“เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้แปลว่าจะพูดปั้นน้ำเป็นตัวยังไงก็ได้” – แคธรีน กัน
ในหนัง Official Secrets ที่สร้างจากเรื่องจริง และแคธรีน กัน ก็เป็นตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริง เธอพูดประโยคดังกล่าวขณะนั่งดูการให้สัมภาษณ์ของโทนี่ แบลร์ – นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แล้วพบว่าในบทสัมภาษณ์นั้น โทนี่ แบลร์พูดบิดเบือนความเป็นจริงในเชิงสื่อว่าอิรักมีวัตถุดิบสำหรับผลิตอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เช่น นิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ ฯลฯ ทั้งที่ยังไม่มีการค้นพบหลักฐานเหล่านั้น แต่การพูดให้เข้าใจว่าอิรักมีไว้ในครอบครองจะช่วยให้มีข้ออ้างสำหรับการเข้าร่วมสงครามบุกอิรัก
สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศกำลังตึงเครียด อเมริกามีแผนอยากถล่มอิรักแต่ยังไม่ได้รับการเห็นชอบจากยูเอ็น แล้วแคธรีนก็ทำงานให้ GCHQ หรือหน่วยงานข่าวกรองของสหราชอาณาจักร
ระหว่างทำงานแคธรีนอ่านเจอจดหมายจาก NSA ที่จะให้ทางอังกฤษสอดส่องการติดต่อส่วนตัวของสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นเพื่อหาความเห็นของสมาชิกต่อกรณีอิรัก แล้วแบล็กเมล์ให้ออกเสียงสนับสนุนสหรัฐฯ รวมถึงต้องการข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้ผู้ออกนโยบายของสหรัฐฯ ได้เปรียบในการทำให้เกิดผลตามที่ทางสหรัฐฯต้องการ ต้องการให้อังกฤษร่วมลงมติสนับสนุนให้ยูเอ็นก่อสงครามกับอิรัก ทั้งนี้ฝ่ายอเมริกาพยายามจะโยงซัดดัมเข้ากับอัลกออิดะห์ (ซึ่งไม่มีหลักฐานโยงใยแน่ชัด) และปั้นเรื่องว่าซัดดัมมีอาวุธทำลายล้างอานุภาพสูง
ทีนี้ถ้าปล่อยให้เลยตามเลย อังกฤษก็จะเข้าร่วมสงครามโดยประชาชนไม่รู้เลยว่าการโหวตสนับสนุนของชาติตัวเองนั้น เป็นการโหวตที่ผ่านการแบล็กเมล์และอิงกับหลักฐานที่ไม่มีอยู่จริง
แคธรีนมองว่าการปกปิดความจริงครั้งนี้จะนำไปสู่การสูญเสีย ทั้งคนหนุ่มสาวในชาติที่ต้องเสี่ยงตายในสนามรบ และเศรษฐกิจที่จะทรุด รวมถึงคนบริสุทธิ์อีกมากมายในประเทศอิรักที่ต้องได้รับผลกระทบจากสงคราม เธอเชื่อว่าซัดดัมมีความผิดหลายเรื่อง แต่ยังไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเขามีอาวุธทำลายล้างอานุภาพสูงหรือโยงใยกับอัลกออิดะห์จนถึงแก่ต้องเริ่มต้นสงคราม
แคธรีนทำงานในหน่วยข่าวกรอง ถ้าเธอเผยแพร่ข้อมูลที่พบนี้ (จดหมายจาก NSA) ไม่ใช่แค่โดนสำนักงานลงโทษ แต่จะถูกรัฐบาลดำเนินคดีร้ายแรงด้วย
ถึงกระนั้นเธอก็ตัดสินใจหาทางปล่อยข้อมูลลับเฉพาะดังกล่าวไปยังสื่อ หวังว่าสื่อหนังสือพิมพ์จะทำข่าวเปิดโปงให้ประชาชนรู้ว่าอะไรที่รัฐปกปิด แล้วประชาชนจะได้ตั้งคำถามต่อรัฐมากขึ้น ไม่ใช่จำยอมเข้าร่วมสงครามด้วยข้อมูลพื้นฐานที่หลอกลวง
“เธอเป็นใครถึงได้ทำตัวเป็นผู้บ่อนทำลายแผนยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี ทำให้ประเทศชาติขายหน้า จงใจทรยศชาติ เธอควรจะเงียบๆ ซะหรือแจ้งหัวหน้าแค่นั้นก็พอ” – ผู้อำนวยการฝ่ายดำเนินคดีของรัฐ
===
ในที่สุดตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลก็ตัดสินใจดำเนินคดีแคธรีนด้วยข้อหาจงใจและเจตนาเปิดเผยข้อมูลข่าวกรองที่เป็นความลับของชาติ
และรัฐก็ไม่ได้ดำเนินคดีตรงไปตรงมา เรายังเห็นการกลั่นแกล้งจากฟากรัฐโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เช่น ให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจับกุมสามีของแคธรีนส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิด ทั้งๆ ที่สามีของเธอทำเรื่องการเป็นผู้อพยพอย่างถูกกฎหมายและถูกขั้นตอนมาโดยตลอด รัฐทำเช่นนี้เพียงเพื่อจะเล่นเกมกดดันจิตใจของแคธรีน
ท่าทีต่างๆ จากฟากรัฐชัดเจนว่ามองแคธรีนเป็น “ศัตรู” และเหมารวมว่าเมื่อเป็นศัตรูที่ขัดขวางรัฐบาลก็เท่ากับเป็นศัตรูของประเทศชาติด้วย ข้อหาขายชาติจึงเป็นอีกหนึ่งข้อหา
ในขณะที่แคธรีนไม่มองเช่นนั้น เธอไม่คิดว่ารัฐบาลมีค่าเท่ากับประเทศชาติ เพราะประเทศชาติคือประชาชน ประชาชนควรมีสิทธิรู้ว่าพวกเขาต้องไปเข้าร่วมสงครามเพราะเหตุใด แล้วมีสิทธิกดดันให้รัฐบาลออกนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนด้วยความซื่อสัตย์
ยังดีที่เมื่อเข้าสู่ช่วงดำเนินคดี เราได้เห็นการพิจารณาคดีแบบยุติธรรม ฝ่ายแคธรีนพยายามหาข้อแก้ต่างในตัวบทกฎหมาย หากลวิธีที่จะทำให้รัฐต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แม้แคธรีนจะทำผิดกฎบางข้อจริงๆ (ในแง่เปิดเผยความลับ)
นี่คือความยุติธรรม อย่างน้อยก็ยังมีการต่อสู้ที่อิงกับความเป็นธรรม เพียงแต่รัฐบาลที่มองว่าประชาชนไม่ควรเหิมเกริมท้าทายอำนาจรัฐ สุดท้ายก็ยังหาทาง “สั่งสอน” นอกเหนือกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย (บทสนทนาช่วงท้ายที่ทนายของแคธรีนถามตัวแทนของรัฐบาลว่าทำไมต้องทิ้งช่วงหนึ่งปีเพื่อให้แคธรีนใช้ชีวิตแบบไม่เป็นสุขถึงค่อยสั่งฟ้อง ทำไมไม่ฟ้องเลย ฝ่ายรัฐตอบว่าจงใจทิ้งช่วงหนึ่งปีเพื่อเป็นตัวอย่างแก่สังคม ให้รู้ว่าจะต้องเป็นยังไงถ้ามีพฤติกรรมแบบนี้ )
===
“เราเป็นนักข่าวนะเว้ย ให้ตายเถอะ ไม่ได้เป็นพีอาร์ให้แก่โทนี่ แบลร์” – นักข่าวคนหนึ่งตะโกนใส่หัวหน้าบก.ข่าวของหนังสือพิมพ์ The Observer
ตอนที่ข้อมูลซึ่งแคธรีนคัดลอกได้ส่งผ่านแนวร่วมต้านสงครามมาถึงสื่อ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Observer ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลของโทนี่ แบลร์เป็นส่วนใหญ่ เกิดความขัดแย้งกันว่าควรตีพิมพ์เรื่องนี้หรือไม่ เพราะถ้าตีพิมพ์ข่าวนี้ก็จะขัดแย้งกับรัฐบาลที่อยากสนับสนุนนโยบายของสหรัฐฯ ในการทำสงคราม
ส่วนคนที่ต้องการตีพิมพ์ข่าวนี้ก็พยายามกระตุ้นจิตสำนึกของอีกฝ่ายว่า บทบาทสื่อควรนำเสนอข้อมูลทั้งสองด้าน มีพื้นที่ให้ฝ่ายต้านรัฐบาลได้แสดงจุดยืนหรือความเห็น ไม่ใช่ทำแต่ข่าวเชียร์รัฐบาลหรือเป็นแค่กระบอกเสียงที่รัฐบาลพูดอะไรก็เชื่อแล้วตีพิมพ์ตามนั้น
ด้วยการเป็น whistleblower หรือผู้เปิดเผยข้อมูลองค์กรของแคธรีน หนังจึงมีส่วนในการนำเสนอผลกระทบต่อคนอื่นๆ ในสังคมที่ต้องเลือกเหมือนแคธรีนว่าจะรับใช้รัฐบาลหรือประชาชน เพราะถ้าการเปิดเผยของเธอถูกยับยั้ง เธอก็จะต้องจบอนาคตแบบเจ็บตัวเพียงลำพังโดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง
หรือการที่เพื่อนร่วมงานแอบมาหาเธอที่บ้านเพียงเพื่อบอกว่าเห็นด้วยกับแคธรีน “เรา (ในหน่วยข่าวกรอง) หลายคนก็คิดแบบนั้น ฉันขอโทษจริงๆ” แคธรีนแย้งว่า “ขอโทษทำไม คุณไม่ได้ทำอะไรผิด” เพื่อนร่วมงานเธอก็ตอบกลับว่า “แต่ฉันก็ไม่ได้ทำอะไรที่ถูกต้องเช่นกัน”
เสียงจากเพื่อนคือกำลังใจสำคัญซึ่งช่วยสนับสนุนให้แคธรีนรู้ว่าเธอไม่ได้ทำอะไรผิดต่อประชาชน เพียงแต่จุดยืนของเธอนั้นเป็นการรนหาเรื่องเดือดร้อน หลายๆ คนรู้ว่าผิดแต่ก็เลือกที่จะเงียบ เพราะตระหนักถึงภัยคุกคามจากนายจ้างหรือหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลนั่นเอง
ดังนั้นข้าราชการที่ดีในสายตาของผู้มีอำนาจรัฐจึงต้องเป็นบุคลากรที่นิ่งเฉย รับใช้คำสั่งรัฐโดยไม่ต้องสงสัยหรือโต้แย้ง แต่ถ้าจะเลือกทำเพื่อประชาชน เขาหรือเธอก็ต้องแข็งข้อต่อองค์กรหรือหน่วยงานในบังคับรัฐบาล
คนเราจะกล้าออกมาต่อต้านอำนาจรัฐก็ต่อเมื่ออย่างน้อยๆ พวกเขารู้ว่ามีกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
ฉากสำคัญมากของหนังจึงเป็นตอนที่ทีมทนายของเธอเสนอให้ “สารภาพ” เพื่อที่โทษจะได้ลดหย่อน แล้วติดคุกอย่างน้อยก็แค่หกเดือน แต่ถ้าเธอเลือกสู้คดีในศาลผ่านคณะลูกขุนอาจโดนโทษรุนแรงกว่านั้น เธอจึงตั้งคำถามว่า
“เราจะยอมจำนนต่อความจริงแบบนี้หรือว่า ใครก็ตามที่อยู่ในหน่วยข่าวกรองไม่มีสิทธิเตือนประชาชน เมื่อรู้ว่ารัฐบาลของพวกเขาโกหก หากคุณบอกให้ฉันยอมสารภาพเพราะพระราชบัญญัติไม่เปิดช่องให้เราได้แก้ต่างอะไรเลย ก็แปลว่าแนวคิดการพิจารณาคดีอย่างเที่ยงธรรม (fair trial) ที่มีอยู่นั้นเป็นเรื่องตลก”
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” (www.facebook.com/ibehindyou ,i_behind_you@yahoo.com)