ตัวอักษรของนักเขียนผู้นี้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากต่างแดน เพื่อมอบความสุขให้แก่นักอ่านไทย ครั้งนี้ถือเป็นการสนทนาระยะทางไกลที่สุดของคอลัมน์ถนนวรรณกรรม เพราะนักเขียนหญิงนามปากกา “นาคเหรา” หรือ สุธารินี ลี ที่เราสนทนาด้วยนั้นเธออาศัยอยู่ในประเทศเกาหลีใต้ “นาคเหรา” ส่งตัวอักษรและเรื่องเล่าอิงประวัติศาสตร์เกาหลีมาให้ผู้อ่านชาวไทยได้รู้จักเธอผ่านช่องทางออนไลน์ และโด่งดังมากขึ้นเมื่อนิยายของเธอลงในเว็บไซต์ “อ่านเอา” พร้อมตีพิมพ์เป็นเล่ม ได้แก่ ภูษาแห่งราชา สูตรลับตำรับชายา เธอยังพิสูจน์ฝีมือจากเวที “ช่องวันอ่านเอา” การประกวดพล็อตละครจากนักเขียนมืออาชีพ ซึ่งนิยาย จากฮันกังถึงเจ้าพระยา คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง
การเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์นั้น นักเขียนทุกคนต่างรู้ว่าไม่ใช่งานง่าย ยิ่งประวัติศาสตร์ต่างชาติด้วยแล้วย่อมยากยิ่งขึ้นไปอีก เราจึงอยากชวนคุณมาทำความรู้จักนักเขียนหญิงผู้ซึ่งหลงใหลในพระราชวังและประวัติศาสตร์เกาหลีคนนี้กัน
ก้าวแรกบนถนนวรรณกรรมของคุณเกิดขึ้นได้อย่างไร
ความสนใจในการเขียนนั้น เริ่มมาจากการอ่านค่ะ นาคเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก พอเป็นครูก็เห็นเด็กๆ ไม่ค่อยอ่านหนังสือกัน เลยลองเขียนนิยายเป็นตอนๆ ให้นักเรียนลองอ่านดู (ปัจจุบันยังเป็นนิยายที่เขียนไม่จบสักที) แต่พอย้ายมาอยู่เกาหลีการเขียนหนังสือก็ต้องหยุดไป เพราะต้องเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี กลับมาเขียนนิยายจนจบได้จริงๆ คือตอนที่ป่วยเป็นมะเร็งไทรอยด์ค่ะ ในตอนนั้นเรารู้สึกกลัวมาก แต่คุณหมอที่รักษาถามเราว่า อยากทำอะไรมากที่สุด นาคตอบไปว่าอยากเขียนหนังสือสักเรื่อง คุณหมอจึงสนับสนุนให้เรากลับไปเขียนหนังสือนะ ส่วนด้านการรักษาหมอก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด คุณหมอให้ใช้การเขียนบำบัดความวิตกกังวลจากการรักษา ซึ่งผลลัพธ์เป็นไปในทางที่ดีค่ะ เพราะหายจากโรคมะเร็ง แต่ยังเป็นไทรอยด์อยู่และต้องกินยาตลอดชีวิต นิยายเรื่องแรกจึงเขียนขึ้นตอนใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลเสียส่วนใหญ่
มีนักเขียนท่านใดที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณบ้าง
ชอบงานของอาจารย์ “โบตั๋น” (สุภา สิริสิงห) มากค่ะ ตอนเป็นเด็กนิยายเรื่องแรกที่อ่านคือ ตราไว้ในดวงจิต และตามอ่านงานของท่านมาตลอด เพราะเป็นงานที่อ่านง่าย สะท้อนความเป็นจริงในสังคม และตัวละครเอกเข้มแข็งมาก อย่าง ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด นี่นาคชอบมากค่ะ โดยเฉพาะวิธีคิดของเธอ
ทำไมถึงสนใจเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ของประเทศเกาหลี
ช่วงที่เรียนระดับมหาวิทยาลัย นาคเรียนเอกประวัติศาสตร์และชอบประวัติศาสตร์เกาหลีมาก พอได้มาอยู่เกาหลีจริงๆ ก็ชอบเดินชมพระราชวังของเกาหลี เมื่อมาเขียนนิยายจึงอยากเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเกาหลี เราเริ่มต้นจากสิ่งที่เราชอบและหลงใหล และพอได้ทำสิ่งที่เราชอบก็ยิ่งรู้สึกสนุกตลอดเวลาที่ได้เขียนค่ะ
ผลงานเรื่องแรก หอมกลิ่นมินดัลแร ใช้เวลาเขียนถึง 2 ปี อะไรคือแรงบันดาลใจในผลงานชิ้นนี้
หอมกลิ่นมินดัลแร มีแรงบันดาลใจมาจากคุณหมอที่รักษานาค ดอกแดนดิไลออน และการไปเดินหลุมฝังพระศพของพระราชาคยองจงที่ 20 แห่งโชซอน ซึ่งพระราชาองค์นี้เป็นพระราชาที่มีพระพลานามัยอ่อนแอ ความรู้สึกที่เขียนในตอนนั้นคืออยากจะเข้มแข็งเหมือนดอกหญ้าท่ามกลางหิมะ เรื่องราวที่ถ่ายทอดในนิยายเรื่องนี้จึงเหมือนยาที่รักษาหัวใจค่ะ
คุณใช้ตัวละครที่เป็นคนเกาหลี แทนการใช้ตัวละครที่เป็นคนไทย แล้วใช้การเล่าแบบข้ามภพหรือข้ามมิติ ทำไมจึงเลือกวิธีการนำเสนอเช่นนี้
ที่จริงเรื่องย้อนเวลาที่มีตัวละครไทยมาเกี่ยวข้องก็มีนะคะ อย่างเรื่อง หอมกลิ่นมินดัลแร จะเป็นสาวไทยย้อนเวลามาในสมัยโชซอน แล้วเข้าร่างของสาวเกาหลีในยุคนั้น ทว่าเรื่องหลังๆ นาคใช้ตัวละครเป็นคนเกาหลีเลย เพราะอยากให้ตัวเอกเป็นคนในสมัยนั้นจริงๆ เพื่อจะได้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการนำเสนอแกนเรื่องหลักซึ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกาหลี เช่น ภูษาแห่งราชา เป็นการนำเสนอวัฒนธรรมอาภรณ์ในราชสำนัก ผ่านตัวนางเอกที่เป็นช่างภูษาในสมัยจักรวรรดิเกาหลี หรือ สูตรลับตำรับชายา นำเสนอวัฒนธรรมอาหารเกาหลี ทั้งตำรับราชสำนักและตำรับพื้นบ้านโบราณค่ะ
กังวลไหมว่าผู้อ่านจะอินกับประวัติศาสตร์เกาหลีรึเปล่า เพราะแทบไม่มีนักเขียนไทยที่เขียนแนวอิงประวัติศาสตร์เกาหลีเลย
แรกๆ ก็กังวลนะคะ แต่หลายปีที่ผ่านมามีซีรีส์เกาหลีมาฉายให้คนไทยได้ดูเยอะแยะค่ะ และถึงแม้ว่าคนไทยอาจยังไม่คุ้นกับการอ่านนิยายแนวอิงประวัติศาสตร์เกาหลี ยิ่งเมื่อเทียบกับนิยายจีนหรือนิยายไทยซึ่งมีให้เห็นมากกว่า แต่เชื่อว่าถ้าได้ลองอ่านแล้ว นักอ่านก็สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากค่ะ
รู้สึกอย่างไรกับการเป็นคนไทยแต่เขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ของต่างชาติ
ก็มีเกร็งๆ บ้างค่ะ แต่ชอบแนวนี้เราเลยรู้สึกสนุกที่ได้เขียน แม้เราจะใช้สายตาของชาวต่างชาติในการตีความและนำเสนอ แต่เราก็ต้องค้นคว้าแล้วเทียบข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ
มีอุปสรรคในการค้นคว้าบ้างรึเปล่า
ความยากในการทำงานคือ การเทียบเคียงข้อมูลจากหลายๆแหล่ง และใช้ดุลยพินิจโดยไม่ใส่อคติเข้าไป ในการเขียนเราต้องค้นหาปมเด่นของประวัติศาสตร์ช่วงเวลานั้นๆ และค้นหาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง คัดกรองส่วนที่นำมาใช้ โดยมองทุกอย่างด้วยใจที่เป็นกลาง นอกจากต้องอ่านเยอะแล้ว นาคยังไปสำรวจแหล่งข้อมูลยังสถานที่จริงด้วยค่ะ
เริ่มแรกเผยแพร่ผลงานช่องทางไหนบ้าง
แรกเลยเขียนลงเว็บไซต์บ้านมหาดอทคอม เขามีมุมนักเขียน เป็นการแชร์ให้สมาชิกในเว็บไซต์อ่านกันฟรีๆ จนมาเขียนเรื่องยาวคือ หอมกลิ่นมินดัลแร เรื่องนี้ลงครั้งแรกที่เว็บไซต์เด็กดี และขายเป็นอีบุ๊คก่อน ปีต่อมาจึงพิมพ์เป็นเล่มจำหน่ายในรูปแบบพรีออเดอร์ค่ะ
ทำไมถึงเลือกทำหนังสือด้วยตนเองแทนการส่งสำนักพิมพ์
ซารังบุ๊คเน้นขายแบบพรีออเดอร์ และขายเป็นอีบุ๊คที่เว็บไซต์ meb ค่ะ เพราะการเขียนแนวเกาหลีเป็นแนวที่ไม่กว้างมาก หากเทียบกับแนวอื่น หากเราอยากเขียนหนังสือในแบบที่ชอบ การทำหนังสือเองก็ถือเป็นคำตอบ หนังสือของซารังบุ๊คเน้นแนวเกาหลีเป็นหลัก แต่ก็มีแนวไทยบ้าง จีนบ้าง ด้วยค่ะ
มาเขียนลงเว็บไซต์อ่านเอาได้อย่างไร
ช่วงต้นปี 2018 และได้พบกับพี่หมอพงศกร (จินดาวัฒนะ) ท่านบอกว่าจะเปิดนิตยสารออนไลน์ที่ลงทั้งบทความและนิยาย ซึ่งเปิดให้อ่านฟรี นาคเห็นว่าเป็นเรื่องดีค่ะ เพราะเราจะได้สร้างสังคมการอ่านให้แข็งแรงขึ้น คุณหมอจึงชวนให้นาคนำผลงานไปลงด้วย ต้องขอบพระคุณพี่ๆ ในเว็บไซต์อ่านเอาด้วยค่ะที่ให้โอกาสนาค เรื่องแรกที่ลงคือ ภูษาแห่งราชา เป็นนิยายพีเรียดอิงประวัติศาสตร์เกาหลีช่วงเปลี่ยนผ่านฉลองพระองค์ของพระจักรพรรดิโกจงแห่งเกาหลีค่ะ
การเขียนลงในเว็บไซต์อ่านเอาแตกต่างกับการเขียนก่อนหน้าบ้างไหม
แตกต่างก็คือรู้สึกอบอุ่นค่ะ แต่ก่อนเขียนคนเดียวรู้สึกเหงามาก เว็บอ่านเอาเหมือนบ้านหลังใหญ่ มีพี่ๆ นักเขียนเป็นเหมือนพี่เลี้ยงให้กำลังใจ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเขียน นาคว่าเป็นเรื่องดีเพราะทำให้เรามีวินัยมากขึ้น อย่างน้อยการได้เขียนและมีนักอ่านรออ่านก็สร้างกำลังใจให้แก่นักเขียน และทำให้โลกของนักเขียนกับนักอ่านใกล้กันมากขึ้นค่ะ
ในบรรดาผลงานทั้งหมด เรื่องไหนเขียนยากที่สุด
ถ้าเป็นเล่มที่ออกมาแล้ว ที่ยากที่สุดคือเรื่อง ตะวันลาอุษาคเนย์ เรื่องนี้แปดสิบเปอร์เซ็นต์ดำเนินเรื่องในประเทศไทย แต่คนเขียนอาศัยอยู่ที่เกาหลี จึงนึกภาพสถานที่ไม่ออก เรื่องนี้ที่เขียนช้าเพราะต้องไปสำรวจเส้นทางรถไฟสายมรณะที่เหลืออยู่ ต้องไปพิพิธภัณฑ์สงครามเพื่อหาข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หาบทสัมภาษณ์คนที่มีชีวิตในสมัยนั้น และหาเอกสารช่วงสงครามโลกในพื้นที่จังหวัดราชบุรีค่ะ พอได้อ่านได้ดูบ่อยๆ ก็เริ่มเกิดภาพในหัว จนสามารถเขียนนิยายเรื่องนี้จบค่ะ
มีเล่มโปรดไหม
ถ้าชอบที่สุดคือ ภูษาแห่งราชา เพราะสนุกกับการหาข้อมูล เกือบทุกสัปดาห์ต้องไปที่พระราชวังคยองบก พระราชวังท็อกซูกุง และพิพิธภัณฑ์ นาคชอบการเดินสำรวจ พอมีเวลาว่างก็มักอ่านบล็อกดูรูปเก่าๆ สมัยก่อน ยิ่งเขียนก็ยิ่งรู้สึกเข้าใจทุกตัวละคร จึงเป็นนิยายขนาดยาวที่เขียนจบเร็วมากค่ะถ้าเทียบกับเรื่องอื่น
เล่มไหนเป็นเล่มที่ขายดีที่สุดคะ แล้วความพิเศษของเล่มนั้นคืออะไร
ถ้าขายดีที่สุดน่าจะเป็น สูตรลับตำรับชายา เรื่องนี้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์กรู๊ฟพับลิชชิ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหารเกาหลีและการแย่งชิงตำแหน่งสุดยอดแม่ครัวแห่งโชซอน เสน่ห์ของเรื่องนี้อยู่ที่อาหารอันหลากหลายในทุกภูมิภาคของเกาหลี ตั้งแต่เหนือจรดใต้ รวมทั้งอาหารในราชสำนักเกาหลี เรื่องนี้ได้รับความสนใจในเว็บอ่านเอาเมื่อครั้งลงเป็นตอนๆ มีนักอ่านเข้ามาคุยเกี่ยวกับนิยายเรื่องนี้เยอะมากค่ะ
คุณยังมีผลงานชุด วงศ์พันคมเดอะซีรีส์ ซึ่งเป็นเรื่องราวในไทย อยากให้เล่าถึงผลงานชุดนี้หน่อย
นิยายชุดนี้เกิดจากความคิดถึงบ้านค่ะ บ้านที่จังหวัดชัยภูมิ เลยเขียนเรื่องรักฉบับบ้านๆ ที่เกิดขึ้นในตำบลสมมติแห่งหนึ่ง ในชัยภูมิ เป็นความรักของคนในตำบลหนองส่องแมว เนื้อเรื่องก็จะสบายๆ มีความน่ารักของชาวบ้าน ประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้าน การเขียนนิยายชุดนี้ช่วยคลายความคิดถึงบ้านเกิด
เล่าถึงผลงานที่ชนะการประกวดพล็อตละคร “ช่องวันอ่านเอา” หน่อย
สำหรับผลงานที่ชนะการประกวดช่องวันอ่านเอาชื่อเรื่อง จากฮันกังถึงเจ้าพระยา เป็นนิยายย้อนยุค โรแมนติกดราม่า ว่าด้วยจรรยาบรรณการเป็นหมอที่ดี แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากคุณหมอที่รักษานาคค่ะ อีกส่วนก็เกี่ยวกับแม่น้ำสายหลักทั้งของไทยและเกาหลี เป็นเรื่องบังเอิญมากเพราะคิดพล็อตได้ตอนนั่งรถไฟข้ามแม่น้ำฮัน อยู่ๆ ก็คิดถึงแม่น้ำเจ้าพระยาของบ้านเรา เนื้อเรื่องหลักจึงเกี่ยวกับหมอชาวเกาหลีคนหนึ่งที่ลี้ภัยทางการเมืองมาอยู่ในดินแดนสยาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์
การเป็นนักเขียนที่อยู่ต่างแดนมีข้อจำกัดในการทำงานบ้างไหม
มีค่ะ เพราะไม่ได้ขลุกกับภาษาไทยในชีวิตประจำวัน จึงใช้ภาษาไม่ค่อยเก่ง เขียนสลับไปสลับมา บางทีนึกคำไม่ออกก็มี และอีกอย่างคือตามศัพท์สมัยใหม่ไม่ทันเลยค่ะ เวลาคุยกับเพื่อนหรือน้องที่อยู่เมืองไทยมีหลายคำมากที่เราไม่รู้จัก เรียกได้ว่ากว่าจะเข้าใจต้องใช้เวลา บางครั้งเราใช้คำไม่ถูกความหมาย แต่ได้พี่ๆ ในเฟซบุ๊กช่วยชี้แนะ อธิบายจนเข้าใจและนำมาใช้อย่างถูกต้อง
ปี 2021 จะได้เห็นผลงานใหม่อะไรจาก “นาคเหรา” บ้าง
ปี 2021 นาคมีนิยายเรื่องยาวอยู่สองเรื่องที่ต้องเขียนให้จบ เป็นนิยายภาคต่อของ จากฮันกังถึงเจ้าพระยา ตอนนี้เขียนไปได้บ้างแล้ว และอีกเรื่องเป็นพีเรียดอีสาน ชื่อเรื่อง เจาะเวลาหานายฮ้อย และยังมีนิยายสั้นๆ ที่จะลงในรูปแบบอีบุ๊คอยู่สามเรื่องคือ รักจากฉันถึงเธอ นายของแสน และ ฝากหทัยไว้กับเจ้า ซึ่งเป็นนิยายจีนสั้นๆ ใช้นามปากกา “อวิ๋นหลง” ค่ะ
การเขียนสำคัญต่อคุณอย่างไร
เมื่อก่อนการเขียนเคยเป็นยารักษาใจ ตอนนี้เปลี่ยนเป็นลมหายใจของนาคแล้วค่ะ ชีวิตนี้คงจะขาดการเขียนไม่ได้ เพราะการเขียนคือทุกอย่างของชีวิตของนาค
3 เล่มในดวงใจของ “นาคเหรา”
- ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด เขียนโดย “โบตั๋น”
เป็นเรื่องราวที่สอนให้เห็นถึงความคิดของตัวละคร
- คู่กรรม เขียนโดย “ทมยันตี” (วิมล เจียมเจริญ)
เป็นเรื่องที่หยิบมาอ่านบ่อยมาก เป็นนิยายรักเรื่องแรกที่อ่านแล้วรู้สึกเศร้าสะเทือนใจ แต่ก็สนุก
- รากนครา เขียนโดย ปิยะพร ศักดิ์เกษม
เป็นนิยายที่อ่านแล้วชอบมาก ใช้ภาษาได้ละเมียดละไม