“ อายุ 55 เคยทำงานอยู่ ม.33 ลาออกจากงานเดือน พ.ค. ปี’ 59 ตอนลาออกเงินเดือน 33,000 พอลาออกมาต่อ 39 โดยไม่ได้ศึกษา ก็เท่ากับตอนนี้ต่อ 39 มา 6 ปีนี้แล้วค่ะ ตอนแรกคิดว่าจะส่งถึง 55 ปีแล้วลาออกเพื่อรับบำนาญรายเดือน พอทราบว่าเขาจะคิดฐานเงินเดือนให้ที่ 4,800 หนูควรทำไงดี ส่งต่อเรื่อยๆเป็นมรดกหรือหยุดส่งแค่นี้แล้วรออายุ 55 ปี เพื่อรับบำนาญรายเดือนคะ”
ก่อนตอบคำถาม ผมขออธิบายศัพท์เกี่ยวกับประกันสังคมก่อนนะ
มาตรา 33 เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ลูกจ้างในสถานประกอบการที่ลูกจ้าง (ในฐานะผู้ประกันตน) จ่ายเงินสมทบเดือนละ 5% ของค่าจ้างแต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน แล้วระบบประกันสังคมให้ความคุ้มครอง 7 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีคลอดบุตร, กรณีทุพพลภาพ, กรณีเสียชีวิต, กรณีสงเคราะห์บุตร, กรณีชราภาพ, กรณีว่างงาน
มาตรา 39 เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ที่ได้ออกจากสถานะเดิมในมาตรา 33 มาสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจและไม่มีนายจ้างช่วยจ่ายสมทบ มีแต่ตัวผู้ประกันตนเองเป็นผู้จ่ายเงินสมทบ 432 บาท/เดือน แล้วระบบประกันสังคมให้ความคุ้มครอง 6 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีคลอดบุตร, กรณีทุพพลภาพ, กรณีเสียชีวิต, กรณีสงเคราะห์บุตร, กรณีชราภาพ (ไม่มีกรณีว่างงาน)
มาตรา 40 เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่สมัครเข้ามาเป็นผู้ประกันตน สามารถเลือกสมัครได้จาก 3 ทางเลือกคือ ทางเลือกที่ 1 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน คุ้มครอง 3 กรณี คือกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีทุพพลภาพ, กรณีเสียชีวิต ทางเลือกที่ 2 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน คุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ ทางเลือกที่ 3 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน
คุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ กรณีสงเคราะห์บุตร
ประเด็นคำถามก็คือ ตอนที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 นั้น เข้าใจผิดว่าเขาจะให้บำนาญโดยคิดเงินเดือนขั้นสุดท้ายสูงสุดที่ 15,000 บาทเหมือนมาตรา 33 แต่ต่อมาจึงทราบความจริงว่าเข้าใจผิด ของจริงคือผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องคิดเงินเดือนเฉลี่ยระหว่างอยู่ในมาตรา 39 ที่เดือนละ 4,800 บาท พอรู้อย่างนี้ก็รู้สึกว่าตัวเองจะได้ไม่คุ้มเสียหากจ่ายเงินสมทบต่อไปจนอายุครบ 55 ปี จึงเขียนมาถามหมอสันต์ว่าจะจ่ายต่อหรือไม่จ่ายต่อดี เอาละ คราวนี้มาตอบคำถาม
เพื่อไขข้อข้องใจนี้ คุณก็ต้องคำนวณประโยชน์ที่คุณจะได้จากทางเลือกทั้งสองแบบ ผมจะคำนวณให้ดูเป็นตัวอย่าง แต่คุณยังไม่บอกอายุผมมาเลยแล้วผมจะคำนวณได้ไหมเนี่ย เอาเป็นว่าตอนนี้คุณอายุ 50 ปีก็แล้วกัน แล้วผมสมมุติว่าคุณจะมีอายุยืนยาวไปถึง 90 ปีนะ
ทางเลือกที่ 1. เลิกจ่ายสมทบตอนนี้แล้วไปรอรับบำนาญเอาตอนอายุ 55 ปี คุณก็จะได้บำนาญ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ซึ่งก็คือ 4,800 บาท 20% ก็เท่ากับได้บำนาญเดือนละ 960 บาท รับบำนาญอยู่นาน 90-55 = 35 ปี หรือ 420 เดือน เป็นเงิน 403,200 บาท บวกเงินที่ประหยัดไว้ไม่ต้องจ่ายสมทบจากนี้ไปอีก 5 ปีจนอายุ 55 ปี เป็นเงิน 432 บาท x 60 เดือน = 25,920 บาท รวมโหลงโจ้งได้เงินเมื่อนับถึงอายุ 90 ปีเป็นเงิน 429,120 บาท
ทางเลือกที่ 2 ยอมจ่ายสมทบต่อไปจนอายุครบ 55 ปี ตัวคูณ 20% จะได้เพิ่มมาอีกปีละ 1.5% ห้าปีก็ 7.5% ดังนั้นตัวคูณของคุณก็คือ 27.5% คูณกับเงินเดือน 4,800 บาท = ได้บำนาญเดือนละ 1,320 บาท รับอยู่นาน 420 เดือน ก็เป็นเงิน 554,400 บาท
คำตอบก็ออกมาชัดอยู่แล้วว่า หากมีอายุยืนถึง 90 ปี การจ่ายเงินสมทบต่อไปจนอายุครบ 55 ปีก็มีประโยชน์มากกว่าครับ คุณเข้าใจวิธีคิดนะ คุณเอาไปคิดต่อเองได้
คอลัมน์: สุขภาพ
เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์