กล่าวกันว่า หากต้องการรู้จักสังคมใดว่ามีสภาพอย่างไร ผู้คนในสังคมมีนิสัยใจคออย่างไร ให้ดูที่แผงหนังสือ หรือดูจากสื่อบันเทิงของสังคมนั้น การกล่าวเช่นนี้เป็นการให้คุณค่าแก่วรรณกรรมกับสื่อบันเทิงว่าทำหน้าที่เสมือนกระจกส่องสะท้อนสังคม แม้จะส่องได้ไม่ครบถ้วนก็ตาม
ก่อนที่สังคมไทยจะเป็นสังคมดิจิตอล โลกออนไลน์ยังไม่มีบทบาทเช่นทุกวันนี้ แผงนิตยสารไทยเต็มไปด้วยนิตยสารเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับหนังสือแนวบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ ก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยความเชื่อ สิ่งลี้ลับ และสนใจในเรื่องบันเทิงมากกว่าสาระ ดังจะเห็นว่านิตยสารที่มีเนื้อหาในเชิงสารคดีมีปริมาณน้อยกว่า อีกทั้งยังได้รับความสนใจในวงจำกัด ส่วนนวนิยายที่มีอยู่ ก็เน้นเนื้อหาแนวชีวิตครอบครัว ความรัก และวิถีชีวิตของชนชั้นกลางกับคนชั้นสูงมากกว่าสะท้อนหรือวิพากษ์วิจารณ์สังคม เมื่อละครโทรทัศน์สร้างจากนวนิยายกลุ่มนี้ เนื้อหาของละครโทรทัศน์ไทยจึงนำเสนอปมความรักและปัญหาครอบครัวของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงมากที่สุด ปรากฏการณ์นี้เป็นมาต่อเนื่องยาวนานนับศตวรรษ ส่งต่อกันรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนฝังเข้าไปในจิตสำนึก และมีส่วนในการกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมที่เป็นผู้เสพวรรณกรรมและสื่อบันเทิงเหล่านี้ด้วย
หากพิจารณาเฉพาะละครโทรทัศน์แล้ว จะพบว่าในแต่ละประเทศมีแนวการสร้างบทละครโทรทัศน์แตกต่างกันไป รวมถึงมุมมองในการนำเสนอก็แตกต่างกัน ทั้งนี้เป็นเพราะบริบททางสังคมและรากทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั่นเอง ละครโทรทัศน์ของไทย แม้ว่าจะเข้าสู่ยุคดิจิตอลแล้ว แต่เนื้อหาก็ยังเน้นผลิตเพื่อตอบสนองคนกลุ่มใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งดูละครในฐานะเครื่องบันเทิงใจ และพักผ่อนหลังจากทำงานหนักมาทั้งวัน เนื้อหาจึงเป็นเรื่องรักโรแมนติก การคลี่คลายปัญหาของตัวละครก็ง่ายเพื่อให้ตัวละครที่ทำความดีมาตลอดได้รับรางวัลในที่สุด มีแนวคิดเรื่องธรรมะย่อมชนะอธรรม และละครที่เป็นไปตามลักษณะนี้ มักมีเรทติ้งสูงด้วย จนบางครั้งเหมือนกับว่าละครโทรทัศน์ก็คือการนำเสนอเรื่องราวของนิทานจักรๆ วงศ์ ๆ ในรูปแบบใหม่ โดยปรับเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัยใหม่เท่านั้นเอง
แต่ในยุคดิจิตอล ละครโทรทัศน์กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างน่าสนใจ เพราะเราไม่ได้ผลิตละครให้คนไทยดูเพียงอย่างเดียว ยังส่งออกไปเผยแพร่ในต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ขณะเดียวกันคนไทยก็ได้เสพละครของต่างชาติผ่านแพลตฟอร์มที่มีมากมาย มีละครต่างชาตินับร้อยๆ เรื่องให้คนไทยได้เสพในแต่ละวัน ละครต่างชาติ ทั้งเกาหลี จีน ญี่ปุ่น ได้เข้ามามีอิทธิพลในชีวิตของคนไทยอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ละครไทยจึงต้องปรับตัวให้ทันสมัยเพื่อส่งออกต่างประเทศได้
โลกยุคดิจิตอลเป็นยุคที่เน้น “ข้อมูล” มีข้อมูลที่เป็น “ความจริง” อย่างหลากหลาย เรื่องเดียวกันอาจมีคนเสนอความจริงในหลายแบบ หลายเนื้อหา ทั้งสอดคล้องกันและขัดแย้งกัน การแสวงหาข้อมูลมิใช่เรื่องยากหรือลี้ลับอีกต่อไป เพียงกดหาข้อมูลด้วยปลายนิ้วจากเครื่องโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ก็ได้ข้อมูลมากมาย ดังนั้นเนื้อหาเพ้อฝันที่ไม่ได้ดำเนินเรื่องอยู่ในโลกของความจริงอาจถูกโจมตีได้โดยง่าย คนทำละครโทรทัศน์จึงต้องพิถีพิถันตั้งแต่การหาข้อมูลนำมาเขียนบทและจัดสร้างจนสำเร็จเป็นละครโทรทัศน์หนึ่งเรื่อง
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ละครโทรทัศน์นำเสนอว่า ตัวละครต้อง “ทำงาน” ต้องดำเนินชีวิตไปตามกระแสสังคมที่มีกิจกรรมอยู่ท่ามกลางความจริง เมื่อนำบริบททางสังคมเป็นตัวตั้ง การสร้างสรรค์ละครโทรทัศน์จึงมีมิติมากขึ้น อย่างน้อยก็ยังเห็นได้ว่าตัวละครที่ร่ำรวยในจอทีวีนั้น ทำงานอะไร มีธุรกิจอะไร พวกเขาและเธอต้องฝ่าฟันอุปสรรคอย่างไร จึงร่ำรวยขึ้นมาได้ และกลายเป็นกระแสที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วิถีชีวิตของไลฟ์โค้ชซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ได้รับการถ่ายทอดผ่านละครโทรทัศน์เรื่องเล่ห์ลวงทางช่องวัน นับว่าเป็นการเปิดเบื้องหลังของคนทำงานในอาชีพนี้ได้อย่างน่าตื่นเต้นและชวนติดตามมาก เรื่องหลงกลิ่นจันทน์ ทางช่อง 7 นำเสนอเรื่องราวของสารวัตรหญิงที่ทำคดีสืบสวนการตายของหญิงสาวคนหนึ่ง โดยมีหมอนิติเวชหนุ่มคอยช่วยเหลือ บทโทรทัศน์ได้ถ่ายทอดวิธีการทำงานของตำรวจหญิงและหลักการทางนิติเวชไว้อย่างแนบเนียนไปกับเนื้อหา ละครจึงมีความสมจริงและเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม เรื่องให้รักพิพากษา ทางช่อง 3 นำเสนอเรื่องราวในแวดวงทนายความและระบบกฎหมายไทย แม้ว่าเนื้อหาจะเป็นเรื่องรักต่างวัย แต่ละครก็ทำให้ผู้ชมเข้าใจการทำงานของอาชีพทนายความและกระบวนการต่างๆ ในทางกฎหมาย เรื่องพฤษภา ธันวา รักแท้แค่เกิดก่อน ทางช่อง 3 นำเสนออาชีพหมอในแผนกฉุกเฉินที่ต้องพบกับคนไข้หลากหลายประเภท ละครได้แทรกความรู้เบื้องต้นในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นการส่งทอดความรู้ให้แก่ผู้ชม
จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนั้น น่าจะเป็นแนวทางที่ชี้ให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนของละครโทรทัศน์ แม้ว่าการนำเสนออาชีพของตัวละครจะไม่ใช่ทั้งหมดของจุดเปลี่ยน แต่ก็สะท้อนกระแสความสนใจของผู้ชมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนว่าพวกเขาต้องการความสมจริงของเรื่องราว ตัวละครต้องตัดสินใจกระทำท่ามกลางบริบททางสังคมที่เป็นจริง จับต้องได้ รู้สึกได้และยอมรับในเรื่องของเหตุผลได้
เมื่อละครโทรทัศน์มาถึงจุดเปลี่ยนเช่นนี้ นักเขียนนวนิยายก็ถึงคราวที่จะต้องปรับตัวด้วย โดยการสร้างอาชีพให้ตัวละคร ลงลึกในรายละเอียดการทำงาน ชี้ให้เห็นว่าการงานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเป็นไปในชีวิตของตัวละครอย่างไร เพื่อสร้างความสมจริงให้แก่เรื่องราวมากยิ่งขึ้น
ผู้สร้างปรับตัวแล้ว ผู้เสพก็ต้องปรับตัวด้วย เสพละครเพื่อให้รู้เท่าทันสังคม ต่อไปคำถามชวนทะเลาะที่ว่า ละครควรยกระดับคนดู หรือคนดูควรยกระดับละครจะได้หมดไปจากสังคมไทย
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ
ภาพ: https://www.facebook.com/onelakorn