หนึ่งในร้อย ผู้หญิงล้ำยุคหลัง 2475 ของ ‘ดอกไม้สด’

-

หนึ่งในร้อย ผลงานประพันธ์ของ “ดอกไม้สด” ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 เล่มหนังสือดีที่ (คนไทย) ควรอ่าน แต่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะเป็นที่รู้จักกันในแวดวงนักอ่านรุ่นเก่าเท่านั้น อีกทั้งเคยสร้างเป็นละครโทรทัศน์เพียงสองครั้ง ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2525 และครั้งที่ 2 ในปี 2567 คนรุ่นใหม่ในยุคนี้จึงได้ทราบเรื่องราวซึ่งได้รับการบันทึกไว้เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ผ่านละครโทรทัศน์ที่เสนอฉายทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 

“ดอกไม้สด” เขียนนิยายเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. 2477 หรือ 90 ปีมาแล้ว แต่เนื้อเรื่องก็ยังทันสมัยและสื่อสารกับคนในยุคปัจจุบันได้ เท่าที่ติดตามจากละครโทรทัศน์บ้าง พบว่ามีการดัดแปลง เสริมแต่งรายละเอียดบางประการเข้าไป เพื่อให้เหตุผลมีน้ำหนักสอดคล้องกับยุคปัจจุบัน และต้องการเพิ่ม “รส” ของความเป็นละคร แต่ยังคงแก่นเรื่องและเหตุการณ์หลักๆ ไว้อย่างครบถ้วน 

หนึ่งในร้อย เป็นเรื่องราวของตัวละครเอกฝ่ายหญิง นามว่า “อนงค์” เธอเป็นหนึ่งในร้อยของผู้หญิงยุคนั้น และคนที่คู่ควรกับเธอก็ควรเป็นผู้ชายที่เป็นหนึ่งในร้อยด้วยเช่นกัน “ดอกไม้สด” เสนอว่าคู่ครองของผู้หญิงล้ำยุคล้ำสมัยอย่างอนงค์นั้น ควรเป็นคนที่เธอเลือกเอง หาใช่ผู้ชายที่คนอื่นจัดหาให้ 

มีบทวิจารณ์วรรณกรรมหลายบท ยกย่องให้นิยายเรื่องหนึ่งในร้อย เป็นงานประพันธ์ชิ้นเอกของ “ดอกไม้สด” และน่าจะเป็นการนำเสนอทัศนคติของผู้ประพันธ์ที่อยากบอกว่าผู้หญิงควรมีชีวิตอย่างไร แต่การนำเสนอของ “ดอกไม้สด” นั้น กอบด้วยความสุขุมลุ่มลึก ผ่านเรื่องราวของนิยาย ผู้อ่านยุคนั้นจึงไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ หากแต่การปลุกพลังผู้หญิงของ “ดอกไม้สด” ซึ่งสอดแทรกผ่านตัวละครอนงค์ ทำให้ผู้อ่านคล้อยตามและยอมรับได้ในที่สุด หนึ่งในร้อยเป็นตัวอย่างอันดีของนิยายแนวสัจนิยมที่ผสานกับความเป็นนิยายพาฝันได้อย่างลงตัว 

การแต่งเรื่องให้อนงค์เป็นผู้หญิงล้ำยุค เห็นได้จากการที่ “ดอกไม้สด” สร้างภูมิหลังให้เธอเป็นหญิงสาวที่เรียนจบจากเมืองนอก มีทัศนคติแบบสาวสมัยใหม่ แต่งตัวล้ำสมัย ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา กล้าพูด กล้าวิจารณ์สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตัวและการเข้าสังคมที่มี ‘ความกล้า’ แตกต่างจากหญิงทั่วไป จนมารดาของคุณพระอรรถคดีวิชัยออกปากว่าเป็น “แม่แปรก” แต่ “ดอกไม้สด” ก็สะท้อนภาพอีกด้านว่าเมื่ออนงค์สมาคมกับผู้ใหญ่ เธอกลับมีความอ่อนน้อมถ่อมตน พูดจามีสัมมาคารวะ และแสดงความคิดเห็นก้าวหน้าอย่างสุภาพในที่สมาคม จนทุกคนยอมรับในความ “เปิ๊ดสะก๊าด” ของเธอ “ดอกไม้สด” แสดงให้เห็นว่าแม้อนงค์จะมีทัศนคติที่ก้าวหน้า แต่เธอก็ยังมีความเป็นผู้หญิงไทยอยู่ในสายเลือด  

ทัศนคติที่ก้าวหน้าของอนงค์ก็คือการไม่เห็นด้วยกับประเพณีคลุมถุงชน ซึ่งสืบทอดกันมาแต่โบราณ “ดอกไม้สด” เห็นว่าเรื่องการมีคู่ครองนั้น ควรเป็นสิ่งที่เจ้าตัวเลือกเอง มิใช่ผู้ใหญ่คอยกำหนด แนวคิดของ “ดอกไม้สด” ที่เสนอต่อผู้อ่านในยุคนั้น ถือว่ากล้าหาญและ “มาก่อนกาล” เป็นสำนึกขบถที่ไม่ได้แสดงออกอย่างก้าวร้าว หากแต่นุ่มนวลผ่านวรรณศิลป์อันงดงามของผู้ประพันธ์ 

แนวคิดต่อต้านการคลุมถุงชนของ “ดอกไม้สด” มีปรากฏมาตั้งแต่นิยายเรื่องแรกของเธอคือ ศัตรูของเจ้าหล่อน เมื่อ พ.ศ. 2472 ซึ่งเป็นนิยายช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เธอแต่งให้ตัวละครเอกฝ่ายหญิงหนีการคลุมถุงชน ออกไปผจญชีวิตเองอย่างเชื่อมั่นว่าด้วยความรู้ ความสามารถที่มีอยู่ ย่อมสามารถเอาตัวรอดได้ในสังคม โดยไม่จำเป็นต้องง้อผู้ชาย หรือทรัพย์สมบัติอันเป็นมรดกตกทอดของวงศ์ตระกูล การออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ทำให้ได้พบกับผู้ชายถูกใจ แต่ “ดอกไม้สด” ในปีนั้นอาจยังไม่กล้าหาญมากพอ เพราะเรื่องกลับตาลปัตรว่าผู้ชายคนนั้นก็คือคนที่ผู้ใหญ่หาไว้ให้นั่นเอง อย่างไรก็ตามศัตรูของเจ้าหล่อนก็เป็นการเสนอสะท้อนภาพว่าหากผู้ชายที่ผู้ใหญ่หาไว้ให้นั้นเป็นที่พึงใจของฝ่ายหญิง ก็นับเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ 

ในเรื่องหนึ่งในร้อย “ดอกไม้สด” ได้ตอกย้ำความคิดต่อต้านการคลุมถุงชน โดยชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงควรมีโอกาสได้คบหาและรู้นิสัยใจคอของผู้ชายที่จะมาเป็นคู่ชีวิตก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ชายที่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนแต่โบราณอย่างเคร่งครัด คร่ำครึ เป็นพ่อม่าย ซึ่งอยู่เคียงข้างเธออย่างคุณพระอรรถคดีวิชัยนั้น ในตอนท้ายกลับเป็นคนที่คู่ควรกับอนงค์มากกว่าใคร 

พระอรรถคดีวิชัยคือหนึ่งในร้อยของอนงค์ และอนงค์ก็คือหนึ่งในร้อยของผู้หญิงเมื่อ 90 ปีก่อน “ดอกไม้สด” บรรยายว่าสุภาพบุรุษอย่างพระอรรถคดีวิชัยคืออุดมคติของผู้หญิงในยุคนั้น มีความเป็นสุภาพบุรุษ เสียสละ มุ่งมั่นในการงาน ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ให้เกียรติผู้หญิง สาวหัวใหม่อย่างอนงค์ แม้เคยผ่านเมืองนอกเมืองนามา ก็ยังต้องยอมรับในความดีงามของคุณพระ และด้วยความใกล้ชิดก็ทำให้อนงค์หลงรักฝ่ายชาย ทั้งที่รู้ว่าฝ่ายชายซึ่งตรอมใจจากความรักครั้งแรกนั้นกำลังหมายปองหญิงสาวคนหนึ่งอยู่ “ดอกไม้สด” ได้ผูกเรื่องให้เป็นรักสามเส้า ผิดฝาผิดตัว ปรุงแต่งอรรถรสความเป็นนิยายให้เข้มข้นขึ้น และดูเหมือนว่าผู้หญิงที่กล้าท้าทายสังคม กำลังถูก “ศรรัก” ปักอก หากเธอไม่บอกความในใจว่าหลงรักพระอรรถคดีวิชัยแล้ว เธอต้องสูญเสียเขาไปอย่างแน่นอน 

“ดอกไม้สด” ให้อนงค์เขียนจดหมายถึงพระอรรถคดีวิชัยเพื่อสารภาพรัก นับเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งซึ่งผู้หญิงในยุคนั้นไม่กล้าทำ และเป็นความกล้าหาญของ “ดอกไม้สด” ด้วยที่ให้ผู้หญิงพูดถึงสิ่งซึ่งตนเองต้องการ นั่นหมายความว่า ผู้หญิงก็มีสิทธิเลือกผู้ชาย ไม่ใช่เป็นฝ่ายถูกเลือกอยู่ข้างเดียว 

ขอชื่นชมทีมบทของละครเรื่องนี้ที่แทรกรายละเอียดเพิ่มเติมในละครได้สมเหตุสมผล มีสีสันชวนติดตาม และอยากให้ทีมละครค่ายอื่นๆ นำนิยายคลาสสิกเรื่องต่างๆ ของไทยมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์อีก อย่างน้อยก็เป็นการรื้อฟื้นนิยายชั้นครูให้เป็นที่รู้จักของคนยุคปัจจุบัน 


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง

เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรร

ภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไทยทีวีสีช่อง 3 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!