‘สยามใหม่’ ในละครโทรทัศน์แนวพีเรียด

-

ละครโทรทัศน์แนวพีเรียดเป็นแนวละครที่ไม่เคยห่างหายจากจอโทรทัศน์ไทย บางปีมีการผลิตออกมาหลายเรื่อง ส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จ ปัจจัยเบื้องต้นที่สร้างความสำเร็จให้ละครโทรทัศน์แนวพีเรียดก็คือต้องใช้ความพิถีพิถันในการผลิต ต้องอิงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เพราะเนื้อหาละครโทรทัศน์แนวพีเรียดมีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ไม่มากก็น้อย 

ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่เราค้นคว้าข้อมูลข่าวสารได้ง่ายกว่าสมัยก่อน ผู้ชมจึงมีส่วนร่วมในการตรวจสอบเนื้อหาอยู่ตลอดเวลา ทีมงานผู้สร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเขียนบทละครโทรทัศน์จำเป็นต้องคำนึงถึงความผิดถูกของข้อมูลและต้องนำเสนอเหตุผลที่ไม่ขัดกับหลักฐานทางประวัติศาาสตร์ เมื่อเติม รส ของความเป็นละครให้สนุก ชวนติดตาม ก็ทำให้ผู้ชมติดตามดูละครโทรทัศน์เรื่องนั้น พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบเนื้อหาและข้อมูล ผู้ผลิตจึงต้องพิถีพิถันมากยิ่งขึ้น

ระหว่างช่วงโควิดถึงปัจจุบัน เรามิอาจปฏิเสธว่าละครโทรทัศน์เรื่องบุพเพสันนิวาสได้ปลุกกระแสให้ผู้ชมสนใจละครโทรทัศน์แนวพีเรียด ดังจะเห็นว่ามีละครโทรทัศน์แนวพีเรียดผลิตตามมาอีกหลายเรื่องเช่น พรหมลิขิต, ทองเอก หมอยาท่าโฉลง, หมอหลวง, เภตรานฤมิต, บุษบาลุยไฟ, แม่หยัว, หม่อมเป็ดสวรรค์ และที่กำลังจะเสนอฉายก็คือ คุณพี่เจ้าขา ดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์ 

น่าสังเกตว่า ละครโทรทัศน์แนวพีเรียดของไทยแบ่งเป็นสองประเภทคือ ละครแนวรักชาติ เน้นเชิดชูวีรบุรุษ เช่น อตีตา, สายโลหิต, ฟ้าใหม่, สงครามเก้าทัพ, กษัตริยา ฯลฯ และละครแนวสะท้อนเรื่องราวในอดีต โดยมีประวัติศาสตร์เป็นฉากหลัง เช่น บุพเพสันนิวาส เป็นการนำเสนอเรื่องราวความรักของหญิงสาวซึ่งข้ามมิติไปสู่ยุคอดีต และเข้าไปมีส่วนร่วมสำคัญในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แม้ว่าจะแก้ไขไม่ได้ก็ตาม เรื่องแนวนี้น่าจะมีทวิภพเป็นต้นแบบ แนวที่สองนี้เปิดกว้างสำหรับการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่มากกว่าการเชิดชูวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ โดยสามารถสอดแทรกเรื่องราวของสังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรม และการรเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ส่งผลต่อชีวิตของตัวละครในชนชั้นต่างๆ เป็นการนำเสนอประวัติศาสตร์สังคมควบคู่กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

ที่น่าสนใจก็คือ ละครโทรทัศน์แนวพีเรียดนิยมเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงรัชกาลที่ 3 ได้แก่ หมอยาท่าโฉลง  หมอหลวง เภตรานฤมิต บุษบาลุยไฟ หม่อมเป็ดสวรรค์ คุณพี่เจ้าขา.. ดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์ ยังไม่นับภาพยนตร์เรื่องบุพเพสันนิวาส 2 ก็เข้าข่ายนี้เช่นกัน  

นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เหตุใดจึงเกิดกระแสความนิยมเช่นนี้  

หลังจากรัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ทรงย้ายเมืองหลวง และสร้างกรุงเทพทวารวดีให้งดงามดุจเทพสร้าง ควบคู่ไปกับทรงสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่พระนคร พระองค์ยังทรงยึดเอากรุงศรีอยุธยาเป็นต้นแบบ หมายจะทรงสร้างกรุงเทพทวารวดีให้ยิ่งใหญ่เฉกเช่นกรุงศรีอยุธยา จึงทรงรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมประเพณี ปราสาทราชวัง วัดวาอาราม วรรณคดี ศิลปกรรม ฯลฯ และความรุ่งเรืองต่างๆ ตามแบบกรุงศรีอยุธยา พระราชปณิธานนี้สืบต่อมายังรัชกาลที่ 2 แต่ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ต้องเผชิญหน้ากับคนกลุ่มใหม่ที่เรียกตัวว่าเป็นผู้มีอารยธรรม โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ กรุงศรีอยุธยาต้องต้อนรับคนต่างชาติ ต่างศาสนา แล้วพยายามบูรณาการให้เกิดประโยชน์แก่แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา

ทว่า กลุ่มพวกฝรั่งซึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 มิได้มาพร้อมกับคัมภีร์ทางศาสนาเท่านั้น หากแต่มีเรือปืน มีอาวุธ มีสนธิสัญญาที่มาบีบสยามให้เสียประโยชน์ แต่รัชกาลที่ 3 และขุนนางต่างก็ปรับตัวยอมรับวิทยาการแผนใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งในเวลานั้น สยามต้องเผชิญภัยพิบัติจากโรคระบาด คร่าชีวิตคนสยามไปนับแสน ดังปรากฏอยู่ในเรื่อง ทองเอก หมอยาท่าโฉลงและหมอหลวง ละครโทรทัศน์สองเรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงการปะทะกันของการแพทย์แผนไทยกับการแพทย์แผนตะวันตก สยามมิได้ต่อต้าน หากแต่เปิดรับวิทยาการทางการแพทย์แผนใหม่ และก็อนุรักษ์ตำราแพทย์แผนไทยไว้ทั้งในรูปของการถ่ายทอดสู่หมอหลวง การจารึกไว้ในจารึกวัดโพธิ์ ละครนำเสนอว่าตัวละครต้องเผชิญหน้ากับความทันสมัยที่เข้ามาในยุคนั้นอย่างไร มีผลกระทบต่อชีวิตอย่างไร ส่วนเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ก็เสนอเรื่องของความทันสมัยทางการแพทย์ไว้ในละครด้วยเช่นกัน แต่จุดประสงค์ที่เป็นแกนหลักของเรื่องก็คือการนำเสนอเรื่องเพศทางเลือก คือหญิงรักหญิง และชายรักชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญิงรักหญิง มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานทั้งในรูปแบบของเพลงยาวและจิตรกรรมฝาผนัง ความทันสมัยที่เข้ามาพร้อมกับฝรั่ง ทำให้ชนชั้นนำสยามต้องปรับตัวให้เป็นอารยะ ยอมรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนคุณพี่เจ้าขา… ดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์ เลือกเล่าเรื่องของยายแฟง เจ้าของซ่องโสเภณีอันลือลั่นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งต่อมานำเงินที่ได้จากสำนักโสเภณีของตนมาสร้างวัด เป็นหลักฐานมาถึงปัจจุบัน

แม้ละครแต่ละเรื่องจะเลือกมุมเล่าเรื่องแตกต่างกัน แต่สิ่งที่มีร่วมกันก็คือ การเสนอเรื่องราวของผู้คนที่ต้องปรับตัวจากความเป็นสยามเก่า ซึ่งมีกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นแบบกับย่างก้าวของความทันสมัยที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 อันเป็นจุดเริ่มต้นของสยามใหม่ ซึ่งต่อมามีพัฒนาการขึ้นเป็นลำดับในรัชกาลต่อมา จนกลายเป็นสังคมไทยในปัจจุบัน 

ละครโทรทัศน์แนวพีเรียดที่กล่าวมานี้ คือแนวโน้มใหม่ของการนำเสนอเนื้อหาของละครโทรทัศน์แนวพีเรียดของไทย ซึ่งมิใช่เพียงการฉายภาพของอดีต แต่ชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ในอดีตนั้นส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างไร ละครทุกเรื่องที่นำเสนอเกี่ยวกับสังคมในสมัยรัชกาลที่ 3 สะท้อนภาพเหมือนกันว่าทุกคนต้องปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และเลือกที่จะเก็บรับความเป็นไทยไว้อย่างไร  

การนำเสนอเช่นนี้ย่อมเป็นกำไรของคนดู และของคนไทยทุกคนที่ได้บันทึกประวัติศาสตร์ของสังคมไว้ในรูปแบบของละครโทรทัศน์แนวพีเรียด อันเป็นการสร้างคุณค่าของสื่อบันเทิงที่ควรยกย่อง


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง

เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรร

ภาพ: อินเทอร์เน็ต 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!