ดนตรีมีประโยชน์

-

เราทราบกันมานานแล้วถึงประโยชน์ของดนตรี ในฉบับนี้จะชี้ให้ชัดยิ่งขึ้นว่าดนตรีมีคุณอย่างไรตามหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์(ข้อมูลจาก มิเชลล์ เคราช์ [Michelle Crouch] ในบทความเรื่อง “Incredible Ways Music Benefits You”)

ประการแรก  มีงานวิจัยพบว่าหากหมอฟังดนตรีไปด้วยในขณะรักษา จะทำให้ปฏิการได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น  งานศึกษาของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell) พบว่าดนตรีที่มีจังหวะกระฉับกระเฉงช่วยให้พนักงานร่วมมือกันทำงานยิ่งขึ้น อีกทั้งมีการตัดสินใจที่ดีของกลุ่มด้วย

ประการที่สอง ดนตรีช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ทิซอล (cortisol) ที่หลั่งเมื่อมีความเครียด งานศึกษาในปี 2010 พบว่าจากการทดลองอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน  การบำบัดด้วยการนวดกับการฟังดนตรีมีผลในการลดความเครียดได้เหมือนกัน

ประการที่สาม การฟังดนตรีก่อนผ่าตัดช่วยลดความกังวล และลดความจำเป็นในการใช้ยากล่อมประสาท และหลังการผ่าตัดแล้วมีความเจ็บปวดน้อยลงด้วย ผลการวิเคราะห์งานวิจัย 73 ชิ้น ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet ในปี 2015 ยืนยันว่าการฟังดนตรีก่อนหรือระหว่างผ่าตัดมีผลในการลดความกังวลใจและลดความเจ็บปวดได้จริง

ประการที่สี่ นักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์และออสเตรเลียพบว่า ดนตรีที่มีทำนองสนุกสนานและเปิดฟังในระดับปกติช่วยการสร้างงานที่สร้างสรรค์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าดนตรีสร้างความผ่อนคลายให้สมองจนเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้น

ประการที่ห้า  เมื่อฟังดนตรี สมองจะหลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่าโดพาร์มีน (dopamine) ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมสัญญาณของเซลล์สมอง สมองจึงทำงานได้ดีขึ้น ฮอร์โมนตัวนี้เป็นตัวเดียวกับที่หลั่งทุกครั้งเมื่อมนุษย์บริโภคน้ำตาล

 

 

           ประการที่หก  งานศึกษาผลกระทบของดนตรีเชิงจิตวิทยาที่มีต่อการออกกำลังกายเมื่อปี 2010 พบว่าในระหว่างออกกำลังกายนั้นหากเปิดดนตรีไปด้วยจะช่วยให้ออกกำลังกายได้นานขึ้น เพราะดนตรีจะหันเหความสนใจจากความรู้สึกปวดเมื่อย หรือความน่าเบื่อหน่ายจากการออกกำลังกาย

ประการที่เจ็ด ดนตรีช่วยให้เกิดพลังขึ้นมาทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเพลงที่ถูกใจ  งานศึกษาพบว่าการออกกำลังกายขณะฟังดนตรีไปด้วยจะช่วยให้เกิดพลังขึ้นมามากกว่าการออกกำลังกายโดยไม่มีดนตรี

ประการที่แปด การฟังดนตรีก่อนนอนจะช่วยให้หลับได้เร็วขึ้น และตื่นกลางดึกน้อยลง อีกทั้งรู้สึกสดชื่นตอนตื่นด้วยมูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติของสหรัฐฯ (US National Sleep Foundation) มีงานวิจัยที่พบว่าคนสูงอายุที่มีปัญหาการนอน  หากฟังดนตรีทำนองช้าที่นุ่มนวลก่อนนอนเป็นเวลา 45 นาที  การนอนหลับจะนานขึ้นถึงร้อยละ 35 และในเวลากลางวันก็จะมีพลังในการทำงานเป็นอย่างดี

ประการที่เก้า งานศึกษาสังเคราะห์งานวิจัย  400 ชิ้น เมื่อไม่นานมานี้พบว่าการฟังดนตรีช่วยให้ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น โดยทำลายทั้งไวรัส แบคทีเรีย ที่โจมตีร่างกายและเซลล์มะเร็ง

ประการที่สิบ เวลาจะดูสั้นลงเมื่อได้ฟังดนตรีที่ถูกใจ  นักวิทยาศาสตร์ได้พบครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ผู้คนรู้สึกว่าช่วงเวลาของการรอคอยยามที่ได้ฟังดนตรีนั้นสั้นลงเมื่อเทียบกับยามที่ไม่ได้ฟังดนตรี

ดนตรีมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมิต้องสงสัย  แต่ต้องเป็นดนตรีที่ไพเราะ มีสุนทรียภาพ และเป็นดนตรีอย่างแท้จริง  มิใช่เพลงที่มีเสียงดังอย่างหาความกลมกลืนเป็นดนตรีมิได้เลย


คอลัมน์: สารบำรุงสมอง

เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!