นิโคลาส วินตัน (Nicholas Winton) เป็นคนธรรมดาวัย 29 ปี มีอาชีพเป็นโบรกเกอร์ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน
ในปี 1938 วินตันตั้งใจว่าจะฉลองคริสต์มาสด้วยการไปเล่นสกีที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่แล้วแผนการก็ถูกเปลี่ยนกะทันหันเมื่อเพื่อนชื่อมาร์ติน เบลก (Martin Blake) ขอให้เขามาช่วยงาน ณ ศูนย์ผู้ลี้ภัยที่กรุงปราก ประเทศเชคโกสโลวาเกีย
ช่วงเวลานั้น การเมืองระหว่างประเทศกำลังคุกรุ่น มีข่าวลือว่าเยอรมนีที่นำโดยนาซีของฮิตเลอร์กำลังจะเข้ายึดกรุงปราก และมีความคิดจะกวาดล้างชาวยิว
ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่เดือน รัฐบาลอังกฤษได้ผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้เด็กอายุไม่เกิน 17 ปีสามารถทำเรื่องลี้ภัยเข้าประเทศอังกฤษได้หากมีผู้รับผิดชอบเรื่องที่พักอาศัยและพร้อมจ่ายเงินมัดจำ 50 ปอนด์
คริสต์มาสปีนั้น แทนที่วินตันจะโลดแล่นอยู่ในเทือกเขาแอลป์ เขากลับใช้เวลาตลอด 3 สัปดาห์ในห้องนอนที่โรงแรมเพื่อทำเรื่องลี้ภัยให้เด็กๆ ชาวยิวในกรุงปราก วินตันกรอกเอกสาร เขียนจดหมาย ส่งโทรเลข จัดการเรื่องค่าใช้จ่าย และทำทุกอย่างเพื่อประสานงานให้เด็กเหล่านี้ได้เดินทางออกจากกรุงปรากโดยเร็วที่สุด
เมื่อครบสามสัปดาห์ วินตันต้องเดินทางกลับไปยังกรุงลอนดอน แต่เขาก็ยังคงปฏิบัติภารกิจนี้โดยมีเพื่อนๆ ที่ปรากคอยช่วยเหลือ
ในที่สุดวินตันช่วยให้เด็กชาวยิวได้ลี้ภัยเข้าอังกฤษถึง 669 คน ส่วนพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นล้วนเสียชีวิตในค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ในเวลาต่อมา
วินตันไม่เคยเล่าวีรกรรมนี้ให้ใครฟัง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่ภรรยาของตัวเอง
อาจเป็นเพราะว่า มีเด็กอีก 250 คนที่วินตันได้ประสานงานไว้เสร็จสรรพและพร้อมจะออกเดินทางในวันที่ 1 กันยายน 1939 แล้ว แต่วันนั้นเป็นวันที่ฮิตเลอร์บุกโปแลนด์และสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นพอดี รถไฟขบวนนั้นจึงไม่เคยได้ออกจากชานชาลา และวินตันคงเก็บงำความเจ็บปวดที่ไม่อาจช่วยเด็กกลุ่มนี้เอาไว้ในใจตลอดมา
แต่ความลับไม่มีในโลก เมื่อภรรยาของวินตันพบสมุดบันทึกของเขาในห้องเก็บของใต้หลังคา สมุดบันทึกเล่มนั้นมีรายชื่อและรูปภาพของเด็กทั้ง 669 คนที่วินตันได้ช่วยชีวิตเอาไว้ เธอจึงนำเรื่องนี้ไปบอกกับนักข่าว เรื่องราวเลยได้รับการเผยแพร่ในรายการโทรทัศน์ “That’s Life!” เมื่อปี 1988 หรือ 50 ปีหลังจากที่วินตันเยือนกรุงปราก
ระหว่างรายการ พิธีกรเซอร์ไพรส์วินตันในวัย 79 ปีด้วยการบอกว่า ผู้ชมในห้องส่งที่นั่งขนาบวินตันทั้งซ้ายและขวาต่างก็เป็นเด็กที่วินตันเคยช่วยชีวิตไว้ วินตันดีใจจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ เช่นเดียวกับสุภาพสตรีทั้งสองที่ได้พบ “พ่อผู้ให้ชีวิตใหม่” เป็นครั้งแรก
ในปี 2003 วินตันได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัศวินแห่งอังกฤษ ก่อนจะได้รับ Order of the White Lion (1st class) ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดของสาธารณรัฐเชค
ในปี 2015 วินตันจากโลกนี้ไปอย่างสงบด้วยวัย 106 ปี ทิ้งไว้เพียงมรดกนับร้อยนับพันชีวิตที่ไม่อาจประเมินค่าได้
นี่คือวีรกรรมของคนตัวเล็กๆ ผู้เลือกจะทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่เคยร้องขอสิ่งใดเป็นการตอบแทน
คอลัมน์ มุมละไม
เรื่อง: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ภาพ: วิกิพีเดีย
All magazine กุมภาพันธ์ 2563
เกี่ยวกับผู้เขียน: อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือ ช้างกูอยู่ไหน และ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ เจ้าของบล็อก Anontawong’s Musings และ Head of People ที่ Wongnai