวลาตลอดไป การจะตั้งหลักดูแลตัวเองไม่ให้เป็นภาระแก่คนอื่นเร็วเกินไปจึงควรทำความรู้จักเอกลักษณ์ของผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มไว้บ้าง ดังนี้
เส้นแบ่งระหว่างการเป็นผู้สูงอายุกลุ่มไม่ต้องการพึ่งพากับกลุ่มกึ่งพึ่งพาคือ ถ้าทำกิจกรรมสำคัญ 7 อย่างนี้ (IADL) เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ก็ถือว่าต้องไปเข้ากลุ่มกึ่งพึ่งพา ได้แก่
- อยู่คนเดียวไม่ได้ คือเหงาแล้วจะมีอันเป็นไป รวมถึงการสื่อสารกับโลกภายนอกไม่ได้ โทรศัพท์ไม่ได้
- ไปไหนมาไหนเองไม่ได้
- ทำอาหารกินเองไม่ได้
- ไปจ่ายตลาดช้อปปิ้งเองไม่ได้
- ดูแลที่อยู่ของตัวเองไม่ได้ หมายถึงปัดกวาดเช็ดถูทิ้งขยะ
- บริหารยาตัวเองไม่ได้ หมอให้กินยาอะไรบ้างไม่รู้ ทำไมถึงต้องกินยาแต่ละตัวไม่รู้ กินอย่างไรไม่รู้ ขนาดเท่าไหร่ไม่รู้ มีผลข้างเคียงอย่างไรไม่รู้
- บริหารเงินของตัวเองไม่ได้ ไม่รู้ว่าเงินตัวเองมีเท่าไหร่ ติดลบไปแล้วหรือยัง จ่ายบิลต่างๆ เช่น ประปา ไฟฟ้า อินเตอร์เน็ท รับเงิน (ถ้ายังมีรายรับ) โอนเงิน ฝากเงิน ทำไมได้ทั้งนั้น
ส่วนเส้นแบ่งระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มกึ่งพึ่งพา กับกลุ่มต้องการพึ่งพา คือ เมื่อใดก็ตามที่ทำกิจจำเป็นห้าอย่างนี้ (ADL) ไม่ได้แม้เพียงอย่างเดียว ก็จะถูกจัดไปเข้ากลุ่มต้องพึ่งพา ได้แก่
- ทำความสะอาดตัวเองไม่ได้ เช่น อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ตัดเล็บ หวีผม
- ใส่เสื้อผ้าเองไม่ได้
- กินเองไม่ได้ ต้องป้อนหรือใช้สายยาง
- ควบคุมการอึฉี่ไม่ได้ หรือเข้าห้องสุขาเองไม่ได้
- เคลื่อนไหวไม่ได้ ลุกจากเตียงเองไม่ได้ เดินหรือขึ้นรถเข็นเองไม่ได้ เข็นตัวเองไม่ได้
ทั้งหมดนี้เรียกว่าจาก 7 ไป 5 สาละวันเตี้ยลง การจะดูแลตัวเองให้ดี ไม่ไปเป็นภาระแก่คนอื่น ก็ต้องเริ่มที่อย่าเป็นคนแก่ขี้อ้อนใน 7 ประเด็นแรกให้ได้ คืออย่าขี้เหงา ต้องไปไหนมาไหนเอง ทำกินเอง จ่ายตลาดเอง ปัดกวาดเช็ดถูทิ้งขยะบ้านด้วยตัวเอง จัดยากินยาเอง และดูแลการเงินหนี้สินของตัวเองให้เป็นระเบียบไม่ยุ่งเหยิงรุงรัง จึงจะเป็นคนแก่แบบมีอนาคต คือคนแก่ที่พึ่งตัวเองไปได้นานเท่านาน
คอลัมน์: สุขภาพ
เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์