เรื่องเล่า เรื่องจริง ชุมชน และคนแปลกหน้า:
กรณีข่าวน้องชมพู่
หมู่บ้านกกกอก ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เคยสงบเงียบ ผู้คนในหมู่บ้านเล็กๆ ใช้ชีวิตกันตามปกติสุขตามอัตภาพ และน่าจะเป็นชุมชนที่ห่างไกลความรับรู้จากผู้คนนอกหมู่บ้าน หากแต่เป็นเวลากว่าสองเดือนแล้ว ที่หมู่บ้านกกกอกอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วประเทศ
ข่าวเรื่องเด็กหญิงชมพู่เสียชีวิตอย่างปริศนาบนภูเขาดงเหล็กไฟ ห่างจากหมู่บ้านกกกอกราวสองกิโลเมตร ปริศนาการตายของเด็กหญิงวัยสามขวบ กลายเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วประเทศ เงื่อนงำของคดีสะเทือนขวัญกล่าวขานไปต่างๆ นานา ใครเป็นคนฆ่าน้องชมพู่ เด็กหญิงวัยเพียงสามขวบจะเดินขึ้นเขาดงเหล็กไฟไปไกลจากบ้านได้อย่างไร ใครเป็นคนพาเด็กหญิงชมพู่ไป เด็กหญิงถูกลักพาตัว หรือว่าเดินเล่นออกจากบ้านไปหลงป่า แล้วตายอย่างโดดเดี่ยว ศพน้องชมพู่ถูกทำร้ายอย่างไร ผลการชันสูตรศพสวนทางกับความเชื่อของผู้คน… หลากหลายคำถามเกิดขึ้นตลอดสองเดือนที่ผ่านมา
ข่าวนี้จะไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เด็กหญิงชมพู่อาจจะตายจากไปเงียบๆ พร้อมกับการทำคดีเงียบๆ ดุจดังการตายของคนอีกจำนวนมากในแต่ละวัน ทว่าหาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อสำนักข่าวอย่างน้อยสองสำนัก ทำข่าวน้องชมพู่แข่งขันกัน ด้วยลีลาการทำข่าวที่แปลกไปจากเดิม และเกาะติดข่าวอย่างชนิดมิให้ทุกสิ่งทุกอย่างคลาดสายตา จนกระทั่งรายการข่าวมีเรตติ้งสูงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในช่วงไพรท์ไทม์ สามารถชนะเรตติ้งละครหลังข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ได้ และในแต่ละวัน เรตติ้งของข่าวน้องชมพู่ ก็ตามติดรายการสำคัญชนิดหายใจรดต้นคอเลยทีเดียว
ปรากฏการณ์เช่นนี้ มิได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ที่คนทั้งประเทศให้ความสำคัญกับข่าวสารมากกว่าความบันเทิง นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง
หากพิจารณาในแง่ “องค์ประกอบข่าว” จะพบว่าข่าวนี้มีองค์ประกอบข่าวหลายประการ ได้แก่ ความมีเงื่อนงำซับซ้อน ความสะเทือนใจ ความเป็นเพศ เพราะมีการพุ่งเป้าว่าน้องชมพู่อาจถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความใกล้ชิด เพราะเหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับลูกสาวใครก็ได้ ข่าวน้องชมพู่จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ “เรื่องเล่า” มีบทบาทกลบ “เรื่องจริง” ซึ่งยังรอการพิสูจน์และตัดสินอยู่ เรื่องเล่าและวิธีการเล่าเรื่องที่สำนักข่าวต่างพากันนำเสนอนั้น มีลีลาของ “ความเป็นละคร” ที่น่าสนใจอีกด้วย
กล่าวคือ ข่าวนำเสนอด้วยลีลาละคร ผ่านการเล่าเรื่องของน้องชมพู่ผ่านคนในหมู่บ้าน ทั้งจากปากคำของพ่อแม่ ความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก ความสะเทือนใจที่พ่อแม่ต้องสูญเสียลูกอย่างไม่มีวันกลับ จากนั้นก็ใช้เรื่องเล่าของญาติพี่น้อง คนในหมู่บ้าน ให้เล่าเรื่องน้องชมพู่ ตัวน้องชมพู่ถูกชูให้เป็นตัวละครที่สูญหาย ส่วนตัวละครที่มีชีวิตอยู่ ก็ถูกนำไปโยงกับน้องชมพู่และการตายของน้องชมพู่ ซึ่งแต่ละคนก็มีเรื่องเล่าในมุมมองของตน จากเรื่องเล่านั้นก็ถูกขยายวงจากความสัมพันธ์ ไปสู่ความขัดแย้ง ข่าวญาติพี่น้องที่ไม่ถูกกับพ่อแม่ของน้อง เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างพ่อกับแม่ที่เคยแยกทางกันไป และขุดคุ้ยราวกับนำเสนอเรื่องราวของตัวละครในละครโทรทัศน์ ในที่สุดเรื่องเล่าก็เริ่มกระชับวงมาสู่การควานหาว่าใครเป็นฆาตกรฆ่าน้องชมพู่
ดูเหมือนว่าเมื่อข่าวนำเสนอเรื่องราวของชาวบ้านที่พูดถึงครอบครัวของน้องชมพู่จนทำให้คนดูรู้จักคนในบ้าน ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านกันถ้วนทั่ว ผู้รายงานข่าวเดินทางไปยังเรือนของผู้เล่าเรื่อง ทุ่งนา วัด และถนนในหมู่บ้าน จนทำให้คนดูเห็น “ฉาก” ในการดำเนินเรื่องทุกซอกทุกมุม มีการทำภาพกราฟิกเล่าถึงวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านที่ถูกกำหนดมาให้เป็น “ตัวละคร” ว่าวันเกิดเหตุ ทำอะไรอยู่ วิธีการของการนำเสนอข่าวล้วนทำให้ผู้ชม “ลุ้น” และเกิดการคาดหมายว่า ใครคือฆาตกร การใช้เรื่องเล่าจากปากคำของชาวบ้าน โดยการสัมภาษณ์อย่างใกล้ชิด ด้วยลีลาขุดหาความจริงและความสะเทือนใจ ก็ยิ่งเป็นกลวิธีที่ทำให้ผู้ชมติดตาม เสมือนกับการเฝ้าดูชีวิตของตัวละครในละครโทรทัศน์
หมู่บ้านกกกอก ในฐานะฉากที่ถูกนำเสนอ ถูกเติมสีสันผ่าน “คนแปลกหน้า” ที่สำนักข่าวผูกโยงและสรรหามาให้เรื่องราวของข่าวมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ “หมอธรรม” หรือหมอไสยศาสตร์ที่มาทำพิธีต่างๆ นานา ตามความเชื่อของตน หมอธรรมแต่ละคนก็ได้ทำนายไปตามวิธีการของตน คำพูดทิ้งท้ายของหมอธรรมแต่ละคน ช่วยเสริมการคาดหมายของผู้ชมว่าใครกันแน่คือฆาตกร รวมถึงตำรวจ นักกฎหมาย แพทย์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ต่างก็ถูกสร้างให้เป็นตัวละครเสริม เช่นเดียวกับหมอธรรม
ตลอดเวลากว่าสองเดือนที่ตำรวจยังสรุปคดีสะเทือนขวัญนี้ไม่ได้ แต่สำนักข่าวก็ยังมีข่าวให้ “เล่น” อยู่ได้ทุกวัน โดยการสร้างเรื่องเล่าผ่านทางตัวละคร และนำเสนอ “เรื่องจริง” ที่รอการพิสูจน์ แม้ประเด็นล่าสุดจะค้นพบว่า เด็กหญิงชมพู่ตายเอง กระเพาะไม่มีอาหาร ไม่มีใครฆาตกรรมน้องชมพู่ แต่ดูเหมือนข้อเท็จจริงนี้จะไม่ทำให้คลายปริศนาลงได้ หากตำรวจสรุปสำนวน หลังจากสอบปากคำไปแล้วถึง 900 ปาก แต่ก็ยังไม่สามารถปิดคดีลงได้ และมีแนวโน้มว่าความจริงที่ตำรวจสรุปปิดคดี อาจจะไม่ตรงกับใจของผู้ชม เพราะผู้ชมรู้สึกว่า “เรื่องเล่า” แบบที่ตนเชื่อมีพลังมากกว่า และน่าเชื่อถือมากกว่า
หากเป็นเช่นนี้ ข่าวสะเทือนขวัญนี้ก็คงไม่จบลงอย่างง่ายๆ น้องชมพู่ตายไปแล้ว แต่ข่าวน้องชมพู่ยังคงอยู่ น้องชมพู่และหมู่บ้านกกกอกจะเป็นเรื่องเล่าที่พร้อมจะถูกขุดคุ้ยขึ้นมาได้ตลอดเวลา ขณะที่สำนักข่าวก็แสวงหาข่าวการนำเสนอข่าวอื่นๆ ต่อไป
ข่าวน้องชมพู่จึงเป็นตัวอย่างของการทำข่าวให้เป็นเรื่องสะเทือนใจ ทำเรื่องจริงให้เป็นเรื่องเล่า และทำให้เรื่องเล่ากลายเป็นเรื่องจริง (ของแต่ละคน) ความสัมพันธ์ที่เคยแนบแน่นอยู่กับวิถีชีวิตพื้นบ้านซึ่งดำเนินมายาวนาน ก็กลายเป็นความขัดแย้งที่แต่ละคนซัดทอดกันไปมา ทำให้เกิดความหวาดระแวงต่อกัน ส่วนกองเชียร์ทั้งหลายในสื่อทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และสื่อต่างๆ ก็หันไปเล่นข่าวอื่นต่อไป โดยไม่สนใจว่าครอบครัวของน้อง วงศาคณาญาติ เพื่อนบ้านจะยังมองหน้ากันติดหรือไม่
ข่าวนี้เป็นเสมือนบททดสอบว่าคนไทยยุคปัจจุบัน ซึ่งพยายามรู้เท่าทันสื่อนี้จะจำแนกแยกแยะเรื่องจริงออกจากเรื่องลวงได้หรือไม่ อาจเป็นบทสรุปสำคัญว่าวัฒนธรรมสำคัญของคนไทยคือ ให้คุณค่ากับข่าวลือ ข่าวลวง มากกว่าข่าวจริง ดังปรากฏการณ์ที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็เป็นได้
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง / เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ ภาพ: อินเตอร์เน็ต