ความสุขของกะทิ เชื่อว่าชื่อนี้ต่อให้คุณไม่ใช่หนอนหนังสือ ก็คงเคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง นิยายขนาดสั้นซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปี 2549 ได้รับการตีพิมพ์แล้วกว่า 100 ครั้ง ด้วยยอดพิมพ์กว่า 500,000 เล่ม ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ และสร้างเป็นภาพยนตร์ งามพรรณ เวชชาชีวะ ผู้รังสรรค์นิยายเรื่องดังกล่าว หลังจากเว้นระยะจากงานเขียนเล่มก่อนนี้มาสักพัก ก็พร้อมแล้วสำหรับการเปิดตัวนิยายรักแสนงดงามเรื่องใหม่ที่จะจุดไฟแห่งความหวังครั้งที่สองในใจ เมื่อฟ้ารอพบจันทร์
เรารู้จักคุณในฐานะนักแปลก่อน แล้วสนใจงานเขียนตั้งแต่ตอนไหนเหรอคะ
เป็นความจริงที่ว่าคนอยากเป็นนักเขียน ส่วนใหญ่เริ่มจากการเป็นนักอ่านก่อน เวลาที่เจอหนังสือเขียนดีก็เป็นธรรมดาที่จะคิดว่าถ้ามีโอกาสเขียนแบบนี้ได้บ้างก็คงดี ตอนเด็กๆ ที่บ้านมีแต่หนังสือผู้ใหญ่ หยิบจากตู้ของคุณพ่อมาอ่าน เล่มแรกที่อ่านจบคือ ตะวันตกดิน ของ “กฤษณา อโศกสิน” ตอนนั้นยังอยู่ประถม อ่านจบแต่ไม่รู้เรื่องว่าสิ่งที่อ่านคืออะไร เพียงแค่รู้สึกว่ายิ่งใหญ่ เคยคุยกับคุณ “กฤษณา อโศกสิน” เรื่องหนังสือเล่มนี้ คุณกฤษณายังบอกเราว่าแก่แดดนะ อ่านเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นวรรณกรรมเยาวชนยังมีไม่มาก มีแค่ชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่ มาได้อ่านหนังสือสำหรับเยาวชนในช่วงที่ไปอยู่โรงพยาบาลในต่างประเทศ แต่เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ สำหรับ young adult (วัยผู้ใหญ่ตอนต้นหรือวัยหนุ่มสาว) เราก็อ่านไม่ค่อยรู้เรื่องเหมือนเดิม เพราะภาษาอังกฤษยังไม่แตกฉาน แต่ความที่หนังสือน่าอ่าน เราจึงพยายามสะกดจนไล่อ่านหมดทุกเรื่อง เช่น Ballet Shoes, Charlotte’s Web วรรณกรรมเยาวชนคลาสสิคของเด็กฝรั่ง
พอมาเรียนหนังสือ เคยคุยกับน้องชายว่าเราจะเรียนบัญชี ส่วนน้องชายเรียนกฎหมาย แล้วมาเปิดสำนักงานบัญชีและกฎหมายกัน ทว่าเรากลับเรียนเลขไม่เอาไหนเลย คุณพ่อมักพูดบ่อยว่าถ้าชอบขีดๆ เขียนๆ ไปเรียนเอกภาษาก็น่าจะดี เลยเลือกเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ธรรมศาสตร์ แล้วต่อเมืองนอกด้านการแปลภาษาฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ พอเรียนจบก็ทำงานด้านการแปล ผลงานที่ทำให้คนพอจะรู้จักคือ แฮรี่ พอตเตอร์ เล่ม 1-3 เราเป็นแค่ editor มีโอกาสได้แปลในเล่ม 4 นอกจากนั้นมีงานแปลภาษาอิตาลีให้แก่สำนักพิมพ์ผีเสื้อ แต่ความใฝ่ฝันที่อยากเป็นนักเขียนไม่เคยเลือนหาย จนเพื่อนบอกว่าถ้าไม่เขียนแล้วจะได้เป็นไหม เราก็เริ่มรู้สึกว่านี่เป็นรถด่วนขบวนสุดท้ายแล้วแหละ ถ้าไม่เป็นนักเขียนวันนี้ก็ไม่รู้ต้องรอไปถึงวันไหน ตัดสินใจหยุดรับงานแปลสามเดือน สัญญากับตัวเองว่าต้องนั่งหน้าคอมอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมง เขียนได้ไม่ได้ไม่รู้แต่ต้องนั่ง ด้วยเหตุนี้จึงกลายมาเป็น ความสุขของกะทิ
ความสำเร็จของความสุขของกะทิ กดดันงานชิ้นต่อๆ มาบ้างไหม
ถามว่ามีความกดดันถึงทุกวันนี้ไหม ไม่แล้วค่ะ เพราะตั้งแต่กะทิฯ จนถึงวันนี้ก็เป็นระยะเวลานานแล้ว ถ้าจะให้พูด เล่มที่สอง 824 เขียนยากที่สุด แต่พอเราผ่านมาได้ก็ไม่มีแรงกดดันอะไรอีกแล้ว อย่างความสุขของกระทิ ตอนพิเศษ เธอคือของขวัญ เราเขียนขึ้นเพราะบก.ชวนให้เขียนตอนพิเศษ เราก็เอาเล่มหนึ่ง สอง สาม มาเรียง พบว่ามีบางอย่างขาดหายไป เลยเติมส่วนนั้นด้วยตอนพิเศษ พอได้กลับมาเขียนอีกก็ดีใจเพราะเราคิดถึงกะทิ คิดถึงบ้านริมน้ำ แต่ถามว่าเขียนเพราะเป็นหนังสือดัง เป็นหนังสือที่ได้รางวัลไหม เราก้าวข้ามจุดนั้นนานแล้ว
ผลงานต่อมานอกเหนือจากซีรีส์ความสุขของกะทิ และวรรณกรรมเยาวชน งานเขียนของคุณเหมือนจะมุ่งไปในแนวนิยายรัก
จริงๆ เราอยากเขียนนิยายรัก เพราะชอบอ่านนิยาย คิดไว้ว่าผลงานต่อจากความสุขของกะทิเราจะเขียนนิยายรัก แต่ 824 ความรู้สึกของเราไม่เชิงนิยายรัก ณ ตอนนั้นอยากเล่าเรื่องความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบของคนแปดคน เช่น สาวพริตตี้ไม่ได้รักเสี่ยแต่มาถูกใจหนุ่มมอเตอร์ไซค์ที่มาจากต่างจังหวัด ตอนเขียนไม่ได้คิดจะให้เป็นนิยายรัก เพราะไม่ได้มีฉากโรแมนซ์แต่อย่างใด เรื่องล่าสุดทางสำนักพิมพ์พาสเทล (Pastel) เขาเปิดสำนักพิมพ์ใหม่และชวนไปเขียน ให้โจทย์เป็นนิยายรัก ก็รู้สึกดีใจว่าเข้าทาง
ช่วยเล่าจุดเริ่มของเมื่อฟ้ารอพบจันทร์ให้หน่อยค่ะ
ทางบันลือบุ๊คจะเปิดสำนักพิมพ์ใหม่ชื่อพาสเทล เขาอยากได้นักเขียนสองสามคนเขียนนิยายรัก รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่เขานึกถึงเรา ครั้งนี้เขาขอนิยายรักจริงๆ เราไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดมือแน่ ตอบตกลงทันที เขียนค่ะ แต่เราเล่าเรื่องย่อไม่ได้ ถ้าเล่าเมื่อไหร่คือเรื่องนั้นจะไม่เขียนอีกเลย เรามองว่านักเขียนมีสองประเภท คือสถาปนิกกับคนทำสวน คนที่เป็นสถาปนิกเขาจะวางแพลนเลยว่าเรื่องเป็นมายังไง จบยังไง แบ่งบทชัดเจนว่าจะเขียนอะไรในบทที่หนึ่งสองสาม ข้อดีคือเนื้อเรื่องไม่หลุดจากพิมพ์เขียวที่เรามี ส่วนอีกประเภทคือคนทำสวน เขียนไปย้ายไป ต้นไม้ต้นนี้อยู่ตรงนี้ไม่สวยก็ขยับไปตรงนั้น เพิ่มตรงโน้น แบบนี้เสี่ยงหน่อย เพราะไม่รู้ว่าเขียนแล้วจะไปจบตรงไหน ส่วนตัวเป็นคนประเภทที่คิดฉากแรกและฉากสุดท้ายไว้ในหัวแล้ว เมื่อฟ้ารอพบจันทร์ เราเริ่มต้นจากมีภาพของคนสองคู่แล้วมีการสลับกันนิดหน่อย ขยายต่อเป็นเรื่องราวทั้งหมดอย่างที่เห็น
มีการใส่ความสัมพันธ์ชายรักชายในเรื่องด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่คุณพูดถึงความสัมพันธ์แนวนี้
ใช่ เราเขียนถึงความสัมพันธ์วาย (Y-ชายรักชาย) ลงไป โดยไม่รู้ว่าสำนักพิมพ์จะเอาด้วยรึเปล่า เพราะวายของเราออกโบราณๆ หน่อย เรารู้สึกว่านิยายวายส่วนใหญ่เล่าความสัมพันธ์ลักษณะนี้ให้กลายเป็นเรื่องง่ายเกินความเป็นจริง พูดกันตามตรงเป็นเรื่องยากนะที่จะยอมรับกันได้ ส่วนมากต้องต่อสู้ชนะใจตัวเองก่อน ต้องก้าวข้ามข้อจำกัด อุปสรรคต่างๆ โชคดีที่สังคมไทยใจกว้าง ทว่าไม่ได้เป็นเช่นนี้ทุกสังคม ดูอย่างสิงคโปร์เขาก็ไม่ได้เปิดรับง่ายๆ เกาหลีก็ไม่ใช่ว่าเปิดเผยตัวตนกันได้ เราอยากให้คนอ่านไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่าความสัมพันธ์รูปแบบนี้ไม่ง่ายเลย เปรียบเสมือนการปีนภูเขาเอเวอร์เรสต์ ทั้งลำบากและก็ยังไม่รู้ว่าปีนแล้วจะรอดกลับมาไหม ดังนั้นบางคนจึงไม่เลือกปีนเพราะไม่รู้ว่าไปแล้วต้องเจอกับอะไร เขาเลยเลือกปลูกบ้านที่เชิงเขาดีกว่า
อย่างที่เล่า เราเขียนโดยไม่รู้ว่าสำนักพิมพ์จะชอบรึเปล่า พอส่งไปก็นอนไม่หลับอยู่หลายคืน เขาเงียบไปสักพักแล้วติดต่อมาว่าอ่านจบแล้ว ชอบมาก ดีใจน้ำตาไหลเลย เพราะเราเขียนอย่างที่อยากเขียนเต็มที่
งานเขียนของคุณมักแฝงความรู้สึกแบบ feel good อบอุ่นหัวใจ
ใช่ คนอ่านอ่านแล้วก็รู้ว่าเป็นงานของเรา นิยายรักที่มีกลิ่น feel good ให้กำลังใจกัน เช่น เมื่อฟ้ารอพบจันทร์ ตัวละครแหวนพลอยซึ่งพบความผิดหวัง กับปนัตถ์ที่วันหนึ่งช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เขาจำเป็นต้องหาความหมายของชีวิต ต่างฝ่ายต่างเติมเต็มให้แก่กันสลับไปมา
มีการพัฒนาหรือทดลองเทคนิคใหม่ๆ อะไรในนิยายเรื่องนี้บ้าง
เมื่อเราอายุมากขึ้น และรู้สึกว่าเราอ่านหนังสือมามาก พอต้องเขียนเองจึงมีหลายจุดที่พยายามระวังไม่ให้พลาด เช่น ปนัตถ์ทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เราพยายามใส่ข้อมูลให้ชัดเจนและถูกต้อง
อีกอย่างคือตัวเราไม่ใช่คนเขียนบรรยายยืดยาว แต่พบว่าหนังสือที่ใส่รายละเอียดของตัวละครเยอะๆ มันน่าอ่าน เช่นเวลาเขาเล่าเหตุการณ์ของตัวละครซึ่งไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์หลัก ทำให้ตัวละครน่าสนใจขึ้น เรื่องนี้จึงให้ความสำคัญแก่ส่วนนี้ เช่น ปนัตถ์เล่าถึงเหตุการณ์วันฝนตก เกิดไฟไหม้ในตลาด เลยได้เห็นคนวิ่งถือข้าวของออกมาหนีไฟ เกิดเป็นความประทับใจคุณตาซึ่งเป็นผู้ให้ เปิดโรงทานแจกของให้ผู้ประสบภัย เพราะฉะนั้นผู้ประสบภัยของเขาจึงโคตรเห็นกับตา เมื่อชีวิตไม่เหลือสมบัติสักชิ้น มีผลให้ต่อมาเขาเลือกทำงานเกี่ยวกับผู้อพยพ บางคนอาจมองว่าการเล่าตรงนี้ทำให้หลุดจากโครงเรื่องไปรึเปล่า เรามองว่านี่คือเสน่ห์ของการอ่าน และทำให้เราได้รู้จักนิสัยใจคอตัวละครมากขึ้น
อย่างตัวละครแหวนพลอย นางเอก เราเล่าเรื่องว่าทำไมถึงไปเรียนภาษาอังกฤษ เพราะแม่ไล่ให้ไปเรียนกับซิสเตอร์ที่เป็นชาวฟิลิปปินส์ซึ่งอายุมากแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องหลัก แต่เราติดใจจนอยากทดลองใส่ดู อยากรู้ว่าเขียนไปแล้วจะรู้สึกอย่างไร เรายังไม่อยากเดินเรื่องต่อ แต่ถ้านอกเรื่องบ่อยคนอ่านอาจจะงง จึงมีบางจังหวะเท่านั้นให้เราทดลองใส่ เหมือนการทอผ้าที่เราเพิ่มลายซึ่งไม่ใช่ลายหลัก แต่ช่วยเสริมให้จุดอื่นเด่นชัด การทดลองสำหรับเรื่องนี้คงเป็นแบบนี้ ไม่ว่าจะด้วยปากกาพาไป หรือความรู้สึกนำพา แต่เมื่อนั่งมองภาพรวมแล้ว เรารู้สึกอยากใส่สิ่งเหล่านี้ไว้ในเรื่อง
มีสารสำคัญอะไรที่คุณอยากสื่อผ่านนิยายเรื่องนี้
ความรักไม่ใช่เรื่องที่จะสมหวังไปตลอด ย่อมมีทั้งช่วงสมหวังและเสียใจ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เมื่อเราต้องเสียใจจะทำอย่างไรต่อไป หลายๆ คนเมื่อสูญเสียความรัก ชีวิตถึงกับเป๋ การตั้งหลักใหม่นั้นไม่ง่าย จึงจำเป็นที่คนในสังคมต้องช่วยเหลือกันในบางอย่าง เช่นเดียวกับปนัตถ์ เขาทำงานกับคนที่เจอความสูญเสีย เขาจึงมีความรู้สึกไวเมื่อพบคนที่ผ่านเหตุการณ์เช่นนี้ และเมื่อเขาเจอแหวนพลอย เขาสัมผัสได้ว่าผู้หญิงคนนี้ผ่านเหตุการณ์บางอย่างมา และสิ่งที่ปนัตถ์หยิบยื่นให้ก็ไม่ใช่วัตถุ แต่เป็นความเข้าใจและปรารถนาดี
และเราอยากให้กำลังใจแก่ทุกคนด้วยการพูดถึง “โอกาสที่สองในชีวิต” เหมือนกับที่เราเขียนในคำนำ “เชื่อมั่นว่าจันทร์จะคืนสู่ฟ้าเมื่อไร้ตะวัน” และเป็นที่มาของชื่อเรื่องด้วย เมื่อฟ้ารอพบจันทร์ ผู้เขียนประทับใจส่วนที่แหวนพลอยรู้ว่าปนัตถ์เองก็มีความรักที่ไม่สามารถเปิดเผยและยังคาใจอยู่ วันที่แหวนพลอยสัญญาจะช่วยเหลือปนัตถ์ให้ได้พบคนคนนั้น เรารู้สึกว่านั่นเป็นความสัมพันธ์แบบหนูกับราชสีห์ ชีวิตของเราต้องการแค่คนที่เข้าใจ พูดเรื่องต่างๆ ได้ แต่บางครั้งเราก็มองข้ามคนใกล้ตัว เราอยากให้หนังสือเล่มนี้กระตุ้นเตือนการให้ความสำคัญแก่คนใกล้ตัว เช่นเดียวกับความสุขของกระทิ เรามักชอบพูดบ่อยๆ ว่า อยากให้เป็นแรงกระเพื่อมเล็กๆ ใส่ความรักให้กันทีละนิด สังคมจะได้น่าอยู่ขึ้น
ผลงานที่คุณชอบมากที่สุดคือเรื่องไหน
ชอบเล่มนี้แหละค่ะ เมื่อฟ้ารอพบจันทร์ ไม่ได้พูดโปรโมทนะคะ แต่ที่เลือกเพราะเราเขียนด้วยความรักความสนุกจริงๆ ณ เวลานี้ หนังสือเล่มนี้บรรจุความรู้สึกที่เราอยากส่งออกมา เราอยากเห็นความรักในลักษณะนี้ คือมีความหวังเกิดขึ้นในชีวิต
3 เล่มในดวงใจของ งามพรรณ เวชชาชีวะ
- The Remains of the Day (เถ้าถ่านแห่งวารวัน), Never Let Me Go (แผลลึก หัวใจสลาย) โดย Kazuo Ishiguro
คนเขียนเป็นคนญี่ปุ่นที่โตในอังกฤษ วิธีเล่าเรื่องของเขาแสดงออกเลยว่าเป็นคนต่างชาติ แล้วก็เล่าได้บาดใจ
- ซีรีส์ของ Phillip Pullman
เป็นหนังสือชุดที่สนุกจริงๆ ประทับใจการไล่ล่าต่างมิติ และเรื่องราวที่ผู้เขียนจินตนาการ
- A man Called Ove, My Grandmother Sends Her Regards and Apologies โดย Fredrik Backman
ผู้เขียนเขียนได้ครบทุกอารมณ์ ทั้งขบขันและมีน้ำตา แต่แฝงแง่คิดชีวิต