วันหนึ่งในวัยหกสิบสี่ ผมเล่าเรื่องสนุกเรื่องหนึ่งให้เพื่อนสนิทฟัง เพื่อนบอกสั้นๆ ว่า “เคยเล่าแล้ว”
สติหวนคืนมาโดยพลัน!
เราแก่แล้วจริงๆ ! เราพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ !
อาการนี้คงเป็นเรื่องปกติของคนแก่ เพราะเมื่อเพื่อนผมหลายคนเล่าเรื่องให้ฟัง ก็เป็นเรื่องเดิมที่พวกเขาเคยเล่ามาก่อน ที่น่าขันคือท่าทางพวกเขาเล่าเหมือนกับว่าเล่าเป็นครั้งแรก
ดังนั้นเมื่อเพื่อนบอกว่า “เคยเล่าแล้ว” ก็ให้รู้ตัวและสัญญากับตัวเองว่า ต่อไปนี้ก่อนเล่าเรื่องอะไร ให้นึกก่อนว่าเคยเล่าไหม
ปัญหาคือนึกไม่ออกน่ะซี !
หากมีสติ บางครั้งจะออกตัวไว้ก่อนว่า “กูเคยเล่าเรื่อง (ให้รายละเอียดนิดหน่อย) ให้มึงฟังรึเปล่าวะ ?”
หรือถ้าอยากเล่าจริงๆ ก็บอกว่า “มึงอาจเคยได้ยินมาแล้ว แต่ขอเล่าอีกทีนะ”
คนอายุมากขึ้นก็คล้ายแผ่นเสียงเก่าที่ตกร่อง เล่นเพลงบางท่อนซ้ำไปซ้ำมา
สมัยเด็กได้ยินคนแก่บ่นซ้ำๆ ซากๆ แล้วรำคาญ
สมัยหนุ่มเคยได้ยินคนแก่บอกว่า “Getting old sucks.”
ตอนนี้เข้าใจซาบซึ้งแล้ว
มันเกิดขึ้นเพราะอะไร ? คำตอบก็คือสมอง
การเล่าเรื่องซ้ำๆ เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งของวัยชรา ยังมี ‘Getting old sucks.’ อีกหลายเรื่อง เช่น ตื่นกลางดึก ปัสสาวะยาก ไปจนถึงอาการย้ำคิดย้ำทำหรือ Obsessive Compulsive Disorder (OCD) ซึ่งเป็นอาการหนึ่งเกี่ยวกับสมองที่เกิดขึ้นบ่อยกับคนอายุมาก
ผมก็มีอาการย้ำคิดย้ำทำเป็นช่วงๆ ยืนยันได้เลยว่า “OCD ก็ sucks.”
อาการของ OCD แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ อาการย้ำคิด (obsession) กับอาการย้ำทำ (compulsion)
อาการย้ำคิด (obsession) คือการคิดหมกมุ่นเรื่องเดิมซ้ำซาก คล้ายขยะความคิดที่ลอยไปลอยมาในหัวซึ่งไม่มีช่องระบายออก บ่อยครั้งเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผลหรือไม่มีสาเหตุ เมื่อสมองจับเรื่องนั้นแล้ว ก็ไม่ยอมปล่อย เช่น สงสัยว่าปิดหน้าต่างปิดเตาในครัวแล้วหรือยัง จอดรถแล้ว เดินไปได้สิบก้าว ก็นึกว่า เอ๊ะ! เราล็อกรถแล้วยัง
obsession อาจเป็นความคิดหมกมุ่นกับความกลัว เช่น กลัวเชื้อโรค คิดว่ามือสกปรก หรืออาจคิดเรื่องไม่ดี เช่น คิดทำร้ายคนที่ตัวเองรัก หรือคิดฆ่าตัวตาย คิดจุดไฟเผาบ้าน คิดพูดจาลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์
บางครั้งก็เป็นความคิดต้องห้าม เช่น เรื่องเซ็กซ์วิตถาร ทั้งที่โดยนิสัยพื้นฐานไม่ใช่คนหยาบโลนแต่อย่างใด แต่เมื่อใจคิดถึงเรื่องนี้แว่บเดียว ก็จับมันแน่น สลัดไม่หลุด แล้วเกิดทุกข์
obsession มักเป็นความคิดที่ผุดขึ้นมา โดยไม่เป็นจริงอย่างนั้น แต่สมองพาลคิดเรื่องนี้ บ้างเป็นจินตนาการด้านลบ ที่ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งที่ตนเองก็รู้ว่าเป็นความคิดที่เหลวไหล แต่ก็ห้ามไม่ได้ และบางครั้งก็ทำให้รู้สึกผิดที่คิดอย่างนั้น
ความคิดเหล่านี้ทำให้ไม่สบายใจ หงุดหงิด เหมือนเสี้ยนตำมือ และยังเอามันไม่ออก
…………………………..
ส่วนอาการย้ำทำ (compulsion) ก็คือการเปลี่ยน obsession ให้เป็นการกระทำ เช่น obsession คือไม่แน่ใจว่าล็อกรถแล้วหรือไม่ compulsion คือการเดินกลับไปที่รถเพื่อเช็ก บางทีอาจกลับไป 2-3 รอบ ใจคิดว่าล็อกแล้ว แต่ความไม่แน่ใจท่วมท้นจนต้องกลับไปตรวจดู อีกรอบ และอีกรอบ
ถ้าล้างมือเพราะคิดว่ามันไม่สะอาด ก็อาจล้างแล้วล้างอีก บางคนล้างห้องน้ำ กวาดบ้านหลายครั้งในหนึ่งวัน แปรงฟันมากครั้งเกินจำเป็น
อาการย้ำคิดกับอาการย้ำทำอาจเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง แต่ร้อยละ 80 เกิดขึ้นทั้งสองอย่าง ที่เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นแค่ย้ำคิด
ทางการแพทย์บอกว่าสาเหตุอาจเกี่ยวกับเมตาโบลิซึมในสมองไม่สมดุล การสื่อสารภายในสมองส่วนหน้าอาจบกพร่อง เนื่องจากการสื่อสารของสมองส่วนนี้ต้องใช้เซโรโทนิน การขาดเซโรโทนินหรือ ความผิดปกติในระบบเซโรโทนินจึงจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการย้ำคิดย้ำทำ
นอกจากนี้ก็มีทฤษฎีว่ามันเกี่ยวกับพันธุกรรมหรือยีน
OCD อาจรักษาด้วยยาหรือโดยพฤติกรรมบำบัด
จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมพบว่าเครื่องมือฝึกจิตทางพุทธช่วยได้ นั่นคืออานาปานสติ (อานาปานัสสติ) การใช้สติบำบัด
เช่น เดิมต้องเช็กล็อกประตู 3-4 ครั้งก่อนออกจากบ้าน วิธีใช้สติบำบัดคือก่อนล็อกก็กำหนดรู้ว่ากำลังล็อกประตู และเฝ้าดูการล็อกประตูจนจบกระบวนการ แล้วออกจากบ้านอย่างสบายใจขึ้น เพราะสติทำให้มั่นใจว่าล็อกประตูดีแล้ว
ปัญหาคือเราตามจิตไม่ค่อยทัน เผลอนิดเดียว สติก็หลุด
…………………………..
วันหนึ่งในวัยหกสิบสี่ ผมเล่าเรื่องสนุกเรื่องหนึ่งให้เพื่อนสนิทฟัง เพื่อนบอกสั้นๆ ว่า “เคยเล่าแล้ว”
สติหวนคืนมาโดยพลัน !
เราแก่แล้วจริงๆ ! เราพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ !
อาการนี้คงเป็นเรื่องปกติของคนแก่ เพราะเมื่อเพื่อนผมหลายคนเล่าเรื่องให้ฟัง ก็เป็นเรื่องเดิมที่พวกเขาเคยเล่ามาก่อน ที่น่าขันคือท่าทางพวกเขาเล่าเหมือนกับว่าเล่าเป็นครั้งแรก
ดังนั้นเมื่อ… เอ๊ะ ! เรื่องนี้เล่าแล้วนี่นา !
คอลัมน์ ลมหายใจ
เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ
winbookclub.com
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/