เรียนก็ไม่เรียน อบรมก็ไม่อบรม งานก็ไม่ทำ (NEETs)

-

วันนี้ขอตอบคำถามเรื่องนีตส์ หรือ NEETs ซึ่งย่อมาจาก Not in Education, Employment or Training ผมแปลว่า “เรียนก็ไม่เรียน ทำงานก็ไม่ทำ อบรมก็ไม่อบ” คือพูดง่ายๆ ว่าคนรุ่นใหม่ที่อะไรก็ไม่เอา  

งานวิจัยที่สนับสนุนโดย สสส. พบว่านีตส์ไทยมีอยู่ร้อยละ 13.7 ของเยาวชนทั้งหมด ซึ่งใกล้เคียงกับของฝรั่ง แต่ที่แตกต่างจากฝรั่งคือนีตส์ฝรั่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาส คือเป็นคนจน มีภาระทางบ้าน เข้าไม่ถึงการศึกษาและตลาดแรงงาน แต่นีตส์ไทยส่วนใหญ่เป็นเยาวชนในครัวเรือนรายได้สูง ทั้งที่มีโอกาสทางสังคมและการศึกษามากกว่า งานวิจัยนี้พบว่านีตส์ในกลุ่มลูกคนรวยเกิดจาก (1) ขาดแรงจูงใจ ไม่เห็นว่าการศึกษาหรือการทำงานจะให้อะไรแก่เขา ซึ่งความคิดนี้ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการประเมินตัวเองว่าไม่สามารถเรียนได้จึงหันหลังให้ซะเลย (2) ไม่รู้ว่าตนเองต้องการทำงานอะไร (3) ประเมินศักยภาพตัวเองต่ำ มองว่าตนไม่สามารถ (4) ผู้ปกครองไม่เห็นว่าเป็นปัญหา จึงปล่อยไป (5) ส่วนหนึ่งไม่ทำงานเพราะอยากทำงานสมัยใหม่ เช่นทำอะไรแบบ “อี” คือทำบนอินเทอร์เน็ต เช่น อยากเป็นนักกีฬา esports (ซึ่งฝึกทักษะผ่านการเล่นเกมคอมพิวเตอร์) 

ผมขอข้ามไปไม่พูดมากในส่วนของข้อมูลความจริงที่ได้จากการวิจัย แต่จะรวบรัดตอบวิธีแก้ปัญหานีตส์แบบแหกคอกนิดๆ ตามสไตล์หมอสันต์ คือ

  1. ถ้าคนเป็นนีตส์ไม่ไปก่อความเดือดร้อนแก่คนอื่น หมายความว่าพ่อแม่เลี้ยงเขาได้ ปล่อยเขาเหอะ อย่าไปยุ่งกับเขาเลย เพราะสังคมไทยทุกวันนี้ก็โอบอุ้มเลี้ยงดูคนทุกวัยที่เป็นนีตส์โดยพฤตินัยในรูปแบบต่างๆ อยู่หลายล้านคน ซึ่งผมขอไม่ชี้แจงในรายละเอียด แต่ถึงจะมีนีตส์ทุกวัยจำนวนหลายล้าน เราคนไทยก็อยู่กันได้เพราะเราไม่ไปยุ่งอะไรกับพวกนีตส์เขา เห็นมั้ย มันมีความลงตัวอยู่
  2. ในกรณีที่คนเป็นนีตส์หมดคนเลี้ยงดู เช่นพ่อแม่ของเขาตาย หรือสมบัติของเขาหมดเกลี้ยง หรือองค์กรใจบุญที่เลี้ยงดูเขาอยู่เกิดเจ๊งไม่มีเงินเลี้ยง เขาจะหายจากการเป็นนีตส์เอง ท่านสาธุชนทั้งหลายอย่ากังวลไปเลย
  3. สำหรับพ่อแม่ของเด็กวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่เป็นนีตส์ ผมแนะนำวิธีแก้ปัญหาว่าให้ยอมรับเขาตามที่เขาเป็นก่อน แทนที่จะบ่นหรือแช่งชักหักกระดูกกันทุกวันแต่ก็ทิ้งลูกไปไหนไม่ลง ยอมรับกันและยิ้มให้กันให้ได้ก่อน ชีวิตในรังนกนีตส์มันจะได้ไม่มีแต่อับเฉาขุ่นเคือง ถ้าพ่อแม่ยังมีพลัง ก็อย่าหยุดที่จะฝึกสอนลูกนีตส์ ด้วยการมอบหมายถ่ายทอดความรับผิดชอบในเรื่องง่ายๆ ให้ทีละนิดๆ อย่างอดทน เหมือนคนฝึกน้องหมาให้ทำนั่นทำนี่ไปทีละอย่าง บางครั้งน้องหมาเหมือนจะพูดรู้ภาษา แต่บางครั้งน้องหมาก็ไม่รู้ภาษาดื้อๆ ให้ทำใจอย่างนี้ เมื่อใดที่เราไม่อยากให้อะไรเขาอีกต่อไปแล้วก็ค่อยใช้ไม้สุดท้าย คือหนีจากลูกไปดื้อๆ ทิ้งบ้านไว้ให้ลูกอยู่แต่ตัวพ่อแม่หลบหนีไปตั้งต้นชีวิตใหม่ที่สงบเย็นกว่าในที่อื่นโดยบอกไม่กล่าวให้ลูกรู้ว่าไปอยู่ไหน
  4. สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นพ่อแม่ แต่ต้องมารับภาระเลี้ยงดูคนเป็นนีตส์ เช่น ลูกคนที่ขยันทำมาหากิน เพราะเงินที่หามาเป็นค่าเลี้ยงดูพ่อแม่จะถูกพ่อแม่ยักย้ายเอาไปเลี้ยงลูกคนอื่นที่เป็นนีตส์โดยอัตโนมัติ ในชนบทมีปัญหาแบบนี้มากจริงๆ เพราะบางครอบครัวในชนบทมีลูกเป็นนีตส์หลายคน แต่มีลูกขยันแค่คนเดียว ลูกขยันนี้เลยแบนแต๊ดแต๋ ลูกนีตส์อยากได้อะไรก็ออดอ้อนหรือไม่ก็ออกอาการ ดราม่า ทุบบ้านพัง รังควานพ่อแม่ พ่อแม่จึงมารีดเอาจากลูกขยัน พอลูกขยันไม่ให้ พ่อแม่ก็น้อยอกน้อยใจ ถึงขั้นฆ่าตัวตายประชดลูกขยันก็มี สำหรับคนหัวอกลูกขยันนี้ผมแนะนำว่าให้ยอมรับพี่น้องนกนีตส์ตามที่เขาเป็น ยิ้มให้กันให้ได้ทุกวันก่อน ถ้ามีกำลังและยังมีเมตตาธรรมพอก็ช่วยๆ กันไป คิดเสียว่าชั่วดีถี่ห่างก็เป็นพี่น้องคลานตามกันออกมา ถ้าสงเคราะห์เขาได้ ก็เป็นการทำบุญอย่างใหญ่ ถ้าแบกรับต่อไปไม่ไหวก็ใช้สูตรมาตรฐานคือหนี หนีไปมี ผ. หรือมี ม. บ้างหนีไปบวชพระบวชชี สุดแล้วแต่ถนัด มีบ้างที่หนีไปไหนไม่รู้ คือหายตัวไปเลยโดยทิ้งจดหมายไว้ให้พ่อแม่ว่าผมไม่ไหวแล้ว แล้วก็หายตัวแว้บไป เมื่อตัดสินใจหนีแล้วก็ไม่ต้องมาอาลัยอาวรณ์ คิดเสียว่าไม้ท่อนหนึ่งลอยมาพบไม้อีกท่อนหนึ่งกลางมหาสมุทรแล้วจากกันไปฉันใด การได้พบกันของผู้เกิดมาก็ฉันนั้น อมิตาภะ พุทธะ นี่คือคำแนะนำฉบับหมอสันต์ หิหิ

คอลัมน์: สุขภาพ

เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!