รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู สะท้อนเรื่องราวความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดของผู้คนในสงครามเอเชียบูรพา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารญี่ปุ่นผู้แพ้สงคราม เน้นเนื้อหาการสร้างทางรถไฟจากไทยไปพม่า สุมาตร ภูลายยาว ท้าทายตัวเองด้วยการเปลี่ยนแนวจากสารคดีที่ถนัดสู่การเขียนนวนิยายเป็นครั้งแรก ทว่าด้วยความที่คร่ำหวอดกับงานสารคดี นวนิยายของเขาจึงมีลักษณะเชิงสารนิยาย นอกจากเรื่องราวจะถูกปรุงแต่งตามจินตนาการแล้ว ยังแฝงข้อเท็จจริงที่เขาค้นคว้ามาอย่างดี ผลงานเรื่องนี้จึงมีกลวิธีการเขียนโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ คณะกรรมการงานประกวดหนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด กล่าวถึงผลงานนี้ในคำประกาศยกย่องว่า “เป็นรูปแบบใหม่ของการเขียนในอนาคต ที่ต้องการ ‘ข้อเท็จจริง’ ที่ชัดเจนมากกว่า ‘จินตนาการ’”
ไม่เพียงแค่นั้นในถ้อยแถลงยังชี้แจงอีกว่า “แต่ละจุดที่ตัวละครทั้งสองไปถึง จะมีข้อมูลเรื่องเล่าจากชาวบ้านซ้อนขึ้นมาเป็นเรื่องๆ เหมือนภาพศิลปะปะติดปะต่อ หรือ collage ทำให้รู้ว่าท้องถิ่นห่างไกลความเจริญในสมัยสงคราม คือดินแดนแห่งความทุกข์ทรมานของทั้งสองฝ่าย และทำให้รู้ว่าความเจ็บปวดของมนุษยชาตินั้นถ่ายทอดสู่กันได้แม้ว่าพวกเขาจะตายไปแล้ว” ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการจึงมีมติให้ รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทนวนิยาย รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2565
ตอนนี้คุณทำงานประจำ หรือเป็นนักเขียนเต็มเวลา
การเขียนสำหรับเรามองว่ามันก็เป็นงานประจำนะ แต่เรานิยามคำว่า “งานประจำ” ต่างกันไง บางคนนิยามว่างานประจำคือต้องเข้าทำงานตามเวลา สิ้นเดือนรับเงินเดือน งานเขียนสำหรับผมก็ทำเป็นเวลา ทำทุกวันเหมือนกัน เลยมองว่าน่าจะเป็นงานประจำ แค่รายได้ไม่แน่นอนเท่านั้น คำว่า “นักเขียนเต็มเวลา” เรานิยามจากอะไร ถ้ามองว่าเขียนแล้วได้รับเงินเดือนเหมือนทำนิตยสารหรืองานข่าวหรือทำสื่อออนไลน์แบบนั้น โดยส่วนตัวเราคิดว่าคนทำแบบนั้นคือประกอบอาชีพเป็นนักเขียน เพราะงานเขียนสามารถยังชีพได้ แต่สำหรับเราตอนนี้ยังทำงานอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย คือเปิดร้านหนังสือชื่อร้าน Chuenjai Bookshop และร้านกาแฟชื่นใจเฮ้าส์ที่สังขละบุรี
คุณเคยบอกว่าเกิดในครอบครัวชาวนา แล้วเริ่มสนใจการอ่านได้อย่างไร
คำถามนี้ทำให้เราต้องหยุดคิดเลยนะว่า เริ่มสนใจการอ่านตั้งแต่ตอนไหน ถ้าจะเล่าต้องย้อนไปตอนเด็กเลย ความสนใจการอ่านน่าจะมาจากสมัยครูอารีย์สอนให้ท่องจำ กามีตา อามีตา มานีมานาอา ในหนังสือนั้นมีรูปประกอบด้วย เราจึงเข้าใจสิ่งที่ท่องจำ อีกอย่างคือถ้าเราท่องจำได้แม่น เราจะได้กินขนมชั้นจากครู บางทีครูก็ให้เงาะหรือส้ม เพราะเราอยากกินเราจึงต้องรีบอ่านให้ได้ พออ่านได้ก็เริ่มสนุก อยากอ่านหน้าต่อไปเรื่อยๆ สะกดถูกบ้างไม่ถูกบ้าง พอโตขึ้นหน่อยอยู่ประถมสี่ประถมห้า เริ่มมีตัวละคร ปิติ ชูใจ เจ้าแก่ ทรพี ทรพาเข้ามาในบทเรียน ยิ่งสนุกใหญ่ ตอนนี้สะกดได้มากขึ้นเลยอ่านการ์ตูนด้วย กลายเป็นติดการอ่าน แต่เราเป็นเด็กโรงเรียนบ้านนอกจึงมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนหนังสือในห้องสมุด ด้วยความที่มันเล็ก เลยมีหนังสือไม่มาก พอพักเที่ยงเรามักเข้าห้องสมุดไปอ่านหนังสือนอกเวลา แต่ที่ทำให้ติดการอ่านงอมแงมคือนิตยสารบางกอกที่น้าชายซื้ออ่านประจำ ตอนนั้นเราไม่เข้าใจหรอกว่าผู้ใหญ่เขาม้วนหนังสือใส่กระเป๋ากางเกงไปไหนมาไหนทำไม พอเริ่มอ่านก็ชอบเลย ชอบแบบเฝ้ารอนะว่าน้าชายจะอ่านจบเมื่อไหร่ จะได้อ่านต่อบ้าง สำหรับเรานิยายในนิตยสารบางกอกเมื่อก่อนสนุกนะ การบรรยายของนักเขียนทำให้เห็นภาพ หรือกระทั่งได้ยินเสียงปืนในหน้ากระดาษ เช่น นิยายเรื่องร้อยป่านี่ติดงอมแงมเลย ถึงกับอ่านแล้วอยากเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ถ้าให้สรุปว่าเริ่มต้นอ่านได้ยังไง คงจากครอบครัวที่บังคับให้เราอ่านออกเขียนได้นั่นแหละ ถ้าพ่อแม่ไม่บังคับให้อ่านหนังสือเรียนในตอนเด็ก คงไม่ได้รักการอ่านแน่นอน
อยากเป็นนักเขียนตั้งแต่ตอนไหน ฝึกฝนยังไงบ้าง
เราก็เหมือนหลายคนที่พออ่านแล้วรู้สึกว่า เรื่องแบบนี้ถ้าเราเขียนจะเป็นยังไง เรื่องสั้นบางเรื่องพออ่านแล้วเราก็มานึกว่าทำไมมันเหมือนชีวิตเราจังเลย พอนึกแบบนั้นก็อยากลองเขียน แต่ปัญหาคือจะลงมือเขียนยังไง เพราะเราไม่ได้เรียนการเขียนมาโดยตรง แต่มีช่วงหนึ่งเมื่อทำงานแล้วได้เข้าอบรมการเขียนสารคดี จึงรู้จักรูปแบบการเขียนและเล่าเรื่องแบบสารคดี
ช่วงลงพื้นที่แล้วได้เห็นวิถีที่เราไม่เคยเห็น ได้ยินเรื่องเล่าที่ไม่เคยได้ยิน เกิดความคิดว่าน่าจะนำมาเขียนสารคดี บทความ ตอนนั้นสนุกจนถึงขั้นคิดว่าเราอยากเป็นนักเขียนสารคดี เราฝึกเขียนจากการอ่าน จึงมีคำศัพท์ที่พอจะนำมาเขียนได้ แรกๆ ก็มั่วไปหมดแหละ หนึ่งประโยคใช้คำซ้ำเยอะ พอให้คนอื่นอ่านก็มีคำแนะนำกลับมา เลยมาอ่านอีกครั้ง และอีกครั้ง จากนั้นก็ตัดคำ หาคำใหม่มาใส่ หาประโยคที่สั้นกระชับแต่ได้ความเท่าเดิม จนถึงตอนนี้ก็ยังฝึกอยู่
ทำไมรถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู จึงเลือกเขียนแนวนวนิยาย
นิยายเป็นงานประเภทที่ยังไม่เคยเขียน อยากรู้ว่าเราจะเขียนได้ไหม เราจะก้าวข้ามความกลัวแล้วเขียนยังไง สุดท้ายพอลงมือเขียน ถึงได้รู้ว่าการเขียนนิยายนั้นยากนะ ยากกว่างานประเภทอื่นที่เคยเขียนมา เพราะต้องจดจำตัวละครและเรื่องเล่าในนิยายของเราให้ได้ แม้เราจะมีเล่มแรกสำเร็จแล้ว ก็ยังมองว่ายาก แต่ในความยากก็มีความท้าทายใหม่ๆ เสมอ
เหตุใดจึงสนใจเล่าถึงการสร้างทางรถไฟสายมรณะ
แรงบันดาลใจแรกคือ เราอยู่ที่สังขละบุรีแล้วได้อ่านข่าวว่ามีการขุดทองของทหารญี่ปุ่น ชาวบ้านบอกว่าแถวๆ บ้านที่เราอาศัยอยู่ เมื่อก่อนเป็นโรงงานหน่อไม้อัดบีบที่คนญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ พอหาข้อมูลไปเรื่อยๆ ก็สะดุดใจข้อมูลหนึ่งซึ่งบอกว่าหมุดตัวสุดท้ายที่ตอกลงรางรถไฟนั้นอาจเป็นหมุดทองคำ พอเราสะดุดใจก็เริ่มหาข้อมูลตามวิธีของคนทำงานสารคดี คือสืบเสาะหาข้อเท็จจริงไปเรื่อยๆ พอได้ข้อมูลมากขึ้นก็ลองเรียบเรียง พอเรียบเรียงก็มีแวบคิดว่า เราน่าจะเขียนนิยายดีกว่าสารคดี เพราะบางข้อมูลที่หาได้ มันจริงจนอาจกระทบใครหลายคน แต่ถ้าเขียนเป็นนิยายมันใช้จินตนาการได้ เราให้ตัวละครเล่าได้
จากนั้นมองว่าแก่นของเรื่องคืออะไร ก็ได้ข้อสรุปว่าเราจะเล่าเรื่องทางรถไฟสายมรณะนี่แหละ แต่อาจเล่าเพิ่มจากสิ่งที่เคยได้ยินมา ก่อนลงมือเขียนก็เริ่มทำแผนผังตัวละคร เรื่องที่จะเล่า อันที่จริงนิยายเล่มนี้คนอ่านอาจมองว่าเล่าถึงสงครามมหาเอเชียบูรพาเป็นหลัก แต่ความจริงแล้วสงครามคือส่วนประกอบหนึ่งของนิยายเล่มนี้ แก่นหลักคือรถไฟเที่ยวสุดท้ายและการสร้างทางรถไฟอันเป็นเหมือนหมุดหมายในการเริ่มและสิ้นสุดลงของสงคราม
กว่าจะสำเร็จเป็นเล่ม ผ่านอุปสรรคอะไรบ้าง
เราไม่เคยเขียนนิยาย เล่มแรกคือความท้าทาย และเกือบไม่มีนิยายเล่มนี้ด้วยซ้ำ เพราะโดนติงมาว่า เราไม่รู้จักคนและวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง จะเข้าถึงตัวละครได้ยังไง แล้วจะเขียนให้คนอ่านรู้สึกว่านี่คือลักษณะเฉพาะของคนญี่ปุ่นยังไง มันเป็นอุปสรรคขนาดใหญ่เลยนะ เพราะเราถูกแนะนำมาว่าถ้าเขียนเรื่องที่รู้แจ้งเห็นจริง จะทำออกมาได้ดี คำติติงนั้นทำให้ฉุกคิดและหาวิธีการเล่าแบบใหม่ เล่าในมุมที่ตัวละครสามารถสื่อสารได้ กว่านิยายเล่มแรกจะสำเร็จก็ใช้เวลานานเหมือนกัน เพราะขั้นตอนการแก้ไขค่อนข้างละเอียด โชคดีที่มีบรรณาธิการและพี่น้องแวดวงนักเขียนช่วยอ่านและติติง ความท้าทายยังมาแบบบทต่อบท จบบทที่หนึ่งแล้ว บทที่สองก็ยากขึ้นอีก เพราะบางประโยคถูกใช้ในบทที่หนึ่งแล้ว ดังนั้นการหาคำ หาเรื่องราวมาเล่าในบทต่อๆ ไป จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก พอผ่านได้ก็โล่งใจ
การหาข้อมูลประกอบนั้นยาก-ง่ายอย่างไร รวมถึงการออกแบบกลวิธีการเขียน
เราเริ่มนิยายเล่มนี้ด้วยการหาข้อมูลก่อน ยากตรงที่ข้อมูลบางส่วนเป็นภาษาต่างประเทศ รวมทั้งชื่อของตัวละครและสถานที่มีอยู่จริง พอได้ข้อมูลแล้วเราก็ต้องไปค้นหากระทั่งพาตัวเองออกไปเห็นสถานที่จริง หลังจากนั้นเราก็ออกแบบการเขียนไปทีละบท เหมือนเชลยศึกกับกรรมกรสร้างทางรถไฟที่ต่อรางรถไฟไปทีละนิดๆ ด้วยความที่ข้อมูลมาก เลยต้องแยกว่าจะเอาไว้บทไหน และการเล่าเรื่องจริงให้สอดรับกับจินตนาการนั้นยากมากนะ เพราะข้อเท็จจริงก็คือข้อเท็จจริง จินตนาการก็คือจินตนาการ การทำให้สองส่วนนี้ผสมผสานอย่างลงตัวจึงเหมือนการปรุงอาหาร เครื่องปรุงมี วัตถุดิบมี เชฟจะทำยังไงให้กลมกล่อม ไม่เผ็ดไป เค็มไป หวานไป พอเราคิดแบบนี้ก็เริ่มลงมือทำทีละบท บางช่วงตัวละครพาเราไป เหมือนจะบอกว่า บทต่อไปฉันต้องหายไปนะ นายต้องหาตัวละครใหม่มาเสริม
ที่มาของชื่อหนังสือ
มาจากข้อมูลส่วนหนึ่งที่เราได้มาแล้วนำไปจินตนาการต่อว่า ถ้าในช่วงสุดท้ายของสงครามมีรถไฟขบวนหนึ่งวิ่งกลับเข้ามาในประเทศไทย รถไฟขบวนนั้นเป็นขบวนสุดท้าย ผู้คนบนรถไฟจะเป็นอย่างไร มันต้องวิ่งมาจากสถานีไหนจึงจะถึงประเทศไทยเร็วที่สุด เราคิดถึงพญาตองซูก่อนเลย เพราะติดกับสังขละบุรี จากนั้นก็เหมือนเล่าย้อนฉากจบไปยังฉากเริ่ม เราเลยตัดสินใจใช้ชื่อนี้
สารที่อยากสื่อ หรือข้อความที่อยากส่งผ่านนวนิยายเล่มนี้
ประการแรกคือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้นอยู่ร่วมกับประวัติศาสตร์โลกอย่างกลมกลืน และเป็นเรื่องราวที่ปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ประการที่สองคือเรื่องของสงคราม เราเรียนรู้จากอดีตได้ว่าสงครามส่งผลกระทบแก่ผู้คนอย่างไร แม้คุณจะอยู่ไกลแสนไกลในป่าเขา เช่น สังขละบุรี หรืออยู่เมืองใหญ่ เช่น ฮิโรชิมา นางาซากิ คุณไม่อาจหลีกหนีสงครามได้ มิหนำซ้ำคุณยังถูกผลักให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เรารู้ว่าบางทีสงครามก็มาพร้อมสันติภาพนั่นแหละ แต่เมื่อเราเข้าใจมันแล้ว เราจะอยู่ร่วมหรือปฏิเสธมันแบบไหน ขึ้นชื่อว่าสงครามไม่มีใครชนะเสมอไป สมรภูมินี้คุณชนะ สมรภูมิหน้าคุณอาจพ่ายแพ้ก็เป็นได้
มีเหตุการณ์ประทับใจระหว่างการเขียนนวนิยายเล่มนี้ไหม
เราประทับใจที่ตัวละครยังคงอยู่ ไม่หนีหายไปไหน เรื่องเล่าบางเรื่องก็ยังมีคนเล่าถึงอยู่ และเรื่องจริงในนิยายเล่มนี้ยังคงเป็นเรื่องจริง เหตุการณ์ที่เราสะเทือนใจในนิยายก็ยังมีอยู่ เพียงแค่บางเรื่องได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปแล้ว นอกจากนั้นยังประทับใจมิตรภาพจากหลายๆ คนที่ช่วยออกความเห็น คอยชี้แนะ ติติงในระหว่างการเขียนนิยายเล่มนี้จนสำเร็จเป็นเล่ม
ความรู้สึกเมื่อได้รับรางวัลชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด
ตอนที่สำนักพิมพ์บอกว่าจะส่งประกวด เราดีใจนะ เพราะอย่างน้อย ก็น่าจะมีคนอ่านเพิ่มขึ้น แต่ถ้าถามว่าสนใจการประกวดนี้ไหม เราติดตามอยู่และแอบคิดว่ามีหนังสือเป็นของตัวเองสักเล่มก็อยากส่งประกวดเหมือนกัน
ความรู้สึกเมื่อได้รับรางวัล ตอบตามตรงเลย เราดีใจนะ ดีใจตั้งแต่งานเข้ารอบสุดท้ายแล้ว วันที่ประกาศรางวัลก็ยังไม่ค่อยเชื่อ เช็กข่าวหลายรอบเหมือนกัน ที่ไม่ค่อยเชื่อเพราะเป็นเล่มแรกของเรา แล้วยังเขียนแปลกๆ ต่างจากนิยายที่เคยอ่าน บางบทเหมือนสารคดี บางบทเหมือนเรื่องจริง แต่เป็นเรื่องแต่ง
การเขียนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณอย่างไร
การเขียนนิยายทำให้เราก้าวข้ามความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง แต่เราก็ทำจนสำเร็จ ส่วนการเขียนสารคดีบางเรื่องทำให้เราได้พบเจอผู้คน ได้พบเจอเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจในการเขียน เราตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อลงพื้นที่ บางเรื่องมีคนนำเสนอแล้ว เราจะนำเสนอแบบไหนดี จึงสนุกทุกครั้งที่ได้เขียน ยิ่งได้เจอคนอ่านที่คุยถึงสิ่งที่เราเขียนเว่าต้องการสื่ออะไร พอเขารับรู้สารที่เราต้องการสื่อ เราถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการสื่อสารนะ การเขียนมันมีหลายรูปแบบ ตราบเท่าที่ยังเขียนได้อยู่ การเขียนหนังสือก็ให้ความสนุกแก่เราตลอดเวลา แต่เราไม่ซีเรียสนะว่าถ้าวันหนึ่งเขียนไม่ได้แล้วจะทุกข์แค่ไหน เพราะยังมาไม่ถึง ตอนนี้เขียนได้ก็เขียน เขียนเพื่อเติมความฝันของตัวเอง บางครั้งเราก็เขียนเพื่อเยียวยาความรู้สึกของตัวเอง การได้เขียนระบายความรู้สึกบางอย่างในช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้เราไปต่อได้ บ่อยครั้งพอได้กลับไปอ่านงานเขียนของตัวเอง ก็เหมือนการบันทึกเรื่องราวช่วงนั้นๆ ให้เราได้คิดถึงมันอีกด้วย
ถ้าสนใจอยากอ่านหนังสือเล่มนี้ สามารถหาซื้อที่ไหน
สอบถามที่สำนักพิมพ์เคล็ดไทยและร้านหนังสือทั่วไปเลยครับ
3 เล่มในดวงใจของ สุมาตร ภูลายยาว
- อสรพิษ
เรื่องโดย “แดนอรัญ แสงทอง”
เป็นเรื่องสั้นที่เล่าเรื่องราวของมนุษย์ได้อย่างน่าทึ่ง บางคนมองว่าเป็นเรื่องเล่าสามัญที่มีให้เห็นทั่วไป แต่เราชื่นชอบกลวิธีการเล่าเรื่อง แก่นของเรื่องที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอว่า เมื่อมนุษย์ไม่ยอมศิโรราบต่อชะตากรรมและความสิ้นหวัง สุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร ตอนอ่านครั้งแรกตื่นเต้นกับฉากและภาษา ถึงตอนนี้ก็ยังตื่นเต้นอยู่
- คนจมน้ำตายที่รูปหล่อที่สุดในโลกกับเรื่องเล่ามหัศจรรย์ทั้งห้า
เรื่องโดย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
รวมเรื่องสั้นที่อ่านครั้งแรกก็ประทับใจ แต่ละเรื่องซ่อนสัญญะไว้มากมาย เหมือนเป็นเรื่องราวที่กระจัดกระจาย แต่มีความสอดร้อยกันของเรื่องเล่าแต่ละเรื่อง อ่านสนุก ท้าทายคนอ่านให้ตีความ และที่สำคัญคือไม่มีสูตรสำเร็จของการตีความ เราว่าขึ้นกับช่วงเวลาที่หยิบมาอ่านด้วย
- คนของแผ่นดิน
เรื่องโดย สมรม สทิงพระ
หนังสือรวมสารคดีที่ถือว่าเป็นครูเล่มหนึ่งของเรา อัดแน่นด้วยข้อมูล ชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง และหลากหลายด้วยเรื่องราวของผู้คนบนแผ่นดินนี้ ทั้งในเมืองและบ้านนอก หลายครั้งเราหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเขียนสารคดีของตัวเอง
คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม