ฉบับที่แล้วยังค้างตัวเลขที่มาประกอบเข้ากับคำอื่นเกิดเป็นสำนวนไทยอีก 4 สำนวน ได้แก่ แปดเหลี่ยมแปดคม เส้นยาแดงผ่าแปด หนึ่งต่อหนึ่ง สองต่อสอง
แปดเหลี่ยมแปดคม
คำว่า ‘เหลี่ยม’ ในที่นี้แปลว่าเส้นประกอบมุม ถ้าเป็นรูปแปดเหลี่ยมก็คือรูปเหลี่ยมที่มีด้านแปดด้าน ส่วนคำว่า ‘คม’ หมายถึงส่วนที่บางมากจนสามารถบาดได้ เช่น คมมีด คมดาบ คมหญ้า ฯลฯ
เมื่อนำ ‘แปดเหลี่ยมแปดคม’ มาใช้รวมกันก็จะเป็นสำนวนเปรียบที่หมายถึง ‘มีเล่ห์เหลี่ยมมาก’ เช่น นนท์เตือนนัทน้องชายคนซื่อว่า “จะคบกับใครก็ต้องดูว่าเขาเป็นคนดีรึเปล่า ไม่ใช่เป็นพวกแปดเหลี่ยมแปดคม ดีไม่ดีจะเสียใจภายหลัง”
สำนวน ‘แปดเหลี่ยมแปดคม’ นี้ บ้างก็ใช้ ‘แปดเหลี่ยมสิบสองคม’ ซึ่งทั้งสองสำนวนนี้ใช้ในบริบทในด้านลบเหมือนกัน
เส้นยาแดงผ่าแปด
‘เส้นยาแดง’ เป็นชื่อยาเส้นของจีนชนิดหนึ่งที่บรรจุอยู่ในบุหรี่ ปกติเส้นยาแดงในบุหรี่ก็เล็กอยู่แล้ว ถ้านำมาผ่าต่ออีกเป็น 8 เส้น คือผ่าครั้งแรกจะได้ 2 เส้น แล้วนำ 2 เส้นมาผ่าก็จะได้ 4 เส้น แล้วนำ 4 เส้นมาผ่าอีกครั้งก็จะได้รวม 8 เส้น ดังนั้นแต่ละเส้นจึงเล็กมากๆ
ได้มีผู้นำ ‘เส้นยาแดงผ่าแปด’ มาใช้เป็นสำนวนเปรียบให้หมายถึงแคบมากหรือเล็กมากหรือละเอียดมาก เช่น พจน์เล่าให้ชาติเพื่อนรักเกี่ยวกับการเล่นฟุตบอลกีฬาสีของโรงเรียนที่เพิ่งผ่านพ้นไปว่า “ตอนเข้ายิงประตูที่ 2 บอลเกือบเข้าแล้วเชียว เฉียดไปแค่เส้นยาแดงผ่าแปดจริงๆ เลยได้เสมอกัน ม่ายงั้นโรงเรียนเราก็เป็นแชมป์ปีนี้แล้ว เสียดายชะมัด”
สำนวน ‘เส้นยาแดงผ่าแปด’ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากสำนวนเปรียบในวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทย ในปัจจุบันกัณฑ์ มนุสสภูมิ ซึ่งได้กล่าวถึงฝูงสัตว์ที่เกิดในมนุสสภูมิ ในอุตตรกุรุทวีปไว้ตอนหนึ่งว่า “เอาผมคนในแผ่นดินเราอยู่นี้มาผ่าออกเป็น 8 คาบ เอาแต่คาบเดียวมาเปรียบเท่าผมคนในแผ่นดินอันชื่อว่าอุตตรกุรุนั้น” จากข้อความดังกล่าวนี้แสดงว่าเส้นผมคนในอุตตรกุรุทวีปนั้นเล็กละเอียดมาก เส้นใหญ่ประมาณเศษหนึ่งส่วนแปดของเส้นผมคนในชมพูทวีปเท่านั้น
หนึ่งต่อหนึ่ง
เมื่อนำวลี ‘หนึ่งต่อหนึ่ง’ มาใช้เป็นสำนวนเปรียบจะมีความหมายว่า ‘ตัวต่อตัว’ มักใช้ในการต่อสู้หรือการเล่นที่มีฝ่ายละคน โดยไม่ใช้พวกพ้องฝ่ายของตนมารุมฝ่ายตรงกันข้าม เช่น ตอนพักกลางวัน ทวีบอกเด่นว่าเย็นนี้หลังโรงเรียนเลิกให้ไปหลังโรงเรียนเพื่อปรับความเข้าใจอันเกิดจากปัญหาที่ยืดเยื้อมานานให้จบลง ใครดีใครอยู่ ห้ามมิให้ใครรู้เรื่องการนัดหมายครั้งนี้ เด่นพูดกับทวีว่า “พูดอย่างนี้หมายความว่าเราจะเจอกัน ดวลหมัดกันหนึ่งต่อหนึ่ง ตัวต่อตัวอย่างงั้นเรอะ ได้เลย ขอให้รักษาคำพูดนะ เย็นนี้เจอกัน”
สองต่อสอง
วลี ‘สองต่อสอง’ เป็นสำนวนที่ไม่ใช้ความหมายตามตัวอักษรว่าฝ่ายละสองคนเหมือนหนึ่งต่อหนึ่ง แต่จะหมายถึงฝ่ายละหนึ่งคนเท่านั้น และมักใช้ในบริบทที่มีความหมายในเชิงชู้สาว เช่น แม่สอนลูกสาววัยรุ่นตอนหนึ่งว่า “อ้อ! แม่จะบอกว่า หนูไม่ควรไปนั่งคุยกับเพื่อนผู้ชายอย่างใกล้ชิดตามลำพังสองต่อสองในที่ลับตาคน เพราะถ้าใครรู้ใครเห็นเราก็จะถูกนินทาได้ว่าประพฤติตัวไม่เหมาะควร ถึงแม้ในความเป็นจริงเราจะไม่ได้คิดอะไรก็ตามเพราะเป็นเพื่อนกัน เชื่อแม่นะ”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์