“โดนัทยังมีรู แล้วเมื่อไหร่ you จะมีใจ”
เชื่อว่าใครต่อใครคงเคยได้ยินเพลงท่อนนี้ แม้จะไม่รู้ว่าศิลปินเป็นใครและเพลงชื่ออะไรก็ตาม เพลงนี้จัดว่าดังเป็นไวรัลทั้งในโซเชียลมีเดียและวิทยุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซึ่งใช้บริการรถไฟฟ้าต้องเคยได้ยินในขบวนรถไฟมาบ้าง พอฟังไปสักพักก็ต้องประหลาดใจว่า นี่มันเพลงลูกทุ่งนี่นา! และถ้าได้ผ่านตา MV ด้วยก็ยิ่งประหลาดใจ เพราะเด็กวัยรุ่นทั้ง 4 คนเต้นเหมือนกับวงบอยแบนด์เกาหลี ฉีกภาพลักษณ์วงการลูกทุ่งโดยสิ้นเชิง
เพลงที่มักเรียกกันติดปากว่า “โดนัทยังมีรู” นั้น มีชื่อที่จริงว่า Stand by หล่อ ของ 4 หนุ่มคลื่นลูกใหม่แห่งวงการลูกทุ่งนามว่า New Country ประกอบด้วย ‘เอ็มโบ’ พันธกานต์ พุ่มพฤกษ์ (32 ปี), ‘กีต้าร์’ ณัฐเอก ทอนสูงเนิน (17 ปี), ‘ติณติณ’ จรัสรวี เทียมรัตน์ (22 ปี) และ ‘นุ’ พุฒธิวัฒน์ สะท้านธรนิล (24 ปี) โพรเจกต์ New Country เกิดจากการปลุกปั้นของเจ้าชายลูกทุ่ง ‘ก๊อท’ จักรพันธ์ ซึ่งดูแลการดำเนินงานทุกขั้นตอนทั้งคัดเลือกสมาชิก แต่งเพลง ควบคุมการเต้น เสื้อผ้าหน้าผม ผลงานที่ออกมานอกจากสะท้อนความทุ่มเทของทุกฝ่าย ประชาชนชาวไทยยังได้เห็นว่า ลูกทุ่งไทยทันสมัยและพัฒนาต่อไปได้อีก
แต่ละคนเริ่มร้องเพลงกันตั้งแต่ตอนไหน
นุ: ผมเรียนร้องเพลงช่วงปิดเทอม ม.3 แต่ชอบร้องตั้งแต่เด็ก นิสัยเป็นคนค่อนข้างขี้อาย เริ่มฝึกจากเพลงสตริงก่อนรู้จักเพลงลูกทุ่ง จากนั้นก็เดินสายประกวดที่จังหวัดสุพรรณบุรีบ้านเกิด ประเดิมเวทีแรกตอนอายุ 16 ปี ค่อนข้างช้ากว่าเพื่อนในวง
กีต้าร์: ต้าร์ฟังเพลงหมอรำและเพลงลูกทุ่งตั้งแต่เด็ก ยายเปิดให้ฟังจนเราซึมซับและชอบโดยไม่รู้ตัว ต้าร์เริ่มร้องเพลงเมื่ออายุ 6-7 ขวบ ยายสอนและพาไปประกวดเวทีใกล้บ้านเพื่อหาประสบการณ์ ไปเปิดหมวก ไปเล่นหมอรำ จากนั้นก็เดินสายประกวดเหมือนพี่ๆ
ติณติณ: จุดเริ่มต้นเกิดจากผมไปแอบดูครูสอนดนตรีเล่นเปียโนอยู่หลายวัน จนเขาชวนว่าอยากลองเรียนไหม ผมก็ไปขอแม่เรียน แต่แม่ตั้งเงื่อนไขว่าถ้าจะเรียนเปียโนก็ต้องเรียนร้องเพลงด้วย เพราะผมเป็นเด็กเงียบๆ เขาอยากให้กล้าแสดงออก เราก็ตกลง ขอแค่ได้เรียนเปียโน กลายเป็นเรียนเปียโนอยู่คอร์สเดียว แต่เรียนร้องเพลงตั้งแต่ ป.1-ม.ปลาย ผมเรียนร้องเพลงลูกทุ่งตั้งแต่ต้นและไปประกวดเลย เวทีแรกได้รางวัลเพราะแม่เหมาพวงมาลัยมาคล้องให้ (หัวเราะ) จากนั้นเดินสายแทบทุกวัน นับไม่ไหวว่ากี่เวที ร้องทุกแนว ทั้งลูกทุ่ง สตริง ลูกกรุง สากล เคยสงสัยเหมือนกันว่าทำไมต้องประกวดขนาดนี้ เพราะเราไม่ได้ลำบากเท่าเพื่อนบางคนที่ต้องประกวดเพื่อหาเงินให้ครอบครัว คงต้องกลับไปถามแม่แหละ (หัวเราะ) แรกเริ่มผมอาจไม่สนใจการร้องเพลงนัก แต่พอขลุกอยู่กับสิ่งนี้นานๆ ก็ค่อยๆ ชอบเอง
เอ็มโบ: ผมเริ่มประกวดตั้งแต่ 6-7 ขวบ พอจำความได้ก็ร้องเพลงแล้ว ที่บ้านเป็นครอบครัวลิเก ป๋าฝึกการร้องให้ แล้วก็เดินสายประกวดเหมือนเป็นอาชีพหลัก หน้าที่ของเราคือล่ารางวัล เงินที่ได้จากการประกวดก็ช่วยจุนเจือครอบครัว กว่าจะมาถึงตรงนี้ผ่านงานหลายอย่าง เป็นพนักงานเชียร์ขายสินค้า ประกวดนายแบบ แดนเซอร์
ตอนไหนที่รู้สึกอยากเป็นนักร้องอาชีพ
เอ็มโบ: เอ็มคิดตลอดว่าอยากเป็นนักร้อง
ติณติณ: ผมหยุดประกวดตั้งแต่เข้ามหา’ลัยและมองหาอาชีพมั่นคง เลยเลือกเรียนบัญชี เราไม่กล้าพูดชัดเจนว่าอยากเป็นนักร้องอาชีพ แต่พอหยุดร้องก็โหยหา อยากร้องเพลงให้คนฟังเลยไปทำงานร้องเพลงกลางคืน และรู้สึกตัวว่าชอบเป็นนักร้อง
นุ: พอประกวดมาเรื่อยๆ ก็เบื่อที่ต้องเผชิญความกดดันของการแข่งขัน อยากเป็นนักร้อง อยากทำเพลง จะได้ไม่ต้องประกวดแล้ว
กีต้าร์: ต้าร์เพิ่งรู้สึกตอนเข้าค่ายเก็บตัวกับลุงก๊อท ต้าร์ยังอายุน้อย ยังมีเวลาประกวดไปเรื่อยๆ เลยไม่ได้มุ่งมั่นว่าต้องเป็นศิลปินให้ได้แบบพี่ๆ แต่พอเส้นทางการเป็นศิลปินค่อยๆ ชัดเจนขึ้น เราก็อยากเอาจริงบ้าง
ความพ่ายแพ้ที่จดจำไม่ลืม
กีตาร์: ต้าร์ไม่มี เพราะส่วนใหญ่ต้าร์ประกวดไม่ค่อยชนะหรอก เราคิดแค่ไปหาประสบการณ์ เรียนรู้เทคนิค ไปแข่งเอาสนุกครับ
นุ: คงเป็นพวกรางวัลใหญ่ๆ เช่น รางวัลจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เราไม่เข้ารอบก็เสียใจ แต่ก็แก้ตัวใหม่เวทีหน้า จะชนะหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งกรรมการ คู่แข่ง สภาพไมค์ สิ่งแวดล้อม
เอ็มโบ: เวทีที่สองที่ประกวด เวทีแรกดีใจได้รางวัล แต่พอเวทีที่สองเท่านั้น ไม่ผ่านตั้งแต่รอบแรก เลยเกิดความกังวลว่าหรือเราจะสู้คนอื่นไม่ได้ ตอนนั้นยังเด็กด้วย ไม่เคยพบความพ่ายแพ้และชินกับมัน
ติณติณ: ผมไม่ซีเรียสกับผลการแข่งขัน ผมซีเรียสว่าแม่จะด่ามั้ย ต่อให้ชนะแต่ร้องไม่ดีแม่ก็ด่า (หัวเราะ) เลยเหมือนสู้กับตัวเองมากกว่า สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกพ่ายแพ้ได้คือการพลาดด้วยตัวเอง เช่น ลืมเนื้อ สำลักน้ำลาย เสียงแหบครับ
รวมตัวเป็นโพรเจกต์ New Country ได้ยังไง
นุ: เราทุกคนคือผู้เข้าประกวดรายการลูกทุ่งไอดอล และได้เจอกับอาก๊อทซึ่งอยากสานฝันให้นักร้องลูกทุ่งรุ่นใหม่ได้เป็นศิลปินและมีผลงานของตัวเอง อาก๊อทยังอยากให้เป็นบอยแบนด์ด้วย ตอนฝึกแรกๆ มีสมาชิกสิบกว่าคน แต่กว่าจะผ่านบททดสอบ ความยากลำบากในการซ้อม และแรงกดดัน ก็เหลือแค่เรา 4 คน และน้องผู้หญิงอีก 2 คน ใช้เวลาฝึก 3 ปี แต่ถ้านับรวมทัวร์คอนเสิร์ตกับอาก๊อทก็ 4 ปีที่อยู่ด้วยกัน
มีอะไรที่ต้องฝึกเพิ่มเติมเพื่อการเป็น New Country บ้าง
นุ: เรื่องการเต้นครับ คนอื่นพอจะมีพื้นฐาน แต่ผมไม่มีเลย ฝึกจากรายการลูกทุ่งไอดอลและอาก๊อทนี่แหละ
เอ็มโบ: เรื่องร้อง พวกเราเป็นสายประกวดกันหมด ตอนประกวดสามารถบอกนักดนตรีให้ลดคีย์ เพิ่มคีย์ ดีไซน์ดนตรีเพื่อโชว์ลูกเอื้อน ยิ่งเยอะยิ่งเก็บคะแนน จึงมีปัญหาเรื่องจังหวะการร้องที่มักจะ lay back อาก๊อทจึงคอยดูเรื่องการตัดคำ ตัดลูกเอื้อน ให้ทันสมัยและกระชับ ถ้าร้องเป็นกลุ่มลูกเอื้อนก็ต้องเท่ากัน
ติณติณ: อาก็อทสอนเรื่องบุคลิกภาพ การดูแลตัวเอง การออกกำลังกาย เขาจัดตารางเวลาให้หมด ตื่นเช้า นับชั่วโมงนอน เวลากินก็ต้องกิน และเผื่อเวลาย่อย ทำทุกอย่างให้เป็นระเบียบเพราะส่งผลต่อร่างกาย และไม่เพียงแค่สอน อาก๊อทยังทำให้ดู เขาจัดตารางชีวิตตัวเองและทำตามนั้นอย่างเคร่งครัด
จุดเด่นของวง New Country
กีตาร์: เป็นวงตลกที่ร้องเพลงได้ (หัวเราะ)
เอ็มโบ: เป็นบอยแบนด์ลูกทุ่ง เราโชว์ลูกทุ่งสไตล์ใหม่ๆ แต่หางเสียงซึ่งเป็นเอกลักษณ์ยังคงอยู่ เช่น ท่อน เฮ้ ในเพลง Stand by หล่อ ที่ต้องขึ้นไฮโน้ตก็เป็นเสียงนาสิกสไตล์ลูกทุ่ง
อยู่ด้วยกันเป็นบอยแบนด์ต้องปรับตัวเข้าหากันยังไง
กีตาร์: ต้าร์เป็นคนแอ็กทีฟมาก ลุงก๊อทจะให้ต้าร์ไปอยู่กับพี่ติณ เพราะเขานิ่ง ส่วนพี่ติณต้องอยู่กับต้าร์เพื่อกระตุ้นเอเนอร์จีขึ้นมา ลดพลังต้าร์ และเพิ่มพลังพี่ติณ
เอ็มโบ: พวกเราทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบและตารางเวลาเดียวกัน จึงเหมือนพวกเราปรับตัวเข้ากับตาราง จนหลอมรวมเข้าด้วยกันเอง
ความประทับใจในตัวเมมเบอร์
ติณติณ: ผมเข้ามาทีหลัง สามคนเขาซ้อมด้วยกันก่อน ตอนแรกจึงเกร็งๆ เรายิ่งเข้าสังคมยากอยู่ด้วย ไม่รู้เขาจะต้อนรับเรารึเปล่า แต่ทุกคนเป็นมิตรมาก ดูแลเราในช่วงแรกที่ยังไม่รู้อะไรเลย จนสุดท้ายก็กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันครับ
เอ็มโบ: ติณติณเข้ามาทีหลังแต่พวกเราก็เชียร์ตั้งแต่ประกวด ยังคุยกันว่าคนนี้มีแวว น้องก็เข้ามาเติมเต็ม นุอยู่ทีมเดียวกันเลยสนิทตั้งแต่ต้น ส่วนกีต้าร์เป็นน้องเล็กสุดในการประกวด ส่วนเอ็มโตสุดในการประกวด ต้าร์ก็ชอบมาอยู่ด้วย คงมองเราเป็นผู้ใหญ่ในบ้านแล้วช่วยมันได้ เลยชอบมาคลุกคลีด้วย (หัวเราะ)
นุ: กีตาร์เอเนอร์จี้เยอะสุดในวง ติณได้ความรู้ใหม่ๆ พี่เอ็มเป็นที่พึ่งของน้องๆ
กีตาร์: พี่ติณเป็นพี่ที่ดูเป็นวัยรุ่น พี่นุก็โตขึ้นมาดูมีความคิด พี่เอ็มเป็นปรมาจารย์ รุ่นใหญ่ ถ้ารวมสองสาวด้วย พี่กิ๊กเป็นคุณยายเพราะขี้บ่น บ่นยิ่งกว่ายายผมอีก ส่วนมัทรีเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันสายฮา ตัวป่วน
พูดถึงเพลง Stand by หล่อ และเฉือนใจ
เอ็มโบ: เพลง Stand by หล่อ และเฉือนใจ อัดพร้อมกัน ยากคนละแบบ เพลงเร็วร้องยังไงให้สนุก เพลงช้าร้องยังไงให้เข้าถึงอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงเฉือนใจที่ร้องยังไงก็ไม่ผ่านสักที เข้าไม่ถึงอารมณ์ที่อาก๊อทคิดไว้ อย่างกีต้าร์ยังเด็ก ไม่มีประสบการณ์ความรักที่เจ็บปวดขนาดนี้ ก็ต้องใช้วิธีคิดถึงความเจ็บปวดอื่น จนอาก๊อทบอกว่าถ้าไม่ไหวเขาร้องเองก็ได้ เลยหยุดอัดเพลงนี้จนติณติณเข้ามา ก็ปัดฝุ่นอัดใหม่ สลับท่อนร้อง ทุกคนร้องทุกท่อนก่อน แล้วอาค่อยเลือกว่าใครเหมาะท่อนไหน อัดเพลงนี้กันเป็นปี กว่าจะสำเร็จก็เจออุปสรรคหลายอย่าง
ติณติณ: ผมชอบเดินไปถามฟีดแบ็กกับกีต้าร์ เช่น เวลาเดินไปซื้อชาเย็นก็จะถาม พี่ๆ รู้จักเพลง “โดนัทยังมีรู” ป่ะ (หัวเราะ)
กีต้าร์: ใช่ เวลาไปขึ้นรถไฟฟ้ากับพี่ติณแล้วเขาเปิดเพลง เราก็จะมองหน้าคนรอบข้าง มีใครกำลังดูอยู่บ้าง แล้วเขาจะรู้ไหมว่าเราอยู่ในรถด้วย (หัวเราะ)
เหตุการณ์ไม่คาดคิดเมื่อเป็นศิลปินตัวจริง
เอ็มโบ: เราเดินสายก็จะเจอเวทีหลากหลายรูปแบบ บางเวทีแคบจนต้องปรับท่าเป็นยืนเรียงหน้ากระดาน บางเวทีเป็นตัวไอ บางเวทีเป็นขั้นบันได และเราไม่สามารถขึ้นไปซ้อมได้ทุกเวที อาศัยให้ทีมงานส่งรูปเวทีมาก่อน แต่มีหลายครั้งที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และเอ็มจะให้ความสำคัญแก่คำแรกที่ร้อง เพราะอาก๊อทสอนเสมอว่าคำแรกที่ร้องสำคัญมาก ถ้าคำแรกดี ทุกอย่างจะลื่นไหล มีกำลังใจ จึงต้องเช็กตลอดว่าเวทีนี้มอนิเตอร์อยู่ซ้ายหรือขวา เสียงไมค์เป็นยังไง ใส่หูฟังไหม เตรียมพร้อมทุกด้าน
ลูกทุ่งรุ่นใหม่ปักธงเป้าหมายไว้ตรงไหน
เอ็มโบ: เราอยากให้ New Country เป็นตัวแทนศิลปินไทยสู่สากล ไม่มีใครถ่ายทอดดนตรีไทยได้ดีเท่าเรา ต่อให้การเอื้อนของลูกทุ่งจะคล้าย R&B แต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว ฝรั่งฟังยังว้าวว่าร้องแบบนี้ได้ด้วยเหรอ
ติณติณ: ผมอยากเห็นสีสันวงการลูกทุ่งที่มีลักษณะนอกกรอบ ผมเคยถามผู้จัดการว่า New Country คือลูกทุ่งรุ่นใหม่ใช่ไหม แล้วเวลาที่ทำเพลงหรือร้องเพลง ผมต้องยึดมั่นในความเป็นลูกทุ่งขนาดไหน ต้องเอื้อนมากแค่ไหน คำตอบที่ได้คือ New Country คือตัวตนของเรา คือวิธีการร้องของเรา ไม่ต้องพยายามเป็นอะไรนอกจากตัวเรา ความรู้สึกของผมเหมือนถูกปลดล็อก ผมเห็นความเป็นไปได้ต่างๆ นานาของแนวเพลงลูกทุ่ง จับตรงนั้นมาใส่ตรงนี้ ให้เกิดสีสันใหม่ๆ แก่วงการ อยากเห็นว่าพวกเราจะเล่นนอกกรอบกันขนาดไหน สร้างสีสันใหม่ๆ อะไรบ้าง ส่วนวง New Country ก็อยากไปให้ถึงระดับโลก แต่ตอนนี้ขอทำซิงเกิล 3 ให้เสร็จก่อนนะครับ (หัวเราะ)
สมัยนี้มีแนวเพลงที่ฮิตในหมู่วัยรุ่นหลายแนว ทำไมทุกคนถึงยังชื่นชอบลูกทุ่ง
นุ: ผมว่าเป็นสำเนียง ความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนแนวเพลงอื่น อาจมีความคล้ายแต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว เช่น พวกลูกเอื้อน เราเลยสนุกกับการร้องมากกว่า เราสามารถเล่นเสียงได้และทำให้เพลงเพราะขึ้น
กีต้าร์: ต้าร์เป็นเด็กสมัยใหม่ก็ฟังเพลงหลายแนว ฮิปฮอป พ็อป แจซ เพราะเราอยากร้องได้หลากหลาย แต่สุดท้ายก็ยังร้องเพลงลูกทุ่ง ไม่คิดเปลี่ยนแนว
เอ็มโบ: เอ็มก็ฟังได้ทุกแนว แต่ของผมคงเป็นด้วยสายเลือดด้วยแหละ เราซึมซับมาตั้งแต่เกิด ต่อให้ไปร้องแนวอื่นก็ยังมีความเป็นลูกทุ่งของเราปนอยู่
ติณติณ: ผมร้องได้ทุกแนว แรปก็ได้ อาก๊อทก็สอน อาก๊อทเป็นคนทลายกรอบของแนวเพลง ทว่าทำไมถึงร้องลูกทุ่งนั้น ผมว่านี่คือตัวตนของผม ผมมักคิดนะว่าถ้าเพลงนี้ติณติณร้องจะเป็นยังไง สุดท้ายเทคนิคที่เราฝึกฝน ประสบการณ์ที่บ่มเพาะ ก็กลายเป็นแนวการร้องแบบนี้
สิ่งที่ผลักดันเราให้ก้าวเดินมาถึงจุดนี้คืออะไร
นุ: ความฝันของเรา และความฝันของแม่ซึ่งอยากเห็นเราเป็นศิลปิน จึงผลักดันเรื่อยมา
กีต้าร์: ต้าร์อายุแค่ 17 ปี จึงรู้สึกว่าตัวเองยังมีโอกาสทำอะไรได้อีกหลายอย่าง ถ้าเอาแต่ใจ ต้าร์คงออกไปนานแล้ว แต่ทั้งหมดที่ทำเพื่อยาย เพื่อครอบครัว เป็นแรงให้เราลืมตาตื่นแล้วบอกตัวเองว่า ต้องทำได้
ติณติณ: คำด่าของแม่ครับ (หัวเราะ) ล้อเล่น เวลาที่ผมได้ยินคำติชม ก็รู้สึกอยากเอาชนะให้ได้ เช่น เวลาอาก๊อทคอมเมนต์ไม่ว่าจะเต้นหรือร้อง ผมอยากพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าทำได้นะ ผมตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกนี้แหละมั้ง คือต้องทำให้ดีกว่าเมื่อวาน
เอ็มโบ: ทุกอย่างที่เป็นอยู่นี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าอาก๊อทไม่ผลักดัน อาทำให้เอ็มรู้สึกว่าต้องมีไฟอีกครั้ง เราไม่ได้ทำเพื่อครอบครัวหรือเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อให้ได้คำชมจากอา เพราะเขาคือคนที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้ New Country ยิ่งกว่าใคร เขาสละเวลาถึง 3 ปี เพื่อปั้นโพรเจกต์นี้ด้วยตัวเอง ไม่รับงานคอนเสิร์ต ไม่รับโฆษณา เงินตั้งเท่าไหร่ที่อาปฏิเสธไป อาบอกว่าไม่มีสมาธิถ้าทำหลายอย่าง เลยเป็นแรงผลักดันให้เราต้องเก่งขึ้น พัฒนาขึ้นทุกวัน ให้สมกับความทุ่มเทของอา
ขอบคุณสถานที่
MeStyle Museum Hotel
99 ซอยประชาราษฏร์บำเพ็ญ19 แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
Tel: 02 690 8899 / Line Official: @mestylehotelgroup
คอลัมน์: เรื่องจากปก