ปัจจุบันยังมีสำนวนไทยที่สื่อความหมายในเชิงหมิ่นแคลนอีกมากมายที่นิยมใช้กันอยู่แม้เป็นสำนวนที่ใช้คำธรรมดาสามัญแต่ก็รุนแรงและบาดอารมณ์ความรู้สึกของผู้ได้ยินได้ฟัง เช่น “กระจอกงอกง่อย” “ดอกฟ้ากับหมาวัด” เป็นต้น
กระจอกงอกง่อย
คำ “กระจอก” ในที่นี้แปลว่าเขยก ใช้กับขาพิการ “งอก” แปลว่าเพิ่มปริมาณมากขึ้น เช่น เนื้องอก ฯลฯ “ง่อย” แปลว่าการที่แขนหรือขาพิการเคลื่อนไหวไม่ได้หมือนปกติ มีการนำคำทั้งสามมาใช้รวมกันเป็นคำซ้อนว่า “กระจอกงอกง่อย” แปลว่ายากจนเข็ญใจ คำนี้น่าจะมาจากคำโบราณว่า “กะจอกงอกเงื่อย” ดังมีใช้อยู่ในวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทย ตอนพรรณนาถึงชาวอุตตรกุรุในอุตตรกุรุทวีป (ชาวอุดรกุรุในอุดรกุโรทวีป) ตอนหนึ่งว่า “…จะรู้เป็นหิดแลเรื้อน เกลื้อนแลกลาก หูดแลเปา เป็นต่อม[1] เป็นเต้า[2] เป็นง่อย เป็นเพลีย ตาฟู[3] หูหนวก เป็นกะจอกงอกเงื่อย เปื้อยเนื้อเมื่อยตน[4] ท้องขึ้นท้องพอง… วิการดังนี้ไส้ บ่ห่อนจะบังเกิดมีแก่ชาวอุดรกุรุนั้นแต่สักคาบหนึ่งเลย…”
“กระจอกงอกง่อย” ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบเชิงดูแคลนให้หมายถึงไม่เก่งจริง ไม่ดีจริง เช่น เมื่อต้นเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2563) เริ่มมีการระบาดรอบสองของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคนี้ตอนหนึ่งว่า “โธ่! ไม่ต้องกังวล เชื้อโรคโควิดกระจอกงอกง่อย”
สำนวนนี้บางทีใช้สั้นๆ ว่า “กระจอก” เช่น จอมเดินตรงเข้ามาหาปุ่นเพื่อนรักที่นั่งรออยู่เพราะนัดกันว่าจะไปดูการแสดงคอนเสิร์ตคืนนี้ แล้วหรี่ตาพร้อมกับจับคอเสื้อตัวใหม่ของตนขยับเอียงซ้ายเอียงขวาถามว่า “เป็นไง เริ่ดมั้ยวะ?” ปุ่นสวนตอบทันทีด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มว่า “กระจอก”
ดอกฟ้ากับหมาวัด
“ดอกฟ้า” คือดอกไม้ทิพย์ เช่น ดอกปาริกชาต (ดอกปาฤกชาต หรือดอกทองหลาง) ฯลฯ ปาริกชาตเป็นต้นไม้อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ วรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทย ได้พรรณนาถึงดอกปาริกชาตซึ่งร้อยปีจึงบานครั้งหนึ่ง มีรัศมีเรืองงามและกลิ่นหอมฟุ้งขจรไกลไว้ตอนหนึ่งว่า
…ดอกทองหลางอันชื่อว่าปาฤกชาตนั้น แม้นว่าร้อยปีดอกไม้นั้นจิงบานก็ดี ฝูงเทพยดายินรักยินใคร่นักหนาแล ถ้าแลดูเห็นดอกไม้ว่าจะบาน เทียรย่อมปันกันให้ฝูงเทพยดาไปอยู่เฝ้าดอกไม้นั้นกว่าจะบาน ผิว่าดอกไม้นั้นแลบานล้วนทุกกิ่งทุกก้านแล้ว แลมีแสงอันรุ่งเรืองงามนักหนา รัศมีดอกปาฤกชาตนั้นเรืองไปไกลได้ 800,000 วา ถ้าแลว่าลมรำพายพัดไปข้างใด หอมกลิ่นดอกไม้นั้นฟุ้งไปไกลได้ละ 8 แสนวาหอมไป…
ส่วน “หมาวัด” เป็นหมาที่ไม่มีเจ้าของ ต้องร่อนเร่ไปปักหลักอาศัยวัดเป็นที่อยู่ที่กิน ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงเรื่องสุขภาพอนามัย บางตัวเป็นขี้เรื้อนกลิ่นตัวเหม็นน่าเวทนา
ได้มีผู้นำคำ “หมาวัด” มาเข้าคู่กับคำ “ดอกฟ้า” เป็นสำนวน “ดอกฟ้ากับหมาวัด” เพื่อเปรียบให้เห็นความแตกต่างกันอย่างสุดขั้วของหญิงและชาย คือฝ่ายหญิงสูงส่งเลอค่า แต่ฝ่ายชายต่ำต้อยด้อยค่าจึงไม่คู่ควรกัน เช่นเมื่อเวทย์เพื่อนผู้พิการและยากไร้มาเล่าว่า เมื่อวานชมพูนุชน้องใหม่ดาวมหาวิทยาลัยที่เขาเฝ้าหลงใหลได้ส่งยิ้มหวานให้ ปรัชญ์จึงพูดว่า “แกไม่เคยได้ยินสำนวนดอกฟ้ากับหมาวัดรึไง ขอร้องเถอะ อย่าฝันเฟื่องไปเลย”
สำนวน “ดอกฟ้ากับหมาวัด” แม้มีนัยความหมายคล้ายกับสำนวน “หมาเห่าเครื่องบิน” แต่จะใช้ในบริบทต่างกัน ดอกฟ้ากับหมาวัดเน้นที่รูปลักษณ์และความแตกต่างกันทางสังคมของหญิงชาย แต่หมาเห่าเครื่องบินเน้นพฤติกรรมของชายที่เรียกร้องความสนใจจากหญิงซึ่งมีสถานะทางสังคมสูงสุดเอื้อม
………………………………….
เชิงอรรถ
[1] เป็นต่อม – เป็นเม็ดตุ่มที่ขึ้นตามตัว
[2] เป็นเต้า – เป็นเนื้อที่มีฐานนูนเหมือนเต้านม
[3] ตาฟู – ตาบวมเพราะเป็นโรค
[4] เปื้อยเนื้อเมื่อยตน – ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์