โรคอ้วนคือการบรรจบกันของหลายสาเหตุ

-

โรคอ้วนคือการบรรจบกันของหลายสาเหตุ

หลักฐานวิทยาศาสตร์ปัจจุบันบ่งชี้ว่าโรคอ้วนเป็นการบรรจบกันของหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  1. การดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) เป็นความผิดปกติของร่างกายที่ฮอร์โมนซึ่งผลิตโดยตับอ่อนเพื่อทำหน้าที่สั่งให้เซลล์รับเอาโมเลกุลน้ำตาลและไขมันเข้าไปในเซลล์ถูกผลิตออกมามาก แต่ใช้การไม่ได้ผลเพราะเซลล์ไม่เชื่อถือ คืออินซูลินไม่สามารถสั่งให้เซลล์รับน้ำตาลและไขมันเข้าเซลล์ได้ ผลก็คือเป็นโรคเบาหวาน หัวใจ มะเร็ง และอ้วน สาเหตุของการดื้อต่ออินซูลินนี้เท่าที่วงการแพทย์พิสูจน์ได้มีสองอย่างคือ 1. กินแป้งขัดขาวและน้ำตาลมากเกินไป 2. กินไขมันมากเกินไป
  2. รอบการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ (Circadian Rhythm) อย่าเพิ่งงงนะว่าการที่ตะวันขึ้นหรือตกเกี่ยวอะไรกับการที่คนอ้วนหรือผอม แต่วิทยาศาสตร์บอกว่ามันเกี่ยว เพราะในหัวของคนเรามีเนื้อเยื่อทำหน้าที่จับยามดูการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ความสว่างไสวของตอนเช้าจะกระตุ้นให้มีการปล่อยคอร์ติซอลและอินซูลินออกมาเอาฤกษ์เอาชัยก่อนอินซูลินจึงทำงานดีมากในภาคเช้า ขี้เกียจในภาคบ่าย และเลิกงานเมื่อค่ำ งานวิจัยพบว่าคนทำงานกะกลางคืนอ้วนมากกว่าคนทำงานเฉพาะตอนกลางวัน คนนอนดึกอ้วนมากกว่าคนนอนตามเวลาปกติ วิธีกินอาหารแบบไม่เป็นมื้อเป็นคราว เช่น กินของว่างบ่อย กินจุบกินจิบ สลับกับหลับๆ ตื่นๆ ไม่เป็นเวล่ำเวลาก็เป็นเหตุสมทบให้อ้วนง่าย
  3. การเสียดุลของแบคทีเรียในลำไส้ (Dysbiosis) จุลชีวินหรือแบคทีเรียในลำไส้ของคนเรามีจำนวนมากกว่าเซลล์ร่างกายของเราเสียอีก แบคทีเรียในลำไส้ชนิดไหนจะมากหรือน้อยถูกกำหนดด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาหารที่กิน ยาที่กิน การนอนหลับ ความเครียด การออกกำลังกาย การใช้สารทดแทนความหวาน ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่ติดมากับอาหารที่กิน เป็นต้น หากกินอาหารที่มีพืชเป็นหลัก มีไฟเบอร์หรือเส้นใยมาก มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (ผลไม้ ถั่ว ผัก) มาก แต่มีโปรตีนและไขมันจากสัตว์ต่ำ จะทำให้แบคทีเรียในลำไส้ผลิตโมเลกุลไขมันชนิดสายโซ่สั้น (SCFA) ขึ้นมามาก อันจะมีผลช่วยควบคุมความอยากอาหาร ลดการอักเสบในลำไส้ เพิ่มความไวต่ออินซูลินและไม่อ้วน
  4. ร่างกายปรับตัวลดการเผาผลาญ (Adaptive Thermogenesis) โดยธรรมชาติ หากร่างกายได้รับอาหารที่ให้แคลอรี่ไม่พอก็จะปรับตัวลดการเผาผลาญพลังงานในขณะพัก (BMR) ลง ทำให้ยิ่งอดอาหารยิ่งอ้วนง่าย ต้องแก้ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอวันละเป็นชั่วโมงจึงจะไปต่อได้
  5. คุณภาพของอาหารที่กิน (Food Quality) งานวิจัยพบว่าสารให้ความหวานที่ไม่มีเส้นใย เช่น น้ำเชื่อมข้าวโพด (high fructose corn syrup) ที่ให้ความหวานในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มทำให้อ้วนได้มาก ขณะที่คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ย่อยได้ไม่หมด เช่น แป้งและเส้นใยในถั่วต่างๆ กลับไม่ทำให้อ้วน ดังนั้นอาหารแคลอรี่เท่ากันจึงทำให้อ้วนได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับของดีหรือของไม่ดีตามแคลอรี่ในอาหารชนิดนั้น สิ่งที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นอาหารที่ดีคืออาหารในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติโดยไม่ใส่น้ำตาลหรือไขมันเพิ่มเข้าไป
  6. การเลือกเวลากินอาหาร (Diet Timing) มีหลายงานวิจัยที่ผลบ่งชี้ว่าการเลือกเวลากินอาหารมื้อหลักในช่วงเช้าของวัน (front loading) ทำให้ใช้พลังงานจากอาหารได้มากและลดน้ำหนักได้ง่ายขึ้น การลดความอ้วนด้วยวิธีกินอาหารแบบกินบ้างอดบ้าง (intermittent fasting – IF) ก็มีผลบ่งชี้ว่าช่วยให้ลดน้ำหนักได้ดีขึ้น
  7. การออกกำลังกาย (Exercise) การออกกำลังกายแบบแอโรบิกทำให้ลดน้ำหนักได้ แต่ก็ต้องเล่นกล้ามควบคู่กันไปด้วยเพื่อไม่ให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อซึ่งเป็นโรงงานเผาผลาญพลังงาน

ทั้งหมดนี้คือสาเหตุโดยตรงของความอ้วนที่วงการแพทย์รู้ นี่ยังไม่นับการป่วยเป็นโรคอื่นที่ก่อให้เกิดโรคอ้วนอีกนะ เช่น โรคไฮโปไทรอยด์ โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นต้น


คอลัมน์: สุขภาพ เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!