โอม-นนน เพื่อนแท้ไม่ทิ้งกัน

-

            นิยามคำว่าเพื่อนของโอม “คนที่รู้จักกันและมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน”

           นิยามคำว่าเพื่อนของนนน “เพื่อนมีหลายแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยนี้ บางคนเป็นเพื่อนไปมาหาสู่ บางคนเป็นเพื่อนกันแค่ในโลกออนไลน์ บางคนเป็นเพื่อนในสายการทำงาน และบางคนเป็นเพื่อนในวงงานอดิเรก นิยามคำว่าเพื่อนจึงละเอียดอ่อนพอกับนิยามของความรัก มีความหมายได้หลากหลายแล้วแต่บุคคล”

แม้คำว่า “เพื่อน” ของ โอม และ นนน จะแตกต่างกัน เฉกเช่นตัวตนของทั้งสองที่เจ้าตัวบอกว่าไม่เหมือนกันเลย เปรียบเสมือนสีขาวกับดำ บวกกับลบ ต่างกันคนละขั้ว ทว่าเมื่ออยู่ด้วยกันกลับเข้ากันอย่างลงตัว สองหนุ่มเพื่อนซี้นอกจอสมาชิกแก๊งสามทหารเสียโคจรมาทำงานร่วมกัน และกลายเป็นพาร์ทเนอร์ทางการแสดงในซีรีส์ แค่เพื่อนครับเพื่อน Bad Buddy Series ซึ่งทั้งสองได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้ผลงานชิ้นนี้อย่างเต็มกำลัง นอกจากพัฒนาการด้านการแสดงที่มีมากขึ้นความสัมพันธ์ฉันเพื่อนก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย เราจึงชวนสองหนุ่มมาเม้ามอยเรื่องเพื่อนแบบแมนๆ รวมทั้งพูดคุยถึงการทำงานที่ต้องบอกเลยว่า แม้อายุยังน้อย แต่ความเป็นมืออาชีพและความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานของทั้งสองคนไม่น้อยเลย

 

 

‘โอม’ ภวัต จิตต์สว่างดี

เราเริ่มสนทนากับหนุ่มโอมก่อน ในซีรีส์แค่เพื่อนครับเพื่อนนั้น ตัวละครปราณและภัทรเป็นเพื่อนบ้านทว่าไม่ถูกกัน แล้ววัยเด็กของโอมมีแก๊งเพื่อนแถวบ้านกับเขาไหม “ตอนเด็กๆ มีนะ พอโตขึ้นมาก็แยกย้ายไปตามเส้นทางตัวเอง ไม่ค่อยได้เจอกัน แต่เมื่อได้เจอก็สนิทเหมือนเดิม เวลาผมอยู่กับเพื่อนก็เป็นหัวโจกพอดู เราเป็นเด็กซนๆ ชิลล์ๆ สบายไม่ซีเรียส เพราะครอบครัวไม่กดดัน ไม่คาดหวังสูง ปล่อยให้ใช้ชีวิตตามต้องการ”

แล้วเส้นทางวงการบันเทิงของโอมเริ่มต้นได้อย่างไร เราถาม “ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญหรือโชคดี ผมไม่เคยคิดเข้าวงการบันเทิงเลย แต่มีคนเห็นรูปในอินสตาแกรม แล้วชวนให้ไปเล่นซีรีส์ ตอนนั้นไปแคสต์แบบไม่หวัง แค่ลองทำอะไรใหม่ๆ ปรากฏว่าได้เล่นและซีรีส์ประสบความสำเร็จพอใช้ เลยเปลี่ยนความคิดว่านี่คืองานที่ต้องจริงจังแล้วนะ” เราถามต่อว่าแล้วถ้าไม่เข้าวงการ โอมมีความฝันอะไร “ผมอยากทำธุรกิจ แต่ก็ไม่ชัดเจน เอาเข้าจริงถ้าไม่ได้เข้าวงการตอนนี้ผมอาจเดินงงๆ อยู่สยาม ไม่รู้ว่าอยากทำอะไร”

โอมเจอนนนครั้งแรกในซีรีส์Blacklist นักเรียนลับ บัญชีดำ เมื่อแรกเจอก็มีการเขม่นกันเล็กน้อย“ผมเจอนนนครั้งแรกวันที่ถ่ายทีเซอร์ ผู้ชายเวลาเจอหน้าครั้งแรกจะเหม็นขี้หน้ากันก่อนเป็นธรรมดา แต่ไม่ถึงขั้นไม่ชอบ ผู้ชายอย่างเราก็อยากลองเชิง แต่พอคุยไปสักพักกลับสนิทกันเร็วมาก เพราะวัยใกล้เคียงและทำงานสายเดียวกัน จึงคุยถูกคอ นนนไม่ต่างจากที่คิดไว้ อาจเพราะเราได้ดูผลงานเขามาก่อน เห็นตั้งแต่ม.ต้น พอเดาได้ว่าน่าจะเป็นคนแบบไหน ซึ่งน่ารักครับ”

 

นนนยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โอมตัดสินใจรับเล่นซีรีส์แค่เพื่อนครับเพื่อนนี้ “พวกเราเคยร่วมงานกันมาก่อนแล้วคุยกันว่าถ้าได้เล่นด้วยกันอีกคงดี พอมีโอกาสร่วมงานอีกครั้ง ผมไม่ปฏิเสธเลย ตอบรับทันที ไม่ว่าบทจะเป็นยังไง อยากเล่นกับนนน เขาเก่ง มีฝีมือ แถมทัศนคติในการทำงานยังคล้ายกันคือ จริงจัง ตั้งใจ ทุ่มเท ดีใจที่ได้ร่วมงานด้วยกันอีก เอาจริงๆ นะ ถ้าเรื่องนี้ไม่ใช่นนนเล่นผมก็คงไม่รับ เพราะผมเล่นซีรีส์บอยเลิฟมาหลายเรื่องแล้ว ชักเริ่มอิ่มตัว

“การกลับมาแสดงด้วยกันอีกครั้งแตกต่างจากเดิมอยู่บ้าง ในเรื่องBlacklistเราเล่นเป็นกลุ่มก๊วนเพื่อน แต่แค่เพื่อนครับเพื่อนแสดงคู่กัน ต้องจูนเข้าหากันมากขึ้น ผลก็คือเราเชื่อมถึงกันได้ดีกว่าที่คิด ในฐานะนักแสดงผมชื่นชมในตัวนนน มันตั้งใจ ไม่หยิ่งผยอง ไม่หวงวิชา อะไรแชร์ได้ก็แชร์ เดินไปด้วยกันไม่ชิงดีชิงเด่นหรือแย่งกันเก่ง”

เราถามนักแสดงหนุ่มว่าร่วมงานกับเพื่อนสนิท มีเขินกันไหมเวลาเข้าฉาก “ไม่เขินครับ ผมเรียนโรงเรียนชายล้วนเลยติดการแตะเนื้อต้องตัวระหว่างเพื่อนผู้ชายอยู่แล้ว และผมก็เล่นซีรีส์วายมาหลายเรื่องเลยไม่รู้สึกเขินครับ”

บทภัทรกับตัวตนของโอมนั้นมีความใกล้เคียงกันทีเดียว “จริงๆ ภัทรคือผมเลย ผมใส่ตัวตนของผมเสริมเข้าไปในบทนี้เยอะ เพื่อให้ตัวละครมีมิติ มีเสน่ห์ขึ้น แต่ก็มีสิ่งที่ต่างคือภัทรอารมณ์ร้อนชอบต่อยตี นอกจอผมไม่เคยต่อยตีใคร การได้เล่นบทภัทรทำให้เราสัมผัสอารมณ์ที่ซ่อนอยู่ข้างในตัวเอง แต่ไม่เคยแสดงออกมา เช่น เวลาโมโหแล้วอยากระเบิดอารมณ์ อยากต่อย ตัวจริงเราไม่ทำ แต่ภัทรทำ

“ซีรีส์เรื่องนี้บอกเลยว่ามีเมจิกโมเมนต์เยอะมาก ผมประทับใจทุกครั้งที่ได้ถ่ายทำ ตั้งตารอเลยว่าจะเจออะไรพิเศษ อย่างเช่นอาทิตย์นี้เตรียมตัวถ่ายซีนตีระนาดนะ อาทิตย์ถัดไปถ่ายที่หัวหิน ฉากเล่นรักบี้ ฉากต่อยตี มีอะไรที่น่าสนใจให้ทำตลอด ไม่เพียงแค่นั้น ทีมงานทุกคนยังทุ่มเทกับงานมากจนเราประทับใจ แต่ถ้าให้เลือกสักอย่างที่ชอบที่สุดคงเป็นซีนตีระนาด ผมเรียนระนาดมาก่อนก็จริงแต่ไม่เคยตีให้คนอื่นที่ไม่ใช่ครอบครัวดูเลย ซีนนี้พอถ่ายเสร็จสิ่งแรกที่รู้สึกคือถ้าพ่อได้เห็นต้องภูมิใจมากๆ ผมดีใจจนเหมือนน้ำตาจะไหล ต่อให้พ่อไม่ได้มาเห็นกับตา แต่ถ้ารู้ว่าเราได้ทำสิ่งที่เขาชอบ เขาต้องมีความสุข”

 

 

ส่วนฉากที่ยากที่สุดนั้น โอมกล่าวว่า ง่ายสำหรับคนอื่นแต่ยากสำหรับผม “ซีนยากคือซีนที่ต้องพูดแบบไม่คิดอะไร เป็นช่วงต้นของเรื่อง เราต้องพูดแบบไม่มีอะไรในหัว ว่างเปล่าอยู่ แต่ด้วยความที่เวิร์คช้อปกันมานาน แค่มองตาก็รู้สึก แล้วเรารู้ตัว เราคิดตลอดเวลา ผมเข้าใจที่ผู้กำกับต้องการทุกอย่าง แต่ทำไม่ได้ ผู้กำกับก็พยายามช่วย ผมเข้าใจหมดแต่ทำไม่ได้จริงๆ ซีนง่ายของคนอื่นแต่ผมถ่ายไปสิบเทค ในขณะที่ซีนยากกว่านั้นถ่ายอย่างมากสี่เทค วันนั้นถ่ายทำนานจนถ่วงเวลาคนอื่น ผมกลับบ้านไปด้วยความรู้สึกนอยด์มาก ทำไมเรื่องง่ายๆ แต่เราทำไม่ได้วะ”

โอมเล่าต่ออีกว่าซีรีส์เรื่องนี้จุดไฟทางการแสดงของเขาให้ลุกโชนอีก “เราดีใจที่ได้ทำงานกับมืออาชีพ ไม่โอเวอร์นะ ทำงานร่วมกับนนนมันเกินคาดมากๆ นนนตั้งใจมากจนทำให้เรายิ่งมีไฟ จากตอนแรกที่ไฟเรามอดไปบ้าง ด้วยสถานการณ์โควิด-19  ก็รู้สึกอืดๆ ซึมๆ แต่พอได้มาเจอนักแสดงที่ทุ่มเท ทีมงานที่ตั้งใจ ไฟในการแสดงของเราจึงลุกอีกครั้ง ขอบคุณนนนจริงๆ

“ถ้าถามถึงบทบาทที่อยากแสดงในอนาคต ผมอยากเล่นเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือไม่ก็เป็นบทต้องเล่นกับจิตใจ บทผู้ป่วยทางจิตซึ่งแสดงออกให้เหมือนคนปกติที่สุด ทว่าซ่อนนัยอยู่ บทเหล่านี้ไกลตัวผม เราไม่มีประสบการณ์ตรงจึงอยากรู้ว่าจะแสดงออกมายังไง เป็นเป้าหมายใหม่ในการทำงาน”

เราถามนักแสดงหนุ่มอีกว่า มีบทอะไรที่อยากเล่นร่วมกับนนนในอนาคตบ้าง “พูดตามตรงผมไม่อยากแสดงแนวดราม่าแล้ว เพราะผมเล่นมาหลายเรื่อง มันซ้ำ แต่นนนเป็นนักแสดงที่เล่นดราม่าเก่ง ถ้าเป็นนนนก็อยากเล่นดราม่าด้วยกัน เช่นการแสดงที่ไม่ต้องพูดเยอะ แค่มองหน้าก็ถ่ายทอดได้ ตอนที่แสดงแค่เพื่อนครับเพื่อนแล้วเราต่อติดกับนนน ก็ไม่อยากพูดบางไดอะล็อก รู้สึกไม่พูดก็เข้าใจกัน แต่ความจริงทำอย่างนั้นไม่ได้ เราต้องพูด จึงอยากเล่นบทที่สื่อสารกันทางความรู้สึกเป็นหลัก”

คุยกับโอมเรื่องเพื่อนต่อ เวลาที่ทะเลาะกับเพื่อน โอมทำยังไง “ไม่ทะเลาะด้วย ผิดก็ขอโทษ เคลียร์กันให้จบตรงนั้น ไม่มานั่งงอนยืดเยื้อ มันไร้สาระ หรือถ้าอะไรที่เป็นการล้ำเส้นเพื่อนเราจะไม่ทำ คือผมรู้ตัวตลอดนะว่าใครไม่พอใจ หรือแอบโกรธเราอยู่ ศาสตร์การแสดงสอนให้เราต้องเป็นคนรู้ตัวตลอดด้วย ยกตัวอย่างที่ครูสอน เวลาเราทะเลาะกับแฟน เราร้องไห้ เราร้องท่าไหนคือต้องรู้ ผมก็นั่งดูตัวเอง หรือเวลาเครียดเราแสดงออกทางสีหน้าท่าทางยังไง นั่งสังเกตตัวเอง การฝึกฝนแบบนี้ทำให้เราเข้าใจคน สมมติเวลาเห็นเพื่อนเครียดก็รู้แล้ว ท่าทางแบบนี้เหมือนกับเราเวลาเครียดเลย ผมว่าเป็นข้อดีนะ เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น เหมือนตีโจทย์แตก แต่จะยากในช่วงฝึกฝนเนี่ยแหละครับ สมองตระหนักรู้ตลอด และเพราะผมเป็นแบบนี้จึงเล่นซีนง่ายๆ อย่างการแสดงโดยไม่คิดอะไรไม่ได้ เพราะเราคิดในหัวเสมอ”

 

 

การฝึกสังเกตและรู้ตัวเช่นนี้ โอมเล่าว่าเกิดขึ้นหลังจบซีรีส์เรื่องแรก “พอกระแสเรื่องแรกซาลง ผมก็นั่งย้อนดูความผิดพลาดของตัวเอง แล้วคำที่ครูสอนก็ก้องในหู ให้ตระหนักรู้ว่าปัจจุบันเราทำอะไรอยู่ ก็ฝึกสังเกตจนเป็นนิสัย บวกกับถูกกระตุ้นให้ทำมากขึ้น เป็นหนึ่งปีที่บ่มเพาะวิชานี้ โชคดีที่ไม่เป็นซึมเศร้าเสียก่อน เพราะมันหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจิตใจข้างในเรา แต่พอผ่านมาได้เราก็กลายเป็นคนละเอียดขึ้นในทุกๆ เรื่อง ไม่ใช่แค่การแสดง แต่รวมถึงชีวิตประจำวัน สมมติผมเห็นเสื้อมีขนติดก็รู้สึกไม่สวยละ ที่บ้านโอมของต้องเท่ากันเป๊ะๆ ดูสมมาตร ห้องต้องไม่มีฝุ่น ไม่มีเศษเส้นผม คล้ายๆ ตัวละครปราณที่นนนเล่น เป็นความชอบส่วนตัว”

ในเวลาที่เครียด โอมบอกว่าแต่ก่อนชอบระบายให้คนฟัง แต่ปัจจุบันเขาเปลี่ยนแนวคิดและรู้จักการปล่อยวางมากขึ้น “แต่ก่อนแค่ได้บ่นออกไปก็โอเคแล้ว แต่ตอนนี้พบว่าการบ่นไม่ช่วยอะไร มีแต่เจ็บคอ บั่นทอนตัวเองและปล่อยพลังลบให้คนที่รับฟัง เลยเลือกที่จะปล่อยวาง ช่างมัน เคลียร์ใจให้เป็นกลาง ความผิดพลาดคือการเรียนรู้ ผมจึงไม่ปล่อยให้ความเครียดครอบงำตัวเรานาน สมมติถ้าทำงานแล้วเครียด เราจะเคลียร์ใจให้จบในหนึ่งชั่วโมง อย่างวันนี้ถ่ายนิตยสาร จากนั้นไปฟิตเนสต่อ ก็จะต้องทำตัวให้หายเครียดก่อนไปเล่นฟิตเนส (หายได้ทันทีตามที่คิดเลยเหรอ เราถามเขา) ใช่ครับ หายได้ เราต้องคุมตัวเอง เปลี่ยนโฟกัส รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่เป็นผลร้ายกับตัวเรา เช่น ความเศร้า ความเครียด การอาลัยอาวรณ์ คิดแล้วทุกข์ก็ตัดออกเลย ความสุขก็เช่นกัน เมื่อคืนปาร์ตี้สนุกจัง พอรุ่งขึ้นปาร์ตี้จบแล้ว ผมก็เปลี่ยนโฟกัสมาอยู่กับปัจจุบัน เดินหน้าต่อ ไม่จม อยากให้ตัวเราเติบโตทุกวินาที ย่ำอยู่กับที่แค่หนึ่งชั่วโมงก็นานเกินพอแล้ว ชีวิตมีอะไรให้ทำมากกว่านั้น”

เคยเสียดายช่วงเวลาวัยรุ่นที่ทำงานจนไม่ได้เที่ยวเล่นกับเพื่อนไหม “ตอนเด็กเสียดายครับ ช่วงเข้าวงการแรกๆ เราไม่มีเวลา ต้องเข้าฟิตเนสด้วย แต่เพื่อนเลิกเรียนไปเที่ยวสยาม เคยนอยด์ทำไมเพื่อนไม่ชวนเราวะ เพื่อนก็ตอบว่าชวนทีไรมึงก็ไม่ว่างตลอด ตอนนั้นเซ็งมาก แต่พอเวลาผ่านไปก็รู้สึกว่าโอกาสที่เข้ามานั้นคือความโชคดี ดีใจที่ได้ทำงาน ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด แน่นอนว่าต้องแลกกับชีวิตวัยรุ่นไปบ้าง แต่เมื่อเราสามารถจัดการหลายๆ อย่างลงตัว เราก็ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นเหมือนกัน แค่ต่างจากคนอื่นหน่อย”

สุดท้ายนี้สิ่งที่หนุ่มโอมผู้มาดมั่นให้ความสำคัญที่สุด ณ ปัจจุบันนั้น เจ้าตัวบอกเราทันทีไม่มีลังเลคือ 1.ครอบครัว 2.ตัวเอง 3.เป้าหมาย

 

 

‘นนน’ กรภัทร์ เกิดพันธุ์

เราหันมาคุยกับนนนกันบ้าง นนนเล่าว่างานชิ้นแรกในวงการบันเทิงคือโฆษณาภาพนิ่งในวัยเพียง 3 เดือน จากนั้นก็โลดแล่นในวงการบันเทิงเรื่อยมา ในวัยเด็กเน้นที่งานโฆษณาเป็นหลักก่อนจะก้าวสู่การแสดง

“ผมทำงานตั้งแต่เด็ก โฆษณาที่เล่นมักเป็นโฆษณาครอบครัว เลยเจอแต่ผู้ใหญ่ ไปโรงเรียนก็โฟกัสที่เรื่องเรียนอย่างเดียว เพราะต้องตามเพื่อนให้ทัน ไม่มีเวลาไปท้าตีท้าต่อย หรือเขม่นข้ามโรงเรียนแบบวัยรุ่นคนอื่น จึงไม่ค่อยมีวีรกรรมวัยเด็กมากนัก ที่แปลกสุดของผมก็คือการนอนที่โรงเรียนตั้งแต่เช้าจรดเย็น ยังไม่เคารพธงชาติยันเลิกเรียน เป็นช่วงที่ทำงานหนัก ผมไม่เคยโดดเรียนไปเดินสยามเลยนะ ถ้าไม่อยากเรียนก็แค่นอน ช่วง 16-17 ปีเพื่อนจะซนๆ อยากรู้อยากลองแอบเข้าผับกัน ผมก็ไม่เคย หรือเข้ามหา’ลัย เพื่อนชวนไปกินเหล้า ผมก็ไม่ค่อยไป วันพักเราอยากอยู่ห้องคนเดียว ดูหนังที่ชอบ บางครั้งก็รู้สึกนะว่าตัวเองแก่เกินวัย เหมือนเราอยู่กับผู้ใหญ่เยอะ ชอบนั่งกินข้าวแล้วคุยกันเรียบง่ายมากกว่าเที่ยวโลดโผน และเราก็ใช้ร่างกายหนักแต่เด็ก แม้อายุเพียง 20 ปี แต่ร่างกายภายในอาจ 30 ปีแล้ว

“เสียดายชีวิตวัยรุ่นไหม สำหรับผมไม่รู้สึกเสียดายเลย เราไม่อยากสนุกหรือมีประสบการณ์วัยรุ่นทำนองนั้น เรามีภาระรับผิดชอบเยอะจนไม่อยากทำ และค่อนข้างชอบการทำงานด้วย ไม่เคยงอแงถึงแม้ว่าทุกเสาร์-อาทิตย์จะหมดไปกับการวิ่งแคสต์งาน เราสนุกที่ได้เจอเพื่อน ได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำ เมื่อก่อนตื่นเต้นกับการโหนสะลิง เจ็บแต่สนุก และเราก็ไม่ได้ชอบเรียนขนาดนั้น การได้หยุดเรียนแล้วบอกทุกคนว่าไปทำงาน ในสายตาเราตอนนั้นคือเท่มาก”

 

นอกจากงานวงการบันเทิงเคยมีความฝันอย่างอื่นไหม เราถามนนน “อยากเป็นนักฟุตบอล ผมชอบเตะบอลมาก และก็ชอบทำอะไรซ้ำๆ ทำกิจวัตรเดิมทุกวัน ไม่ค่อยเปิดใจรับอะไรใหม่ สมมติว่าผมกินชาบูร้านนี้แล้วอร่อย ก็ไม่ไปกินร้านอื่น แต่ถ้าเพื่อนชวนจริงๆ ก็ไป ดังนั้นกิจวัตรของนักบอลคือการซ้อมบอลซ้ำๆ ถ้าได้ทำคงแฮปปี้ เหมือนทุกวันนี้ตื่นเช้ามาทำงาน เลิกงานกลับบ้านคลายเครียดนิดหน่อยก็มีความสุขแล้ว”

เล่าถึงเฟิร์สต์อิมเพรสชั่นหรือความประทับใจเมื่อแรกพบของคู่หูคนนี้หน่อย “ไอ้นี่มันขี้เก๊ก ทำไมเก๊กใส่กูจัง ผมเพิ่งมารู้ตัวเร็วๆ นี้ตอนพยายามสนิทกับเพื่อนคนหนึ่งในกองถ่าย แต่เขาเหมือนกลัวอะไรบางอย่าง พี่ที่สนิทบอกว่า เพราะออร่าเจ้าที่ของผมแรง เราทำงานที่นี่มานานจนชิน เสมือนทีมเจ้าบ้าน เขามาใหม่เลยเกร็งเรา คงไม่ต่างกับโอมที่แรกๆ ดูเขม่นเราจัง แต่พอทำความรู้จักมากขึ้นก็พบสิ่งที่เกินคาด โอมมีแนวคิดในการทำงานคล้ายเรา ในกลุ่มผมสามคน ผมกับ ‘ชิม่อน’ วชิรวิชญ์ เรืองวิวรรธน์ มีอะไรเหมือนกันเลยเป็นเพื่อนกัน แต่ผมกับโอมคือซ้ายกับขวา สิ่งที่เชื่อมกันได้คือทัศนคติในการทำงาน

“โอมเป็นคนเก่ง เรื่องที่ต้องยกให้เลยคือวินัย ยืนยันได้จากรูปร่างที่ผ่านการออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ผมทำไม่ได้ และโอมมีความผสมผสานกันระหว่างระเบียบวินัยกับความเป็นศิลปิน อธิบายเป็นภาพคือตัวตนผมเหมือนภาพที่สาดสีอะไรไม่รู้เป็นศิลปินจ๋า แต่ภาพของโอมจะเป็นสี่เหลี่ยมตารางดูเพลินตา ความมีระเบียบทางการแสดงนี้ทำให้เวลาเข้าฉากดราม่าดีดนิ้วปุ๊บโอมเข้าถึงบทบาทภัทรเลย แล้วพอสั่งคัทก็กลับเป็นโอมได้ทันที ในขณะที่ผมต้องรักษาตัวตนของปราณตลอดการถ่ายทำ”

 

 

การแสดงซีรีส์แค่เพื่อนครับเพื่อน คือการท้าทายตัวเองอีกขั้นของนนน และยังเป็นก้าวสำคัญที่เปลี่ยนทัศนคติของเขา “ผมเคยคุยกับพี่ ‘อ๊อฟ’ นพณัช ชัยวิมล ผู้กำกับ ก่อนหน้านี้ผมไม่สนใจเล่นซีรีส์วาย เคยรู้สึกว่าไม่ท้าทาย แต่ถ้ามีซีรีส์วายที่พัฒนาตัวเราไปอีกขั้น จนเราอยากทุ่มเทกับงานนั้นมากๆ ก็สนใจ พี่อ๊อฟรู้ความต้องการของผม วันหนึ่งเขามาคุยว่ามีเรื่องแนวโรแมนติกคอเมดี้ พี่อ๊อฟกำกับ และโอมเล่นด้วย ใจหนึ่งผมก็ยังมีอีโก้ที่เคยคิดมาตลอดว่าไม่อยากเล่น แต่ใจหนึ่งก็มองว่านี่คือบทบทหนึ่งที่พัฒนาเราได้นะ เราไม่เคยเล่นคอเมดี้ด้วยก็ถือเป็นโอกาสสำคัญ และเราเชื่อฝีมือพี่อ๊อฟ รวมถึงได้เล่นกับโอมที่แนวคิดการทำงานเข้ากัน เลยตอบตกลง พร้อมทุ่มเทกายใจให้งานชิ้นนี้ กลายเป็นว่ารู้สึกคิดถูกที่รับงาน มีหลายสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นแล้วทำให้เราแฮปปี้

“การกลับมาเจอกันอีกครั้งแตกต่างเหมือนที่โอมบอก บทก่อนหน้าเราเป็นก๊วนเพื่อน แต่ตอนนี้เราเป็นพาร์ทเนอร์  จากที่คิดว่าสนิทกันอยู่แล้ว แต่พอมาเล่นเป็นพาร์ทเนอร์พบว่ามันยังไม่พอ ต้องลงลึกในความสัมพันธ์ไปอีก เราเลยรักกันมากขึ้น เป็นเพื่อนคู่คิด เพื่อนตาย เป็นโซลเมททางการแสดง และโอมก็มีประสบการณ์การแสดงแนวบอยเลิฟมาก่อน แนวนี้มีจังหวะเฉพาะของมัน บางอย่างต้องสมจริง บางอย่างต้องสร้างขึ้น ก็มีให้คำแนะนำกัน

“ผมได้มีโอกาสอ่านคอมเมนต์ หลายคนคาดว่าผมจะเขินเวลาแสดงเพราะเป็นซีรีส์วายเรื่องแรก จริงๆ ผมไม่เขินเลย เราคิดแบบปราณไปแล้ว และชีวิตจริงผมก็ติดการสัมผัส เวลาเจอพี่ๆ นักแสดงในค่ายก็เข้าไปกอด เพราะฉะนั้นการสัมผัสกับโอมจึงไม่รู้สึกเก้อเขิน”

 

 

บทปราณกับตัวตนของนนนนั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร เราถามนักแสดงหนุ่ม “ที่แตกต่างแบบชัดๆ เลยคือ ปราณเป็นโรค OCD หรือย้ำคิดย้ำทำ แต่เพื่อการเข้าถึงบทบาทผมก็พยายามปรับชีวิตประจำวันตัวเองให้คล้ายปราณ กลายเป็นว่าจากที่เคยทำความสะอาดห้องเดือนละครั้ง ก็เปลี่ยนมาเป็นอาทิตย์ละครั้ง จัดห้องให้เป็นระเบียบ แผ่นเพลงก็วางเรียงกันอย่างเรียบร้อย และที่เปลี่ยนไปมากสุดคือตู้เสื้อผ้า ตั้งแต่รับบทปราณผมแยกเสื้อในตู้ เป็นโซนแขนสั้นฮาวาย แขนสั้นสีขาว แขนสั้นสีดำ แขนยาวสีขาว แขนยาวสีดำ อีกตู้ก็เป็นเสื้อเชิ้ตไปทำงาน ไปเรียน เสื้อกันหนาว ส่วนสิ่งที่คล้ายกันระหว่างผมกับปราณ ผมตีความว่าปราณเป็น introvert มีโลกส่วนตัวสูง แต่สามารถเข้าสังคมได้ ซึ่งเหมือนนนน ผมไม่กลัวคน ไม่ขัดข้องกับการเข้าสังคม แต่ก็ชอบอยู่คนเดียว ละแวกบ้านผมจะมีพี่ๆ นักแสดงในค่ายอยู่ใกล้กัน เราไม่ใช่คนประเภทที่จะเอ่ยปากชวนใครเที่ยวก่อน ไม่ได้ไม่อยากเจอนะ เพียงแต่ไม่เป็นฝ่ายชวน”

เหตุการณ์ประทับใจระหว่างถ่ายทำซีรีส์ นนนกล่าวเหมือนกับโอมคือเรื่องนี้มีเมจิกโมเมนต์หรือเรื่องที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นมาก เช่น การได้เล่นกีตาร์ โชว์ดนตรี เล่นรักบี้ มีฉากต่อยตี ในด้านการแสดงนนนกล่าวว่าเขาได้ค้นพบแนวทางการแสดงใหม่ๆ ละเอียดและมีสมาธิมากขึ้น เจ้าตัวไม่คาดคิดว่าซีรีส์แนวโรแมนติกคอเมดี้จะช่วยพัฒนาเขาได้ถึงขนาดนี้ ส่วนเรื่องท้าทายคือจังหวะการแสดง ซึ่งแนวคอเมดี้การรับส่งระหว่างนักแสดงต้องคม เป๊ะ ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักแสดงหนุ่มซึ่งถนัดแนวดราม่ามากกว่า

“ทุกครั้งที่ผมรับบทใหม่ ผมจะรู้สึกว่าเราได้เข้าใจคนมากขึ้น สมมติผมเล่นเป็นลูสเซอร์ ไอ้ขี้แพ้ที่ชอบล้มเหลว ผมก็จะปรับชีวิต เปลี่ยนทัศนคติ ให้เป็นไปตามบท อย่างเช่นบทปราณ เขาเรียนสถาปัตย์ ผมก็ดีไซน์บุคลิกให้เดินห่อไหล่นิดหน่อย เราคิดว่าเด็กสถาปัตย์น่าจะนั่งทำงานนาน ทำงานดึก ท่าเดินคงไม่สมาร์ท หรือการจับปากกา เรื่องอื่นผมอาจจับปากกาปกติ แต่เรื่องนี้ผมควงปากกา คือมีดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ที่เราใส่ให้ตัวละครจนบางครั้งก็ติดมานอกจอ หรือเรื่องก่อนผมรับบทเป็นคนแก่ ก็ปรับให้เดินขาโก่งนิดๆ เขย่งตัวหน่อย”

 

บทบาทที่นนนอยากแสดงในอนาคตนั้น ไม่ต่างจากเพื่อนซี้โอม คือบทผู้มีปัญหาทางจิต เพราะเจ้าตัวเคยเผชิญอาการป่วยจึงอยากเป็นตัวแทนถ่ายทอดอารมณ์ นอกจากนั้นยังมีบทตัวร้ายที่เจ้าตัวอยากลอง “หน้าผมให้เล่นเป็นคนเลวคนอาจเชื่อยาก จึงคิดว่าคงท้าทายถ้าได้เล่น เราจะทำให้คนดูเชื่อได้ไหม

“และถ้าได้แสดงร่วมกับโอมอีกครั้งก็อยากลองเล่นดราม่า เชือดเฉือนกัน เรื่องนี้เราพากันไปสุดทางโรแมนติกคอเมดี้ เรื่องหน้าก็อยากไปให้สุดในแนวอื่นบ้าง”

เราถามนนนว่าเพื่อนแบบไหนที่นนนรับไม่ได้ “เพื่อนไม่จริงใจ ทำร้ายความรู้สึกเรา แต่ผมไม่เคยทะเลาะกับเพื่อนหนักๆ เลยนะ ผมเชื่อว่าคนที่เข้ามาถ้าไม่ดีจริง วันหนึ่งเขาจะหลุดวงเพื่อนไปเอง แต่ถ้าเขากลับมาดีด้วยก็อาจจะคบต่อ เพราะผมไม่เจ้าคิดเจ้าแค้น แต่ก็ไม่แน่ใจเพราะยังไม่เคยเจอ ส่วนเซ้นส์การรู้อารมณ์คนอื่น ผมมีเหมือนกับโอมนะ เพราะเราเป็นนักแสดง เรามักสังเกตอิริยาบถ น้ำเสียง การหายใจ ดังนั้นจะจับความรู้สึกคนได้ว่าใครไม่พอใจอยู่”

เวลาเครียดเลือกที่จะปรึกษาเพื่อนไหม เราถามนักแสดงหนุ่ม “ผมพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน ถ้าสมมติว่าไม่ได้จริงๆ ค่อยปรึกษาคนอื่น ผมต่างกับโอมตรงที่โอมสามารถตัดความเครียดออกไปได้เลยด้วยการเปลี่ยนโฟกัส แต่ผมวางเรื่องเครียดไม่ได้ ผมยอมจมกับอารมณ์เครียดดีกว่า เพราะเมื่อก่อนเคยมีปัญหาแล้วไม่ยอมรับความรู้สึกตัวเอง กลายเป็นยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ดังนั้นผมจึงเลือกเผชิญหน้ากับปัญหา กับความรู้สึกเครียด เสียใจตรงๆ ไปเลย จมกับมันจนเราเข้าใจ แล้วแก้ไขปัญหา”

 

 

ส่วนสิ่งที่อยากทำร่วมกับเพื่อนสักครั้งในชีวิตของนนนนั้นไม่แตกต่างจากโอมนัก “อยากไปเที่ยวต่างประเทศเหมือนกัน ก่อนหน้านี้แก๊งที่เล่นBlacklistด้วยกันเกือบได้ไปญี่ปุ่นแล้ว แต่เจอการระบาดของโควิด-19 เสียก่อน นอกจากนั้นผมอยากทำงานโปรดักชั่นกับเพื่อน อยากออกกองที่มีแต่เพื่อนเรา ทำโปรดักชั่นเฮ้าส์ด้วยกัน”

เมื่อถามถึงเป้าหมายในการทำงานของนนนที่คร่ำหวอดในวงการบันเทิงแต่เด็ก เจ้าตัวครุ่นคิดอยู่พอสมควรก่อนตอบว่า “ในแง่รูปธรรมคงอยากได้สักรางวัลหนึ่ง ถือเป็นหมุดหมายความสำเร็จของอาชีพนักแสดง เราตั้งเป้าหมายนี้ไว้นานแล้ว แต่พอทำงานไปเรื่อยๆ ก็เข้าใจอะไรมากขึ้น  เริ่มคิดว่าแค่ได้ทำงานที่เรารู้สึกแฮปปี้ก็เพียงพอ เหมือนเราเล่นซีรีส์แค่เพื่อนครับเพื่อนแล้วมีความสุข ถือว่าประสบความสำเร็จ ได้ถ้วยรางวัลแล้วสำหรับผม อย่างไรก็ดี ผมอยากทำโปรดักชั่นเฮ้าส์ อยากทำเพลง อยากทำงานเบื้องหลัง อยากพิสูจน์ตัวเองในงานสาขาอื่นด้วย ว่าเราสามารถทำงานได้หลากหลายและทำได้ดีทุกอย่าง”

สิ่งที่นนนให้ความสำคัญ ณ ปัจจุบันสามอย่าง ได้แก่ 1.ครอบครัว 2.งาน  3. เพื่อน นักแสดงหนุ่มกล่าวเสริมว่า งานสำหรับเขาคือสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข เลยไม่รู้สึกว่างานคืองาน

 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!