ชุดคำว่า “แม่” ในภาษาลาว

-

คำว่า ແມ່ แม่ ซึ่งหมายถึงหญิงผู้ให้กำเนิดนั้นเป็นคำร่วมในกลุ่มชนชาติไท-ลาว พบทั้งในภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาไทลื้อ ไทใหญ่ ไทอาหม และภาษาจ้วงในเขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วงของสาธารณรัฐประชาชนจีน คนเชื้อชาติไท-ลาวนั้นให้ความสำคัญแก่เพศหญิงสูง จึงใช้คำว่า แม่ นำหน้าคำประสมจำนวนมากมายที่เกิดความหมายใหม่ แต่หลายคำก็มีความหมายแตกต่างจากภาษาไทยและน่าเรียนรู้

 

ແມ່​ຍິງ​ แม่ยิง หมายถึง สตรีเพศ ผู้หญิงโดยทั่วไป เป็นชุดคำคู่กันกับ ພໍ່ຊາຍ พ่อซาย ที่หมายถึงบุรุษเพศ ผู้ชาย ใช้ในคำศัพท์ทางรัฐเพื่อการระบุเพศ เวลาออกเสียง ຍ ในคำว่า ​ຍິງ​ จะต้องออกเสียงขึ้นนาสิก (จมูก) เล็กน้อยเป็น /ญ/ คล้ายกับเสียงในภาษาไทอีสานหรือไทโบราณ แตกต่างจาก ຢ ຢາ ที่ออกเสียง ย ตามปกติแบบเดียวกับ ย ยักษ์ ของไทย

 

ແມ່ເຖົ້າ แม่เถ้า หมายถึง ยาย หรือแม่ของแม่ คำว่า ເຖົ້າ เถ้าในที่นี้มีความหมายเดียวกับ เฒ่า ของไทยที่หมายถึงผู้สูงอายุ ในภาษาลาวจะออกเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงเอก ไปทาง เถ่า มากกว่า ในครอบครัวคนลาวนั้น ແມ່ເຖົ້າ หรือยาย เป็นผู้มีสิทธิ์เสียงมากในเรื่องภายในครอบครัว ทั้งเรื่องทรัพย์สินเงินทองและการจัดการความสัมพันธ์ เช่น การสู่ขอ แต่งงาน มักจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้เป็น ແມ່ເຖົ້າ เสียก่อน

 

ແມ່ກໍກາ แม่กอกา หมายถึง ตัวอักษร ภาษาลาวมีตัวอักษร 33 รูป 21 เสียง นับตั้งแต่ ກ ก ไก่ ถึง ຮ ฮ เฮือน ภาษาลาวเดิมเรียกตัวอักษรพยัญชนะทั้ง 33 ตัวเหล่านี้ว่า ແມ່ກໍກາ ต่างจากความหมายในภาษาไทยที่ แม่ ก กา จะหมายถึงมาตราตัวสะกดที่มีแต่เสียงสระและไม่มีเสียงสะกดท้ายคำ แต่เดิมนั้นตัวอักษรลาวมีจำนวนใกล้เคียงอักษรไทย และใช้ตัวสะกดหลายแบบตามภาษาบาลีสันสกฤต จนกระทั่งมีการปฏิรูปภาษาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2518 ตามแนวทางของ พูมี วงวิจิด ภาษาลาวเลยตัดตัวสะกดซ้ำ และสะกดตามเสียงที่ออกตรงมาตรา รวมถึงตัดตัวการันต์และ ร หัน ออกไป ซึ่งทำให้อ่านและเรียนได้ง่ายขึ้น

 

ແມ່ນ້ຳຂອງ แม่น้ำของ หมายถึง แม่น้ำโขง บางครั้งก็อาจเรียกสั้นๆ ว่า ແມ່ຂອງ หรือ ນ້ຳຂອງ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Mekong ในภาษาอังกฤษ คำว่า ຂອງ นี้เป็นคำโบราณแปลว่า “แม่น้ำ” พบได้ทั้งในภาษาไทย (โขง) ภาษาเวียดนาม ภาษามอญ และภาษาจีนโบราณ เช่นกัน ความยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านหลายประเทศและหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนสองฝั่งมาเนิ่นนานจึงเป็นภาพแทนของแม่น้ำทั้งหมดในภาษาและความคิดของชาวลาว เป็น “แม่” แห่งประเทศชาติและเป็นจิตวิญญาณสำคัญของประชาชาติลาวที่แยกจากกันมิได้เลย


คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง / เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!