ฉบับที่แล้วได้เขียนถึงสำนวนไทยที่เกี่ยวกับเป็ดคือ “รู้อย่างเป็ด” ไปแล้ว ผู้เขียนคิดว่ายังมีสำนวนที่เกี่ยวกับเป็ดที่น่าสนใจอีก ได้แก่ น้ำท่วมหลังเป็ด เป็ดง่อย เป็ดขันประชันไก่
น้ำท่วมหลังเป็ด
เป็ดเป็นสัตว์ปีกในวงศ์นกเป็ดน้ำที่มีขนาดเล็กกว่าห่าน สามารถพบได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย เป็ดมีปากแบนและตีนแบน นิ้วตีนเป็ดมีแผ่นผังผืดระหว่างนิ้วทั้งสามนิ้ว ซึ่งช่วยให้ตีนพุ้ยน้ำได้ ทำให้ว่ายน้ำได้ดี อาหารของมันคือ พืชน้ำ หอย ปู ปลา และสัตว์เล็กๆ ตามผิวน้ำ ขนเป็ดเป็นมันเพราะเป็ดมีต่อมผลิตน้ำมัน ขนของเป็ดจึงเคลือบด้วยไขมันที่กันน้ำได้เป็นอย่างดี น้ำไม่สามารถซึมเข้าไปในขนชั้นในได้ ขนจึงไม่เปียก แม้หยดน้ำลงบนขนเป็ดเท่าไร น้ำก็ไหลกลิ้งออกไปจนหมด ดังนั้นน้ำจะไม่มีวันท่วมหลังเป็ด เป็ดจึงลอยน้ำได้ ด้วยลักษณะรรมชาติดังกล่าวนี้เอง จึงมีผู้นำ “น้ำท่วมหลังเป็ด” มาใช้เป็นสำนวนไทย
สำนวน “น้ำท่วมหลังเป็ด” ใช้ในความหมายเปรียบว่าไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ หรือไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ว่าจะนานแค่ไหน เช่นเมื่อเชิดเชียร์นัทไปลงสมัครแข่งขันกีฬาแบดมินตันกับแชมป์นักกีฬาโรงเรียนประจำจังหวัด นัทหัวเราะสั่นหัวแล้วพูดขึ้นว่า “โธ่! เล่นได้ระดับข้าเนี่ยนะ จะให้ไปแข่งกับเขา รอให้น้ำท่วมหลังเป็ดก่อนเถอะ ฝันถึงจะเป็นจริงที่พอจะเอาชนะเขาได้”
เป็ดง่อย
“ง่อย” แปลว่า อาการแขนหรือขาพิการเคลื่อนไหวไม่ได้อย่างปกติ เป็ดง่อยจึงเป็นเป็ดที่นอนอยู่นิ่งๆ ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ได้มีผู้นำ “เป็ดง่อย” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบที่สื่อความหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม
สำนวน “เป็ดง่อย” ใช้เปรียบกับคนที่กำลังจะหมดหน้าที่ในตำแหน่งที่ดำรงอยู่ แต่ใกล้จะถึงเวลาที่จะต้องถูกย้ายไปรับตำแหน่งใหม่เพราะมีคนใหม่จ่อจะมาครองตำแหน่งแทนตนอีกไม่นาน หรือใช้กับบางคนที่ใกล้จะเกษียณอายุราชการก็มักจะปล่อยปละละเลยไม่ค่อยเข้มงวดในการทำงาน คิดว่ารอให้คนใหม่เข้ามาบริหารหรือสานงานต่อตามหน้าที่ เช่น ตอนหนึ่งวิลาสพูดกับสมนึกเพื่อนสนิทว่า “แกรู้สึกไหมว่า ผอ.ของเราตอนนี้ดูเหมือนเป็นเป็ดง่อย ดูเฉื่อยๆ ในการทำงานอย่างเห็นได้ชัด ไม่แอ๊คทีฟเหมือนเมื่อก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งให้ย้ายไปอยู่กองอื่นที่เล็กกว่าสำคัญน้อยกว่าที่เก่า”
เป็ดขันประชันไก่
“ประชัน” แปลว่า อาการที่แข่งขันเพื่อให้รู้ว่าใครแสดงได้ดีกว่าหรือเก่งกว่ากัน โดยธรรมชาติเป็ดจะไม่ขันแต่จะร้องดังก้าบๆ ซึ่งถ้าเป็ดพากันส่งเสียงร้องออกมาพร้อมๆ กันก็จะหนวกหู ส่วนไก่จะขันเอ๊กอี๋เอ๊กเอ๊กซึ่งมีความไพเราะเสนาะหูมากกว่า เมื่อนำเสียงร้องของเป็ดและเสียงขันของไก่มาแข่งกัน เป็ดย่อมสู้ไก่ไม่ได้ เพราะเป็ดขันไม่ได้
เมื่อนำ “เป็ดขันประชันไก่” มาใช้เป็นสำนวนจึงมีความเปรียบที่สื่อความหมายว่ายากที่จะแข่งขันชนะ เช่น เมื่อแก้วเชียร์ให้นุชไปประกวดร้องเพลงในรายการดังรายการหนึ่งในโทรทัศน์ นุชตอบว่า “เธอเซี้ยวแล้วแน่ๆ ร้องแบบเป็ดอย่างฉันรึจะไปขันสู้ไก่ขันได้ อย่างโบราณเขามีสำนวนว่า “เป็ดขันประชันไก่” ไง ขืนไปแข่งก็แพ้ลูกเดียว ไม่เอาหรอกฉันอาย”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์