Mother เป็นหนังญี่ปุ่นซึ่งดัดแปลงจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปี 2014 และนักแสดงนำหญิง “มาซามิ นางาซาวะ” ก็เข้าชิงรางวัลของหลายๆ สถาบันประกวดภาพยนตร์ญี่ปุ่นจากบท อะกิโกะ
อะกิโกะมีลูกชายคนเดียวชื่อ ชุนเฮ เธอแยกกับสามีแล้วเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงลูกตามลำพัง
เปิดเรื่องมา หนังแนะนำให้คนดูรู้จักตัวตนอะกิโกะตั้งแต่ฉากแรกตอนเธอเจอลูกโดดเรียน แทนที่จะถามว่าเกิดอะไรขึ้น พอเห็นแผลที่เข่า เธอก็ยิ้มพร้อมเลียแผลให้ลูกและบอกว่า “แม่ก็เพิ่งโดดงานมาเหมือนกัน”
ฉากถัดมาที่สระว่ายน้ำ เมื่อคนคุมสระประกาศไม่ให้คนกระโดดลงสระน้ำ แต่เธอยุชุนเฮที่ตอนนั้นเป็นเด็กประถมให้กระโดดเลย แม้จะโดนปรามไล่หลัง เธอก็ยังหัวเราะไม่สนใจ
เราเห็นนิสัยไม่เคารพกฎกติกา ไม่รู้สึกผิด และใช้ชีวิตแบบหุนหันตามใจตัวเองจากสองฉากสั้นๆ
ต่อมาเธอพาชูเฮไปหาพ่อแม่และน้องสาวเพื่อขอเงิน เราจะได้เห็นท่าทีซึ่งครอบครัวมีต่ออะกิโกะ พ่อแม่ไม่อยากสบตาและมีสีหน้าระอาใจไม่อยากคุยด้วย น้องสาวโวยว่าอะกิโกะยังไม่คืนเงินที่ยืมเธอไปสองแสนเยน แล้วเราก็จะรู้ว่าอะกิโกะนั้นตกงาน ติดการพนัน และใช้เวลาช่วงกลางวันพาลูกไปนั่งร้านปาจิงโกะเล่นฆ่าเวลา เจอผู้ชายที่น่าสนใจก็เข้าไปอ่อยโดยหวังว่าจะหาเงินมาใช้
เมื่อเจอผู้ชายถูกใจจนพาเธอเข้าบ้าน เธอก็ไม่สนใจชูเฮอีกต่อไป ปล่อยให้นั่งเล่นหรือหาของกินเอง ใช้งานให้ชูเฮต้มน้ำร้อนหรือไปซื้อของกินในซูเปอร์มาร์เก็ต พอตัวเองจะมีเซ็กซ์กับผู้ชายที่พามาก็ไม่สนว่าชูเฮจะรู้เห็นหรือเปล่า เป็นชูเฮเสียอีกที่ต้องคอยแอบไม่เสนอหน้า เมื่อรู้ว่าแม่กำลังจะมีเซ็กซ์กับแฟนใหม่
แล้วเมื่อหนังเปิดตัว อุจิตะ-นักสังคมสงเคราะห์ที่ดูแลครอบครัวนี้ เราก็จะเห็นอะกิโกะใช้มารยาหญิงหน้าตาดียั่วยวนให้อุจิตะทำตามที่เธอบงการ เพราะเธอ (รวมถึงคนดู) ก็ดูออกว่าอุจิตะหลงใหลในตัวเธอ เช่น ตอนเธอจะไปต่างเมืองกับแฟนใหม่ เธอก็ฝากชูเฮไว้กับอุจิตะโดยไม่สนใจไยดี อะกิโกะโทร.กลับมาหาลูกก็เฉพาะตอนทวงเงินว่าชูเฮได้โอนเงินมาให้เธอหรือยัง แถมขู่ชูเฮว่าถ้าไม่โอนเงิน เธอก็จะไม่มีค่าโดยสารขากลับ ทั้งที่ตอนนั้นชูเฮก็ยังเป็นแค่เด็กประถม (ซึ่งเราจะรู้ภายหลังว่าชูเฮได้เงินส่วนหนึ่งจากพ่อที่เลิกกับแม่ไป แล้วส่งมาให้เป็นระยะ)
เมื่อใดก็ตามที่อะกิโกะสามารถบงการคนใกล้ชิดได้ เธอยิ่งใช้งานอีกฝ่ายหนักข้อโดยไม่สนเส้นศีลธรรมหรือความเหมาะสม เช่น เธอสอนให้ลูกแกล้งโกหกกับร้องไห้เพื่อไปขอเงินคนอื่น สอนให้ลูกใส่ร้ายอุจิตะว่าล่วงละเมิดทำร้ายเพื่อหวังขูดรีดเงิน ฯลฯ
อะกิโกะคือตัวละครที่มีลักษณะถือตัวเองเป็นใหญ่จนไม่เคยแคร์หรือเห็นใจใครแม้กระทั่งลูกหรือพ่อแม่
วิธีการดำเนินชีวิตของอะกิโกะคือใช้ความรักของคนรอบข้างเป็น “เครื่องมือ” ควบคุมและบงการให้อีกฝ่ายทำตามความต้องการของเธอ
เราเห็นตัวละครที่มีความสุดโต่งแบบนี้ได้ในหนังหลายๆ เรื่อง ซึ่งเมื่อดำเนินไปถึงตอนท้ายก็จะได้รับกรรมวิบาก (ผลของกรรม) เพียงแต่ในเรื่องนี้เราจะเห็นว่าถ้าคนแบบนี้เป็นพ่อแม่ บุคลิกของเธอจะมีผลต่อ “การเลี้ยงลูก” อย่างไร แล้วผลกระทบที่ส่งต่อไปถึงลูกจะเป็นอย่างไร
ชูเฮ ก็เหมือนเด็กหลายคนที่ถูกบันทึกความหมายของ “รัก” จากผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูในรูปแบบผิดๆ
เช่น เด็กที่เป็นเหยื่อของการโดนล่วงละเมิดทางเพศหลายคน ถูกกระทำจากผู้ใหญ่ใกล้ตัวที่เขาหรือเธอไว้ใจ โดนผู้ใหญ่คนนั้นเริ่มกอดจูบลูบคลำและรุกล้ำร่างกายโดยพร่ำบอกเด็กว่าที่ทำไปก็เพราะรัก แล้วถ้าเด็กรัก ก็ควรต้องยอม ดังนั้นเด็กที่เป็นเหยื่อเหล่านี้จึงไม่คิดว่าการล่วงละเมิดทางเพศคือการเอาเปรียบหรือทำร้าย แต่เด็กๆ มองว่ามันคือการตอบสนองต่อความรักที่ผู้ใหญ่มีให้
เช่นเดียวกับชูเฮ เมื่อเขาถูกเลี้ยงดูฟูมฟักในรูปแบบของสังคมปิดที่ชีวิตมีแต่แม่ ไม่มีคนอื่นช่วยกล่อมเกลี้ยง ไม่มีสังคมโรงเรียนเพราะแม่ก็ไม่สนับสนุน ชูเฮได้แต่ลากกระเป๋าตามแม่ไป เป็นชีวิตในสังคมปิดเฉกเช่นหนังกรีซเรื่อง Dogtooth ซึ่งทำให้เราเห็นผลลัพธ์ของเด็กที่โตมากับพ่อแม่ผู้บัญญัตินิยามของภาษาและความหมายของชีวิตอันวิปริตไปจากความปกติของสังคมจนทำให้ลูกเติบโตมามีปัญหาบางอย่าง
ความผูกพันของชูเฮจึงมีแค่แม่ ความรักที่เขารู้จักแค่รูปแบบเดียวก็มาจากแม่ ไม่เคยเรียนรู้ว่ามี “รัก” ที่ทำให้ชีวิตดีกว่านี้ ไม่เคยรู้ว่ายังมีรักที่จริงใจกว่านี้ ไม่เคยรู้ว่าชีวิตของเขาสามารถดีกว่านี้ได้ ไม่เคยรู้ว่าเขามีสิทธิที่จะเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองได้โดยไม่ต้องทำตามทุกอย่างที่แม่ต้องการ
และในวัยเด็กประถมซึ่งเขาควรจะเป็นแค่เด็กผู้มีหน้าที่หลักคือเรียนแล้วได้รับการปกป้องเลี้ยงดูจากพ่อแม่ แต่กลับไม่ได้เรียนหนังสือ ซ้ำร้ายยังต้องคอยดูแลแม่ เช่น ต้องคอยโอนเงินให้ ต้องคอยเป็นเกราะไม่ให้ผู้ชายคนอื่นมาทุบตีแม่ ฯลฯ เหล่านี้จึงคล้ายเป็นภาระผูกพันที่ติดตัวเขามาจนโต เมื่อแม่เดือดร้อนเขาก็ทิ้งแม่ไม่ลง แม้แม่จะทำเรื่องแย่ๆ มากแค่ไหน
หนังจึงอาจดูไม่สมจริงสำหรับบางคนที่เห็นชูเฮทำทุกอย่างที่แม่บงการ แต่นั่นก็เพราะเราเติบโตมาต่างจากชูเฮ ภายใต้โลกที่ใหญ่กว่าและภายใต้ความรักที่หลากหลายกว่า
โอกาสเพียงครั้งเดียวที่ชูเฮจะได้พบโลกที่ดีก็คือตอนวัยรุ่นเมื่อเขาพบนักสังคมสงเคราะห์ผู้พยายามจะให้เขาได้มีโอกาสทางการศึกษา หาหนังสือหลากหลายมาให้อ่าน และให้มุมมองชีวิตใหม่ๆ เช่น บอกชูเฮว่า
“ฉันโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมคล้ายเธอ เคยถูกทำร้ายร่างกายทุกวัน สุดท้ายไปอยู่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแล้วมีโอกาสได้เจอคนที่ดี การเติบโตเป็นเรื่องสนุกที่ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เธอเลือกได้ที่จะอยู่ห่างจากแม่ของเธอ”
คำว่า “เลือกได้” คืออีกสิ่งที่ชูเฮไม่เคยเรียนรู้ แล้วถึงรู้เขาก็ไม่สามารถตัดใจจากแม่เพราะรัก
ประเด็นคือแม่ไม่ได้รักชูเฮแบบที่ชูเฮรักแม่ หนังเรื่อง Mother คือการทำให้คนดูเห็น “ความเป็นแม่” ที่สะท้อน “ตัวตน” ของอะกิโกะ คือมีตัวเองเป็นศูนย์กลางและต้องการให้ลูกโคจรอยู่รอบตัวเธอเท่านั้น ไม่ต้องการให้ใครมาแย่งลูกของเธอไป ไม่ใช่ในแง่ความรักหรือหวังดี แต่ในแง่ “การครอบครองและกรรมสิทธิ์” เหมือนที่เธอเคยประกาศไว้ตอนหนึ่งว่า
“เขาเป็นลูกของฉัน ฉันจะทำอะไรก็ได้ ฉันจะเลี้ยงลูกฉันเองยังไงก็ได้”
อะกิโกะจึงเป็นอุทาหรณ์ที่เตือนเราว่าคำว่า “กตัญญู” ไม่อาจใช้ได้เสมอwx แต่ต้องดูบริบทร่วมด้วย ไม่ใช่แค่ว่าฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูแล้วจะมีสิทธิอ้างความกตัญญูและทวงบุญทวงคุณได้ตลอดเวลา
ในโลกนี้ยังมีพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่สามารถทำลายชีวิตเด็กไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่แทบทุกประเทศต้องมีหน่วยงานที่ปกป้องสวัสดิภาพและสิทธิเด็ก คอยช่วยเหลือเด็กที่เติบโตมากับผู้ใหญ่ซึ่งทำลายชีวิตเด็กที่ตัวเองดูแล
คำว่าพ่อแม่จึงไม่ได้สำคัญเท่า “การกระทำ” ซึ่งผู้ใหญ่มีต่อเด็กที่พวกเขาดูแล เพราะมันบ่งบอกถึงความรัก ความหวังดีและความเข้าใจที่มีต่อเด็กอย่างแท้จริง
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” (www.facebook.com/ibehindyou ,i_behind_you@yahoo.com)