แม้ปี 2563-64 ทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน เด็กหรือผู้ใหญ่ ล้วนเดือดร้อนเสียหายจากสถานการณ์โรคระบาดกันทั่วหน้า อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติเรามักได้เห็นพลังของคนไทย ความสามัคคี การร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกัน การระบาดของโควิด-19 ก็เช่นกัน เกิดกลุ่มอาสาต่างๆ ซึ่งรวมผู้คนจากหลากหลายอาชีพ ฐานะ และช่วงวัย ที่ไม่อาจละเลยความเดือดร้อนของเพื่อนร่วมชาติ จึงพยายามช่วยเหลือเท่าที่ทำได้อย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะหาสถานที่รักษา จัดหาอาหาร จัดหาของใช้จำเป็น หรือช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ออล แม็กกาซีน ฉบับนี้มีโอกาสได้สนทนากับอาสาสาว ซึ่งในสถานการณ์ปกติเรารู้จักเธอในฐานะ “ไอดอล” นามว่า นัชชี่ แห่งวง Akira-kurØ (อากิระ-คุโระ) แต่ในยามที่หลายคนใช้คำว่า “กลียุค” นี้ เธอไม่อาจอยู่เฉย ขอออกมาเป็นกำลังช่วยเหลือคนไทยในฐานะ “อาสาสมัคร” ของกลุ่ม Up for Thai
นัชชี่ : บทบาทอาสาสมัคร
นัชชี่ สาวน้อยที่มีแว่นตาเป็นเอกลักษณ์ เรียนจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เธอขอเดินตามความฝันแทนการทำงานตามสายที่เรียนมา ด้วยการเป็นไอดอล ในวงดนตรีแนวอัลเทอร์เนทีฟร็อคชื่อว่า Akira-kurØ ซึ่งถือเป็นวงดนตรีใต้ดิน ฟอร์มวงและทำเพลงกันเองโดยไม่มีค่ายใหญ่สนับสนุน หรือเรียกว่า จิกะไอดอล นัชชี่ทำตั้งแต่แต่งเพลงไปจนถึงกำกับเอ็มวีเอง ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยทำมาก่อนเลยในชีวิต เฉกเช่นการที่เธอมาเป็นอาสาครั้งแรก และรับหน้าที่ดูแลคลังให้แก่กลุ่ม Up for Thai
“นัชชี่เคยเป็นผู้ติดเชื้อโควิดในช่วงการระบาดที่ทองหล่อ โชคดีที่เป็นเคสสีเขียว ไม่มีอาการมาก แค่ง่วงนอน มีไข้ช่วงเช้ากับค่ำ เจ็บคอ และลิ้นรับรสเพี้ยน ตอนนั้นหมอเริ่มรักษาแบบเทเลคอม เป็นช่วงแรกของการรักษาแบบโฮมไอโซเลชั่น สิ่งที่เรารู้สึกไม่ใช่การกลัวโรค แต่เกรงใจคนรอบข้างมากกว่า กลัวจะเอาเชื้อไปติด และเข้าใจความลำบากของผู้ป่วย พอหายดีก็มีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง จึงตั้งใจอยากนำภูมิในตัวเราไปทำประโยชน์ดีกว่าอยู่เฉยๆ พอดีกับคุณชายอดัม (หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล) เป็นผู้ติดเชื้อเหมือนกัน และมีความคิดเช่นเดียวกันคือเห็นถึงความเดือดร้อน และอยากช่วยเหลือ จึงก่อตั้งกลุ่ม Up for Thai ขึ้น นัชชี่เป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มต้นเลย
“ชื่อกลุ่ม Up for Thai ตั้งเพื่อระลึกถึงคุณอัพ (กุลทรัพย์ วัฒนผล) นักกีฬาอีสปอร์ต ซึ่งเสียชีวิตจากโควิด-19 และเป็นเพื่อนกับคุณชายอดัม คุณอัพนั้นเป็นผู้ติดเชื้อที่รับผิดชอบต่อสังคม ไม่ออกจากบ้านไปไหน รอความช่วยเหลือจากรัฐซึ่งไม่ทันการ และเสียชีวิตลง ส่วน ‘ต้องรอด’ เป็นชื่อโครงการค่ะ
“ความตั้งใจแรกคือจะทำเป็นศูนย์ข้อมูล คล้ายกับกลุ่มเราต้องรอดของพี่ไดอาน่า จงจินตนาการ เป็นแชทบอทให้ข้อมูลว่าสามารถหาโรงพยาบาลตรวจได้ที่ไหน คุณส่งโลเคชั่นมาแล้วเราจะบอกว่ารอบตัวคุณมีที่ตรวจจุดใดบ้าง มีเตียงว่างกี่เตียง แต่พอทำไปเราพบว่าข้อมูลบางอย่างไม่มีการอัพเดทแบบเรียลไทม์ โครงการจึงไปต่อไม่ได้ เราจึงพักเรื่องศูนย์ข้อมูลแล้วหันมาทำโรงครัวแทน เราเห็นปัญหาของผู้กักตัวอยู่บ้านคือเขาไม่มีกิน เป้าหมายของเราตอนนั้นคือช่วยให้คนที่กักตัวไม่อดตาย โดยทำกับข้าวแล้วนำไปส่งให้ถึงบ้าน โรงครัวของเราที่แรกตั้งอยู่ตรงถนนพระยาสุเรนทร์ ก่อนจะย้ายมาวัดเทวสุนทร
“เราอยากทำให้ได้สามมื้อ มื้อละ 2,000 ชุด แต่ด้วยจำนวนอาสาที่จำกัด จึงทำได้สองมื้อต่อวัน มื้อละ 1,500 ชุด เปิดหม้อทำตอนตีห้า ส่งมื้อแรกคือมื้อเที่ยงออกตอนเก้าถึงสิบโมง อาหารจะไปถึงบ้านประมาณเที่ยงพอดี ส่วนมื้อที่สองทำเสร็จตอนบ่ายสามถึงบ่ายสี่ ส่งถึงบ้านทันมื้อเย็น และเรายังเปิดโรงครัวเพิ่มตรงสุขุมวิท 39 ซึ่งจุดนั้นเป็นพ่อครัวมืออาชีพกัน ถ้ารวมสองครัวตอนนี้เราทำได้เกือบ 5,000 ชุดต่อวัน
“จุดแรกที่เราเข้าไปส่งอาหารคือคลองเตย เราพยายามติดต่อหัวหน้าชุมชนในนั้น คลำกันพอสมควรกว่าจะเจอประธาน ชุมชนตรงนั้นการเมืองภายในค่อนข้างรุนแรง เราจึงต้องวางตัวเป็นกลางอย่างเต็มที่ หากมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งเข้ามาช่วยเหลือ เราก็ต้องขอความช่วยเหลือจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วย เพื่อคานอำนาจกัน เมื่อคนเห็นสิ่งที่เราทำมากขึ้น เริ่มมีกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนติดต่อขอความช่วยเหลือโดยตรง เราก็สามารถกระจายอาหารได้กว้างขึ้น จนคนในชุมชนคลองเตยสามารถตั้งโรงครัวเอง เราก็ถอยออกมาซัพพอร์ตด้านวัตถุดิบแทน เพราะกำลังคนที่จำกัด เราทำแจกได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น วิธีนี้จึงเป็นการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพมากกว่า นอกจากนั้นเรายังทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ดูแลอาหารของเคสเขียวที่รักษาด้วยโฮมไอโซเลชั่น และยังร่วมกับกลุ่มเราต้องรอด กลุ่มนั้นดูแลอุปกรณ์วัดออกซิเจน จัดหาเตียง ส่วนด้านอาหารการกินเป็นกลุ่มเราดูแล หรือถ้าใครไม่มีอาหารจะกินก็สามารถติดต่อเข้ามาหาเราได้ นอกจากทำโรงครัวแล้ว ภายหลังเราทำถุงยังชีพด้วย เมื่อก่อนใช้วิธีกระจายให้กลุ่มอื่นทำ แต่ตอนนี้เราเริ่มทำเองแล้ว
“แรกเริ่มนัชชี่ทำตำแหน่งบัญชี ต่อมาหัวหน้าฝ่ายคลังเขาไปดูในครัวอย่างเดียว นัชชี่เลยเข้ามาดูแลในส่วนคลังแทน ถามว่าตอนนี้นัชชี่ทำตำแหน่งอะไร เป็นหัวหน้าคลังค่ะ ทำตั้งแต่นับสต็อก รู้ว่าของทุกอย่างอยู่ตรงไหน และจะกระจายออกไปให้แก่ใครก็ต้องผ่านนัชชี่ ผู้ที่มาบริจาคมักเจอนัชชี่ออกมารับของในสภาพอิดโรย หัวกระเซิงๆ หลายคนเป็นผู้ที่ช่วยคนอื่นอยู่เป็นประจำ พอเขามาเจอเราทำงาน เห็นว่าสามารถกระจายของได้เยอะ เขาก็เลยบริจาคที่เรา บางคนเป็นกลุ่มที่มารับของบริจาค เราก็ได้ฟังปัญหาจากหลายๆ ชุมชน เช่น การขายคิวฉีดวัคซีน และการยอมติดโรคเพื่อเอาเงินประกัน ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น บางคนเป็นทีมกู้ภัยที่ต้องลงสนามมาขอข้าว แต่พอเรารู้ว่าเขาเป็นหน้าด่าน เราก็ให้พวกชุด PPE แอลกอฮอล์ไปเพิ่ม ล่าสุดหนูให้ยาดมไปด้วย สิ่งที่ขาดไม่ได้ของทีมอาสาคือน้ำหวาน พวกเราขับเคลื่อนด้วยน้ำตาล
“และเรากำลังมีมิชชั่นบุษราคัม 75 เนื่องจากโรงพยาบาลสนามบุษราคัมจะย้ายไปสุวรรณภูมิกลางเดือนตุลาคม นับจากวันนี้ (วันที่เริ่มภารกิจรอบแรกและวันสัมภาษณ์) ไปอีกประมาณ 75 วัน เราได้รับรู้ว่าสภาพข้างในค่อนข้างแย่ เจ้าหน้าที่ทำงานกันหนัก อาสาสมัครข้างในก็คือผู้ติดเชื้อ อุปกรณ์ของใช้ต่างๆ ขาดแคลน เราเลยตั้งมิชชั่นนำของที่ต้องใช้ในระยะเวลา 75 วัน เราจึงเปิดรับบริจาค เช่น สบู่ ต้องใช้ประมาณ 20,000 ขวด คำนวณจากจำนวนเตียง 4,000 เตียงที่ถูกเวียนทุกครึ่งเดือน อุปกรณ์ทำความสะอาดห้องน้ำ ราวตากผ้า และอุปกรณ์ส่วนกลาง นำไปบริจาคให้ที่นั่น เริ่มรอบแรกแล้ว และจะต่อเนื่องไปจนเสร็จภารกิจ”
เราถามนัชชี่ถึงกิจวัตรแต่ละวันในฐานะอาสาสมัครนั้นเธอทำอะไรบ้าง “นัชชี่จะไปถึงศูนย์ประมาณสิบเอ็ดโมงเช้า เพราะเราประกาศว่าเปิดรับของบริจาคประมาณสิบโมง ก่อนนัชชี่ไปถึงถ้ามีใครมาบริจาคของหรือมีส่งของออก ก็จะมีพี่อีกคนช่วยดูแล พอไปถึงศูนย์ก็ดูแลเรื่องการรับของบริจาค และดูว่าวันนี้มีรายการที่ต้องส่งของที่ไหนบ้าง เที่ยงจะมีทีมของหลักสี่มารับข้าวไปห้าร้อยชุด ตอนบ่ายสี่ก็เป็นอีกทีมไปส่งฝั่งสวนหลวง ธนบุรี อีกพันกว่าชุด ก่อนหน้านี้นัชชี่เป็นคนขนน้ำให้เขาเอง 84 แพค ตอนหลังพี่ๆ คงเห็นว่านัชชี่ล่ำขึ้นเลยช่วยยกให้ จากนั้นดูรายการซึ่งทีมที่ประสานงานกับชุมชนจะแจ้งว่าวันนี้มีชุมชนใดมารับของ มีโรงครัวใดมารับ นัชชี่ก็ต้องนั่งรอจนกว่าเขาจะมา บางทีทีมกู้ภัยเลิกงานทุ่ม ก็ต้องนั่งรอจนส่งมอบเสร็จ เป็นกิจวัตรประมาณนี้ค่ะ”
เคยมีวันที่งานหนักจนอดนอนเลยไหม เราถามขึ้น “วันที่ไฟไหม้กิ่งแก้วค่ะ เป็นวันที่หินที่สุด วันเดียวเกิดศูนย์อพยพ 11 แห่ง เป้าหมายของเราคือจัดหาน้ำดื่มแก่คนที่พักในศูนย์อพยพให้ได้คนละสามขวด รวมทั้งของใช้จำเป็น เช่น น้ำเกลือ ผ้าเย็น กระทิงแดง ขนมยูโร่ วันนั้นเป็นวันที่รถออกไปส่งของประมาณยี่สิบคัน บางคันส่งสี่ที่แล้ววนกลับมาเติมของแล้วออกไปอีก ไม่ใช่แค่ของใช้สำหรับศูนย์อพยพเท่านั้น ยังมีโรงครัวที่เปิดกะทันหันด้วย นัชชี่เป็นคนคำนวณของที่นำไปให้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เช่น ยาสีฟัน แชมพู ต้องใช้กี่ขวด เป็นวันที่เทียบบัญญัติไตรยางศ์มากที่สุดในชีวิตแล้วค่ะ เหนื่อยที่สุดแต่ก็หยุดไม่ได้จนกว่ารถคันสุดท้ายจะออก ซึ่งเป็นเวลาตีห้า”
แม้เหนื่อยกายเหลือหลาย ก็ยังมีเรื่องราวประทับใจอยู่ นัชชี่หวนนึกก่อนเล่าให้เราฟัง “นัชชี่ดูแลคลังจึงเจอผู้บริจาคเยอะ ยิ่งยุคนี้นิยมสั่งของออนไลน์แล้วให้มาส่งที่ศูนย์ เราก็เจอพี่ๆ ที่ส่งของ เขามักมาเจอนัชชี่กำลังยกน้ำร้อยแพ็ค เรายกกันเป็นพันแพ็คต่อวัน เขาก็งง ถามว่านี่น้องทำเองเลยเหรอ ได้ค่าแรงไหม เราก็ตอบไม่ได้หรอก เรานี่เป็นกลุ่มอาสาสมัคร พี่ๆ คนขับรถส่งของพอได้ยินก็มาช่วยเรายก แถมเดินไปซื้อไอศกรีมเลี้ยงพวกเราที่ทำงานในคลังอีก เฮ้ย พวกเราต่างหากที่ควรเป็นฝ่ายเลี้ยงน้ำให้พวกพี่ ตอบแทนที่มาช่วยพวกเรายกของ พี่ๆ บอกว่า พวกเขาทำงานได้เงิน แต่พวกน้องไม่ได้อะไรเลยนอกจากบุญ พี่ขอร่วมบุญกับน้องด้วยละกัน ก็เป็นเรื่องน่ารักๆ ของผู้บริจาคที่ได้เจอค่ะ”
เมื่อมาทำงานเป็นอาสาสมัครส่งผลให้มุมมองต่อโลกเปลี่ยนแปลงไปไหม เราถามอาสาสมัครสาว “เปลี่ยนนะ เมื่อก่อนเราไม่เข้าใจชีวิตของคนที่เดือดร้อนเท่ากับตอนนี้ เราได้เจอคนมากมายหลายสังคม นัชชี่ได้พูดคุยและลองถามตรงๆ ไปว่า ทำไมชุมชนพี่ถึงมีปัญหาแบบนี้ เขาก็ตอบว่า มันมีคนหลายกลุ่ม บางคนเป็นต่างด้าว บางคนไม่มีสัญชาติ เราอาจเคยคิดในใจว่าเขาไม่ดิ้นรนรึเปล่า ไม่ เขาดิ้นรนจนไม่รู้จะดิ้นยังไงแล้ว อย่างที่บอกเราเจอคนมากมายทุกฐานะสังคม เราเห็นคนหลายๆ ประเภท บางคนไม่ออกสื่อเลย แต่บริจาคเป็นล้าน บางคนบริจาคไม่เยอะ แต่ถ่ายรูปเยอะก็มี เราเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ แต่ก็ไม่เข้าใจบางคนว่าทำไมถึงปล่อยให้เป็นแบบนี้
“และในสถานการณ์ภัยพิบัตินั้น เราเห็นน้ำใจที่อยากจะช่วยคน เราได้ตัวเลขมาว่าในสถานการณ์โควิดคนหนึ่งในสามของประเทศคือผู้บริจาค เราเป็นประเทศที่ทำบุญมากจริงๆ ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดรึเปล่า มีคนตั้งคำถามว่าทำไมประชาชนต้องมาช่วยกันเอง เราในฐานะอาสาสมัครก็ไม่รู้เหมือนกันว่าแล้วต้องทำยังไง เรารู้ถึงปัญหาแต่พูดไม่ได้ นัชชี่กล้าพูดเลยว่าทุกฝ่ายทำงานกันจนจะไม่ไหวแล้ว เหลือแค่มาตการและความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ที่จะช่วยซัพพอร์ตประชาชน”
ในฐานะอาสาสมัครนัชชี่อยากสะท้อนดังๆ ไปถึงทุกฝ่ายที่มีอำนาจและเกี่ยวข้องว่า โปรดเห็นคุณค่าของทุกชีวิต “ช่วยเห็นค่าของชีวิตด้วย มันไม่ใช่แค่ตัวเลขที่จะเอาไปอ้างอิงว่าประเทศเราคุมโรคได้ดีขนาดไหน หรือเป็นหลักฐานยืนยันว่าเราพร้อมเปิดประเทศแล้ว จำนวนตัวเลขเหล่านี้คือชีวิตคน เป็นครอบครัวของใครสักคน อาจเป็นอาสาที่ทำงานมาไม่รู้กี่ชั่วโมงแล้ว หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังไม่เจอครอบครัวเลย เราอยากเห็นมาตรการที่ช่วยให้ชีวิตพวกเขาดีกว่านี้ ขอแค่บุคลากรทางการแพทย์ก่อนแล้วกัน เพื่อที่พวกเขาจะได้ไปช่วยคนต่อ เราช่วยกันเองจนไม่รู้จะช่วยยังไงแล้ว ถ้าไม่มีภาคประชาชนช่วยกันสถานการณ์อาจเลวร้ายกว่านี้ เราอยากปิดศูนย์แล้วค่ะ”
นัชชี่ : บทบาทไอดอล
จากเด็กสาวเส้นทางชีวิตไม่เฉียดเข้าใกล้วงการบันเทิงเลยแม้แต่น้อย เลือกที่จะทำตามความฝัน หันหลังให้สาขาวิชาที่จบแล้วมาออดิชั่นเป็นไอดอล “นัชชี่คิดว่าช่วงวัยรุ่นนั้นอยู่ไม่นาน อยากใช้ช่วงเวลาแห่งความเยาว์วัยนั้นไล่ตามความฝัน จะได้ไม่เสียดายภายหลัง นัชชี่มีฝันอยากเป็นนักร้องตั้งแต่เด็ก แต่เส้นทางชีวิตเราไม่เบนมาด้านนี้เลย ตอนเด็กเราเป็นเด็กเรียนดี มุ่งเรียนและไม่ได้ทำกิจกรรมเลย แต่ติดตามวงไอดอลญี่ปุ่น จนมาบูมในประเทศไทย ที่มาออดิชั่นวงนี้เพราะเขาขยายช่วงอายุรับสมัคร วงเปิดรับเยอะมากแต่อายุเราเกินแล้ว และคงไปถูกชะตากรรมการเลยได้รับเลือกเข้ามา
“วง Akira-kurØ ทำเพลงแนวร็อคอัลเทอร์เนทีฟ เนื้อเพลงพูดถึงสังคม และมีเพลงเป็นภาษาอังกฤษทั้งเพลง เช่น Cyberbullying ซึ่งนัชชี่เป็นคนแต่งเนื้อเกือบทั้งหมด ตอนนั้นเราอัดกันเองแบบงูๆ ปลาๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่สำเนียง พอเพลงใหม่ Viva la resistance เราคุมเรื่องสำเนียงมากขึ้น วงเราด้วยความเป็นแนวร็อคจึงไม่ได้มีภาพลักษณ์น่ารักๆ การแสดงก็เน้นให้คนดูสนุกกับโชว์ และค่อนข้างมีอิสระ สามารถโพสต์สิ่งที่คิดในโซเชียลมีเดียได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะผิดภาพลักษณ์”
“กองไฟที่ใกล้มอด” คือคำอธิบายสภาพของวง กล่าวโดยสมาชิกวงเมื่อครั้งไปออกรายการ Lodi x Next Idol ที่เริ่มต้นด้วยสมาชิก 15 คน และทยอยออกไปจนเหลือสมาชิกเพียง 6 คนในวันที่ไปออกรายการ เราจึงอดถามไม่ได้ว่า ณ วันนี้ สถานการณ์ของ Akira-kurØ เป็นอย่างไร “เราเริ่มก้าวใหม่ จากวันนั้นที่ไปออกรายการมีกัน 6 คน จบจากเวทีนั้นก็ออกไปอีก 2 คน และเข้ามาเพิ่ม 4 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 8 คน สมาชิกใหม่เป็นเหมือนการเติมไฟ เราไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้างในอนาคต แต่เชื่อว่าเด็กใหม่ที่เข้ามาจะทำให้วงดีขึ้น”
ไม่เพียงแค่นั้น การที่นัชชี่มาทำอาสา ก็ทำให้คนรู้จักวงเพิ่มขึ้น “คนจำเราได้มากขึ้น สมาชิกวงมาเป็นอาสาสามคน กับสต๊าฟอีกหนึ่งคน น้องๆ ที่ว่างก็แวะเข้ามาบ้าง เราเพิ่งปล่อยเอ็มวีใหม่ร่วมกับวงกล้วยไทย เพลง 1 รุม 10 ที่ศูนย์อาสาก็จะเปิดเอ็มวี อาสาคนอื่นก็มานั่งดูนัชชี่ บางคนรู้จักเราจากรายการ Lodi x Next Idol ก็มีทัก พี่เคยดูน้องนะ เราก็ขอบคุณนะคะ บางทีเจอผู้บริจาคหรืออาสากลุ่มอื่น คนรู้จักเราจะช่วยโฆษณาให้ ดูสิ มีไอดอลมาช่วยงานนี้ด้วยนะ วันรุ่งขึ้นเขาก็มาคุย พี่กลับบ้านไปฟังเพลงน้องด้วยนะ แล้วก็มีพี่ๆ สื่อมาสัมภาษณ์ด้วย ช่วยให้คนเห็นเรา”
สำหรับนัชชี่ที่ไม่ได้เรียนร้องเต้นมาแต่เด็ก การมาเป็นไอดอลโดยเริ่มจากศูนย์ในวัยที่โตแล้วมีอุปสรรคอะไรบ้าง “นัชชี่เป็นคนที่ร้องเต้นไม่เก่ง เทียบกับสมาชิกแล้วอยู่รั้งท้ายเลย ไม่เคยเรียนเต้น ร่างกายก็ไม่เหมือนคนที่เคยเรียน ในวงคนหน้าตาดีกว่านัชชี่ก็มีเยอะ แถมเรายังพูด ร เรือไม่ได้อีก กลัวว่าจะเป็นตัวถ่วงทีม พอเรามีแฟนคลับคนก็เกิดคำถามว่าทำไมนัชชี่มีแฟนคลับเยอะ ทั้งที่ไม่เห็นเก่งอะไรเลย ท้อนะแต่พยายามคิดว่าเราทำเต็มที่แล้ว”
นอกจากเรื่องร้องและเต้นที่ต้องหัดเป็นครั้งแรก นัชชี่ยังต้องหัดกำกับเอ็มวีเองอีกด้วย “เราแต่งเพลง Viva la resistance เสร็จก็รู้สึกว่าควรมีเอ็มวี แต่ตอนนั้นหาคนกำกับไม่ได้ ไปปรึกษาคุณชายอดัมซึ่งเคยกำกับเอ็มวี We are Akira-kurØ ให้ฟรีว่าช่วยแนะนำผู้กำกับให้หน่อย คุณชายอดัมก็บอกว่านัชชี่เอาอุปกรณ์ถ่ายกับช่างตัดไป แล้วไปกำกับเองเลย กลายเป็นจับพลัดจับผลูมาทำ เขียนสตอรี่บอร์ดเอง คุยกับพี่ช่างตัดว่าอยากได้ซีนแบบนี้ๆ นะ น้องแต่ละคนต้องมีซีนสวย วันถ่ายนัชชี่ต้องนั่งตรงมอนิเตอร์ คอยสั่งคัท ตรงนี้ไม่ได้นะน้องขาวไป อยากได้แสงที่เป็นสีผิวกว่านี้ สังเกตได้ว่าเพลงนั้นนัชชี่มีซีนน้อยมาก แค่ยกมือพูดกับวิทยุ เป็นซีนที่ง่ายที่สุด เพราะเราต้องคอยคุมมอนิเตอร์”
เราถามถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อวงบ้าง ด้วยทราบข่าวว่าวงไอดอลหลายๆ วงต้องยุบลงเพราะสถานการณ์โรคระบาด แล้ว Akira-kurØ เจอปัญหาไหม “เราก็โดนหนักค่ะ วงไอดอลมีสมาชิกเยอะ ค่าใช้จ่ายก็เยอะตาม แต่โชคดีที่วงคุมรายจ่ายมาตั้งแต่เริ่ม และเราพยายามปรับตัวอย่างเต็มที่ อีกทั้งวงของเรายังให้อิสระแก่สมาชิกในการประกอบอาชีพอื่น คุณไม่ต้องเป็นแค่ศิลปิน คุณหารายได้เสริมไปด้วยได้ ไม่ใช่ไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ทำอะไรไม่ได้ แล้ววันที่มีงานค่อยมารวมตัวกัน แนวทางนี้จะทำให้วงดำเนินต่อไปได้นาน และไม่โดนผลกระทบอะไร นอกจากนั้น เรายังคำนึงถึงแฟนคลับด้วยการไม่ออกสินค้ามาขาย เพราะรู้ว่าทุกคนลำบากกันหมด เก็บสตางค์ของคุณไปประคับประคองตัวเองก่อน แล้วค่อยมาเจอกันในวันที่พร้อมดีกว่า”
เราถามเธอต่อถึงวิธีดูแลจิตใจในวันที่อ่อนล้า สู้กับงานหนักที่ถาโถมไม่หยุดหย่อน “นัชชี่เองก็มีวันที่เหนื่อย วันที่ท้อ กลับบ้านมาก็แอบคิดว่าฉันต้องทำงานนี้ไปอีกกี่วันกี่เดือน รู้แหละว่ายังหยุดไม่ได้ ยังมีคนที่รอความช่วยเหลืออยู่ นัชชี่ใช้วิธีอาบน้ำอุ่น ฟังเพลงที่ชอบ มีงานติดขัดตรงไหนไหม ถ้าไม่มีค่อยเริ่มใหม่พรุ่งนี้ ส่วนวันนี้ก็นอนเถอะ อีกทั้งแฟนคลับยังเป็นแรงใจสำคัญด้วย ช่วงที่นัชชี่วุ่นกับการทำงานอาสาจนละเลยหน้าที่ไอดอลไปบ้าง ไม่ได้ดูแลจิตใจแฟนคลับเลย แถมทวีตแต่ละครั้งก็บ่นถึงความเลวร้ายที่พบเจอ กลายเป็นแฟนคลับคอยให้กำลังใจนัชชี่แทน ทั้งที่เราควรทำหน้าที่นั้น วันที่เราเหนื่อยล้าก็พบว่าแฟนคลับน่ารักกับเราขนาดไหน”
อย่างไรก็ดี สิ่งที่นัชชี่ได้เรียนรู้จากการเป็นอาสาและไอดอล สองบทบาทที่เธอทุ่มเทใจ คือการมองเห็นว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว และจงกล้าที่จะไขว่คว้าโอกาส “เราทุกคนไม่ได้โดดเดี่ยวขนาดนั้น หากคุณเดือดร้อน ให้พูดออกมา อย่าเก็บไว้คนเดียว มีคนพร้อมช่วยอยู่เสมอ และถ้ามีโอกาส มีแรง ก็พลิกบทบาทเป็นผู้ยื่นมือช่วยผู้อื่นด้วย ถือเป็นการใช้เวลาว่างที่ดี และอย่ากลัวที่จะคว้าโอกาส นัชชี่เป็นเด็กบัญชีที่ร้องเต้นไม่เก่ง แต่ก็ได้มาเป็นไอดอล นัชชี่ไม่เคยเรียนนิเทศน์แต่ก็มากำกับเอ็มวี นัชชี่ไม่เคยทำ แต่นัชชี่กล้าลองทำ ถ้าตัดสินใจทำก็ต้องทำได้ดิ เหนื่อยหน่อยแต่จะสำเร็จแหละ”
เมื่อถามเธอต่อว่า ยังมีอะไรที่อยากทำอีก หรืออยากไล่ล่าความฝันอะไรต่อจากนี้ “ถ้าในระยะใกล้ อยากมีเวลาว่างกลับไปทำเพลงค่ะ เรายังอยากเดินอยู่ในเส้นทางดนตรี อยากขึ้นเวที เจอแฟนคลับ ถ้าไม่มีโควิดก็คงได้ไปเล่นที่ต่างประเทศด้วย เสียดายที่ไม่ได้ไป ทั้งนี้นัชชี่อยากให้คนจดจำว่าครั้งหนึ่งเราเคยเป็นศิลปินที่ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่”
คำถามก่อนจากกัน จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่บางคนอาจท้อแท้และสิ้นหวังกับประเทศไทยจนฝันอยากย้ายไปอยู่ที่อื่น แล้วสำหรับเธอผู้เห็นบริบทของสังคมไทยกว้างและชัดเจนขึ้นจากงานอาสา ประเทศไทยยังเป็นที่ซึ่งมีความหวังต่อเธออยู่รึเปล่า นัชชี่ถอนหายใจยาวก่อนตอบเราว่า “ต้องบอกว่าเราได้เห็น ถึงแม้ประเทศไทยจะยุ่งเหยิงสักแค่ไหน แต่มีกลุ่มคนที่คอยเก็บกวาด พยายามผลักดันให้เราเดินไปข้างหน้า เราได้รู้จักคนหลายกลุ่มที่ไม่เคยออกสื่อเลย และกำลังทำงานเพื่อคนไทยอย่างเต็มที่ ภายใต้ความสิ้นหวังทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศของเราไปต่อได้ ดังนั้นนัชชี่จึงรู้สึกว่าไม่หมดหวัง ยังอยากจะอยู่ในแผ่นดินนี้ ยังรู้สึกว่าประเทศมีความหวัง ทว่าจะดีกว่ามากๆ ถ้าเราหลุดพ้นจากปัญหาซึ่งฉุดรั้งเราไว้”
สามารถติดตามผลงานและให้กำลังใจสาวน้อยตัวเล็กใจใหญ่คนนี้ ในบทบาทอาสาสมัครได้ทางเฟซบุ๊ก “ต้องรอด Up for Thai” และในบทบาทไอดอลที่เฟซบุ๊ก “Akira-kurØ”
ขอบคุณสถานที่
โครงการดราก้อนทาวน์
เลขที่ 188/74 ซ.จุฬา 5
แขวงวังใหม่ เขตปทุมธานี กทม. 10330
โทร. 08-6975-3377