Mouse: แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม เลือกไม่เป็นคนชั่วร้ายได้หรือเปล่า

-

Mouse เป็นซีรีส์เกาหลีที่เล่าเรื่องสองช่วงเวลา ย้อนไปเมื่อราวยี่สิบปีก่อนมีฆาตกรโหดฆ่าต่อเนื่องฉายา “นักล่าหัว” จนรัฐบาลเกาหลีใต้ไม่อาจอยู่เฉยได้ คดีของเขามีปมสังหารอันเป็นเอกลักษณ์และกลายเป็นข่าวใหญ่ รัฐบาลต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญที่ไปเรียนต่อเมืองนอกและกำลังโด่งดังจากงานวิจัยที่ตรวจ DNA ของ psychopath มาวางนโยบายรับมือเหตุการณ์แบบนี้ในอนาคต

 

 

(Psycopath ไม่ใช่โรคจิต ไม่มีอาการหูแว่วหรือประสาทหลอน แต่คือคนที่ขาดความรู้สึกเห็นใจ ไร้สำนึกผิดชอบชั่วดี ไม่รู้สึกผิดหรือเสียใจเมื่อทำการชั่วร้าย เชื่อว่าเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่ติดตัวมา ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาเหมือนโรคจิต ตัวละครแบบ psycopath เช่น โจ๊กเกอร์ใน The Dark knight / แอนตอน ชีเกอร์ ใน No Country for Old Men)

มีคนเสนอให้รัฐบาลเกาหลีใต้ออกกฎหมายบังคับตรวจ DNA ในหญิงตั้งครรภ์ และถ้าผล DNA ของทารกในครรภ์เป็น psychopath ก็ต้องทำแท้งเพื่อป้องกันไม่ให้ออกมาเป็นฆาตกร ผู้เชี่ยวชาญอ้างว่าความแม่นยำของ DNA มีสูง และอาจมีเด็กแค่ร้อยละ 1 ที่โตมาไม่ใช่ psychopath หากแต่เป็นอัจฉริยะ

คำถามคือสังคมจะยอมรับไหมว่าการทำแท้งอาจเป็นการคร่าชีวิตเด็กร้อยละ 1 คนที่ไม่ใช่ psychopath และต่อให้เป็น psychopath จริงๆ ก็เกิดคำถามอีกว่าเรามีสิทธิ์ตัดสินและเอาชีวิตคนอื่นแค่ไหนโดยที่เขา (หรือเธอ) ยังไม่ได้กระทำความผิด ยังเป็นเพียงตัวอ่อนในครรภ์ และเป็นการด่วนสรุปว่ามนุษย์ถูกกำหนดมาโดยยีน (gene) แล้วจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เมื่อเติบโต เท่ากับบอกว่าเราถูกกำหนดมาโดยยีนเท่านั้นโดยไม่อาจเลือกว่าจะเป็นคนแบบไหน

===

จากยุคอดีตของนักล่าหัว หนังตัดสลับมาเล่าเรื่องในยุคปัจจุบัน

เกิดคดีฆาตกรรมต่อเนื่องอีก ทุกคดีมีความสัมพันธ์กับคดีของนักล่าหัว มีการตายแบบปริศนาเพราะฆาตกรจะนำชิ้นส่วนข้าวของของเหยื่อคนก่อนไปไว้ที่ร่างของเหยื่อคนถัดไป แล้วทุกศพจะถูกจัดท่าให้เชื่อมโยงชี้ไปที่ “ไม้กางเขน”

นายตำรวจผู้รับผิดชอบคดีคือโกมูชีซึ่งครอบครัวของเขาก็เป็นเหยื่อของนักล่าหัวในอดีต และมีนายตำรวจจองบารึมเป็นคู่หู การดำเนินเรื่องในครึ่งแรกของ Mouse ออกแนวสืบสวนฆาตกรรมต่อเนื่องหาตัวคนร้ายในสไตล์ who-dun-it พร้อมกับหยอดคำถามมากมายทิ้งไว้ในแต่ละตอนให้คนดูอยากรู้  เช่น “ใครคือลูกของ ‘นักล่าหัว’? เด็กที่มีพฤติกรรมประหลาดๆ เช่น โยนหนูลงไปในกรงงูและทำร้ายสัตว์ในบ้าน โตมาเป็นใคร? เด็กมัธยมหญิงเกี่ยวข้องอย่างไรในความสัมพันธ์อันน่าฉงน แล้วเธอเคยเจออะไรมา? ฯลฯ”

คำถามทั้งหลายยังไม่ทันได้คำตอบ เมื่อมาถึงจุดพลิกผันกลางเรื่องหนังก็เปลี่ยนทิศทางอีกครั้ง จากการเน้นสืบสวนคดีฆาตกรรมที่มี gimmick แปลกๆ ชวนสืบหาคนร้ายเหมือนอ่านคินดะอิจิ กลายเป็นการสำรวจจิตใจตัวละคร เล่นกับจิตใจคน แล้วเมื่อถึงช่วงท้ายก็กลับไปสู่คำถามเชิงปรัชญาที่เปิดไว้ตอนต้นเรื่องเชิง moral dilemma ว่า หากเรารู้ว่าทารกคนหนึ่งมียีนที่ส่งผลให้โตมาเป็น psychopath เราควรทำตัวเป็นพระเจ้าที่จะตัดสินชีวิตทารกนั้นหรือไม่

 

 

 

(Spoiler Alert: เนื้อหาถัดจากนี้เปิดเผยจุดสำคัญและเฉลยจุดพลิกผันในซีรี่ส์ Mouse)

ตัวละครสำคัญอีกคนในซีรีส์คือซองโยฮัน หมอหนุ่มที่โตมาด้วยการถูกตราหน้าว่าเป็นลูกฆาตกร เป็นตัวละครที่หนังจงใจเล่าควบคู่ไปกับจองบารึมเพื่อให้คนดูสงสัยว่าใครกันแน่คือตัวร้ายที่แท้จริงของซีรีส์

แต่แค่กลางเรื่อง หนังก็ฆ่าซองโยฮันทิ้งไปเลย เฉลยตั้งแต่ยังไม่ถึงตอนท้ายว่าจองบารึมคือคนร้าย แล้วสมองของซองโยฮันในระหว่างโคม่าก็ถูกปลูกถ่ายบางส่วนไปยังสมองส่วนที่เสียหายของจองบารึม

หลังจากผ่าตัดปลูกถ่ายสมอง เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญขึ้นสองอย่างในตัวจองบารึม

  • สูญเสียความทรงจำทั้งเหตุการณ์ในอดีตและตัวตนที่เคยเป็น
  • สมองส่วนที่ทำให้เป็น psychopath เปลี่ยนแปลง จองบารึมไม่ได้มีภาวะ psychopath แบบเดิม เขาเริ่มสำนึกเสียใจกับการกระทำชั่วในอดีต รู้สึกผิดและละอายที่ได้ทำร้ายคนอื่น

มองในมุมของจองบารึม ความพยายามรื้อฟื้นความทรงจำของตัวเองหลังจากผ่าตัดเป็นเหมือนการลงโทษเขาโดยที่เขาไม่รู้ตัว เพราะเมื่อครั้งเขาเป็น psychopath สมองส่วนที่ควรทำหน้าที่รับรู้ด้านมโนธรรม (superego) ไม่เคยเตือนสติให้เขาต้องรู้สึกผิด เขาไม่เคยต้องรับผิดชอบความเลวทรามต่ำช้าตั้งแต่เกิดมาจนก่อนผ่าตัด ทั้งในทางกฎหมายและสำนึกผิดชอบชั่วดี

แต่หลังจากผ่าตัด เขาต้องทนทุกข์ทรมานกับความรู้สึกผิดที่สั่งสมมาจากตัวตนเดิมของเขา

จองบารึมตอนเด็กที่ยังเป็น psychopath เคยวิงวอนต่อพระเจ้าแล้วฝังใจว่าพระเจ้าไม่เคยช่วยเขาเปลี่ยนชีวิต เขาจึงเป็นฆาตกรผู้ทำงานสวนทางพระเจ้า ทว่าหลังจากผ่าตัด วิทยาศาสตร์การแพทย์ก็รับบทบาทเป็นพระเจ้าคือทั้งลงโทษ(มีชีวิตที่เหลืออย่างทุกข์ทรมานกับความรู้สึกผิด)และทำให้เขาสมปรารถนาที่เคยวิงวอนในตอนเด็ก (กลายเป็นคนใหม่ผู้ไม่ใช่ psychopath อีกต่อไป)

คำถามสำคัญคือ เมื่อคนคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างแท้จริง ไม่ใช่คนเดิมที่ทำผิด เราจะยังตัดสินเขาอย่างไร

จองบารึมที่ควรทุกข์ทรมานและถูกกฎหมายลงโทษควรเป็น “จองบารึมผู้ทำผิด” แต่ “จองบารึมคนใหม่” ซึ่งแทบไม่ได้มีความรู้สึกนึกคิดร่วมขณะฆ่าคนในอดีต เขาคือคนใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างถาวรจากการผ่าตัด ฟื้นมาเหมือนเด็กเกิดใหม่ที่ยังไม่ได้ทำอะไรผิด แต่กลับต้องแบกรับความรู้สึกทนทุกข์เหล่านั้น นี่ยังนับเป็นความยุติธรรมอยู่หรือไม่?

 

 

ชื่อเรื่อง Mouse อาจทำให้คนดูสงสัยในตอนต้นว่าหมายถึงอะไร เพราะเนื้อหาซีรีส์ไม่เกี่ยวกับหนู นอกจากฉากเปิดเรื่องที่เด็กคนหนึ่งไปเที่ยวสวนสัตว์กับเพื่อนๆ แล้วแอบโยนหนูที่จับมาเข้ากรงงูยักษ์ เฝ้าดูการต่อสู้ระหว่างงูกับหนู

แต่เมื่อถึงตอนท้ายเราก็จะได้รู้ว่า หนูตอนต้นเรื่องนั้นมีชะตากรรมเหมือนหนูที่นักล่าหัวเอามาทดลองผ่าตัดสมอง เป็นการเปรียบเปรยชีวิตของจองบารึมกับซองโยฮัน โดยปริยายว่าไม่ต่างกับหนูทดลอง

จองบารึมกับซองโยฮันถูกผู้มีอำนาจรู้ยีนของพวกเขาตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ แล้วจากนั้นก็ถูกจับตาและถูกชักใยผ่านองค์กรโดยมีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง ทุกเส้นทางชีวิตซึ่งเหมือนพวกเขาเลือกเองเรื่อยมา แท้จริงกลับเป็นเพียงเส้นทางระหว่าง “การทดลอง” ที่เป็นไปตามผู้มีอำนาจต้องการเห็น

หนูทดลองไม่สามารถเป็นเจ้าของชีวิตอย่างแท้จริง ชีวิตของทั้งคู่ก็เช่นกัน

แต่ความต่างของมนุษย์กับหนูคือ มนุษย์เป็นหนูทดลองเพราะไม่รู้ความจริง แต่เมื่อเข้าถึงความจริงอย่างแจ่มแจ้ง มนุษย์มีศักยภาพและมีสิทธิเลือกว่าจะยังเป็นหนูทดลองต่อไปหรือไม่ มีสิทธิเลือกว่าจะเป็นคนแบบไหน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจต้องยอมจ่ายบางอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลง เช่น จองบารึมผู้เลือกได้ว่า เขาจะเป็นคนแบบเดิมก็ได้ อาจไม่ได้ฆ่าใครแต่แค่เงียบๆ ทำไม่รู้ไม่ชี้ปล่อยให้สังคมตราหน้าซองโยฮันไปตลอด หรือเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่ต้องยอมรับบทลงโทษเป็น “ราคาที่ต้องยอมจ่าย” สำหรับการเปลี่ยนแปลง


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ

เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” (www.facebook.com/ibehindyou ,i_behind_you@yahoo.com)

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!