อย่ามัวแต่นอนทอดหุ่ยอยู่เลย

-

ฉบับนี้ตั้งใจจะเขียนถึงสำนวนไทยบางสำนวนที่ผู้เขียนเกิดแรงบันดาลใจจากการได้พูดคุยกับผู้สนใจภาษาไทยด้วยกัน เป็นสำนวนที่ยังใช้พูดกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น “นอนทอดหุ่ย” “นอนหลับไม่รู้  นอนคู้ไม่เห็น” ฯลฯ

นอนทอดหุ่ย

คำว่า “หุ่ย” เป็นภาษาถิ่นอีสานแปลว่าอ่อนเพลีย คำนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของภาษิตโบราณ ดังตัวอย่างตอนหนึ่งในสารานุกรมภาษาอีสานของ ดร.ปรีชา พิณทอง ที่ว่า

สี่สิบปีไปไฮ่มาทอดขา

ห้าสิบปีไปนามาทอดหุ่ย

คือหมายถึงคนที่อายุ 40 ปีไปทำไร่มา เมื่อเมื่อยล้าก็จะเหยียดขานั่งพัก แต่ถ้าอายุมากถึง 50 ปีซึ่งค่อนข้างเป็นผู้สูงอายุไปทำนามา ก็จะรู้สึกอ่อนเพลียจึงนอนพักเหยียดยาว บางคนก็ถึงกับนอนกางแขนกางขาหายใจแรงจนเกิดเสียงดัง “หุ่ยๆ ๆ …” ดังนั้น การนอนทอดหุ่ยจึงหมายถึงการทอดกายนอนพร้อมกับมีเสียงดังออกมาแผ่วๆ ด้วยความเหน็ดเหนื่อยหมดเรี่ยวหมดแรง

ปกติ “ทอดหุ่ย” จะใช้กับเรื่องการนอน แต่ก็มีผู้นำมาใช้กับการ“นั่ง” เป็น “นั่งทอดหุ่ย”   ซึ่งสื่อถึงที่มาหรือบ่อเกิดของสำนวนไม่ชัดเจน เพราะ“นั่ง” จะสื่อความหมายในแนวตั้ง ส่วน “ทอด” จะสื่อความหมายไปในแนวนอน เช่นทอดสายตาไปยังฝั่งโน้น เป็นต้น อาจมีบ้างที่บางคนนั่งเอนหลังพิงต้นไม้จะใช้ว่านั่งทอดหุ่ยก็พอได้ แต่ปัจจุบันมีบางคนพูดว่า “เดินทอดหุ่ย” แทนการใช้ว่า “เดินทอดน่อง” ซึ่งหมายถึงการทอดอารมณ์เดินช้าๆ ไม่เร่งรีบ

สำนวน “นอนทอดหุ่ย” ในปัจจุบันมีการนำมาใช้ในความหมายที่ต่างไปจากเดิมบ้าง คือบางครั้งไม่เกี่ยวกับความอ่อนเพลียหรืออ่อนระโหยโรยแรง แต่หมายถึงการนอนปล่อยอารมณ์ตามสบาย โดยไม่วิตกกังวลอะไร เช่น คุณยายเขย่าแขนหลานชายวัยรุ่นที่นอนเหยียดยาวอยู่ข้างโทรศัพท์มือถือ แล้วพูดว่า “ลุกขึ้นได้แล้ว นัดเพื่อนว่าจะไปหาอาจารย์ติวเลขกันบ่ายสองโมงไม่ใช่รึ นี่ก็จะบ่ายโมงแล้ว เดี๋ยวก็ไปไม่ทันหรอก ลุกขึ้นเดี๋ยวนี้ อย่ามัวแต่นอนทอดหุ่ยอยู่”

 

นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น

คำ “คู้” มีความหมายตรงข้ามกับคำ “เหยียด” เมื่อนำ “คู้” มาใช้ซ้อนกับ “คุด” ซึ่งแปลว่างออยู่ภายใน ไม่โผล่ออกมาตามปกติ เป็นคำซ้อน “คุดคู้” จะหมายถึงนอนก้มหน้าขดตัวงอมืองอเท้า ซึ่งถ้าหลับตาก็จะมองไม่เห็นอะไรเลย แต่ถ้าลืมตาก็ยังมองไม่เห็นได้รอบตัว

ปกติคนนอนหลับย่อมไม่รู้สึกตัว ไม่รู้ว่ามีเหตุการณ์หรือเรื่องราวใดๆ เกิดขึ้นในขณะนั้น “นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น” จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่าไม่รู้ไม่เห็นเรื่องใดหรือสิ่งใด แต่เมื่อถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบ จะหมายถึงคนที่ไม่รู้เรื่องราวหรือเหตุการณ์อะไร เช่น นงคราญพูดกับนิลุบลเพื่อนร่วมงานถึงเรื่องสำคัญที่จะเกิดขึ้น โดยนิลุบลไม่เคยล่วงรู้มาก่อนเลยว่า “นี่เธอ ได้ข่าวแว่วๆ มาว่าบริษัทของเราอาจจะต้องปิดกิจการเร็วๆ นี้นะ ฉันได้ยินเขากระซิบกันให้แซดเชียว เธออย่ามัวแต่นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็นอยู่เลย ตื่นตัวหน่อยจ้ะ อย่าก้มหน้าก้มตาทำงานโดยไม่ยินไม่ยลอะไรเลย”


คมคำสำนวนไทย

เรื่อง:  ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!